โครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ค่ายอบรมและการแข่งขันการออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

การปลูกฝังให้เยาวชนรู้จัก เข้าใจ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้าได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คือ มีเหตุผล ความพอประมาณ และภูมิคุ้มกันที่ดี พร้อมๆ ไปกับการใช้ความรู้ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม โดย "เกมเพื่อสร้างการเรียนรู้" ถือเป็นสื่อใหม่ที่มีความน่าสนใจ สามารถดึงดูดความสนใจเยาวชนในเรื่องดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ ค่ายอบรมและการแข่งขัน "การออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง" จึงเกิดขึ้น ผลสำเร็จในค่ายดังกล่าวได้ทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาเกมที่สามารถพัฒนาได้จริงถึง 5 เกมด้วยกัน

ค่ายอบรมและแข่งขันการออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง

ความเป็นมา

เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชนให้มีอุปนิสัยของความพอเพียง เป็นหลักคิด และหลักการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขผ่านกระบวนการการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและเป็นธรรมชาติ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงร่วมกับ โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดค่ายอบรมและการแข่งขัน "การออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง" ขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 11 ตุลาคม 2551 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนเพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในรูปแบบใหม่ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนมากยิ่งขึ้น

หลักการและเหตุผล

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง ครอบคลุม ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทุกระดับและทุกคน ผู้ที่สามารถประพฤติปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข และอยู่อย่างสมดุลท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ องค์กรทุกภาคส่วนจึงร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเริ่มตั้งแต่เยาวชน โดยการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ รวมถึงสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา

การเรียนรู้แนวใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน ซึ่ง ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เรียกการเรียนนี้ว่า Plearn คือ Play + Learn เป็นการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ใหม่ จากเดิมที่ครูเป็นผู้บอกความรู้ และเป็นผู้สั่ง (Instructionism) ไปสู่เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึงเปิดโอกาสให้เด็กค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งหากเป็นเรื่องที่เด็กถนัดและสนใจ เด็กจะสนุกและมีใจจดจ่ออยู่กับการเรียน และเมื่อเรียนอย่างเพลิดเพลินจะก่อให้เกิดสมาธิอันเป็นพลังสำคัญของการคิดและจินตนาการเพื่อให้รู้กระจ่างยิ่งขึ้น กลายเป็นสถานการณ์พิเศษเฉพาะ ที่ดึงความสามารถที่ซ่อนเร้นในตัวเด็กออกมาได้

­

ด้วยเหตุนี้เอง "เกม" จึงเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งมักถูกกล่าวถึงเป็นลำดับต้นๆ ในแง่ของสื่อใหม่เพื่อสร้างการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ผู้เล่นจะได้รับ โดยเฉพาะกับการเผยแพร่สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอนาคตของชาติ ที่จะได้น้อมนำหลักปรัชญานี้ไปสู่การครุ่นคิด ตกผลึก และนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง เพื่อยังประโยชน์สุขทั้งต่อตนเอง และต่อสังคมสืบไป

­

วัตถุประสงค์

­

เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนทางด้าน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในรูปแบบใหม่ๆ ที่เน้นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน ให้เป็นแบบอย่างสำหรับครูผู้สอน และที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงจากการลงมือปฏิบัติ ได้รับการพัฒาทักษะการคิดวิเคราะห์ และการทำงานเป็นทีม ในขณะที่ครูผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วิธีการ และกระบวนการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ผ่านเกม

­

เป้าหมายของกิจกรรม

­

  • เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์
  • เพื่อจุดประกายให้เยาวชนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการเรียน และการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

­

รายละเอียดผลงานของเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 5 ผลงาน  ดาวน์โหลดที่นี่

­

­

การดำเนินงานขั้นต่อไป

1. พัฒนาเกมที่ชนะเลิศ และเกมที่สามารถพัฒนาต่อได้ง่าย

2. ทดลองเล่นในโรงเรียนเครือข่าย

3. พัฒนาเกม

4. ผลิตเพื่อแจกจ่าย/จำหน่าย

ความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิ

­

­

คุณจิราพร คูสุวรรณ

ผู้อำนวยการบริหารสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในวงการศึกษาต่อไป”

­

­

ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ

หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

“คุณค่าที่แท้จริงของการประกวดออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขัน แต่เรากำลังมาเรียนรู้ มาทำความรู้จัก และเรากำลังมาทำความดีร่วมกัน”

­

คุณองค์อร อาภากร ณ อยุธยา

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารงานสื่อสารองค์กร

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

“การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในกระบวนการคิดจะทำให้ได้เรียนรู้มากมาย และประสบความสำเร็จในการทำงาน”

­

คุณศศินี ลิ้มพงษ์

ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

มูลนิธิสยามกัมมาจล

“ความรู้ความเข้าใจจะได้รับการพัฒนามากขึ้นเมื่อเราลงมือปฏิบัติ การทำงานร่วมกันในช่วง 6 วันนี้ จะทำให้ได้เรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน พัฒนาทักษะชีวิต และที่สำคัญคือได้เพื่อนฝูงมากมาย”

­

 

คุณวีณา อัครธรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาสื่อการเรียนการสอน กระทรวงศึกษาธิการ

“รางวัลไม่ใช่สิ่งสุดท้าย แต่การได้มาเรียนรู้ร่วมกันสำคัญที่สุด ครั้งนี้เป็นการนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาสู่การปฏิบัติ และนับว่าได้บรรลุจุดมุ่งหมายสำคัญของการเรียนรู้ ครูขอฝากไว้ว่านอกจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เกมยังเอาไปประยุกต์ได้ในหลายๆ เรื่อง ทำอย่างไรให้การเรียนของเราสนุกและมีความหมาย”

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

สะท้อนการเรียนรู้ของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

­


­

น.ส.กฤติญา ชัยเสนา หรือ “น้องวิว” และ น.ส.สุภิญญา มโนมัย หรือ “น้องเมย์” โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย

­

“ดีใจค่ะที่ชนะเลิศการประกวดออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียงได้ ไม่คิดมาก่อนว่าเกมของพวกเราจะชนะรางวัล เพราะทีมอื่นๆ ก็เก่งๆ กันทั้งนั้น โดยพวกเราไม่คิดว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันเลย แต่เป็นการมาทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันมากกว่า ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากทั่วประเทศ ได้ความสามัคคี และได้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้นด้วย”

­

­

­

น.ส.ปริญญาภรณ์ แก่นนาคำ หรือ “น้องกวาง” โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา

­

“ไม่เสียดายค่ะที่ไม่ได้รางวัลเพราะหนูได้อย่างอื่นมาทดแทน คือความรู้ ประสบการณ์ และยังได้เพื่อนใหม่ๆ จากการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย”

­



 น.ส.วิภาดา วิยาสิงห์ หรือ “น้องบุ๋ม” โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม

­

“กิจกรรมครั้งนี้ทำให้หนูได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ มากมาย และยังได้รับความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถผสมผสานกับชีวิตประจำวันและพัฒนาเป็นเกมได้อย่างลงตัว จากก่อนหน้านี้ที่จะมองว่าการเล่นเกมทำให้เราได้แค่ความสนุกเท่านั้น แต่กิจกรรมครั้งนี้ได้เปิดมุมมองว่าการเล่นเกมนอกจากจะได้ความสนุกแล้วยังช่วยเพิ่มพูนความรู้แก่ผู้เล่นอีกด้วย”

­

­

­

 นายสุริยงค์ แดงวันสี หรือ “น้องก๊อต” โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา

­

“ผมคิดว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่ให้เด็กๆ ได้กล้าแสดงออก ได้ปลูกฝังความสามัคคีควบคู่ไปกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คิดว่าเหมาะสมมากครับที่ให้เด็กๆ มาออกแบบเกม เพราะเด็กๆ ด้วยกันจะรู้ใจกันว่าอยากเราเล่นเกมแบบไหนมากที่สุด”

­



 นายจักรกริช พลโภชน์ หรือ “น้องแม็ค” โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย

­

“ผมไม่รู้สึกเสียใจเลยครับที่ไม่ได้ชนะเกมเศรษฐกิจพอเพียง เพราะผมถือว่าเราได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว เวลาเราทำเกมเราก็ไม่ได้คิดว่าใครจะชนะ แต่คิดว่าเรามาช่วยกันทำเกมอย่างเต็มที่มากกว่า อย่างที่ ดร.ปรียานุช พูดว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การแข่งขัน และคิดว่าคนที่ได้รับการอบรมแล้วจะต้องมีการพัฒนาต่อยอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากค่าย 6 วันเมื่อกลับไปที่โรงเรียนแล้วด้วย จะนำสิ่งที่ได้ไปสอนน้องๆ บ้าง เป็นรูปแบบการสอนใหม่ๆ ทำให้เกิดประโยชน์จากค่ายสูงสุด”

­

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ