กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ตรวจเยี่ยมภายใน โรงเรียนบรบือวิทยาคาร อ.บรบือ จังหวัดมหาสารคาม
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 คณะกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนบรบือวิทยาคาร อ.บรบือ จ.มหาสารคาม หนึ่งในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มั่นใจว่าจะผ่านการประเมินเป็นโรงเรียน ศูนย์ฯ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไป  เราเคยบันทึกเกี่ยวกับการขับเคลื่อนที่บรบือวิทย์ไว้ที่นี่ และที่นี่  

การตรวจเยี่ยมวันนี้ถือว่าพิเศษ เพราะนอกจากคณะกรรมที่เราแต่งตั้งคือ รอง ผอ.ลัสดา กองคำ จากโรงเรียนกัลยาณวัตร รองผอ.ฉลาด ปาโส จากโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม และ ศน.รพีพรรณ ปางทอง จาก สพม. 27 จากต้นสังกัดแล้ว ยังมีท่านอาจารย์ศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการจากส่วนกลาง (มูลนิธิสยามกัมมาจล) ให้เกียรติ เดินทางมาเป็นประธานในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ 

กิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินไปตลอดวัน ตั้งแต่ 8:00 ถึง 17:00 น. มีดังนี้ครับ 

  • กิจกรรมตอนเช้าก่อนเข้าเรียน
    • เวลา 8:00 น. เสียงเพลงชาติจากเครื่องกระจายเสียงของโรงเรียน ดังฟังได้ชัดเจนทั่วทุกพื้นที่ของโรงเรียนและรอบๆ  ทุกคนยืนตรงนิ่งสงบ แสดงความเคารพต่อสถาบันอย่างจริงจัง 
    • เมื่อเพลงชาติจบ ทุกคนเดินมารวมกันพร้อมกันและครบโดยใช้เวลาสั้นมาก แสดงถึงความารับผิดชอบและระเบียบวินัยของนักเรียน....(ผมมาทราบเคล็ดลับ สำคัญตอนที่เดินทางกลับจากเดินทางไปส่งท่านอาจารย์ศศินีจากท่าน ผอ.มนูญ) .....วิธีการคือ ตอนเช้าเข้าแถวหน้าเสาธง ให้ครูประจำชั้นเดินเก็บบัตรประจำตัวนักเรียน และแจกคืนให้เป็นรายคนในชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกเรียนซึ่งครูประจำชั้นจะต้อง ไปพบปะกับนักเรียน ครูจะรู้ทันทีว่าใครมาใครขาด ขณะที่รับ-คืนบัตร สังเกตในระยะใกล้ จะรู้ว่ามีกลิ่นบุหรี่ กลิ่นเหล้าหรือไม่ หากนักเรียนขาดหรือมาสายจะหักคะแนนความประพฤติ 3 คะแนน นักเรียนที่ไม่มารับบัตรตอนเย็นแสดงว่าหนีโรงเรียน นอกจากหักคะแนนแล้วยังต้องเชิญผู้ปกครองมาพบด้วย นักเรียนสามารถทำความดีหรือทำกิจกรรมที่โรงเรียนกำหนดไว้เพื่อนำไปหักล้าง คะแนนประพฤตินี้ได้ เช่น กิจกรรมส่งเสริมการรักการอ่าน โดยกำหนดไว้ที่  5 เรื่องต่อ 1 คะแนน ดังนั้น หากมาสายหนึ่งครั้ง จะต้องอ่านหัวเรื่องต่างๆ 15 เรื่อง แล้วนำสมุดบันทึกการอ่านไปให้อาจารย์ที่เป็นคณะกรรมตรวจและพิจารณาให้คะแนน ..... ท่านผอ.มนูญ บอกว่า ท่านย้ายไปโรงเรียนไหน ก็นำวิธีการนี้ไปด้วย ได้ผลทุกโรงเรียน.....
    • หน้าเสาธงเป็นสนามคอนกรีตเอนกประสงค์ (สนามบาส วอลเลย์บอล ฯลฯ) ค่อนข้างคับแคบเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักเรียนกว่า 2000 คน ท่านผอ. บอกว่าท่านมีแผนที่จะทบอาคารเก่าชั้นเดียวเพื่อจะปรับปรุงให้เหมาะสมกับ จำนวนนักเรียน แต่ตอนนี้ท่านแก้ไขโดยให้นักเรียนเข้าแถวบริเวณข้างๆ รอบๆ เสาธง.... ผมเห็นเทคนิคที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ การให้นักเรียนนั่งขัดสมาธิลงเป็นแถวเกือบจะทันทีที่นักเรียนจัดแถวตนเองได้ ทำให้ใช้เวลาสั้นมากในการทำให้นักเรียนจดจ่ออยู่กับกิจกรรม...อีกอย่างหนึ่ง คือการนั่งสบายๆ และอยู่ภายในร่มไม้สูงที่ปลูกไว้รอบๆ บริเวณ ผมว่านักเรียนคงจะพอใจมากกว่าตากแดดกลางสนามฟุตบอลมากทีเดียว 
    • กิจกรรมหน้าเสาธงที่บรบือวิทย์ เริ่มตั้งแต่อาจารย์เวรขึ้นไปบนเวทีกล่าวข้อคิอสำคัญๆ กิจกรรมภาษาต่างประเทศวันละคำวันละสองภาษา กิจกรรมร้องเพลงเคารพธงชาติ กิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระต่อด้วยแผ่เมตตา ก่อนจะแยกย้านยเข้าชั้นเรียน 
  • กิจกรรมในห้องประชุม นำเสนอ และต้อนรับคณะกรรมการ
    • บรบือวิทยาคารได้รับรางวัลมากหลายทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ อย่างหนึ่งที่ทางโรงเรียนเลือกมานำเสนอต่อคณะกรรมการในงานตอนรับคือ ร้องคอรัส 3 เพลง  ซึ่งทางโรงเรียนเคยไปแข่งขันที่ กิจกรรมขับขานประสานเสียงระดับชั้น ม.4-6 งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 61 ณ โรงเรียนมัธยมสังคีตกรุงเทพมหานคร 25 Jan 2012 มีคลิปวีดีโอเพลง ในยูทูปหลายเพลง เช่น รูปที่มีอยู่ทุกบ้าน


      ­

    ­

    • จากนั้นท่าน ผอ.มนูญ นำเสนอภาพรวมของการขับเคลื่อนฯ คำสำคัญๆ ที่ท่านกล่าวถึงมีดังนี้ครับผมได้รับโอกาสให้ออกไปกล่าวนำในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการ ผมได้แนะนำคณะกรรมการ และเรียนเชิญท่านอาจารย์ศศินี ในฐานะประธานตรวจเยี่ยมฯ ออกไปกล่าวถึงความคาดหวังของโครงการฯ ก่อนที่จะเข้าสู่การตรวจเยี่ยมโรงเรียน
      • สอนดี เห็นผล คนยกย่อง
      • บริหารดี มีรูปแบบแยบยล คนนับถือ
      • น้อมนำ ปศพพ. อย่างมีส่วนร่วม กระจายอำนาจ ยอมรับความแตกต่าง บริหารประโยชน์ และธรรมาภิบาล
      • ทุกวิชาทุกคนต้องบูรณาการ ทุปคนต้องมี ย่างน้อยหนึ่งหน่วย
      • มีฐานการเรียนรู้ที่ยึดฮีต 12 คอง 14 สู่อาเซียน
      • มีศูนย์อาเซียน ทันสมัย เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อเองได้
      • เน้นการสอนให้คิดวิเคราะห์ มีโครงการ PISA
      • มีฐานโรงไฟฟ้า BIOGAS จากเศษอาหารขนาด 5500  วัตต์ต่อชั่วโมง
      • เป็นโรงเรียนสีเขียวโรงเรียนแรกในจังหวัดมหาสารคาม
      • มีฐานการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เบญจอาชีะ ปุ๋ยหมัก ผักสวนครัว รั้วกินได้
      • ธนาคารประชาชน ความจนกับความรวยต่างกัน 2 บาท ที่มีนักเรียน 95% เข้าโครงการออม
      • เราได้แชมป์เรือพายกรรเชียง แชมป์เรือบก
      • เราได้เป็นตัวแทนโครงงานระดับประเทศ
      • เราได้ 98 เหรียญทองในการคัดเลือกระดับเขต 
    • เราแยกกันเดินชมผลงานของนักเรียน ที่จัดไว้แยกกันไว้ในแต่ละกลุ่มสาระ และชมฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่โรงเรียนเตรียมนำเสนอ ตามที่ท่าน ผอ.ได้นำเสนอภาพรวมไว้ 
    • หลังจากรับประทานอาหารเที่ยง คณะกรรมการได้เรียนเชิญครูแกนนำมาพบปะพูดคุยกัน มี 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์เก่งกล้า อาจารย์พัชรินทร์ และอาจารย์อำนวย ก่อนที่จะกลับไปยังห้องประชุมเพื่อให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะต่อทางโรงเรียน 

 


 

 

 

 

 

 

 

ดูรูปทั้งหมดได้ที่ รูปตรวจเยี่ยมบรบือวิทยาคาร

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

คณะกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมของการขับเคลื่อน ปศพพ. ณ บรบือวิทยาคาร ตั้งแต่ 8:00 ถึง 17:00 น. ขนาดนั้นแล้ว ผมเองก็ยังไม่ดูทั้งหมดของผลงานที่ทางโรงเรียนเตรียมไว้ อย่างไรก็ตาม ผมเองได้ให้ข้อคิดเห็น ที่อาจจะเป็นประโยชน์ดังนี้ครับ

­

ผมให้ข้อเสนอแนะในมุมมองตามเกณฑ์ก้าวหน้า ที่ผมเรียกเป็น "สูตร" สั้นๆ ว่า ดูที่ "3 ด้าน 4 คน 5 ระดับ" 3 ด้าน คือ ด้านคน ด้านสิ่งแวดล้อมกายภาพ และ ด้านความสัมพันธ์กับองค์ภายนอก  4 คน คือ ดูที่ผู้บริหาร ครู นักเรียน และกรรมการสถานศึกษา 5 ระดับ หมายถึง รู้เข้าใจ นำไปปฏิบัติ ชัดเจนการถ่ายทอดได้ มีการขยายผลสู่โรงเรียนอื่น และยั่งยืนจากภายใน 

 

  • ด้าน "คน" หรือบุคลากร 
    • ผู้บริหารของบรบือฯ ต้องถือว่าไม่ธรรมดาครับ ท่านผอ.มนูญ มารับงานไม่ถึงปี แต่ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด... ผมได้ยินคณะกรรมการชมหลายรอบว่า ได้ความรู้จาก ท่านผอ. เยอะเลยในวันนี้.. ผมเองเท่าที่ได้รู้จักท่านมา ผมก็คิดว่าท่านเป็นผู้หนึ่ง ที่ "เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึง พัฒนา" ตามที่ในหลวงท่านพระราชทานแนวทางไว้ ...... เพราะฉะนั้น  "คน" นี้จึงไม่มีปัญหาอันใด อย่างไรก็ตาม ในตอนท้าย ผมเรียนท่านว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโรงเรียนศูนย์ฯ ทุกโรงเรียนคือ ความสามัคคีและการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกคน สิ่งที่เราเห็นคือ ดูเหมือนครูและนักเรียนไม่น้อย กำลังคล้อยหลังท่านไปไกลพอดู 
    • สำหรับครู เรื่อง "รู้" เรื่อง ปศพพ. ทั้งหมดคงไม่มีปัญหา แต่ว่า ส่วนที่ "เข้าใจ" และ "นำไปปฏิบัติ" ผมคิดว่าเป็นส่วนที่ควร "เร่งรัด พัฒนา" แม้ว่า อาจารย์เก่งกล้า จะตอบว่าตอนนี้มี กว่าร้อยละ 80 แล้ว .... ผมแนะนำว่า ท่านผอ. ควรส่งเสริมและขยายผลจาก อาจารย์อำนวย ซึ่งผมว่าท่านรู้จริงและเข้าใจด้วยว่า จะนำไปปฏิบัติอย่างไรกับการออกแบบการเรียนการสอน...... ปัจจัยของความสำเร็จอย่างหนึ่งของโรงเรียนศูนย์ฯ ทุกโรงเรียน คือ ครูแกนนำจะต้อง "ไม่ใช่แค่เพียงผู้ประสานงาน" แต่ต้อง รู้เรื่องแผนการขับเคลื่อน ฯ คือเป็นทั้งบทบาทผู้บริหาร เป็นทั้งผู้ประสานงานติดต่อ เป็นทั้งผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และเป็นวิทยากรถ่ายทอด และเป็นกระบวนกรออกแบบกิจกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้วย...
    • นักเรียนแกนนำบางคน รู้และเข้าใจ นำไปปฏิบัติ และถ่ายทอดได้แล้วครับ ควรเพิ่มเติมการ "เชื่อมโยง" สู่ชีวิตจริงหรือเชื่อมโยงสู่ 4 มิติตามหลักปรัชญาฯ นักเรียนทุกคนรู้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่ได้นำไปปฏิบัติกับตนเองจนเห็นผล โดยเฉพาะนักเรียนหลายคนที่อยู่ในฐานการเรียนรู้ ฮีตสิบสองคองสิบสี่.....ที่เป็นเช่นนั้นผมคิดว่า น่าจะเป็นเพราะนักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างหรือพัฒนาฐานการเรียนรู้ นี้มา กล่าวสั้นๆ คือนักเรียนไม่ได้ทำเอง......สิ่งนี้คือปัจจัยแห่งความสำเร็จของหลาย โรงเรียนศูนย์ เช่น เชียงขวัญพิทยาคม ที่นักเรียนเป็นคนคิดและทำทุกขั้นตอน ครูไม่ได้เน้นบอกสอนแต่เน้นใช้คำถามเพื่อถอดบทเรียนส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง 
    • กรรมการสถานศึกษาบอก ว่า พอใจกับการทำงานของท่าน ผอ. 90% เพราะท่านไม่ใช่แค่พูดและคิดเก่ง ยังทำเก่งด้วย  อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องถามท่านอีกครับว่า กรรมการสถานศึกษารู้และปรารถนาที่จะให้เป็นโรงเรียนศูนย์แค่ไหน และสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมอย่างไร 
  • ด้ายสภาวะแวดล้อมกายภาพ ชัดเจนไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่น่าจะต้องพิจารณาคือ บทบาทของนักเรียน ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมหรือแหล่งเรียนรู้  และการขยายผลสู่สถานศึกษาภายนอก 
  • ด้านความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภายนอก ผมได้บอกท่านผอ. ให้เขียนเรื่องเล่า ซึ่งเมื่อได้อ่าน จะได้ประสานประชาสัมพันธ์ต่อไปครับ

­

ผมแนะนำแบบตรงไปตรงมาในตอนท้ายดังนี้ครับ 

  1. ควรมีแหล่งรวบรวม ข้อมูลการขับเคลื่อน ปศพพ. ของโรงเรียนบรบือวิทยาคาร ที่แสดงตั้งแต่ วิสัยทัศน์ แผน กลยุทธ์ กระบวนการ ผลการดำเนินงาน เป้นต้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายถ่ายทอดสู่โรงเรียนอื่นๆ ผู้มาเยี่ยมชม
  2. ควรมีที่หรือมุมโชว์ผล งานนักเรียน หลังจากได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้แต่ละแหล่ง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงผลงานของตน ให้เพื่อนหรือคนอื่นได้สะท้อน ถอดบทเรียนกัน จะทำให้เข้าใจมากขึ้น 
  3. ควรมีแผนที่การเดินศึกษาดูงาน เพื่อความสะดวกในการเดินดูฐานต่างๆ
  4. ครูแกนนำและครู ควรจะมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับและขยายจำนวนของครูให้มากขึ้น

­

และผมเรียนท่านอีกหลายอย่างหลายคน ที่อาจไม่เหมาะที่จะเขียน แต่ก็ได้เรียนท่านไปตรงๆ แล้ว

วันนี้ ราตรีสวัสดิ์ครับ

­

ฤทธิไกร 

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ