กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เยี่ยมโรงเรียนดงใหญ่วิทยาคมรัชมังคาภิเษก อ.วาปี จ.มหาสารคาม
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

             30 สิงหาคม 2555 ทีมแกนนำขับเคลื่อน เดินทางไปเยี่ยมเพื่อเรียนรู้และสะท้อนความเห็น ต่อสถานการณ์ที่การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนดงใหญ่วิทยาคมฯ อีกทั้งเพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จต่างๆ ของโรงเรียน เพื่อนำมาเขียนบันทึกไว้ใน ณ ที่นี่

วัตถุประสงค์

การเดินทางเยี่ยมเยือน เพื่อเรียนรู้จากเพื่อนครูและผู้อำนวยการ เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินการที่เราวางไว้ตั้งแต่แรก โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ได้แก่

  1. เพื่อเรียนรู้ ให้รู้จักโรงเรียนด้วยประสบการตรง
  2. เพื่อพบปะสนทนากับคน 2 กลุ่ม คือ ครูแกนนำ และ นักเรียนแกนนำ เพื่อให้ได้เรียนรู้ใน 4 ประเด็น ดังนี้
    1. รู้จำและรู้จัก ปศพพ.
    2. เข้าใจ ปศพพ.
    3. นำไปปฏิบัติใช้กับชีวิต หรือ เชื่อมโยงชีวิตจริง
    4. เผยแพร่สู่บุคคลอื่น
  3. เพื่อเรียนรู้จากผู้บริหารของโรงเรียน ใน 4 ประเด็นตามข้อ 2 และเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็น คือ
    1. กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่ครู นักเรียน และการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ในโรงเรียน
    2. กลยุทธ์หรือวิธีการในการขับเคลื่อนสู่ชุมชนและผู้ปกครองของนักเรียน
  4. เพื่อศึกษาวิจัย และพัฒนา การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนในบริบทต่างๆ

ขอบเขตของกิจกรรม

  1. ไม่มีรูปแบบตายตัว แล้วแต่จำนวนคน ที่เข้าร่วม หลักๆ คือ ทำกระบวนการกลุ่มกับนักเรียนแกนนำก่อน และ สะท้อนผลสู่ครูและผู้อำนวยการ
  2. ทำกิจกรรมระยะสั้น นักเรียนแกนนำประมาณ 1 ชั่วโมง ครูแต่ละโรงเรียน 1 ชั่วโมง
  3. เน้นการเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อน
  4. สะท้อนความจริง ตรงไปตรงมา
  5. ประชาสัมพันธ์ข่าวโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป

10/9/55

กิจกรรมขับเคลื่อนที่โรงเรียนดงใหญ่ 30 สิงหาคม 2555

บันทึกโดย ผศ.ไพรัตน์ ธรรมแสง

การเดินทางร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนดงใหญ่นำโดย ดร.ฤทธิไกร และ ผศ.ไพรัตน์ คณะทำงานจากศูนย์ประสานงานโครงการอีสานตอนบน เพื่อรวมทำกิจกรรมและเตรียมความพร้อมในการขอรับการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์ โดยมีครูแกนนำขับเคลื่อนประมาณ 10 ท่าน นำโดยรองผู้อำนวยการถนอม และคุณครูชาญชัยครูแกนนำขับเคลื่อน โดยการเปิดวงเริ่มต้นเมื่อเวลา 9.00 น. โดยทางทีมผู้ประสานงานได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการมาเยี่ยมในครั้งนี้คือ

  1. เพื่อสร้างเจตคติที่ดีในเตรียมความพร้อมเพื่อรับการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์ฯ ของครูแกนนำขับเคลื่อน
  2. เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนแกนนำต่อบทบาทของตนเองค่อโครงการนี้
  3. เพื่อประเมินถึงความพร้อมของโรงเรียน(ร่วมถึง คุณครู และนักเรียนด้วย)
  4. เพื่อให้โรงเรียนได้กำหนดกลยุทธในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรับการประเมิน

จากการประชุมพบว่าคุณครูแกนนำส่วนใหญ่เป็นครูหัวหน้ากลุ่มสาระ การเปิดเวทีเริ่มอย่างเรียบง่านสไตล์ ดร.ต๋อย โดยให้คุณครูแกนนำขับเคลื่อนนำเสนอกิจกรรมที่ตนเองดำเนินในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการต่อที่ประชุม ดังนี้

คุณครูสายใจ ครูจากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จะเลือกเนื้อที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของเด็กมาใช้ในการขับเคลื่อนที่ ปศปพ. เช่น ในชุมชนมีการเพาะเห็ดเพื่อจำหน่วย ก็เลือกกิจกรรมการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน เช่น จำนวนสมาชิกในครัวเรือน รายได้ ต้นทุน กำไร จากผลการประกอบการ โดยสอนให้นักเรียนรู้จัก ความพอเพียงและพอประมาณ รู้จักกาลเทศะในขณะออกเก็บข้อมูล และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมจึงเลือกหัวข้อนี้ เก็บข้อมูลเวลาไหน เพราะอะไร เก็บข้อมูลจากใครบ้าง เพราะอะไร บุคคลเหล่านี้เป็นแบบอย่างที่ดีอย่างไรบ้าง และได้อะไรตามที่คาดไว้ล่วงหน้าหรือไม่ และได้อะไรที่ไม่ได้คาดการไว้แต่แรก คำแนะนำจากทีมประสานงาน เด็กจะต้องตอบตนเองได้ว่าเกิดคุณธรรมอะไรจากทำกิจกรรมนี้ พอประมาณอย่างไร สถานการณ์บางอย่างอาจจะใช้สถานการณ์จำลอง

คุณครูจิตรานนท์ ครูกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ จะดำเนินการโดยใช้หน่วยการเรียน ไม่ใช่เนื้อหารายคาบ แต่ละหน่วยการเรียนจะมีใบงานที่เชื่อมโยงกับ พศปพ. 1 ใบงาน เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่นักเรียน พร้อมทั้งถอดบทเรียนว่าอะไรคือเงือนไขความรู้ เพราะมีความเชื่อว่าถ้าเด็กมีความรู้ แสดงว่าเด็กเกิดภูมิคุ้มกันโดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าเด็กตั้งใจเรียน จนเข้า เด็กก็ไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษ หรือถ้าตั้งเป้าหมายในการประกอบอาชีพที่ดีที่ต้องอาศัยฐานความรู้มาก เด็กก็ต้องขยัน และมีความตั้งใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตัวเอง ประเด็นสำคัญที่คุณครูเน้นอีกอย่างก็คือการเชื่อมโยงกับชีวิต และเงื่อนไขความรู้จะต้องสอนตามรายจุดประสงค์ตามสาระแกนกลางและต้องผ่านมาตรฐาน รู้จักพอประมาณ(รู้จักตนเอง เพราะเด็กแต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตไม่เหมือนกัน)

ดร.ต๋อย เสนอแนะเพิ่มเติมว่า กิจกรรมให้แก่ผู้เรียนต้องใช้เวลาให้เหมาะสม สามารถวัดได้จริง ควรสถานที่สำหรับเก็บผลงานนักเรียนกึ่งถาวร และให้ฝึกการนำเสนอที่จุดนั้น และการเชื่อมโยงกับชีวิตจริงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น เขาพึ่งตัวเองได้ไหม นำไปปฏิบัติจริงได้ไหม ปฏิบัติตัวอย่างพอเพียงหรือไม่ จะต้องสอดแทรกให้กับนักเรียนไปกับกิจกรรมนั้นด้วย

คุณครูไกรวุฒิ คุณครูจากสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี คุณครูเองสอนการประกอบอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงโดยตรง จึงไม่ยากในการนำมาเชื่อมโยง จะเริ่มต้นจากให้เด็กค้นคว้าและให้นักเรียนตอบคำถาม เช่น ทำไมต้องเรียนเรื่องนี้ กินอยู่ที่บ้านอย่างไร แตกต่างจากที่ค้นคว้ามาหรือไม่ เพราะอะไร ปฏิบัติจริงกับข้อมูลจากตำราแตกต่างกันหรือไม่ เพราะอะไร อุปกรณ์ประกอบ เครื่องมือครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ครบแก้ปัญหาอย่างไร ได้ผลเช่นไร เป็นต้น

คุณครูบุญมี จากกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย คุณครูบอกว่าไม่มั่นใจว่ากิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่เดินไปถูกทางหรือยัง และต้องการข้อเสนอแนะในการสร้างกิจกรรมการเรียนการสอน โดยคุณจะเลือกเนื้อหาที่สามารถโยงเข้ากับวิถีชีวิตของนักเรียนหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนในการสอดแทรก ปศปพ. แต่คุณครูมักมีปัญหาว่านักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการเรียน ขาดความรู้ และผลกระทบจากการขาดภูมิคุ้มกันจากสื่อสมัยใหม่ จึงต้องสร้างตระหนักในเรื่องการเรียนและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและวัฒนธรรมของตนเอง และต้องรู้ว่าชุมชนตนเองมีจุดเด่นอะไร

คุณครูจารุวัฒน์ จากกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ กล่าวว่าโดยธรรมชาติวิชาภาษาอังกฤษเชื่อมโยงได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อโรงเรียนกำลังก้าวเข้าสู่อาเซี่ยนซึ่งภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การสอนจะเน้นการใช้สื่อเทคโนโลยี และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กโดยชี้ให้เห็นทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี การสอบไม่ผ่านนั้นแสดงให้เห็นว่า ขาดความพอเพียง พอประมาณ และคุณธรรมข้อใดบ้าง

คุณครูนุชรา จากกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ จะเน้นแสดงให้นักเรียนตระหนักถึงธรรมชาติและความผูกพันกับวิถีชีวิต เนื่องจากโรงเรียนดงใหญ่เป็นโรงเรียนที่ข้อมูลพื้นฐานที่เข้มแข็ง เช่น มีป่าชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้าน และมีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การสร้างจิตสำนึกให้แก่นักเรียน โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูล ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เช่น การประกอบอาชีพชองชุมชน การใช้สารเคมี เครื่องสำอาง เป็นต้น

โดยภาพรวมพบว่าคุณครูได้มีการทำกิจกรรมที่สอดแทรก ปศปพ. และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติ และสามารถนำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป และปิดเบรกนี้ประมาณ 11.00 น.

ในช่วงต่อไปก็จะเป็นกิจกรรมที่เปิดวงสนทนากับนักเรียนแกนนำ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการประมาณ 50 คน กิจกรรมเน้นสร้างความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของนักเรียนแกนนำ โดยการจำลองการถอดบทเรียน และให้นักเรียนวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล การมองต่างมุม รวมทั้งให้นักเรียนตระหนักถึงสถานภาพของตนเองในฐานะนักเรียนแกนนำจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลัก ปศปพ. จะต้องมีภาวะผู้นำ กล้าแสดงออก และสามารถทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเพื่อนนักเรียนได้ ที่สำคัญที่สุดนักเรียนแกนนำจะต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดหรือสื่อความหมายที่ถูกต้องและชัดเจนไปยังเพื่อน พี่ น้อง ที่จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการนำพาโรงเรียนไปสู่การเป็นศูนย์การเรียนอย่างเต็มภาคภูมิ ปิดเบรกเมื่อเวลา 12.15 น.

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

วันที่ 30 สิงหาคม 2555 ทีมขับเคลื่อน ไปเยี่ยมโรงเรียนดงใหญ่วิทยาคมรัชมังคลาภิเษก ต่อจากที่เคยเดินทางไปเยี่ยมแล้วครั้งหนึ่ง อ่านบันทึกได้ที่นี่ครับ

วิธีการที่เราออกแบบในการทำกระบวนการคือ ออกแบบกิจกรรมเพื่อ ประเมินเบื้องต้นใน 4 ประเด็นตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ของการตรวจเยี่ยม คือ รู้จำรู้จัก เข้าใจสามารถตีความได้ นำไปปฏิบัติเชื่อมโยงกับชีวิต และ เห็นผลแล้วถ่ายทอดสู่ผู้อื่น โดยยึดสมมติฐานต่อไปนี้

  1. การถามและสังเกตลักษณะและการตอบ จะสามารถตรวจสอบประเด็นแรกได้เบื้องต้น
  2. ยกสถานการณ์แล้วสอบถามความคิดเห็น หรือร่วมกันถอดบทเรียน จะสามารถเรียนรู้ความสามารถในการตีความได้
  3. การวิเคราะห์และตีความกิจกรรมต่างๆ ที่ทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน หรือพิจารณาจากสิ่งที่ตนเองทำเป็นประจำ จะสามารถทำให้เชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงและนำไปปฏิบัติกับตนเองได้ดีขึ้น
  4. การฟังเรื่องเล่าของเด็ก ที่เล่าเรื่องด้วยความภาคภูมิใจ และมั่นใจ อาจสามารถตรวจสอบผลของการนำไปปฏิบัติกับตนเองของนักเรียนได้บ้าง

สมมติฐานเหล่านี้อาจผิดได้ จึงไม่ควรยึดมั่น เชื่อถือโดยถ่ายเดียว

หลังจากที่ทำกิจกรรม ผมทำ AAR กับตนเองดังต่อไปนี้ครับ

  1. นักเรียนแกนนำมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าจะสามารถขับเคลื่อน ปศพพ. สู่นักเรียนทั้งโรงเรียนได้ภายใน 2 เดือน
  2. นักเรียนแกนนำทุกคนรู้จัก ปศพพ. มีจำนวนหนึ่งโต้ตอบและเสนอความคิดเห็นในเชิงตีความได้ แต่ยังคงไม่กล้าคิดกล้าพูด
  3. ครูแกนนำหลายท่านรู้และเข้าใจ ปศพพ. และนำไปปฏิบัติกับตนเอง

ในเวลา 2 เดือนนี้ ผมมีความเห็นว่า ดงใหญ่ควรเน้นเรื่องต่อไปนี้

  1. เน้นการฝึกถอดบทเรียน หรือเรียนรู้จากกิจวัตรประจำวันของตนเอง เรียนรู้ ปศพพ. โดยการฝึกตีความชีวิตจริง
  2. นักเรียนควรได้เรียนรู้แบบมีโครงงานเป็นฐาน (Project-based learning) โดยอาจให้นักเรียนมีส่วนร่วมให้มากในการสร้างฐานการเรียนรู้ หรือบูรณาการกับฐานการเรียนรู้ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนดำเนินการอยู่
  3. ครูควรร่วมมือกันออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนทุกขั้นตอน ไม่ดำเนินการแบบต่างๆ ต่างทำ แต่มีเวลาพูดคุย สะท้อน ตีความ เพื่อยกระดับและขยายถ่ายทอดความเข้าใจสู่ครูท่านอื่นๆ
  4. ผู้บริหารควรระดมความคิดเห็น อย่างมีส่วนร่วม หรือสนทนา สะท้อน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ พร้อมทั้งถ่ายทอดสู่ทั้งครูและนักเรียนอย่างเป็นระบบ โดยมีการประเมินวัตถุประสงค์รายทางอย่างชัดเจน รวมถึงการขับเคลื่อนสู่ชุมชน

เสนอแนวความเห็น ตามที่เป็นผลจากเหตุที่ได้มาเยี่ยมครับ

ฤทธิไกร

10 กันยายน 2555

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ