กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เยี่ยมโรงเรียนบ้านดอนช้าง (ศรีสุขวิทยาคาร)
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

    วันที่ 14 กันยายน 2555 ผมเป็นตัวแทนทีมขับเคลื่อนหลักพอเพียงสู่สถานศึกษา เขตอีสานตอนบน เดินทางไปเยี่ยมการขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนบ้านดอนช้าง(ศรีสุขวิทยาคาร)หมู่ที่ 1 บ้านดอนช้าง ต.ตอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

วัตถุประสงค์

การเดินทางเยี่ยมเยือน เพื่อเรียนรู้จากเพื่อนครูและผู้อำนวยการ เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินการที่เราวางไว้ตั้งแต่แรก โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ได้แก่

  1. เพื่อเรียนรู้ ให้รู้จักโรงเรียนด้วยประสบการณ์ตรง
  2. เพื่อพบปะสนทนากับคน 2 กลุ่ม คือ ครูแกนนำ และ นักเรียนแกนนำ เพื่อให้ได้เรียนรู้ใน 4 ประเด็น ดังนี้
    1. รู้จำและรู้จัก ปศพพ.
    2. เข้าใจ ปศพพ.
    3. นำไปปฏิบัติใช้กับชีวิต หรือ เชื่อมโยงชีวิตจริง
    4. เผยแพร่สู่บุคคลอื่น
  3. เพื่อเรียนรู้จากผู้บริหารของโรงเรียน ใน 4 ประเด็นตามข้อ 2 และเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็น คือ
    1. กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่ครู นักเรียน และการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ในโรงเรียน
    2. กลยุทธ์หรือวิธีการในการขับเคลื่อนสู่ชุมชนและผู้ปกครองของนักเรียน
  4. เพื่อศึกษาวิจัย และพัฒนา การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนในบริบทต่างๆ

ขอบเขตของกิจกรรม

  1. ไม่มีรูปแบบตายตัว แล้วแต่จำนวนคน ที่เข้าร่วม หลักๆ คือ ทำกระบวนการกลุ่มกับนักเรียนแกนนำก่อน และ สะท้อนผลสู่ครูและผู้อำนวยการ
  2. ทำกิจกรรมระยะสั้น นักเรียนแกนนำประมาณ 1 ชั่วโมง ครูแต่ละโรงเรียน 1 ชั่วโมง
  3. เน้นการเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อน
  4. สะท้อนความจริง ตรงไปตรงมา
  5. ประชาสัมพันธ์ข่าวโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป
กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

29/9/55

           ผมเดินไปกับนิสิตช่วยงาน 2 คนคือ จอร์จ (สุเมธี) และ แมน(วุฒิพงษ์) นิสิตสาขาฟิสิกส์ ชั้นปี 4 ทั้งสองมีงานอดิเรกที่รักมากคือการถ่ายรูป ชมฝีมือของพวกเขาในการถ่ายรูปกิจกรรมที่โรงเรียนบ้านดอนช้างได้ที่นี่ครับ บุคลากรของโรงเรียนมีแสดงไว้ที่นี่ครับ

          โรงเรียนบ้านดอนช้างตั้งอยู่ติดกับวัดเก่าแก่ ผมนึกถึง บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ บวร ในวัฒนธรรมการศึกษาของไทยสมัยก่อนโน้น เสียดายที่ตอนนี้ถูกแยกออกจากกันแล้วโดยสิ้นเชิง.......มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะนำกลับมา.....แต่อีกข่าวคือ ผู้นำในการนำกลับมาคือ "วัดธรรมกาย" ตามโครงการโรงเรียนดีศรีตำบล....หลายโรงเรียนที่เรากำลังขับเคลื่อนอยู่ เข้าร่วมโครงการนี้ เช่น ดงบัง บ้านป่านหนองอ้อ รวมทั้งบ้านดอนช้างนี้ด้วยครับ

           วันที่เราไปเยี่ยมนี้ ท่าน ผอ.เพชรรัตน์ อ่างยาน นำนักเรียนส่วนใหญ่ไปร่วมงานมอบทุนการศึกษาของบริษัทซีลวาเนียร์ อ่านข่าวได้ที่นี่ (ขออนุโมทนาบุญกับนักธุรกิจใจดีด้วยครับ) จึงไม่ได้เจอท่าน แต่ท่านก็ได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายวิชาการ คุณครูรัตน์ภัณฑชา อ่างยาน นำทีมครูแกนนำที่มีคุณครูภานุพงส์ ทับซ้าย ครูทันยพร นามเหล่า และอีกหลายคน พร้อมนักเรียนแกนนำ ให้การต้อนรับทีมเราอย่างอบอุ่น (ขอบคุณมากๆ ครับ)

          ผมวางแผนกับคุณครูว่า จะขอคุยกับแกนนำนักเรียนก่อน จากนั้นจะให้เด็กๆ พาเดินชมโรงเรียนและแนะนำฐานการเรียนรู้ต่างๆ ก่อนจะมาพูดคุยกับครูแกนนำ ทั้งหมดนี้ มีเวลาเพียง 3 ชั่วโมง ขอเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ

  • ช่วงสนทนากับนักเรียนแกนนำ ผมพยายามชักชวนให้ร่วมกันถอดบทเรียนชีวิตประจำวันของตนเอง โดยมีคำถามสั้นๆ ว่า "ตรงไหนบ้างที่เราคิดว่าสอดคล้องหรือนำหลักพอเพียงไปใช้" นักเรียนที่บ้านดอนช้าง แตกต่างจากที่อื่นครับ ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องกล้าพูด กล้าแสดงออก จึงทำให้ผมเชื่อว่านักเรียนยังไม่ได้ฝึกตีความหรือถอดบทเรียนกิจกรรมการเรียนรู้กับหลักพอเพียงมากนัก....ผมเริ่มลังเลและสงสัยว่า สิ่งที่เราฝึกอบรมและเน้นย้ำกันว่า การที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจหลักปรัชญาฯ ที่เป็นทั้งหลักคิดและหลักปฏิบัตินั้น จะต้องจัดให้มีกิจกรรมที่นักเรียนได้ "ฝึกคิด" ซึ่งก็คือกิจกรรมถอดบทเรียนจากการเรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมต้น น่าจะสามารถทำได้ นั้น ครูแกนนำเข้าใจและนำกลับมาทำหรือไม่....ผมเสนอว่า โรงเรียนควรจัดให้มีกิจกรรมสะท้อนถอดบทเรียนจากกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ มากขึ้น .....
  • แม้นักเรียนจะตีความเชื่อมโยงชีวิตหรือกิจกรรมเข้ากับหลักพอเพียงได้ไม่มาก แต่สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจมากๆ ก็คือ ความสามารถและทักษะชีวิตของนักเรียนที่นี่ดีมากๆ นักเรียนหลายคนที่พาผมเดินทัศนศึกษาตามฐาการเรียนรู้ต่างๆ ตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งคำถามแบบ "อะไร" "อย่างไร" และ "ทำไม" อีกทั้งยังเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาประทับใจได้อย่างคล่องแคล่ว สนุกสนาน (เพียงแต่พวกเขาจะเล่าเป็นภาษาอีสาน) .... ผมเห็นความสุขในขณะที่เขาตอบและเล่าเรื่อง โดยเฉพาะ เด็กชาย "ป๊อก" ที่รู้ไปหมดทุกเรื่อง มีตอนหนึ่งที่เขาเล่าให้ผมฟังหลังจากที่ผมถามว่า....ตอนเด็กๆ เท่าพวกเรา อาจารย์จะไปดักจับ "กะปอม" (กิ๊งก่า) แล้วเอามาทำกับข้าวกิน พวกเราเคยไหม ? ป๊อกตอบว่า เคยครับ แต่ช่วงนี้เป็นหน้าฝน กะปอมมันไม่อร่อย มันคาว (เหม็นคาว) ช่วงนี้ต้องไปขุดแย้ แต่ตอนนี้กลายเป็นไร่ยางพาราไปหมดแล้ว พวกผมมักโดนไล่ไม่ให้ไปขุดในไร่ยางพารา....... จะเห็นว่าเป็นคำตอบ จากผู้ทำจริงผ่านมา รู้จริง เป็นทักษะชีวิต ผมอยากจะบอกพวกเขาตรงนั้นว่า ตอนนี้โลกเรากำลังเปลี่ยนเร็วมากแค่ไหน แต่ก็ได้แต่ถามคำถามอื่นๆ ตามไปเผื่อว่าพวกเขาจะรู้ว่า ถ้าต่อไปไม่มีสิ่งที่เคยมีเราจะทำอย่างไร
  • ทางโรงเรียนจัดประดับตกแต่งโรงเรียนได้สวยงามครับ มีฐานการเรียนรู้หลายฐานครับ ส่วนใหญ่เป็นฐานการเรียนรู้ด้านการเกษตร เช่น ฐานทำนา ฐานทำปุ๋ยหมัก ฐานเรือนเพาะชำ ฐานสหกรณ์การออม ฐานพื้ชผักสวนครัว เป็นต้น อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้น นักเรียนยังไม่สามารถเชื่อมโยง การเรียนรู้ผ่านฐานการเกษตรเหล่านี้สู่วิธีคิดของพวกเขาได้ แต่ในด้านการนำไปใช้นั้น ผมว่าก็คงมีเพียงแต่ยังไม่ชัดเจน ผมเสนอว่าผู้บริหารและครูควรหันมาให้ความสำคัญกับรายละเอียดของกิจกรรมในแต่ละฐานการเรียนรู้ ใน 4 ประเด็น ดังนี้
    • ฐานนั้นต้องการให้นักเรียนได้อะไร เช่น หากต้องการฝึกคุณธรรมด้านความรับผิดชอบ ควรมีการแบ่งเขตแดนหรือพื้นที่ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มรับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน ปัจจุบันมีการแบ่งแต่แบ่งเป็นระดับชั้น ซึ่งดูจากฐานการเรียนรู้แล้วยังไม่เห็นร่องรอยความสม่ำเสมอในการดูแลรับผิดชอบ เป็นต้น
    • ฐานนั้นต้องทำให้นักเรียนทราบได้ว่า ทำหรือเรียนรู้เรื่องนั้นไปทำไม นั่นก็คือการฝึกตีความเชื่อมโยง ให้เขารู้เรื่องเหตุและผล เป็นห่วงเหตุผลนั่นเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการคิด ตัดสินใจในห่วงพอประมาณต่อไป
    • ฐานนั้นต้องชัดเจน ที่ว่า "ได้อะไร" นั้นนักเรียนจะต้องทำอย่างไร เรียนรู้อย่างไร เช่น หากต้องการฝึกความรับผิดชอบ ใช้กิจกรรมใด ให้ได้ความรู้เรื่องอะไร อย่างไร นั่นก็คือ ให้ชัดเจนเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน นั่นเอง
    • ต้องมีการประเมินผลว่า "ได้อะไร" ในข้อแรกนั้น เกิดสิ่งนั้นๆ ขึ้นกับนักเรียนจริงหรือไม่ ถ้าไม่เกิดมีการปรับอย่างไรต่อไป คือมีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ..... ไม่ใช่การประเมินผลตอนปลายภาค หรือตอนจบนะครับ แต่เป็นการเอาใจใส่ดูแล นักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอ..... ผมรู้ว่าทำได้ยากแต่นี่เป็นปัจจัยของความสำเร็จของโรงเรียนศูนย์ฯ อื่นๆ

  • ผมนำเรื่องต่างๆ ข้างต้นมาบอกับเวทีครู แบบตรงไปตรงมา ครูบอกว่าช่วงนี้มีการเตรียมฝึกนักเรียนเพื่อไปแข่งขันโครงการ Excellent ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ จึงมีนักเรียนแกนนำส่วนหนึ่งต้องแยกออกไปฝึกอยางหนัก... ผมทราบดังนั้นแล้ว ผมทราบปัญหาขึ้นมาในหัวทันทีว่า ปัญหาของโรงเรียนบ้านดอนช้างคือ "การบูรณาการ" ผมฝากท่าน ผอ.เพชรรัตน์ ไว้ตรงนี้นะครับ เรื่องการบูรณาการอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนให้ มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน. นักเรียนทุกคน ไม่ใชนักเรียนบางคนที่จะเข้าประกวด...ไม่ใช่ผลงานครู ไม่ใช่ผลงานโรงเรียน ผมเชื่อมั่นว่าท่านสามารถทำได้....... ผมยังประทับใจคำชมที่ท่านชมผมไม่หายตอนที่อบรมครูฟาฯ ที่ว่าชอบที่ผมพูดอีสาน นอกจากพูดอีสาน รักอีสานแล้ว ผมยังห่วงลูกหลานอย่าง ป็อก และเพื่อนอีกหลายๆ คนที่อาจยังไม่ได้รับโอกาส...
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ