กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ค่ายรับน้องอย่างสร้างสรรค์
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

แต่เดิมกิจกรรมรับน้องนั้นเป็นหน้าที่ของรุ่นพี่ ม.5 มาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ.2551 กระแสการรับน้องที่ไม่เหมาะสมตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศห้ามทุกโรงเรียนจัดกิจกรรมรับน้อง ผู้อำนวยการจึงไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมนี้อีกต่อไป แต่นักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ยังต้องการรับน้องและเชื่อมั่นพวกตนสามารถดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงกับน้องๆ ได้ ผอ.กัญพิมา จึงให้นักเรียนเขียนโครงการรับน้องขึ้นมาเพื่อขอทราบแนวทางและวิธีการรับน้องของนักเรียนชั้น ม.5 พร้อมทั้งให้วิเคราะห์ว่ากิจกรรมรับน้องนี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร


นักเรียนแกนนำชั้น ม.5 จึงคิดโครงการ “สานสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง เพื่อนพ้องชาวจุฬาภรณฯ” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรัก ความศรัทธา ความสามัคคีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง และเพื่อให้นักเรียนดำเนินชีวิตอยู่ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เมื่อเกิดปัญหาสามารถปรึกษาขอความช่วยเหลือจากรุ่นพี่ได้ และเพื่อให้เกิดความรักในสถาบันเดียวกัน โดยมีวิธีการดังนี้ 1. ให้น้องจับรหัสพี่รหัสน้อง 2.กิจกรรมเปิดตำนานจุฬาภรณฯ เพื่อเล่าตำนานความเป็นมาของโรงเรียนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง กระทั่งเกิดความรักในสถาบันเดียวกัน เกิดความผูกพันกับพื้นที่และเชื่อมโยงสัมพันธ์กับองค์ผู้พระราชทานกำเนิด 3.กิจกรรมพัฒนาตนเอง พัฒนาโรงเรียน เช่นการออกกำลังกาย ทำความสะอาดโรงเรียน ห้องน้ำ ฯลฯ 4.กีฬาสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง โดยเน้นการแข่งขันกีฬาแบบพื้นบ้าน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เช่น ชักเย่อ เป็นต้น 5.กิจกรรมประกวดหนุ่มหวานสาวเปรี้ยว เพื่อให้รุ่นพี่รุ่นน้องรู้จักกันมากขึ้น 6.พิธีดื่มน้ำสาบาน (ใช้น้ำแดงแทนเลือด) เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่เพื่อนร่วมสถาบัน 7.กิจกรรมเฉลยพี่รหัส น้องรหัส และ 8.กิจกรรมบูมรับน้อง


ผอ.กัญพิมา กล่าวว่า จากการพิจารณาแผนกิจกรรมรับน้องที่นักเรียนชั้น ม.5 คิดขึ้นโดยเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการ “สานสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง เพื่อนพ้องชาวจุฬาภรณฯ” และจากการฟังนักเรียนนำเสนอการวิเคราะห์เรื่องความพอเพียงในโครงการก็สามารถตัดสินใจได้ทันทีว่า สมควรให้นักเรียนจัดกิจกรรมนี้ได้


“เพราะเราไม่เห็นความรุนแรง แต่เห็นความจริงใจที่เขาอยากจะให้น้องใหม่กับรุ่นพี่ได้รู้จักกัน ได้รักสถาบันเดียวกัน มีทั้งกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาโรงเรียน ที่น่ารักก็คือเขาคิดเรื่องการดื่มน้ำสาบาน แต่ใช้น้ำแดงแทนการกรีดเลือดที่คนสมัยก่อนทำกันเวลาสาบานเป็นพี่เป็นน้องกัน เราก็คิดว่าเด็กๆ มีเหตุผล มีความพยายาม มีความจริงใจก็เลยอนุญาตให้เขาจัดกิจกรรม ที่สำคัญคือเขาสร้างภูมิคุ้มกันของเขาเองด้วยการไปปรึกษาหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษา ไม่ได้ทำกันเองโดยพลการ มีการวางแผนมาอย่างดี มีเงื่อนไขคุณธรรม ในเรื่องความต้องการให้เกิดความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง อีกทั้งยังนำไปสู่ 4 มิติอีกด้วย คือด้านเศรษฐกิจที่นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการจัดการงบประมาณในการจัดกิจกรรมด้วยการเก็บเงินกันเอง ไม่ต้องเดือดร้อนงบประมาณโรงเรียน ด้านสังคม คือเพื่อให้เกิดความกลมเกลียวกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ด้านวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างพี่และน้อง มีการฟื้นฟูเกมการแข่งขันแบบพื้นบ้านมาใช้สร้างความสนุกสนานและสร้างความสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมให้รุ่นน้องพัฒนาโรงเรียนด้วยการทำความสะอาดทำให้ภูมิทัศน์ของโรงเรียนดีขึ้น เราเห็นอย่างนี้ก็ชื่นใจเลยอนุญาตให้เขาจัด” ผอ.กัญพิมา กล่าว


นายวัฒนพงศ์ สิทธิเสรี นักเรียนชั้นม.6/1 (ปีการศึกษา 2552) ซึ่งเป็นแกนนำจัดค่าย “สานสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง เพื่อนพ้องชาวจุฬาภรณฯ” หรือการรับน้องแบบสร้างสรรค์ กล่าวถึงกิจกรรมในการรับน้องใหม่ว่า จะใช้เวลาทั้งหมด ๓ วัน คือ ศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเวลาเรียน โดยเริ่มต้นจากเย็นวันศุกร์หลังเลิกเรียน จับพี่รหัส น้องรหัส แล้วให้โจทย์น้องไปว่าต้องไปหาว่าใครเป็นพี่รหัสหรือน้องรหัสให้เจอภายใน 3 วัน พร้อมกับเล่าความเป็นมาของโรงเรียน สร้างบรรยากาศให้เกิดความขลัง โดยการจุดเทียนล้อมวงคุยกัน


ตัวอย่างฐานสร้างความสามัคคี คือ การให้รุ่นน้องช่วยกันล้างถังขยะ โดยแบ่งน้องออกเป็น 2 กลุ่มกลุ่มละ 5 คน ผลัดกันวิ่งไปล้างถังขยะให้สะอาด กลุ่มไหนใช้เวลาน้อยที่สุดและสะอาดที่สุดได้คะแนนสะสมไป“ฐานกิจกรรมนี้เน้นเรื่องความพอประมาณ เพราะถังขยะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในโรงเรียน อีกทั้งถังขยะในโรงเรียนก็สกปรกและไม่เคยมีใครคิดที่จะล้างทำความสะอาดให้ดี ไม่ให้ส่งกลิ่นเหม็น การที่เราสร้างกิจกรรมนี้ขึ้นก็เพื่อให้น้องได้ล้างถังขยะ ซึ่งเป็นความพอประมาณที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยไม่ให้น้องใช้น้ำจากก๊อกน้ำ แต่ให้ใช้น้ำอย่างจำกัด คือ กลุ่มละ 1 ถังเท่านั้น ที่สำคัญน้องๆ ต้องเรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย โดยการวางแผนว่าจะผลัดกันวิ่งไปล้างอย่างไรส่วนไหนส่วนเงื่อนไขคุณธรรมในฐานกิจกรรมนี้คือการสร้างความสามัคคีให้กับน้องๆ ”

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ