กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
รั้วเฟื่องฟ้ากับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 141 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา มีรั้วที่เป็นคอนกรีตเฉพาะด้านหน้าทิศตะวันออก ซึ่งมีความยาว 800 เมตร แต่ด้านทิศเหนือ ใต้ และตะวันตก จะเป็นรั้วลวดหนาม

รั้วด้านทิศเหนือจะเป็นสถานที่แห่งแรกที่ผู้ที่จะมาเยี่ยมชมโรงเรียนได้พบ ด้วยการเดินทางเข้ามาในโครงการพระราชดำริหุบกะพง มาตามถนนหุบกะพง-จุฬาภรณฯ เมื่อถึงทางแยกเข้าโรงเรียน รถจะต้องวิ่งเลียบรั้วโรงเรียนด้านทิศเหนือ เพื่อจะมาเข้าประตูโรงเรียนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ระยะความยาวของรั้วด้านทิศเหนือประมาณ 300 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่มีความยาวพอสมควร และถ้าจัดสร้างรั้วให้เป็นกำแพงคอนกรีตสวยงาม ต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง โดยที่โรงเรียนต้องทำการของบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด และโอกาสที่จะได้งบประมาณเป็นไปได้ยากมาก เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีโรงเรียนที่ต้องดูแลประมาณ 30,000 กว่าโรงเรียน ดังนั้นในการจัดทำรั้วโรงเรียน เราจึงได้ใช้หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาคิดวิเคราะห์การดำเนินการในครั้งนี้ โดยคิดใช้ต้นไม้ทำรั้วโรงเรียนแทนรั้วคอนกรีต ซึ่งรั้วต้นไม้เมื่อเติบใหญ่จะให้ความสวยงามมากกว่าและช่วยเพิ่มสดชื่นทางอารมณ์ให้กับผู้พบเห็นพร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย สำหรับการที่จะนำต้นไม้มาปลูกเป็นรั้วเราต้องเลือกต้นไม้ที่จะใช้ทำรั้ว และต้นไม้อะไรจึงจะเหมาะสม ก็ต้องดูบริบทภูมิสังคมของโรงเรียนด้วย โรงเรียนจุฬาภรณฯเพชรบุรี มีพื้นที่เป็นพื้นที่ดินทราย ฝนไม่ค่อยจะตกเหมือนกับที่อื่นๆ ดังนั้นต้นไม้ที่จะเลือกมาปลูกต้องเป็นต้นไม้ทนแล้ง และมีความสวยงาม ดังนั้นต้นเฟื้องฟ้าจึงเป็นต้นไม้ที่ถูกคัดเลือกมาเป็นรั้วของโรงเรียน เพราะนอกจากทนแล้งแล้วยังออกดอกสวยงามอีกด้วย และในการจัดทำรั้วมีวิธีการดังนี้

เชิญชวนนักเรียนร่วมกิจกรรมนำต้นเฟื้องฟ้ามาคนละ 1 ต้น มาปลูกตามแนวรั้วในวันไหว้ครู (14 มิถุนายน 2555) หลังจากกิจกรรมไหว้ครูในภาคเช้า ภาคบ่ายพวกเด็กๆก็จะปลูกต้น เฟื้องฟ้า บูชาครู และในการเชิญชวนนักเรียนครูหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ครูพรไพรสน คนมี) ได้โพสต์ ข้อความเชิญชวนนักเรียนผ่านใน Face book ซึ่งได้รับความสนใจและตอบสนองทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า เมื่อนักเรียนกลับบ้านในวันศุกร์ พอวันอาทิตย์นักเรียนกลับเข้าโรงเรียนได้นำต้นเฟื้องฟ้ามามอบให้โรงเรียน พี่ๆนักเรียนม.6 รับต้นเฟื้องฟ้าจากน้องๆแล้วนำไปพักไว้ก่อน สำหรับนักเรียนที่ไม่กลับบ้านก็จะขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษาไปจัดซื้อต้น เฟื้องฟ้ามาให้ก่อนถึงวันที่นักเรียนจะไปปลูกต้นเฟื้องฟ้า โรงเรียนได้ดำเนินการปรับพื้นที่ และขุดตอไม้ที่เกะกะออกไปก่อนเพื่อที่นักเรียนจะได้ไปปลูกต้นเฟื้องฟ้าได้โดยสะดวกไม่เกิดอันตราย เมื่อปรับพื้นที่แล้วได้เห็นความสวยงามของบริเวณเด่นชัดขึ้น และในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 อาจารย์หัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้นำนักเรียนชั้น ม.6 ไปขุดหลุมเตรียมรอเพื่อจะปลูก เฟื้องฟ้าในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 และเมื่อวันไหว้ครูมาถึง ภาคเช้านักเรียนทำพิธีไหว้ครูและฟังธรรม ในภาคบ่ายหลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว นักเรียนต่างก็ถือถุงกล้าต้นเฟื้องฟ้าไปยังริมรั้วเพื่อทำการปลูกต้นเฟื้องฟ้า ระยะทางจากโรงอาหารไปยังริ้วรั้วประมาณ 500 เมตรเศษ ทุกคนหน้าตาสดชื่นที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน

งานการปลูกต้นเฟื้องฟ้าเพื่อจัดทำรั้วโรงเรียนเสร็จสิ้นลงด้วยความเรียบร้อย โดยที่โรงเรียนแทบจะไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดทำ นี่แหละการคิดสร้างงานด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้งานสำเร็จออกมาได้อย่างงดงาม โดยไม่ต้องถามถึงงบประมาณที่จะจัดทำ

งานขั้นต่อไป คือการดูแล รดน้ำ บำรุงต้นไม้ ตลอดจนการตัดแต่ง เพื่อให้เฟื้องฟ้าเติบโตเป็นรั้วที่สวยงาม

จึงกล่าวได้ว่าหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหลักคิดในการทำงานและการดำรงชีวิต กิจกรรมครั้งนี้ขอตั้งชื่อว่า “รั้วเฟื้องฟ้ากับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยสามารถวิเคราะห์ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการทำรั้วเฟื้องฟ้าได้ดังนี้

ความพอประมาณ คือการพอประมาณในทรัพยากร ได้แก่

  • กำลังของนักเรียนที่จะจัดหาต้นเฟื้องฟ้ามาปลูกคนละ 1 ต้น พร้อมทั้งการดูแลรดน้ำต้นไม้ของตนเอง
  • พอประมาณระหว่างพื้นที่ต่อจำนวนต้นไม้ที่ใช้ปลูก
  • เวลาที่เหมาะสม ในการใช้ทำกิจกรรม

ความมีเหตุผล คือ เหตุผลของการจัดกิจกรรมในการทำรั้วด้วยต้นไม้ ได้แก่

  • ไม่ต้องใช้งบประมาณมากเกินกำลังของโรงเรียน ,นักเรียน ที่จะดำเนินการได้
  • กำหนดจัดกิจกรรมในวันไหว้ครู เพื่อให้นักเรียนได้มีสัญลักษณ์ที่จะระลึกถึงคุณครู เมื่อนักเรียนได้เติบใหญ่ไปในภายภาคหน้า
  • รั้วต้นไม้ให้ความสวยงามและความสดชื่นทางอารมณ์ พร้อมทั้งมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน
  • นักเรียนสามารถหาต้นไม้ให้โรงเรียนคนละ 1 ต้นได้ โดยไม่เกินกำลังของนักเรียนและผู้ปกครอง

หลักการมีภูมิคุ้มกัน คือ การดำเนินกิจกรรมจนประสบผลสำเร็จ โดยการปิดช่องโหว่ที่จะทำให้งานล้มเหลว ได้แก่

  • ปรึกษากลุ่มย่อย และการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน
  • เลือกวันที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรม และดูเวลาที่จัดกิจกรรมด้วย
  • ประชาสัมพันธ์แจ้งคณะครูทราบร่วมกิจกรรมในที่ประชุมครูประจำเดือน
  • ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนนักเรียนร่วมกิจกรรมทั้งทาง internet และชี้แจงบนหอประชุม
  • ครูเจ้าของกิจกรรมมอบหมายงานให้นักเรียน ม. 6 เป็นแกนนำในการทำกิจกรรม
  • การปรับพื้นที่ให้สะดวกในการทำกิจกรรม

เงื่อนไขความรู้ คือ ความรู้ที่ต้องมีก่อนลงมือทำ ได้แก่

  • ความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ที่จะใช้ในกิจกรรม และวิธีการปลูก ตลอดจนการดูแลต้นไม้
  • การแบ่งงาน และแบ่งหน้าที่ของนักเรียนแกนนำ

เงื่อนไขคุณธรรม คือ เงื่อนไขของการกระทำที่จะไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

สำหรับการกระทำกิจกรรมในครั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดกับนักเรียน ได้แก่ ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อรู้จักการแบ่งปัน การเสียสละ การรู้จักการเป็นผู้ให้ของนักเรียน ความรักความสามัคคีในหมูคณะ และความรักในสถาบัน

การดำเนินการในครั้งนี้ นำไปสู่ความสมดุล ยั่งยืนใน 4 มิติ ได้แก่

มิติวัตถุ การดำเนินกิจกรรมไม่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ทำได้โดยการรวมพลังทั้งกำลังทรัพย์และกำลังกายของนักเรียนในการจัดทำ

มิติสังคม การทำงานร่วมกันก่อให้เกิดความสามัคคี และเป็นการฝึกนักเรียนให้เป็นผู้ให้ และผู้เสียสละ ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

มิติวัฒนธรรม วัฒนธรรมไทยในอดีตที่มีการร่วมแรงในการช่วยกันทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ เรียกว่า “การลงแขก” เช่นรวมคนมาช่วยกันเกี่ยวข้าวในนา เรียกว่าการลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน การที่นักเรียนทั้งโรงเรียนรวมพลังกันปลูกต้นเฟื้องฟ้าเป็นรั้วของโรงเรียน ก็เป็นการกระทำที่เรียกว่า ลงแขกปลูกต้นไม้ เช่นกัน

มิติสิ่งแวดล้อม การทำกิจกรรมปลูกเฟื้องเพื่อทำรั้วของโรงเรียน มิติสิ่งแวดล้อมชัดมาก เพราะต้นไม้ที่ปลูกจำนวนเป็นร้อยๆ ต้น จะทำให้สภาวะสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหลักคิดที่มีความลึกซึ้ง สามารถนำมาใช้ได้ในทุกเรื่อง และผู้ที่น้อมนำมาปฏิบัติย่อมประสบความสำเร็จและบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ