กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 1 ห้องย่อยที่ 5 ประสบการณ์...อาสาสมัครกับการสร้างความเป็นพลเมือง : “กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนสู่สังคมพลเมือง”
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 1

(National Conference on Volunteerism)

วันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์



           อาสาสมัคร เป็นภาคส่วนสำคัญในการมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงการทำงานด้านการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ นับตั้งแต่ภัยพิบัติสึนามิในปี 2547 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความเคลื่อนไหวด้านการทำงานอาสาสมัครในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันที่ผู้คนในสังคมหันมาสนใจการทำงานอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น อาสาสมัครมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปช่วยเสริมเติมเต็มให้กับงานพัฒนาในหลากหลายภาคส่วนและหลากหลายประเด็น

          เครือข่ายจิตอาสา ในฐานะผู้แทนภาคประชาสังคมในคณะอนุกรรมการส่งเสริมงานอาสาสมัครแห่งชาติ รวมถึงเป็นภาคส่วนที่ทำงานขับเคลื่อนในโครงการจัดตั้งองค์กรประสานงานอาสาสมัครระดับชาติ (National Volunteer Coordinating Agency) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในสำรวจสถานการณ์งานอาสาสมัครของสังคมไทยในภาพรวม ไปจนถึงการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่จากการทำงานด้านอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาในภาคส่วนต่างๆของสังคม เพื่อนำไปสู่การยกระดับการทำงานอาสาสมัครซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศไทย ด้วยความตั้งใจดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการจัด “งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 1 “ (National Conference on Volunteerism) ภายใต้แนวคิดเรื่อง “งานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยต้องการจะเปิดพื้นที่ในการนำเสนอ งานความรู้ (Knowledge), ประสบการณ์ (Experience) และตัวแบบของปฏิบัติการ (Practice) ด้านงานอาสาสมัคร อันเชื่อมโยงกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานอาสาสมัคร ยกระดับในการทำงานขับเคลื่อนด้านอาสาสมัครในประเทศไทย


         มูลนิธิสยามกัมมาจล หนึ่งในองค์กรรับผิดชอบการจัดงานในครั้งนี้ ร่วมกับสงขลาฟอรั่ม ได้ร่วมบอกเล่าเปลี่ยนประสบการณ์งานอาสาสมัคร ในหัวข้อ กระบวนการอาสาสมัครกับการสร้างความเป็นพลเมือง : “กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนสู่สังคมพลเมือง” (ห้องย่อยที่ 5) วันที่ 8 พฤษภาคม 2558 เวลา 11.15 – 12.30 น. ณ ห้องทวี บุญเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

อาสาสมัครกับการสร้างความเป็นพลเมือง : “กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนสู่สังคมพลเมือง”

วันที่ 8 พฤษภาคม 2558

ณ ห้องทวี บุญเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


วิทยากร

1.นางพรรณิภา โสตถิพันธ์ุ                      ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม

2.น.ส.นูรอามีนี สาและ                           เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

3.นายอภิศักดิ์ ทัศนี                                เยาวชนโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

4.น.ส.ศิริวรรณ มะแซ                             เยาวชนโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

ดำเนินรายการโดย   นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร   มูลนิธิสยามกัมมาจล



จุดเริ่มต้นการสร้างพลังพลเมือง

โดย  นางพรรณิภา  โสตถิพันธุ์   ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม


               เรื่องของพลเมืองเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ รู้สึกว่าสถานการณ์บ้านเมืองหล่อหลอม ผลักดันให้พลังของความเป็นพลเมืองมันต้องเริ่มขึ้น..


              สงขลาฟอรั่ม ได้ก่อตัวเมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่สนใจในประเด็นเรื่องของทะเลสาบสงขลา ได้ทำโครงการ “โลกสดใสในบ้านเกิด” เพื่อที่จะดึงประเด็นเรื่องของทะเลสาบให้เป็นที่สนใจของคนสงขลา สมัยนั้นเริ่มทีความสนใจเรื่องทะเลสาบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ที่กรุงเทพฯ มีการรณรงค์เรื่องตาวิเศษกับแม่น้ำเจ้าพระยา เด็กสงขลาก็ไปรับเรื่องตาวิเศษมา แต่ไม่เคยรู้เรื่องว่าทะเลสาบสงขลามีปัญหาอย่างไร

 

               สงขลาฟอรั่ม จะมีวงเสวนาเล็กๆที่จะมีประเด็นของบ้านเมืองเรา เช่น เรื่องจะทำอุโมงขุดเจาะรอบทะเลสาบ คนสงขลาจะยอมให้รถยนต์เข้ามาในใจกลางเมืองหรือไม่ เรามีข้อมูลอย่างไรเราก็จะเอาไปเชื่อมระหว่าง NGO ที่ทำอยู่หลายๆเรื่อง แต่ไม่มีระบบที่จะสื่อสารถึงกัน สงขลาฟอรั่มก็จะทำหน้าที่ในการเปิดเวทีสาธารณะเล็กๆเพื่อเชื่อมโยง


               พอถึงจุดหนึ่ง พบว่าไม่มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามาเป็นนักพัฒนา เป็นอาสาสมัคร ไม่มีพื้นที่การบริหารจัดการที่เป็นเรื่องเป็นราว ช่วงนั้นสงขลาฟอรั่มจึงคิดถึงเรื่องคนรุ่นใหม่กับการเป็นอาสาสมัคร สงขลาฟอรั่มสนใจคำว่า “พลเมือง” เรามีความรู้สึกว่าเวลาเมื่อพูดถึงภาคพลเมือง แต่ไม่เคยเห็นมีตัวตน ทำไมไม่ทำให้ส่วนนนี้มันชัดเจนมีพลังขึ้นมา


               จนเมื่อปี พ.ศ. 2555 สงขลาฟอรั่มได้มาเจอกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และได้คุยกันแบบเปิดใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองเราควรที่จะเร่งกันสร้างเรื่องแบบนี้โดยเร็ว และ "จับมือ" กันที่จะ  "สร้างพลเมือง” อย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็น่าจะเป็นความหวังให้ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด


              การสร้างพลเมืองเด็ก เริ่มจากเด็กเป็นจุดศูนย์กลาง โครงการนี้เราไม่ได้ออกแบบให้เด็กมาทำอะไรตามเรา เราให้เด็กเห็นบ้านเมือง ชุมชน บ้านเมือง จุดเล็กๆในโรงเรียนที่เขาอยากเปลี่ยนแปลง ที่เขาอยากจะสร้างสรรค์ให้เสนอโครงการเข้ามา ตอนที่เรานัดเจอกันช่วงแรก เรานัดเจอรวมพลังกันดูห้องเรียนในบ้านของเราคือ หาดสมิหลา ซึ่งมีปัญหาการพลังทลายของชายหาดมันเริ่มรุนแรงมาตั้งแต่มี พ.ศ.2545 ตั้งแต่เรามีการกระจายอำนาจ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีงบประมาณไปทำโครงสร้างแข็ง สร้างเขื่อน และความไม่รู้ในเรื่องของระบบนิเวศน์ชายหาด ส่งผลให้เป็นปัญหาแบบโดมิโน ซึ่งเราก็ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องเลย เราจึงใช้เรื่องนี้มารวมเด็กสงขลาให้มาสนใจเรื่องนี้ ให้พาใจมารักบ้านเกิด ให้พาใจมาผูกพันธ์กับบ้านเกิดของตัวเอง ทำให้เด็กได้มองเห็นประเด็นปัญหาร่วมในบ้านเกิดของเขาในปีนั้น และนำเสนอโครงการสู่เด็กสงขลา ซึ่งเริ่มต้นที่ 6 อำเภอ เริ่มจากจุดเล็กๆของเด็กๆ เช่น เรื่องห้องน้ำในโรงเรียน แต่ไม่แค่เรื่องการทำให้ห้องน้ำสะอาด มันทำให้เกิดการสร้างพลเมืองให้เด็กได้อย่างไรจึงเป็นเรื่องที่น่าสนมาก (หาอ่านได้ในหนังสือสงขลาส่องแสง 2) เรื่องของน้องที่พักในหอพัก ไม่เคยเจอหน้ากันเลยแต่มาตกลงร่วมกันที่จะประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ในหอพัก จาก 14,000 บาท ลดลงเหลือ 7,000 บาท และยังคงลดลงเรื่อยๆ พลังที่ทำอย่างต่อเนื่องตรงนี้มันส่งผลไปยังเรื่องใหญ่ๆไดด้อย่างไร


               ทำไมสงขลาฟอรั่มจึงสนใจกลุ่มเยาวชน ในช่วงอายุ 14 – 24 ปี เพราะประชากรโลกที่เป็นคนหนุ่มสาว มีถึง 1,500 ล้านคน และในประเทศไทยมีถึง 13 ล้านคน ที่สงขลาจะมีอยู่ประมาณ 3 แสนคน เพราะมีศูนย์กลงของสถานศึกษา มหาวิทยาลัย 3 – 4 แห่ง และในระดับวิทยาลัย เป็นกลุ่มที่เราจะสร้างพลเมืองได้จึงสนใจในกลุ่มนี้ เป้าหมายคือเด็กและเยาวชนเป็นหลัก ทั้งที่ในอดีตเคยทำงานในกลุ่มของเด็กเล็ก ในระดับประถมศึกษา ทำเรื่องของด้านใน การลดใช้ความรุนแรง การสมานไมตรีในพื้นที่โรงเรียน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กด้วยกันเอง ครูกับเด็ก แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้เราให้ความสนใจกับเด็กโตขึ้นมา โดยเฉพาะ 8 ปีที่เรามีประสบการณ์กับเด็กที่ก้าวพลาดในสถานพินิจ จ.สงขลา ตัวชี้วัดที่เด็กทำผิดพลาดแล้วต้องเข้าไปอยู่ในนั้นมันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าข้างนอกมันเกิดอะไรขึ้น และพอไปทำงานใกล้ชิดกับเด็กเหล่านี้เราก็พบว่าเด็กที่อยู่ข้างในกับเด็กที่อยู่ข้างนอกไม่ได้ต่างกันเลย เพียงแต่ว่าเด็กพวกนี้เมื่อทำผิดแล้วกระบวนการยุติธรรมอาจจะไม่ยุติธรรมกับเขาพอ หรือพ่แม่ไม่ได้ร่ำรวยเพียงพอที่จะใช้กระบวนการนำเด็กออกมาได้ จึงทำให้เราสนใจกับเด้กกลุ่มนี้มาก เพราะเขามีพลังกายที่แข็งแรง พลังใจที่ได้รับการหนุนเสริม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เด็กจะเป็นพลัง เป็นพลเมืองชาติได้



สงขลาฟอรั่มการทำงานทำให้เกิดการเติบโตด้านในของเด็กอย่างไร

               เปิดโอกาสให้เยาวชนรวมกลุ่มกัน 4-5 คน และเลือกที่ปรึกษากลุ่ม 1 คน ซึ่งอาจจะเป็นครู หรือผู้ใหญ่ในชุมชน รวมตัวอยากจะทำประเด็นที่สนใจในชุมชน อยากเปลี่ยนแปลงและยกระดับชุมชนให้ดีขึ้น เสนอสิ่งที่อยากทำมาที่สงขลาฟอรั่ม


               สงขลาฟอรั่มได้สร้างและเตรียมพี่เลี้ยงเยาวชน 8 – 9 คน เพื่อยกระดับการเป็นพลเมือง จากเรื่องจริง ชีวิตจริง และปฏิบัติจริง เช่น เยาวชนต่อสู้เรื่องการพังทลายของชายหาดสงขลา ในขณะที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กยังไม่ต้องมาจริงจังกับเรื่องก็ได้ ความเป็นพลเมืองจะต้องมาจากตัวเรากับการก้าวเข้าสู่การเป็นพลเมือง การสนทนา วงฟอรั่ม การทบทวน(AAR) ในสิ่งที่เด็กๆทำให้เด็กได้บทเรียนที่สำคัญในการพูดคุยกัน


              ความเป็นพลเมืองจะช่วยให้เราก้าวข้ามความคับแคบในสู่สังคมเปิด เมืองเราจะน่าอยู่ขึ้น เมื่อเช้าดิฉันเดินลงบันไดแล้วก้าวพลาดไปหนึ่งขั้น มีน้องผู้ชายที่หน้าตาดูแล้วไม่น่าจะใจดีเลย แต่เขามาช่วยพยุงและถามว่า “คุณป้าเป็นอะไรไหมครับ” แม้ไม่เข้ากับสีหน้าเขา แต่ว่าน้ำใจหรือโอกาสที่เราเปิดรับแม้ในเรื่องเล็กๆเราไม่ค่อยมี เรามักจะระแวงจะกลัวว่าเด็กสมัยนี้จะมาทำร้ายหรือป่าว เพราะเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน แต่ว่าถ้าเราได้มาทำงานอาสาสมัคร ดิฉันมีประสบการณ์ที่ทำงานอาสาสมัครที่เกี่ยวกับเด็กและพลเมือง เราจะพบว่าเด็กเกร เด็กแว๊นที่คนไม่สนใจ พอผ่านโครงการไปหนึ่งปีเขาเปลี่ยนไปมาก เพราะเขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า บุคลิกเขาจะเปลี่ยนไป แค่เราเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามาทำงานด้านอาสาสมัครได้ และสงขลาฟอรั่มได้ช่วยจัดการให้มีอาสาสมัครคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่มาเจอกัน



5 ขั้นตอนกระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนสงขลา

  1. เปิดโอกาสให้เยาวชนรวมกันเป็นทีมเสนอโครงการเข้ามา
  2. มีกระบวนการกลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติ เพื่อให้โครงการเยาวชนมีแผนปฏิบัติงานชัดเจนขึ้นและได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักพัฒนาและนักวิชาการสาขาต่างๆ ได้รับฟังมุมมองจากหลายๆ มุม แล้วพี่เลี้ยง 8 – 9 คน ของสงขลาฟอรั่มจะนำข้อเสนอโครงการของน้องทำเป็นแบบฟอร์ม มีหลักการ มีวัตถุประสงค์ จนไปถึงเรื่องการใช้เงิน เพราะทุกๆเรื่องจะนำมาสร้างความเป็นพลเมืองให้กับน้อง ความซื่อตรงต่อการใช้เงินก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้งบประมาณไม่ได้มาก บางกลุ่มของบเพียง 9,000 บาท สูงสุด 20,000 บาท มีระยะเวลาให้ 1 ปีทำงานสำเร็จ จึงมีบางกลุ่มที่ครบ 1 ปีแล้วมหาวิทยาลัยรับโครงการน้องต่อ เช่น ครูเดลิเวอรี่ ม.ทักษิณ รับไปทำต่อ เด้กๆจะต้องนำกระบวนการสร้างความเข้มแข็งไปสู่มหาวิทยาลัยให้ได้ ยังมีอีกหลายตัวอย่าง ในโรงเรียนตอนที่เด็กทำงาน ครูยังไม่ค่อยไว้วางใจ แต่พอเด็กๆทำงานไประยะหนึ่ง เขาก็กลายเป็นคนที่ครูและพ่อแม่ให้ความสนใจ เรากำลังคิดว่าต่อไปเราคงต้องเพิ่มฟอรั่มของพ่อแม่ เด็กที่เข้ามาทำโครงการเป็นเด็กที่เรียนเก่ง และเรียนไม่ตก เมื่อเขาได้รับผิดชอบ เขาจะเกิดการบริหารจัดการเวลาของตนเอง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆแล้วเด็กจะเก่งขึ้นมาเอง โลกของเด็กและโลกของผู้ใหญ่ต้องเป็นโลกใบเดียวกัน ในครอบครัวเราต้องคุยกับคุณปู่คุณย่ารู้เรื่อง ลูกต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าโตแล้วฉันเก่งกว่า ในสังคมเราเชื่อว่าเราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ความแตกต่างหลากหลายแม้เรื่องเล็กๆเหล่านี้
  3. มีพื้นที่ชุมชนพลเมือง (community of citizen) เพื่อเรียนรู้จิตสำนึกพลเมืองจากเรื่องจริง ชีวิตจริง เวลาพูดถึงความเป็นพลเมืองแล้วเราอธิบายเป็นคำพูดมันยาก เราจึงค้นหาดูว่าชุมชนที่มีความเป็นพลเมืองมีเยอะ และเราได้พบตัวอย่าง คือ ชุมชนคลองแดน เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้าน และมีส่วนร่วมในการต่อรองกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกแบบกติการ่วมกัน มีลักษณะผู้นำร่วม ผู้นำแนวราบ กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ให้เด็กๆลงไปศึกษาค้นหาในชุมชน และสิ่งที่น้องมองเห็นจะนำมาใช้ในงานของน้องอย่างไร
  4. มีทีมพี่เลี้ยงของสงขลาฟอรั่ม ดูแลและหนุนเสริมด้านการบันทึก การทบทวน การถอดบทเรียน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาและเป็นกำลังใจ พี่เลี้ยงลงไปเรียนรู้จากเรื่องจริงชีวิตจริงร่วมกับน้อง ในส่วนที่เด็กต้องใช้เวลาลงมือทำจริงคือ 4 – 5 เดือน และจะมีพี่เลี้ยงลงพื้นที่ตามไปเยี่ยม เพราะจริงๆแล้วเด็กเขาต้องการกำลังใจ พี่เลี้ยงหรือโค้ชของสงขลาฟอรั่มต้องไปเรียนรู้จากเรื่องจริง ชีวิตจริงกับน้อง เก็บข้อมูลมาดูว่าตัวเองต้องมีหน้าที่ไปทำอะไรบ้าง แล้วจึงมาดูทฤษฎีกำกับตามหลัง เพราเราเชื่อว่าการเรียนรู้จากเรื่องจริงมันชัดมากและทำได้ไม่ยาก
  5. การสนับสนุนการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผ่าน social network และการจัดเทศกาลการเรียนรู้ ให้เด็กฝึกสื่อสารสาธารณะ รู้จักใช้ social network ให้เป็น เพื่อนำเสนอเรื่องราวของน้องให้เขามีกำลังใจ พอน้องๆทำงานสิ้นสุดจะนัดมา จะสับดาห์เทศกาลเรียนรู้และการเรียนรู้สัญจรร่วมของเยาวชนที่ทำในประเด็นเดียวกันมาเรียนรู้ร่วมกัน



ประสบการณ์โค้ชเยาวชน 

โดย   นูรอามีนี สาและ  เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการสงขลาฟอรั่ม


             สงขลาฟอรั่มมีความเชื่อว่าจิตสำนึกสร้างได้ ถ้าได้รับการหนุนเสริมจากพี่เลี้ยงโครงการ กระบวนการหนุนเสริมของพี่เลี้ยงโครงการจึงเริ่มต้นตั้งแต่พัฒนาข้อเสนอโครงการจนสิ้นสุดการทำโครงการ พี่เลี้ยงต้องเข้าใจว่าน้องอยากทำอะไร จับใจความสำคัญของโครงการน้องได้ แล้วส่งข้อเสนอโครงการให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งมีตั้งแต่นักวิชาการ/นักพัฒนาอิสระ ข้าราชการบำนาญ ผู้เชี่ยวชาญด้สนการพัฒนาเยาวชนฯลฯ และจัดฟอรั่มเพื่อพูดคุยกันว่าโครงการของน้องต้องพัฒนาหรือทำอย่างไรได้บ้างโดยไม่ทิ้งความตั้งใจของน้อง และลงพื้นที่เข้าพูดคุยช่วยน้อง ชวนน้องคิด น้องทำ ให้ได้ข้อเสนอโครงการ


             น้องจะได้เข้า workshop และนำไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งพี่เลี้ยงจะต้องติดตามหนุนเสริมในพื้นที่ นำน้องไปสัมผัสกับพื้นที่ที่มีความพลเมือง พี่เลี้ยงจะชวนคุย ช่วยคิด ชวนตั้งคำถาม ให้เกิดการเรีนรู้และเกิดพลังที่ทำงานเพื่อบ้านเกิด


             พี่เลี้ยงแต่ละคนจะมีโครงการของน้องที่จะต้องรับผิดชอบดูแล คนละ 4 – 5 โครงการ จะมีการลงพื้นที่หนุนเสริมการทำงาน ช่วยประเมินงานให้เป็นไปตามแผน ชวนคิดต้นทุนในชุมชนมาใช้ในงานได้อย่างไร ชวนน้องเรียนรู้เรื่องทำหลักฐานการเงินให้น้องได้เรียนรู้และฝึกความโปร่งใส พร้อมกับสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้น้องฝึกษะการสื่อสารและเรียนรู้ข้ามกลุ่ม


ทักษะของโค้ชเพื่อหนุนเสริมเยาวชน

  1. รู้จักการใช้พลังถ้อยคำ ใช้คำเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ใช้คำเพื่อไปกระตุ้นสร้างความเป็นพลเมืองให้กระทบใจน้องเยาวชน
  2. รู้จักตั้งคำถามให้น้องได้คิด ได้เชื่อมโยงต่อยอดความคิด
  3. มีทักษะการฟัง ฟังแล้วจะต้องเชื่อมโยงต่อยอดความคิดเห็นของน้อง เพราะเราจะได้แนวทางการทำงานที่ต่อยอดมาจากการฟังของเราได้
  4. เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง เราเป็นคนสร้างการเรียนรู้ให้น้อง ไม่ใช่คนสอนที่จะไปบังคับหรือชี้แนะให้น้องต้องทำตาม
  5. เปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย เพราะเราจะได้มุมมองหลายทาง นำมาคิดต่อว่าเราจะนำมาผนึกในการทำงานในทิศทางหรือเป้าหมายเดียวกันอย่างไร
  6. เชื่อในกระบวนการปฏิบัติจริง ประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงจะช่วยให้น้องๆได้เรียนและจัดการกับปัญหาได้
  7. การทำบันทึกและรายงานสรุป ชวนน้องได้เขียน ได้เล่า เกิดการเรียนรู้อะไร พัฒนาตัวเองในด้านไหนบ้าง โค้ชต้องช่วยน้องยกระดับสิ่งที่ทำมีคุณค่าต่อบ้านเมืองอย่างไร



ประสบการณ์ทำโครงการของเยาวชน

โดย น.ส.ศิริวรรณ มะแซ (มีน) โครงการSmile by CD


              เริ่มต้นจากวิชาที่เรียนจำเป็นต้องศึกษาชุมชน ได้เลือกชุมชนบ่อนวัวเก่ามาศึกษา พบว่าเป็นชุมชนที่เป็นสลัม ซึ่งมีปัญหามากมาย เห็นว่ากลุ่มเด็ก 4 - 12 ปี เป็นวัยที่ต้องออกมาวิ่งเล่น แต่กลับต้องอยู่แต่ที่บ้าน จึงทำให้ไม่มีสัมพันธ์กับเพื่อน จึงไปศึกษาบริบทของชุมชน จึงอยากสร้างเกราะคุ้มกันให้น้องๆเหล่านี้ที่จะเติบโตมาเป็นคนที่ดูแลชุมชนของเขาเองในอนาคต โดยเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 3 ส่วน คือ พื้นที่ทางวิชาการ ให้น้องเอาการบ้านมาทำ ฝึกทักษะการคิด การตัดสินใจ โดยใช้ศิลปะสีน้ำ ซึ่งเราจะต้องใช้ความใกล้ชิดอยู่เคียงข้างน้อง ใช้หลักศาสนาช่วยขัดเกลาจิตใจ ใช้วิธีเล่านิทาน ชวนคุย ชวนคิด ตั้งคำถามแลกเปลี่ยน พาน้องไปทำบุญที่วัด


              เมื่อครบ 1 ปี ได้กลับมาดูว่าสิ่งที่ทำได้ผลหรือไม่ โดยเข้าไปคุยกับผู้ปกครอง พบว่าน้องมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น แต่สังคมภายนอกยังไม่ยอมรับ จึงคิดว่าขั้นต่อไปต้องทำให้คนในชุมชน และนอกชุมชนยอมรับน้อง จึงขยายเข้าไปเปิดพื้นที่ในชุมชน ใช้กระบวนการปลูกพืชผัก ฝึกความรับผิดชอบในการดูแลพืชผักสวนครัว และเป็นการสร้างสัมพันธ์ในครอบครัว ให้ครอบครัวเห็นว่าน้องทำประโยชน์รับผิดชอบและให้ความไว้ใจน้องได้



การเปลี่ยนแปลง จากโจทย์จากชีวิตจริง

โดย นายอภิศักดิ์ ทัศนี (น้ำนิ่ง) โครงการหาดเพื่อชีวิต (Beach for Life)


              กลุ่ม Beach for Life เริ่มจากสงขลาฟอรั่มเปิดพื้นที่แลเลแลหาด เดินจากหาดก้าวเซ้ง จนถึงหาดชลาทัศน์เพื่อศึกษาระบบนิเวศชายฝั่ง ตอนนั้นมี ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ ดร.กัลยา พรพิเนตพงศ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ และดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากมหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ จึงรู้สึกว่าปัญหาการพังทลายของหาดเป็นเรื่องที่เราต้องปกป้อง หาดสมิหลาอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง เป็นพื้นที่ในการดำเนินชีวิต ที่เรามีความทรงจำกับพื้นที่นี้เยอะมาก ถ้ามันพังหรือหายไปจึงรู้สึกว่ามันส่งผลกระทบกับเรา จึงรวมตัวกับเพื่อนๆในโรงเรียน และสื่อสารกับเพื่อนๆคนอื่นในโรงเรียน และชาวเมืองสงขลา เช่น การจัดนิทรรศการ การทำเรื่องเสียงงตามสาย การผลิตหนังสือเล่มเล็กออกมาสื่อสารการเปลี่ยนแปลงการพังของหาด จากปีแรกได้บทเรียนว่าไม่สำเร็จ จึงนำบทเรียนจากปีแรก มาสร้างการมีส่วนร่วมในปีที่สอง สิ่งที่ตนเองรู้เจ็บปวดคือในตำราเรียนบอกว่าถ้าหาดพัง เราต้องรีบสร้างเขื่อน แต่ในชีวิตจริง เมื่อหาดเริ่มพังธรรมชาติจะค่อยๆฟื้นฟูดูแลตัวมันเองได้ จึงเห็นว่าเรื่องนี้ต้องสื่อสารออกไปอย่างเร่งด่วน โดยรวมเพื่อนๆจาก 9 สถาบัน เปิดเวทีรับฟังความเห็นเรื่องการพังของหาดสมิหลา และเราจะมาร่วมแก้ไขปัญหาของเราได้อย่างไร เราจัดมาทั้งสิ้น 11 เวที ได้เยาวชนที่มาเข้า 24,437 กว่าคน และได้นำความคิดเห็นของทุกคนมายกร่างธรรมนูญดูแลหาดสมิหลาอย่างยั่งยืน และนำมาให้คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจสอบ จนได้ทำ MOU กับเทศบาลนครสงขลา ในปีที่ 3 ทำกระบวนการเครือข่ายขับเคลื่อนธรรมนูญดูแลหาด การติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ เพื่อทำข้อมูลเอาไว้ใช้ในการหนุนเสริมการทำงาน ใช้ตัดสินใจหรือต่อรองกับภาครัฐ กระบวนการทำงานทั้ง 3 ปี ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการติดตามสภาพหาดทั้งระบบ ซึ่งพลเมืองสงขลาทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาช่วยติดตามทุกๆต้นเดือน มีการติดตามทางกายภาพ ชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ เครื่องมือที่ใช้เป็นเครื่องมือที่ได้รับการรับรองทางวิศกรรม ที่สามารถแปลผลได้ทางวิทยาศาสตร์


              การเติบโตจากการทำงาน ที่เห็นชัดเจนในปีที่ 2 ที่เติบโตจากภายใน พบว่าน้องในกลุ่ม ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นที่ไม่ค่อยฟังใคร ซึ่งจากการทำงานทำให้ทุกคนยอมรับฟังความเห็นกันมากขึ้น ฟังอย่างลึกซึ้งว่าผู้พูดต้องการสื่อสารอะไรกับเรา เวลาทำงานเราไม่ว่าประเด็นเล็กหรือใหญ่ สิ่งที่สำคัญของการเป็นพลเมืองคือต้องเชื่อมเรื่องราวของเรากับพื้นที่และการทำงาน เราจะมีพลังในการทำงาน การทำงานเป็นการส่งต่อให้รุ่นน้องและคงอุดมการณ์ให้สามารถเดินต่อไปได้



ช่วงแลกเปลี่ยน และตอบคำถาม Q&A


คำถามจาก  สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ถาม : สถาบันฯจะเริ่มสร้างความเป็นพลเมือง จุดเริ่มต้นที่ได้มารับฟังครั้งนี้ได้รับประสบการณ์ที่ดี เป็นประโยชน์อย่างมาก สิ่งหนึ่งที่กำลังคิดอยู่ว่าทำอย่างไรให้ความเป็นพลเมืองได้อยู่ในกลุ่มอายุอื่นนอกจากเยาวชน แล้วเราจะแลกเปลี่ยนในกลุ่มหรือเครือข่ายอื่นได้อย่างไร มีแนวทางอย่างไร จะสามารถติดต่อได้อย่างไร เพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกัน

ตอบ : พรรณิภา โสตถิพันธ์ุ   "ความร่วมมือเราสามารถทำได้ทันที แต่การขยายในกลุ่มอื่นเป็นโจทย์ที่ท้าทาย จริงๆแล้วเรื่องของความเป็นพลเมืองมันน่าจะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มอายุ และเราคงต้องใช้เวลาในการมานั่งคุยกันและเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ซึ่งตอนนี้ทางมูลนิธิสยามกัมมาจนได้ขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ อีก 3 พื้นที่"


ถาม : ประเด็นที่สองคือ น้องๆก้าวข้ามผ่านการแข่งขันกับเพื่อนได้อย่างไร

ตอบ : อภิศักดิ์ ทัศนี   "เรื่องการแข่งขันเราหนีไม่พ้น เวลาเราทำงานกับน้องๆเราแข่งขันกันลำบาก เพราะสิ่งที่ทำเป็นงานที่ทำเพื่อเมืองสงขลา บางครั้งคนอื่นมองอาจจะมองว่าทำงานแข่งกัน แต่เราก็มองว่าเราทำงานร่วมกัน เดินไปพร้อมๆกัน เราควรแข่งขันกับตัวเองมากกว่าคนอื่น เช่น การจัดการอารมณ์ของตัวเอง การรู้เท่าทันตัวเอง สิ่งที่เป็นปัญหาในตัวเราหรือองค์กรมากกว่า"

ตอบ : ศิริวรรณ มะแซ "มีนใช้คำว่าเข้าใจความต้องการที่แตกต่าง สิ่งที่ทำเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เราทำเพื่อคนอื่น ใช้หลักการมองข้ามและเข้าใจ"



คำถามจาก  อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยฯ สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎร

ถาม : ทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนมีความเป็นพลเมืองน่าจะเชื่อมโยงกับสมาชิกสภาฯร่างรัฐธรรมนูญทำอย่างไรให้เกิดพลเมือง ในมาตรา 26 สนใจอยากขอความร่วมมือขึ้นสู่การอภิปรายในการนำขึ้นเป็นโมเดลต้นแบบการเป็นพลเมือง และในอนาคตต่อไปโครงการจะขับเคลื่อนอย่างไร ถ้าโครงการได้เป็นโมเดลต้นแบบ

ตอบ : พรรณิภา โสตถิพันธ์ุ  "ความจริงแล้วถึงไม่มีการปฏิรูป ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สงขลาฟอรั่มก็ยังจะทำเรื่องพลเมืองต่อไปแบบนี้ เพราะความเป็นพลเมืองต้องเป็นอยู่ทุกวัน ทุกยุคทุกสมัย เราทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน ภาคพลเมืองไม่เคยมีงบประมาณจริงจัง ประเทศไทยมักจะพูดว่าฝากความหวังไว้กับภาคพลเมือง แต่ไม่เคยมีงบประมาณจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงน่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าความเป็นพลเมืองจะยังคงอยู่และเข้มข้นต่อไป"


//////////////////////////////////////////////////

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ