โครงการปลูกใจ รักษ์โลก กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน
โครงการปลูกใจ รักษ์โลก กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน
กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ลงพื้นที่ติดตามโครงการสายล่อฟ้า TOP TEN LIFE กลุ่ม PP. พิทักษ์โลก จ.ขอนแก่น 22-23 ก.พ.2557
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

การลงพื้นที่ติดตามโครงการสายล่อฟ้า TOP TEN LIFE กลุ่ม PP พิทักษ์โลก จ.ขอนแก่น ในครั้งนี้เพื่อลงไปชวนคุย ชวนคิด ให้น้องๆได้ทบทวนโครงการและมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

การลงพื้นที่ติดตามโครงการสายล่อฟ้า TOP TEN LIFE

กลุ่ม PP. พิทักษ์โลก จ.ขอนแก่น

วันที่ 22-23 ก.พ. 2557


วันแรก : ทำความรู้จักคน พื้นที่ ปัญหา และทบทวนเป้าหมายร่วมกัน

แกนนำกลุ่มเยาวชนและคุณครูที่ปรึกษาเข้าร่วมพูดคุยรวม 17 คน บริเวณใต้ถุนอาคารเรียนโรงเรียนพลพัฒนาศึกษา เพื่อให้ได้รู้จักชื่อน้องๆ จึงเริ่มต้นให้น้องๆ ทุกคนได้แนะนำชื่อ เรียนอยู่ชั้นไหน อยู่หมู่บ้านอะไร ก่อนที่พี่ๆ จะแนะนำโครงการปลูกใจรักษ์โลก สำหรับช่วงเช้านี้ได้ชวนคุยถึงเหตุผลของแต่ละคนที่เข้ามารวมกลุ่มกันครั้งนี้ในชื่อ “กลุ่ม PP. พิทักษ์โลก” รวมทั้งความคาดหวังหรือสิ่งที่แต่ละคนอยากเห็น ก่อนพูดคุยถึงสถานการณ์ด้านบวกด้านลบที่กำลังเกิดขึ้นกับผืนป่า เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์เกี่ยวกับป่าชัดขึ้น และชวนกันลงดูพื้นที่ป่า พบปัญหากองขยะ การตัดไม้ และกองอุจาระที่ทาง อบต.นำมาทิ้งในป่าน้องกี้ เล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านจะเข้ามาตัดไม้ไปเผาถ่านขาย โดยเฉพาะบริเวณริมทางตัดกันมา ขยะก็ไม่อยากเสียเงินให้กับอบต. เลยเอามาทิ้งในป่า แต่ก็ไม่รู้ว่าบ้านไหน ไม่มีใครเห็น” น้องเต๋ายังบอกอีกว่า “ช่วงหน้าฝนจะมีเห็ดเยอะมากค่ะ ชาวบ้านจะมาเก็บกัน หน้าแล้งก็จะมีไฟป่า มันเกิดจากคนที่เอาขยะมาทิ้งแล้วเผาขยะไฟมันก็ลามไปเรื่อย ปีที่แล้วเกือบถึงโรงเรียน”


ในบ่าย พี่ๆ ชวนน้องๆ คิดต่อกับคำถามที่ว่า “ทำไมพวกเราต้องดูแลป่าผืนนี้ไว้” เพื่อเป็นการย้ำเป้าหมายการทำงาน แล้วชวนกันวาดแผนที่ชุมชน โดยครั้งนี้ให้ผืนป่าเป็นพระเอกของแผนที่แล้วจึงตามด้วยถนน ชุมชน พื้นที่เกษตรโดยรอบ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของแต่ละชุมชน หรือพื้นที่กับผืนป่า เห็นกลุ่มเป้าหมาย เห็นพื้นที่ทำงานชัดเจนขึ้น ก่อนจะทิ้งท้ายสำหรับการพูดคุยในวันนี้ด้วยคำถามที่ว่า “แล้วกิจกรรมหลักๆ ที่จะทำในโครงการนี้ที่พวกเราวางไว้มีอะไรบ้าง เคยเห็นข้อเสนอโครงการของพวกเราหรือไม่” ทำให้พี่ๆ ได้รู้ว่าสมาชิกแกนนำเกือบทั้งหมดยังไม่ได้รับรู้ในรายละเอียดการขับเคลื่อนกิจกรรมในโครงการของตัวเองเลย

­

วันที่ 2 : ชวนคิด ทบทวนกิจกรรมนำไปสู่เป้าหมายของโครงการจริงหรือไม่ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ลงรายละเอียดให้ชัดขึ้น และวางแผนงานร่วมกัน

เริ่มต้นด้วยการสรุปย้ำเป้าหมายของโครงการและกลุ่มเยาวชนซึ่งได้พูดคุยมาในวันแรกโดยพี่ๆ ก่อนชวนกันทบทวนกิจกรรม โดยแกนนำหลัก เต๋า กี้ นุ่น ได้เล่ากิจกรรมที่จะทำในโครงการ ทำเพื่ออะไร ให้เพื่อนช่วยกันคิดต่อว่าจะทำกันอย่างไรที่จะให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ก่อนจะช่วยกันวางแผนการดำเนินงานให้งานสำเร็จ เพราะช่วงเปิดเทอมทุกคนต้องออกไปหารายได้พิเศษจะเจอกันอีกครั้งต้นเดือนพฤษภาคม กว่าจะเสร็จก็บ่ายกว่าๆ แต่ยังพอมีเวลาเหลือจึงชวนกันคิดออกแบบการเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์จากป่าของคนในชุมชนให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อจะแบ่งกันไปเก็บข้อมูลในวันรุ่งขึ้น ซึ่งต้องเริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลกัน โดยก่อนหน้านี้น้องๆ ยังไม่ดำเนินกิจกรรมเลยเพราะมีกิจกรรมของโรงเรียน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

­

ผลที่เกิดขึ้น

แกนนำหลักในกลุ่มเห็นเป้าหมายของโครงการร่วมกันชัดเจน แม้ว่ารูปแบบการจัดแต่ละกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์จะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ช่วยกันคิด วิเคราะห์ บนผลที่จะให้เกิดขึ้น กลุ่มเป้าหมายที่จะทำด้วย การวางกระบวนการและรูปแบบกิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่จะให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้มากขึ้นและมีความเชื่อมโยงให้เกิดผลต่อเนื่องกัน เช่น การฟื้นฟูป่า ที่จะให้ทุกครัวเรือนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่กระบวนการเพาะพันธุ์ไม้ ดูแลต้นกล้า ก่อนจะนำไปปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม และช่วยกันดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโต ซึ่งยังเป็นกลยุทธ์ที่จะให้ทุกครัวเรือนผูกพันกับพื้นที่ป่ามากขึ้น และเข้ามามีบทบาทในการดูแลอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้จากการช่วยกันคิด วิเคราะห์ วางรูปแบบขั้นตอนการทำงานแต่ละกิจกรรมยังทำให้ทุกคนรู้ว่า ต้องใช้ทรัพยากรอะไร เอามาจากไหน ประสานงานใคร และใครจะทำหน้าที่อะไรบ้าง เมื่อช่วยกันคิดมากขึ้นก็เริ่มที่จะเห็นถึงปัญหาอุปสรรค์ที่จะเจอเมื่อต้องดำเนินกิจกรรมแต่ก็ช่วยกันหาทางออกเพื่อไม่ให้ปัญหาอุปสรรคนั้นเกิดขึ้น

สุดท้ายแกนนำหลักๆ รู้ว่าการทำกิจกรรมหรือขับเคลื่อนงานนี้ ตัวพวกเราเองต้องมีข้อมูล มีความรู้อะไรบ้าง อะไรที่ต้องเข้าไปเรียนรู้กับคนในชุมชน อะไรที่ต้องหาวิทยากรมาช่วยเติมความรู้ ก่อนที่จะลงมือพาเยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ทำกิจกรรมดูแลป่าชุมชนผืนนี้เสียงสะท้อนเล็กๆ ได้บอกความรู้สึกต่อโครงการที่ขับเคลื่อน และข้อคิดที่เกิดขึ้นจาก 2 วันที่ได้คุยกัน ช่วยกันคิด วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ และพี่ๆ

­

ฟรุ๊ค “รู้สึกดีใจที่ได้ทำโครงการนี้ มันมีประโยชน์ แม้จะไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่อย่างไร แต่ก็คิดว่าตัวเองคงได้ประสบการณ์ชีวิต

ยะ “ถือเป็นโครงการที่ดี ผมเองก็เติมใจที่จะช่วยทำงาน และจะทำให้ดีที่สุด แม้ว่ามันจะไม่สำเร็จในเร็ววันนี้แต่ก็คิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ คือ การแสดงความคิดเห็น นำความรู้ที่มีมาปรับใช้ในออกแบบและทำกิจกรรม

­

เต๋า “สิ่งแรกทีได้คือ หากเราไม่มีความรู้อย่าคิดดันทุรังที่จะทำ เพราะมีคนที่รู้อยู่สามารถเข้าไปเรียนรู้กับเขาได้ 2. ได้รู้ความคิดกับเพื่อนๆ นำมาบวกกัน แลกเปลี่ยนกันทำให้วางกิจกรรมและรูปแบบการดำเนินงานได้ดีขึ้น 3. มีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้

­

กี้ “รู้สึกเหนื่อย มันยาก เพราะเรายังไม่มีความรู้มากมาย แต่จะพยามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ผืนป่ามีสภาพที่ดีขึ้น ข้อคิดทีได้ คือ สิ่งที่เราทำเองไม่ได้อาจจะต้องพักไว้ก่อน ไปเรียนรู้ก่อน”


โอ๋ “การดำเนินโครงการนี้คิดว่าเหนื่อยพอสมควร แต่การทำงานมันก็ย่อมมีอุปสรรคและมีวิธีการแก้ไขทุกอย่าง


นุ่น “แม้จะรู้ว่าเหนื่อย แต่ก็จะเฮ็ดไปเรื่อยๆ หนูก็รู้ว่าหมู่ก็เหนื่อยคือกัน

­

ครูยุพิน “ถือเป็นโครงการแรกที่กลุ่มทำงานกับชุมชน ถามว่าคิดยากไม่ ส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นที่ปรึกษา ถือว่าคิดยากว่าเด็กๆ จะเข้าหาชุมชนเป็นไม่ แต่ด้วยต้นทุนที่โรงเรียนเองเคยทำงานร่วมกับชุมชนมาก่อน ทำให้ชุมชนเองก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเยาวชน สำคัญคือเยาวชนพร้อมที่จะเข้าหาชุมชนหรือไม่ มีวิธีการกระบวนการเข้าหาชุมชนอย่างไร เริ่มต้นจากครอบครัวได้ และคิดว่าโครงการของกลุ่มเยาวชนน่าจะสำเร็จหากทุกคนร่วมมือกันจริงจัง ทุกคนรู้หน้าที่บทบาทของตัวเอง เห็นเป้าหมายสูงสุดชัดเจน คือ ป่าที่สมบูรณ์ ไม่มีขยะ นำศักยภาพที่มีมาใช้ให้เต็มที่ 2 วันนี้ ถือได้ว่าทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกัน การให้เกียรติผู้ร่วมงาน คือ การช่วยกันขับเคลื่อนให้งานสำเร็จ ไม่ทิ้งกัน”

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ