กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
สรุปผลโครงการยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โครงการยุวฑูตคุณยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง


กลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง 


“แม่น้ำประแส” แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอำเภอแกลงได้อาศัยน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค ทำเกษตร ทำประมง มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาจันทบุรี มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ไหลผ่านที่ราบตอนกลางของอำเภอแกลงซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แล้วออกอ่าวไทยที่ปากแม่น้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในปี 2545 เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุนชน จากน้ำที่เคยใสกลับกลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น มีขยะลอย จากน้ำที่เคยกิน เคยอาบ บัดนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ชาวประมงหาปลา หากุ้งได้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านเทศบาลตำบลเมืองแกลง จากการศึกษาหาข้อมูลก็พบว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำเสียเกิดจากน้ำทิ้งจากครัวเรือน การล้างตลาดสด ซึ่งน้ำทิ้งเหล่านี้ไม่มีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ การฉีดเลนลงสู่แม่น้ำหลังจากการจับกุ้ง เป็นต้น


ชุมชนเห็นว่าหากไม่ช่วยกันแก้ไขก็จะทำให้น้ำเน่าเสียมากขึ้น เทศบาลตำบลเมืองแกลงจึงได้จับมือกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำประแสให้กลับมาเหมือนดั่งเดิม เทศบาลฯได้มีการออกเทศบัญญัติ พ.ศ. 2549 ให้บ้านเรือนที่สร้างใหม่ต้องติดตั้งถังดักไขมัน รณรงค์ให้บ้านเรือน ร้านอาหารและโรงเรียนติดตั้งถังดักไขมัน นอกจากนี้ยังมีบริการตักไขมันออกจากถังดักไขมันทุกเดือน มีการออกเฝ้าระวังแม่น้ำประแส และจากการทำกิจกรรมมา 10 ปี พบว่าคุณภาพน้ำพอใช้ค่อยไปทางที่ดีขึ้น แต่บางช่วงบางเวลามีสัตว์น้ำลอยตัวเหนือน้ำและตาย


โรงเรียนแกลง วิทยสถาวร จังหวัดระยอง ก็เป็นอีกกำลังสำคัญในการฟื้นฟู เฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำประแสมาอย่างต่อเนื่องและเพื่อเป็นการสานต่อกิจกรรมดีๆจากรุ่นพี่ที่จบไปสู่รุ่นน้อง ปี 2552 จึงได้จัดตั้ง “กลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง” ขึ้น


กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนในโรงเรียน ประชาชนในอำเภอแกลง


พื้นที่ดำเนินการ แม่น้ำประแส จุดตรวจวัดคุณภาพน้ำ คือ ทะเลน้อย แหลมท่าตะเคียน ศาลาต้นโพธิ์ และสะพานโรงเลื่อย

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

โครงการยุวฑูตคุณยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง


กลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง 


“แม่น้ำประแสเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ในอำเภอแกลง เป็นที่อุปโภคบริโภคของคนลุ่มน้ำประแส ถ้าแม่น้ำเน่าเสีย ปลาตาย มีกลิ่นเหม็น เราจะทำให้มันดีขึ้นได้เหรอ ทั้งที่มันใหญ่โตขนาดนั้น”สุชาดา ทรัพย์เมือง (น้ำฝน)


“แม่น้ำประแส” แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอำเภอแกลงได้อาศัยน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค ทำเกษตร ทำประมง มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาจันทบุรี มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ไหลผ่านที่ราบตอนกลางของอำเภอแกลงซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แล้วออกอ่าวไทยที่ปากแม่น้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในปี 2545 เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุนชน จากน้ำที่เคยใสกลับกลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น มีขยะลอย จากน้ำที่เคยกิน เคยอาบ บัดนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ชาวประมงหาปลา หากุ้งได้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านเทศบาลตำบลเมืองแกลง จากการศึกษาหาข้อมูลก็พบว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำเสียเกิดจากน้ำทิ้งจากครัวเรือน การล้างตลาดสด ซึ่งน้ำทิ้งเหล่านี้ไม่มีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ การฉีดเลนลงสู่แม่น้ำหลังจากการจับกุ้ง เป็นต้น


ชุมชนเห็นว่าหากไม่ช่วยกันแก้ไขก็จะทำให้น้ำเน่าเสียมากขึ้น เทศบาลตำบลเมืองแกลงจึงได้จับมือกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำประแสให้กลับมาเหมือนดั่งเดิม เทศบาลฯได้มีการออกเทศบัญญัติ พ.ศ. 2549 ให้บ้านเรือนที่สร้างใหม่ต้องติดตั้งถังดักไขมัน รณรงค์ให้บ้านเรือน ร้านอาหารและโรงเรียนติดตั้งถังดักไขมัน นอกจากนี้ยังมีบริการตักไขมันออกจากถังดักไขมันทุกเดือน มีการออกเฝ้าระวังแม่น้ำประแส และจากการทำกิจกรรมมา 10 ปี พบว่าคุณภาพน้ำพอใช้ค่อยไปทางที่ดีขึ้น แต่บางช่วงบางเวลามีสัตว์น้ำลอยตัวเหนือน้ำและตาย


โรงเรียนแกลง วิทยสถาวร จังหวัดระยอง ก็เป็นอีกกำลังสำคัญในการฟื้นฟู เฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำประแสมาอย่างต่อเนื่องและเพื่อเป็นการสานต่อกิจกรรมดีๆจากรุ่นพี่ที่จบไปสู่รุ่นน้อง ปี 2552 จึงได้จัดตั้ง “กลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง” ขึ้น


เฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำประแส


ที่ผ่านมา กลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง ถือว่าเป็นกำลังหลักในการเฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำประแส โดยได้ออกตรวจวัดและเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ 2 เดือนครั้ง บริเวณ 4 จุด คือ ทะเลน้อย แหลมท่าตะเคียน ศาลาต้นโพธิ์ และสะพานโรงเลื่อย ครูจุ่ย (รัชนี พรมจันทร์) จะทำหน้าที่สอนวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ การสรุปผล ซึ่งก็ได้นำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมไปบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชาที่รับผิดชอบด้วย ไม่เพียงแต่ครูจุ่ยเท่านั้นที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้เด็กๆเองก็ช่วยครูจุ่ยคิดด้วย “กิจกรรมเฝ้าระวังเราทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังๆเด็กชุดใหม่ขาดทักษะกระบวนการแต่มีความสนใจต้องการเรียนรู้ แกนนำเยาวชนก็เลยมีความคิดว่าเราควรให้น้องๆได้เรียนรู้โดยทำเป็นฐานเรียนรู้ก่อนลงพื้นที่จริง”


การลงพื้นที่แต่ละครั้งจะมีนิว ข้าวฟ่าง และน้ำฝนเป็นแกนนำหลักในการนำกระบวนการ ก่อนลงพื้นที่น้องๆแกนนำจะมาคุยวางแผนและแบ่งบทบาทหน้าที่กัน ส่วนอุปกรณ์จะช่วยกันเตรียมและทุกครั้งที่ลงพื้นที่ทางเทศบาลฯจะสนับสนุนพาหนะอย่างรถรางพร้อมเจ้าหน้าที่ขับรถพาน้องๆลงพื้นที่ด้วย


เมื่อถึงเวลานัดหมายน้องๆสมาชิกกลุ่มยุวฑูตฯ กลุ่มนักสืบสายน้ำรักษ์แม่น้ำประแสและคนที่สนใจก็มาพร้อมกันที่ห้องโสตทัศนศึกษาของโรงเรียน แกนนำเยาวชนจะทำความเข้าใจและแจกแจงรายละเอียดก่อน แล้วแบ่งน้องๆออกเป็น 4 กลุ่ม จากนั้นจึงพาน้องๆขึ้นรถรางเดินทางกระจายออกตรวจวัดคุณภาพน้ำ 4 จุด น้องนิว ข้าวฟ่าง และน้ำฝนจะแยกอยู่กันคนละจุด โดยแต่ละจุดจะเก็บข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลคุณภาพน้ำโดยวิธีนักสืบสายน้ำกับตรวจวัดหาค่า pH ค่า DO (ออกซิเจนละลายน้ำ) และค่าความขุ่น อีกส่วนเก็บข้อมูลชุมชนโดยการสัมภาษณ์ ข้อมูลที่ได้นำมาช่วยกันวิเคราะห์และสรุปผล พร้อมนำเสนอข้อมูลแลกเปลี่ยนกันในแต่ละจุดที่โรงเรียน นิวจะเป็นคนนำกระบวนการสอนการวิเคราะห์ การพ็อตกราฟ ส่วนข้าวฟ่าง น้ำฝนและแกนนำคนอื่นจะเป็นพี่เลี้ยงสอนน้องในกลุ่มย่อย ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปให้เทศบาลตำบลเมืองแกลงใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนฟื้นฟูและเฝ้าระวังแม่น้ำประแสต่อไป ตลอดลำน้ำจะมีเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำประแสทั้งหมด4 เครือข่าย ซึ่งโรงเรียนแกลง วิทยสถาวร เป็นหน่วยที่ 4


เพราะต้องเป็นผู้นำพาน้องตรวจวัดคุณภาพน้ำบ่อยครั้งทำให้นิว ข้าวฟ่าง และน้ำฝนเกิดทักษะและสามารถถ่ายทอดความรู้ สอนกระบวนการนักสืบสายน้ำ การตรวจวัดคุณภาพน้ำและการใช้อุปกรณ์ให้กับรุ่นน้องได้คล่อง นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำอีกด้วย สำหรับปัญหาที่พบคือ การเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์แต่ละจุดไม่ครบเพราะไม่ได้เช็คอุปกรณ์ให้ดีก่อนทำให้บางจุดเก็บข้อมูลไม่ครบ หรือการเปลี่ยนจุดสำรวจแต่ไม่ได้บอกเส้นทางทำให้ต้องเสียเวลาในการวนหาสถานที่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่แกนนำยังคงต้องเรียนรู้ต่อไป เนื่องจากครูจุ่ยจะทำหน้าที่ประสานงานทั้งภายในและนอกโรงเรียนให้ ส่วนกิจกรรมจะปล่อยให้เด็กดำเนินการเอง ซึ่งครูจุ่ยเองก็ได้เรียนรู้ปัญหาไปพร้อมกับเด็กๆเช่นกัน “ก่อนออกสำรวจแต่ละครั้งควรเช็คอุปกรณ์แต่ละกล่องให้ครบ มีความแม่นยำในการใช้เครื่องมือแต่ละอย่าง ควรรู้การขึ้นลงของน้ำ ควรเน้นให้เด็กๆใช้ทักษะการสังเกต มีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนๆและชุมชนให้มาก”


พัฒนา ต่อยอดถังดักไขมัน


ถึงแม้เทศบาลจะสนับสนุนให้ร้านอาหาร บ้านเรือนติดตั้งถังดักไขมัน แต่จากการสังเกตบ่อน้ำทิ้งสุดท้ายของถังดักไขมันก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ เด็กๆพบว่ายังมีคราบไขมัน มีฟองอากาศลอยเหนือน้ำ มีกลิ่นเหม็นและบริเวณจุดท่อระบายน้ำทิ้งของชุมชน 4 จุด น้ำมีสีดำ น้องๆแกนนำซึ่งสนใจและเรียนสายวิทย์-คณิตบวกกับครูจุ่ยก็สอนวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว จึงมีความคิดว่าอยากปรับคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อดักไขมันให้ดีขึ้นก่อนปล่อยลงแม่น้ำ โดยการสร้างถังระบบบำบัดน้ำทิ้งจากบ่อดักไขมัน


ก่อนลงมือทำถังระบบบำบัดฯ ครูและเด็กๆมานั่งล้อมวงพูดคุยเพื่อวางแผน วางกระบวนการทำงานก่อน กระบวนการเริ่มจากกำหนดจุดสำรวจและลงพื้นที่เก็บข้อมูลคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อดักไขมัน 3 จุด คือ บ้านเรือน โรงเรียนและร้านอาหาร พบว่าคุณภาพน้ำมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานน้ำทิ้งไม่ผ่านตามกฎหมายปี 2539 จากนั้นเด็กๆก็มาช่วยกันออกแบบและประดิษฐ์ “ถังไบโอจุลินทรีย์ลดปริมาณไขมันเพิ่มก๊าซออกซิเจน” โดยต่อยอดจากถังดักไขมันเดิม ประกอบด้วย 4 ถัง นำไปทดลองติดตั้งแทนถังบำบัดไขมันแบบธรรมดาใช้น้ำหมักจุลินทรีย์หยดเพื่อช่วยในการบำบัดน้ำ ตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งหลังผ่านระบบอีกครั้ง สุดท้ายนำผลคุณภาพน้ำมาเปรียบเทียบกัน กระบวนการนี้เด็กๆทดลองทำซ้ำไป ซ้ำมาหลายรอบ เนื่องจากพบว่าคุณภาพน้ำมีค่าไม่ต่างกันมากจึงต้องปรับปรุงและทดลอง “ถังไบโอจุลินทรีย์ลดปริมาณไขมันเพิ่มก๊าซออกซิเจน” เรื่อยๆ ถึงแม้ผลการตรวจคุณภาพน้ำล่าสุดพบว่าน้ำทิ้งมีปริมาณไขมันลดลง มีก๊าซออกซิเจนมากขึ้นและผ่านมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้ง ปี 2539 แล้วก็ตามแต่ถังไบโอฯที่ประดิษฐ์ขึ้นมายังมีขนาดใหญ่ เคลื่อนย้ายลำบาก เด็กๆจึงอยากปรับปรุงถังให้ส่วนประกอบของถังดักไขมันอยู่ในถังเดียวกันและเหมาะกับการใช้งานจริงตามครัวเรือน ซึ่งนักประดิษฐ์น้อยต้องคิดพัฒนากันต่อไป


การนำความรู้ ทักษะที่มีอยู่เดิมบวกกับความสนใจของเด็ก เป็นวิธีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกอีกวิธีหนึ่ง ครูจุ่ยเองที่เฝ้ามองการทำงานและคอยให้คำปรึกษาพูดด้วยรอยยิ้มว่า “ครูเฝ้าสังเกตทั้งตัวแกนนำเองและน้องๆ เขาได้เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการอยากลงมือทำอย่างแท้จริง”


รณรงค์ เผยแพร่ สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง


อีกกิจกรรมที่กลุ่มเยาวชนทำมาอย่างต่อเนื่องและทำควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ คือ การรณรงค์สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน เรื่องการบำบัดน้ำทิ้งก่อนลงสู่แม่น้ำประแส ส่งเสริมการใช้น้ำยาชีวภาพทำความสะอาด และที่ขาดไม่ได้คือนำเสนอวิธีการประดิษฐ์ถัง “ไบโอจุลินทรีย์ลดปริมาณไขมันเพิ่มก๊าซออกซิเจน” กลุ่มเยาวชนจึงประสานงานกับเทศบาลเพื่อขอใช้สถานที่ในการเผยแพร่ข้อมูลให้กับชาวอำเภอแกลง ในงานประจำปี “บุญกลางบ้าน” น้ำฝนซึ่งมีความถนัดในด้านคอมพิวเตอร์ ด้านศิลปะจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาจัดทำวีดีโอหรือคิดรูปแบบนำเสนอที่น่าสนใจ แต่ในวันงานบางคนก็ยังไม่สนใจ ความรู้สึกเด็กๆที่ไปจัดบูธเผยแพร่ข้อมูลพูดเชิญชวนให้ชุมชนร่วมมือกันดูแลแม่น้ำประแสและแจกน้ำจุลินทรีย์ ได้มาสะท้อนให้ครูจุ่ยฟังว่า “ชุมชนไม่ค่อยสนใจรับรู้เรื่องราวของหนูที่ทำเลย ครูก็คอยให้กำลังใจเด็กๆและเสนอว่าเราควรปรับแผนการประชาสัมพันธ์ใหม่ ใช้รถเทศบาลประชาสัมพันธ์ แจกน้ำจุลินทรีย์ แจกแผ่นพับแนะนำเจาะบ้านที่มีถังดักไขมัน ตามร้านอาหาร” นอกจากนี้ทุกๆวันพุธที่สนามกีฬาจะมีการจัดตลาดสีเขียวกลุ่มเยาวชนก็จะขอใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมเผยแพร่ รณรงค์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เด็กๆสามารถทำได้ น้ำฝนจึงนำประสบการณ์มาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรม “อย่างเช่นหนูจะเผยแพร่กระบวนการนักสืบสายน้ำ ปัญหาก็คือคนในชุมชนไม่เข้าใจกระบวนการนี้ เราก็ใช้เด็กเป็นช่องทางคะ ทำกิจกรรมกับเด็ก ให้เด็กวาดภาพระบายสี เช่น วาดรูปสัตว์หน้าดิน พ่อแม่เองก็เริ่มมาสนใจกิจกรรมเพราะต้องมาดูลูก”


ปัจจัย เงื่อนไขความสำเร็จ


ปัญหาพื้นฐานของนักเรียนที่มาทำกิจกรรมคือ “ไม่มีเวลา” เพราะทั้งเรียน ทำกิจกรรม เรียนพิเศษ ทำการบ้าน ช่วยงานพ่อแม่ การทำกิจกรรมทำให้เด็กๆก็ได้เรียนรู้การแบ่งเวลาและมีความรับผิดชอบมากขึ้น “มันก็เครียดตอนที่เราทำโครงการ หนูก็เป็นหลายๆอย่างคณะกรรมการนักเรียน การเข้ามาทำโครงการนี้เหมือนเราต้องแบ่งเวลามาทำ ต้องตื่นเช้าขึ้นคะ ตื่นตี 5 เพราะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นจึงต้องจัดสรรเวลาทั้งเรียนและกิจกรรมข้าวฟ่างบอกถึงปัญหาที่ได้เรียนรู้ แต่บางครั้งเด็กๆก็โดนอาจารย์ว่าเพราะให้น้ำหนักกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป แกนนำจะพยายามคุยกันกับเพื่อนและครูจุ่ยเพื่อหาทางออกร่วมกัน


ความเป็นเพื่อนที่ทำงานร่วมกันมานานเป็นอีกปัจจัยที่เกื้อหนุนทำให้กลุ่มเยาวชนทำงานร่วมกันได้ดี น้ำฝนเล่าให้ฟังว่า “ถ้าแบ่งงานกันมาแล้วปรากฏว่าเราทำไม่ได้ เราก็จะมาปรึกษากันแล้วคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน” หรือการยอมรับในความคิดเห็นของเพื่อน การเปิดใจ การไม่ยึดติดกับบทบาทของตนเองมากนักแต่กลับมองเป้าหมายร่วมกันนั้นก็คือความสำเร็จของโครงการ อย่างนิวมองว่า “หนูเองก็เป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม แม้ว่าหนูจะเป็นประธานนักเรียนที่ต้องคิด ออกแบบ แบ่งงาน แต่เวลาทำงานด้านสื่อหนูก็ไปช่วยเขา เป็นผู้ตามเขา เราคุยกันเยอะ เปิดใจช่วยกันทำ ช่วยกันตลอดระหว่างเพื่อน ทุกอย่างเหมือนร่วมมือกัน เปิดใจกัน” ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเป็นทีมของกลุ่มเยาวชนที่สามารถเกื้อหนุนให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมายได้


ครูจุ่ยมองว่างานด้านสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่ผ่านมาครูจุ่ยจึงทำหน้าที่ประสานความร่วมมือทั้งในโรงเรียน หน่วยงานในท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ จัดหางบประมาณ และชักชวนให้นักเรียนมาทำกิจกรรมด้านสิงแวดล้อม อีกทั้งผู้นำท้องถิ่นอย่างเทศบาลเองก็ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเยาวชนให้รักถิ่นฐานบ้านเกิดจึงสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนอย่างเต็มที่


“เด็กคือต้นกล้าที่พร้อมจะเจริญงอกงาม ครูเปรียบเสมือนแร่ธาตุ น้ำ อากาศที่หล่อเลี้ยงให้ต้นกล้านี้ได้เติบโต”


ตัวเราเปลี่ยน....สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน


“แม่น้ำประแสเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ในอำเภอแกลง เป็นที่อุปโภคบริโภคของคนลุ่มน้ำประแส ถ้าแม่น้ำเน่าเสีย ปลาตาย มีกลิ่นเหม็น เราจะทำให้มันดีขึ้นได้เหรอ ทั้งที่มันใหญ่โตขนาดนั้น” คำพูดของน้ำฝนที่ไม่มั่นใจว่าเด็กตัวเล็กๆจะสามารถทำเรื่องใหญ่ๆหรือแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของแม่น้ำประแสได้


การให้โอกาสบวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจของเยาวชนก็เป็นแรงผลักอย่างหนึ่งที่ทำให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ และการเปิดโอกาสจากผู้ใหญ่นำมาซึ่งการลงมือทำของเด็กๆผลที่เกิดคือความภูมิใจ เห็นศักยภาพของตนเองว่าเราก็สามารถทำได้ ไม่เพียงแค่นั้นยังทำให้แกนนำรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เกิดความรักและหวงแหน เมื่อสิ่งแวดล้อมเกิดปัญหาก็ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นิวให้ความคิดเห็นว่า “การที่ทุกคนมาช่วยกันดูแล สอดส่องแม่น้ำประแสก็จะทำให้แม่น้ำกลับมาสดใสเหมือนเดิม และหนูเองก็รักในสิ่งที่ทำ หวงในสิ่งที่เราเฝ้าฟื้นฟูดูแลมา” กิจกรรมยังทำให้เด็กมองไกลไปถึงการสืบทอด การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นด้วย นิวเสริมประเด็นนี้ว่า “เมื่อเราได้มีโอกาสเข้ามาเป็นแกนนำ เป็นคนนำกิจกรรม เราก็พยายามสร้างน้องๆขึ้นมาใหม่เพื่อให้รักสิ่งแวดล้อม”


ผลจากการดำเนินโครงการยังทำให้เกิดเครือข่ายการเฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำประแส โรงเรียนวัดพลช้างเผือกและโรงเรียนวัดสารนารถธรรมาราม นำกระบวนการนักสืบสายน้ำมาบูรณาการเรียนการสอนในรายวิชาอีกด้วย ถังไบโอจุลินทรีย์ที่กลุ่มเยาวชนคิดค้นขึ้นมาแม้ตอนนี้จะยังคงอยู่ในขั้นตอนพัฒนาแต่ผลจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำหลังจากผ่านการบำบัดจากถังไบโอแล้วพบว่าปริมาณไขมันลดลง มีค่า DO ในน้ำเพิ่มขึ้น คนในชุมชนเมืองแกลงและเทศบาลฯก็ให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญของแม่น้ำมากขึ้น


กล้าที่จะทำ ได้เรียนรู้จากการทำงานจริงเกิดทักษะการทำงาน แน่นอนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติย่อมทำให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เช่น การมีภาวะผู้นำ กล้าพูด กล้าแสดงออก เนื่องจากเวลามีค่ายต้องเป็นคนนำกิจกรรมน้องๆและแกนนำเป็นรุ่นพี่ต้องทำเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นน้อง การนำสันทนาการ พัฒนาทักษะต่างๆ เช่น การพูดสื่อสารให้คนเข้าใจเพราะแกนนำต้องพูดถ่ายทอดความรู้และสอนกระบวนการตรวจวัดคุณภาพน้ำ การลงพื้นที่สัมภาษณ์ชุมชน อย่างนิวก็จะทำหน้าที่เป็นพิธีกรเมื่อมีกิจกรรม การใช้เครื่องมือวัดคุณภาพน้ำที่คล่องขึ้น การลงชุมชน มีความรู้ในสิ่งที่ตนเองทำมากขึ้น เช่น ปัญหาสาเหตุน้ำเน่าเสีย การบำบัดน้ำเสีย การตรวจวัดคุณภาพน้ำ การแปลผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ เป็นต้น


การลงมือ ลงแรง ช่วยกันดูแลแม่น้ำประแสจากรุ่นสู่รุ่นของน้องๆกลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสร์แห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง จะค่อยๆฟื้นคืนชีวิตในแม่น้ำให้กลับมาเป็นที่พึ่งของชุมชนอีกครั้ง 


แกนนำเยาวชนกลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง


  น.ส.จีราพร รอดหลัก (นิว)  

มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง


“การที่ได้เห็นรุ่นพี่ทำกิจกรรม และได้ทราบว่าในอดีตแม่น้ำประแสที่เราเห็นอยู่ทุกวันเคยเน่าเสีย สกปรกมาก แต่จากการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น จึงมีความคิดว่าเราต้องดูแลแม่น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แม่น้ำสะอาดอย่างนี้ต่อไป”


นิวมีบทบาทหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองค์การบริหารส่วนนักเรียน สิ่งที่นิวได้จากการทำโครงการครั้งนี้คือ “การพูดสื่อสารให้คนเข้าใจ” เพราะจะต้องถ่ายทอดความรู้ให้กับรุ่นน้อง ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสื่อสารกับชุมชน ต้องเผยแพร่ข้อมูลต่างๆให้คนในชุมชน นอกจากนี้เวลามีค่ายนิวจะทำหน้าที่เป็นพิธีกร นำสันทนาการ อีกด้วย สำหรับความรู้และทักษะการใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำ กระบวนการนักสืบสายน้ำก็เข้าใจมากขึ้นกว่าเดิมเพราะได้เรียนรู้จากการทำงานจริงๆทำให้เกิดการทำงานที่คล่องแคล่วมากขึ้น


“มาค่ายตอนแรกๆหนูไม่คอยกล้า แต่พี่ๆเพื่อนๆในค่ายเป็นการเอง ฝึกให้หนูกล้าคิด กล้าทำ ฝึกให้คิดเป็นขั้นตอน คิดอย่างเป็นระบบ” 



  น.ส. ดรรชนี พรมจันทร์ (ข้าวฟ่าง)

มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง


“จากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์น้ำ ป่า จึงอยากให้สิ่งแวดล้อมของเราจะได้อยู่กับเราไปนานๆ สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป”


ปัจจุบันมีตำแหน่งคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนนักเรียนปกติเป็นคนไม่ค่อยพูดกับคนเยอะๆ ไม่ค่อยสนใจกิจกรรมเรียนอยากเดียว จนกระทั้งได้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดจากการชักชวนของคุณแม่ (ครูจุ่ย) เพราะเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ เมื่อได้เข้าทำกิจกรรมจากคนที่ขี้อายตอนนี้ข้าวฟ่างกล้าพูด มีความเป็นผู้นำมากขึ้น “กล้าพูดมากขึ้นสามารถยืนพูดต่อหน้าคนเยอะๆได้ เช่น กล้าขึ้นพูดหน้าเสาธงเรื่องสิ่งแวดล้อม มีความเป็นผู้นำมากขึ้นเพราะต้องนำน้องๆในค่าย” นอกจากนี้การทำกิจกรรมยังทำให้ข้าวฟ่างต้องจัดสรรเวลาจากที่เคยเรียนอย่างเดียวก็ต้องแบ่งเวลามาทำกิจกรรม


“หนูรักที่จะทำเพื่อสิ่งแวดล้อม หนูมีความสุขเมื่อหนูได้ลงมือทำ”



 น.ส.สุชาดา ทรัพย์เมือง (น้ำฝน)

มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง

“อยากดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของเรา เพราะแม่น้ำประแสเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชนเราที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ดังนั้นเราต้องช่วยกันดูแล”


ปัจจุบันมีตำแหน่งคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนนักเรียน น้ำฝนมีความถนัดในด้านคอมพิวเตอร์และชอบงานศิลปะ จึงมักได้รับหน้าที่จัดทำวีดีโอนำเสนอ เมื่อก่อนน้ำฝนอยู่แต่บ้านไม่ค่อยออกไปไหน เสาร์อาทิตย์ก็ทำการบ้านจนกระทั้งเพื่อนมาชวนทำโครงการ จึงตัดสินใจมาทำกับเพื่อนๆ น้ำฝนเล่าให้ฟังว่า “ปกติจะเป็นคนไม่ค่อยพูดกับคนอื่นที่เราไม่รู้จัก รู้สึกกลัวที่ต้องพูดกับคนอื่นในชุมชน มันตื่นเต้นบอกไม่ถูก แต่ตอนนี้กล้าพูดแล้วเพราะต้องพูดเผยแพร่ข้อมูลอยู่บ่อยๆ การลงชุมชนสัมภาษณ์ถามข้อมูลก็ไม่เกร็งเหมือนเมื่อก่อน การทำงานร่วมกับเพื่อนๆมีระบบมากขึ้น รู้ว่าเวลานี้ควรทำอะไร”

­

พี่เลี้ยงโครงการ


  นางรัชนี พรมจันทร์ (จุ่ย)

จบการศึกษาปริญญาโท ชีวศึกษา มหาวิยาลัยบูรพา


ปัจจุบันมีตำแหน่งชำนาญการพิเศษ โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง


“งานด้านสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกคน เยาวชนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานสำเร็จได้เพราะเยาวชนสามารถปลูกฝังได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ พูดง่าย สอนง่าน สามารถรับรู้และชอบทำอะไรที่ท้าทาย”


ครูจุ่ยครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์การทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้นำความรู้สองศาสตร์มาบูรณาการกับการสอนในรายวิชาที่รับผิดชอบ บทบาทในการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนจะช่วยในการวางแผนและเขียนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับเด็กๆ จัดหางบประมาณและเป็นที่ปรึกษา


“จากเดิมต้องรับผิดชอบงานมากปัจจุบันมีแกนนำที่สามารถนำน้องได้ก็ช่วยเราได้มากขึ้น”



โครงการยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง

กลุ่มยุวฑูตคุณภาพแม่น้ำประแสแห่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง โรงเรียนแกลง “วิทยสถาพร” จ.ระยอง

ผู้ประสานงาน จีราพร รอดหลัก (นิว) โทรศัพท์ 08-4562-1866 อีเมล์ New_dekdum_kc@gmail.com

กลุ่มเป้าหมายนักเรียนในโรงเรียน ประชาชนในอำเภอแกลง

พื้นที่ดำเนินการ แม่น้ำประแส จุดตรวจวัดคุณภาพน้ำ คือ ทะเลน้อย แหลมท่าตะเคียน ศาลาต้นโพธิ์ และสะพานโรงเลื่อย

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ