โครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นลำน้ำน่าน-แควน้อย
โครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นลำน้ำน่าน-แควน้อย
กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
สรุปผลโครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นลำน้ำน่าน-แควน้อย
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นลำน้ำน่าน-แควน้อย


กลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทอง จ.พิษณุโลก


ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก อันมีแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อยไหลมาบรรจบกัน เป็นตำนานการตั้งชื่อของเมืองสองแควพื้นที่อันเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยสวนเกษตรดั้งเดิมและป่าธรรมชาติ ซึ่งมีพันธุกรรมท้องถิ่นเก่าแก่ในชุมชน อาทิ เช่น ละมุดยักษ์พื้นบ้าน มะม่วงไอ้ทุง มะม่วงกิ้งก่า 


จุดกำเนิดของกลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทองเริ่มจากสมัยนั้นเริ่มมีร้านเกมเข้ามาในหมู่บ้าน มีอินเตอร์เน็ตเข้ามา ช่วงวันหยุดเด็กไม่ค่อยอยู่บ้าน ใครไม่มีคอมพิวเตอร์ก็ออกไปร้านเกม คนที่อยู่บ้านก็เล่นที่บ้าน ใครมีทีวีก็ดูทีวีไป ไม่ค่อยได้เห็นเด็กออกมาข้างนอก กลุ่มผู้ใหญ่จึงคุยกันว่า เด็กน่าจะออกมาทำอะไรร่วมกันบ้าง


ตอนนั้นพื้นที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ มีนกเยอะ ต้นไม้เยอะ เลยเริ่มจากการดูนก นัดเด็กๆ มาดูนกกัน ยืมกล้องอุทยานลานสางมา ตอนนั้นรวมตัวกันได้ประมาณสิบกว่าคน พาปั่นจักรยานไปส่องดูนก สอนวิธีใช้กล้อง มาวาดรูปแล้วมาเทียบดูว่านกอะไร พอหลังจากดูนกในพื้นที่ ก็เลยตั้งชื่อกลุ่มของเราง่ายๆ ว่า กลุ่มเยาวชนรักษ์นก ไปๆมาๆเด็กเริ่มติด เริ่มถามหาเมื่อไหร่จะนัดดูนกอีก จากดูนกในพื้นที่ วาดรูปนก เราก็ชวนกันออกไปดูนกนอกพื้นที่บ้าง ไปดูนกในอุทยานบ้าง หากิจกรรมให้เด็กทำเรื่อยๆ ตามที่เด็กสนใจ 


­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

โครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นลำน้ำน่าน-แควน้อย


กลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทอง จ.พิษณุโลก

­

“ แท๊บ แต ละ แท๊บ แท๊บ แท๊บ ”

“ น้าขุดหลุมให้หนูหน่อย ”


เสียงเด็กน้อยเจื้อยแจ้วส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ด้วยความสนุกสนานและเปี่ยมล้นด้วยพลังในการทำงาน

“ หนูเอาไม้เสียบไว้ด้วยจะได้รู้ว่าปลูกอยู่ตรงไหน ”


เสียงจากผู้ใหญ่บอกให้เด็กน้อยได้เรียนรู้ขั้นตอนของการปลูกต้นไม้อย่างสมบูรณ์

เสียงเหล่านี้เกิดขึ้นในตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก อันมีแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อยไหลมาบรรจบกัน เป็นตำนานการตั้งชื่อของเมืองสองแควพื้นที่อันเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยสวนเกษตรดั้งเดิมและป่าธรรมชาติ ซึ่งมีพันธุกรรมท้องถิ่นเก่าแก่ในชุมชน อาทิ เช่น ละมุดยักษ์พื้นบ้าน มะม่วงไอ้ทุง มะม่วงกิ้งก่า มะม่วงกะล่อน ตะขบตาควาย ต้นไข่เน่า มะเขือเทศจานใหญ่ ผักกาดคอกควาย น้อยโหน่ง เป็นต้น พี่เจี๊ยบ( คะนึง สมบุญมี) หนึ่งในพี่เลี้ยงเยาวชนรักษ์นกจอมทองเล่าให้ฟังว่า


“ พื้นที่นี้เมื่อก่อนเป็นเหมือนเกาะ มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีแหล่งอาหารเยอะ อาหารพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของที่นี่อันหนึ่ง คือ แกงขี้เหล็ก แต่เดี๋ยวนี้คนหาขี้เหล็กจากในหมู่บ้านมาแกงไม่ได้ ต้องไปหาขี้เหล็กจากหมู่บ้านอื่น จากพื้นที่ที่เคยมีต้นสะเดาก็ต้องไปซื้อสะเดาจากตลาดข้างนอกหมู่บ้าน ประกอบกับในปี พ.ศ. 2554 ที่นี่น้ำท่วม พันธุ์ไม้ในสวนก็ยิ่งหายไป เลยเป็นที่มาของโครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมไม้ท้องถิ่นลำน้ำน่าน – แควน้อย ”


เยาวชนรักษ์นกจอมทอง

บรรยากาศสบายๆ ยามกลางคืน พี่แจ๊ค( อภิลักษณ์ สมบุญมี ) และพี่เจี๊ยบพี่เลี้ยงที่คอยดูแลเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านต่างล้อมวงพูดคุยเล่าถึงจุดกำเนิดของกลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทองเริ่มจาก สมัยนั้นเริ่มมีร้านเกมเข้ามาในหมู่บ้าน มีอินเตอร์เน็ตเข้ามา ช่วงวันหยุดเด็กไม่ค่อยอยู่บ้าน ใครไม่มีคอมพิวเตอร์ก็ออกไปร้านเกม คนที่อยู่บ้านก็เล่นที่บ้าน ใครมีทีวีก็ดูทีวีไป ไม่ค่อยได้เห็นเด็กออกมาข้างนอก กลุ่มผู้ใหญ่จึงคุยกันว่า เด็กน่าจะออกมาทำอะไรร่วมกันบ้างก็เลยปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครองก่อนว่า “ถ้าจะชวนลูกๆ ออกมาทำกิจกรรมด้วยกันสักเสาร์ – อาทิตย์ หรือ เดือนละครั้งจะว่ายังไง” พ่อแม่ก็บอกว่า “ไม่เป็นไร ช่วยดึงเด็กหน่อย เล่นเกมจนไม่ไหวแล้ว” พี่แจ๊คและพี่เจี๊ยบก็คิดว่าอะไรจะช่วยดึงเด็กออกมาได้บ้าง ตอนนั้นได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของอุทยานลานสาง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ก็เลยลองปรึกษาว่าจะทำอะไรได้บ้าง “ถ้าอย่างนั้นเราเริ่มจากนกไหม” เพราะตอนนั้นพื้นที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ มีนกเยอะ ต้นไม้เยอะ เลยเริ่มจากการดูนก นัดเด็กๆ มาดูนกกัน ยืมกล้องอุทยานลานสางมา ตอนนั้นรวมตัวกันได้ประมาณสิบกว่าคน พาปั่นจักรยานไปส่องดูนก สอนวิธีใช้กล้อง มาวาดรูปแล้วมาเทียบดูว่านกอะไร พอหลังจากดูนกในพื้นที่ ก็เลยตั้งชื่อกลุ่มของเราง่ายๆ ว่า กลุ่มเยาวชนรักษ์นก ไปๆมาๆเด็กเริ่มติด เริ่มถามหาเมื่อไหร่จะนัดดูนกอีก จากดูนกในพื้นที่ วาดรูปนก เราก็ชวนกันออกไปดูนกนอกพื้นที่บ้าง ไปดูนกในอุทยานบ้าง หากิจกรรมให้เด็กทำเรื่อยๆ ตามที่เด็กสนใจ เวลาถึงช่วงเทศกาลเช่น ปีใหม่ ก็แลกของขวัญกัน อย่างช่วงสงกรานต์ เราก็คิดว่าเด็กน่าจะได้ฟื้นประเพณีรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ เมื่อก่อนที่นี่จะเดินไปตามบ้านทำพิธีที่บ้านแต่เดี๋ยวนี้เขาใช้วิธีเอาคนเฒ่าคนแก่มารวมกันรดน้ำที่เดียวเลย เราก็นัดน้องมารวมกัน ชวนเดินไปด้วยกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่เดินไปแต่ละบ้านทำพิธีรดน้ำดำหัวให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ เสียงเล่าจากพี่เจี๊ยบพร้อมกับผู้ใหญ่คนอื่นช่วยกันสำทับว่า “คนแก่มีความสุขมาก ชอบมาก บางบ้านลูกที่ไม่เคยรดน้ำให้แม่ พอเด็กๆ ไปก็ได้รดน้ำให้แม่ตัวเองด้วย” เป็นการส่งผลความดีถึงกันและกัน บรรยากาศพูดคุยเป็นไปอย่างสนุกสนานด้วยความสนิทสนมของคนในหมู่บ้าน พี่แจ๊คยังเล่าเสริมต่อว่า


“ พ่อแม่มาทำกิจกรรมมีแต่ผู้ใหญ่ตลอด เด็กๆเค้าก็ตามมา เขาก็ไม่สนใจเพราะไม่มีบทบาทอะไรที่ชัดเจน พอวันนี้มีปลูกต้นไม้ตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทอง เขาก็มีบทบาทของเขาทำกลุ่มของเขา เหมือนสร้างบ้านของเขาเอง ดีกว่าไปสุมหัวตามบ้าน ชาร์ตแบตโทรศัพท์แล้วชาร์ตแบตโทรศัพท์อีก เอาเงินพ่อแม่ไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ร้านเกมในหมู่บ้าน พอเรามีกิจกรรมเข้ามาก็มารวมกลุ่มกันตรงนี้ก็ช่วยได้บ้าง เด็กเอาเวลามาทำตรงนี้มีประโยชน์มากกว่า ชาวบ้านก็เห็นด้วยว่าเด็กออกมาทำกิจกรรมด้วยกันได้กับผู้ใหญ่”


จุดเด่นอันเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานของพี่แจ๊คในฐานะที่เป็นพี่เลี้ยงคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตัวเองที่มีต่อเด็กและเยาวชน เพราะเมื่อก่อนพี่แจ๊คมองว่าเด็กเล็กเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เนื่องจากเมื่อมีการประชุมผู้ปกครองเด็กเล็กก็จะติดสอยห้อยตามผู้ปกครองมาด้วย บางครั้งด้วยความซุกซนอันเป็นลักษณะโดยทั่วไปของเด็กๆ ทำให้การประชุมดำเนินการไปอย่างไม่ราบรื่นเท่าใดนัก ด้วยความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กๆและเห็นถึงพลังอันเหลือเฟือพี่แจ๊คและคนในชุมชนจึงเกิดความคิดที่จะเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการผ่านกิจกรรมการสำรวจชุมชน การสำรวจพันธุ์ไม้ท้องถิ่นซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน ทำให้เด็กๆค่อยๆซึมซับและรู้สึกหวงแหนทรัพยากรหรือทุนที่เขามีมากขึ้น


ป่าข้างถนน

ถึงเวลานัดหมาย 8 โมงเช้าที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ผู้ใหญ่บ้านสุทธิเวชน์ เอี่ยมเนตร เด็กๆ มารวมตัวกันช่วยกันยกกล้าไม้ที่เพาะไว้ขึ้นรถอีแต๋น ผู้ใหญ่ก็ถือจอบถือเครื่องตัดหญ้าติดไม้ติดมือกันมา เพื่อที่จะตัดหญ้าข้างทางเตรียมที่ทางให้สำหรับคนขุดหลุมปลูกต้นไม้ กล้าไม้ที่นำมาเพาะนั้นก็ไม่ใช่ไม้ป่าอื่นไกลแต่เป็นไม้ที่ออกดอกออกผลแล้วสามารถเก็บมากินได้ เช่น มะม่วง สะเดา แค มะนาว มะรุม ขี้เหล็ก มะปราง มะคึก เป็นต้น เมื่อต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะเป็นไม้ใหญ่เติบโตให้ชาวบ้านเก็บดอกผลไปใช้ดำรงชีวิตโดยไม่ต้องออกไปหาซื้อข้างนอกไกลหมู่บ้าน แต่สามารถเก็บกินได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นป่าสาธารณะข้างถนนให้ทุกคนในหมู่บ้านได้ใช้สอย พี่เจี๊ยบเล่าให้ฟังว่า “ เมื่อฤดูแล้งที่ผ่านมาเด็กๆ ก็ช่วยกันหาเมล็ดพันธุ์มาและคุยกับผู้ใหญ่เรื่องผักกินได้ที่อยู่ริมถนนให้กลับมา ก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่เคยลองปลูกแล้วรอบหนึ่ง ไม่ได้ปลูกเยอะ มีดอกแคที่เก็บได้แล้วตามทางจากตอนที่ปลูกครั้งนั้นแต่ว่าไม่เยอะ เราเลยมารวมกันอีกสักรอบ จะได้มีปริมาณเยอะขึ้นมากขึ้น”


ส่วนแจ๊ค ( ศักดา ศรีพูล ) แกนนำเยาวชนกลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทองเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะถึงวันที่มารวมตัวปลูกต้นไม้กันนี้ พวกเขาได้เปิดเวทีค้นหาปัญหาการลดลงของพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น อะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้วิถีชีวิตและแหล่งอาหารในหมู่บ้านลดลง โดยมีกลุ่มเยาวชน แกนนำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น คนในชุมชน และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมพูดคุย ซึ่งสรุปได้ 3 สาเหตุหลัก คือ 1. มีการนำพันธุ์ไม้ใหม่เข้ามาปลูกในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้กับให้กับคนในชุมชน เช่น ปลูกข้าวโพด แทนการ ปลูกมะม่วงพันธุ์ท้องถิ่น 2. การขยายตัวของเมืองทำให้มีการกว้านซื้อที่ดินจากคนภายนอกชุมชนเพื่อสร้างบ้านเรือนซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมดั้งเดิม (สวนโบราณ) อันเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่เกษตรดั้งเดิม และพันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เก่าแก่ในชุมชนลดลง และ 3. ในปีพ.ศ. 2554 เกิดอุทกภัยทำให้ไร่นา และสวนในตำบลจอมทองเสียหาย ในวงคุยครั้งนี้ได้มีการทำแผนที่ทำมือชุมชนขึ้นด้วย เพื่อใช้ในการวางแผนแนวทางการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่นต่อไป ต่อมากลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทองได้จัดเดินเยี่ยมบ้านคนในชุมชนเพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ท้องถิ่น จำนวน 35 ครอบครัว ในหมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 7 และหมู่ 9 แบ่งเป็นการเยี่ยมวันละ 4 ครอบครัว พร้อมทั้งขอความรู้เรื่องพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่นจากบ้านที่เดินสำรวจด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับคนในชุมชนไปในตัว อีกทั้งยังทำให้เยาวชนเข้าใจถึงปัญหาที่ทำให้จำนวนลดลง จากการสำรวจครั้งนี้ทำให้กลุ่มเยาวชนพบว่าในชุมชนของตัวเองนั้นมีพันธุ์พืชท้องถิ่นอยู่ในชุมชนถึง 111 ชนิด จากนั้นก็ได้เปิดเวทีในชุมชนอีกรอบเพื่อเป็นการคืนข้อมูลให้กับชุมชน จึงได้ระดมความคิดเห็นเลือกพันธุ์พืชที่มีความสำคัญกับท้องถิ่นและกำลังจะหายไปเพื่อเก็บรักษาและขยายพันธุ์ไว้ในชุมชนจำนวน 15 ชนิด แจ๊คยังได้เล่าถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำสำรวจครั้งนี้อีกด้วยว่า


“ก่อนทำโครงการไม่มีความรู้ในเรื่องของการปลูกต้นไม้ ไม่รู้ว่าต้องปลูกต้นไม้ในฤดูกาลไหน เคยลองปลูกต้นไม้แล้วก็ไม่รอด ไม่สามารถขยายพันธุ์ต้นไม้ได้ ทำให้รู้สึกไม่อยากปลูกต้นไม้ เวลาที่แม่ให้ช่วยงานตัดหญ้าที่บ้านถ้าเจอต้นไม้ที่ไม่รู้จักก็จะตัดทิ้งหมด มีความรู้ในเรื่องของพันธุ์ไม้น้อย เมื่อก่อนคิดว่าพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้านมีแค่ 20-30 พันธุ์เท่านั้น แต่หลังจากที่ได้เริ่มทำโครงการแล้วจากการสำรวจพันธุ์ไม้ทำให้ได้รู้ว่าในหมู่บ้านนั้นมีพันธุ์ไม้อยู่มากถึง 70 กว่าพันธุ์ ได้เรียนรู้เรื่องการเพาะปลูก ฤดูกาลของการเพาะปลูกต้นไม้จากการลองผิดลองถูกในครั้งแรกที่ปลูกในฤดูร้อนทำให้กล้าไม้ตายเพราะว่าไม่มีน้ำ และอยู่ในช่วงใกล้สอบทำให้ไม่มีใครมารดน้ำ การดูแลพันธุ์ไม้ และการเก็บเมล็ดพันธุ์ จากการลงมือทำร่วมกันกับคนในชุมชนทำให้รู้สึกสนุก ภูมิใจและหวงแหนต้นไม้ที่ตัวเองได้เป็นคนปลูกเองถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ในที่ดินของตนเอง เดี๋ยวนี้เวลาตัดหญ้าถ้าเจอต้นไม้ที่ไม่รู้จักก็จะเก็บแล้วนำมาปลูก”


หลังจากนั้นกลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทองได้ทำการเก็บรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่นที่จะขยายพันธุ์ในชุมชน เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ได้ลองปลูก ลองเพาะ และมีแปลงเป็นของตัวเอง จนมีกล้าไม้ให้ผู้ใหญ่ในชุมชนสามารถนำกลับไปปลูกในแปลงหลังบ้านของตัวเองได้ และได้มีการเตรียมกล้าไม้อีกยี่สิบกว่าชนิดสำหรับวันนี้ที่จะนำมาปลูกริมทางสาธารณะในชุมชน เพื่อวันข้างหน้าในไม่ช้านี้กล้าไม้เหล่านี้จะเติบโตเกิดเป็นป่าข้างถนนแหล่งอาหารท้องถิ่นของชุมชนให้ใช้สอย


พลังหมุนรอบกัน

“ น้าอยากได้ต้นอะไรไว้หน้าบ้านจ๊ะ”

“ มีมะม่วงไหม ถ้ามีขอต้นมะม่วง “


ระหว่างทางที่ทุกคนต่างช่วยกันปลูกต้นไม้ ผู้ใหญ่ก็ช่วยกันตัดหญ้า ขุดหลุมปลูก เด็กๆ ต่างก็วิ่งทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ยกกล้าไม้ลงมาจากรถอีแต๋นแล้วนำมาปลูกในหลุม ปักไม้ทำสัญลักษณ์ไว้ จนผู้ใหญ่ขุดหลุมไม่ทันเด็กๆ ใครที่ไม่สะดวกมาช่วยปลูกก็สมทบเป็นเงินค่าอาหารกลางวันบ้าง ผลไม้และน้ำอัดลมบ้าง สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่มาออกแรงช่วยกันปลูกต้นไม้ ความสนิทสนมของคนในชุมชนทำให้บรรยากาศในการปลูกต้นไม้เป็นไปอย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่ช่วยเหลือเด็กในสิ่งที่เด็กทำไม่ได้ เด็กก็ช่วยเหลือผู้ใหญ่ในสิ่งที่เด็กทำได้ เกิดเป็นสายสัมพันธ์การเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติในชุมชน เป็นพลังหนุนเสริมที่หมุนรอบกันและกัน


พี่สั้น ( ศุภาดา คุ้มภัย) ชาวบ้านตำบลจอมทองเล่าให้ฟังถึงการทำงานร่วมกันกับเยาวชนรักษ์นกจอมทองให้ฟังว่า จากการที่ได้ทำงานกับกลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทอง สิ่งที่ได้เจอและเป็นความภาคภูมิใจคือเห็นเด็กตัวเล็กได้ศึกษาและรู้จักพันธุ์ไม้ต่างๆ ภายในตำบล ได้เห็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตอนรถจักรยานที่ใช้เป็นพาหนะในการขี่สำรวจข้อมูลพันธุ์ไม้ตามบ้านต่างๆ เสียรุ่นพี่ก็ช่วยกันซ่อมจักรยานให้รุ่นน้อง ซ่อมไม่ได้ก็ซ้อนน้องๆกลับ และช่วยกันนำจักรยานไปให้ผู้ใหญ่ช่วยซ่อมทำให้เห็นการเสียสละของรุ่นพี่ที่จะคอยดูแลน้องๆ “ ตอนนั้นมีน้องเล็กๆคนหนึ่งตามพี่ๆ ไปสำรวจต้นไม้ในสวนแล้วก็พลัดหลงกับกลุ่ม พวกกลุ่มพี่ๆ ออกไปตามหาน้องกัน แต่สุดท้ายน้องเขาก็กลับมาหากลุ่มพี่ๆเอง ก็เลยได้เห็นว่าเด็กๆ มีความห่วงใยซึ่งกันและกันอยู่ ” พี่สั้นเล่าด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่รู้ว่าถ้าลูกเขาหายไปจะทำอย่างไรในเวลานั้น


พี่สั้นมีความสุขที่ได้เห็นพวกเด็กๆ ตอบคำถามว่าได้ต้นอะไรบ้างหลังจากพาไปสำรวจต้นไม้ บางต้นพวกเขาไม่รู้จัก เขาก็รู้จักหาวิธีทำให้พวกเขารู้จักพันธุ์ไม้ และเข้าใจว่าต้นไม้ชนิดไหนไว้ใช้ประโยชน์อะไร นอกจากนี้หลังจากสำรวจและรู้จักพันธุ์ไม้แล้ว พี่สั้นได้พาเด็กๆ ไปเลือกพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้ที่เป็นอาหารของชุมชนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จึงให้พวกเขาไปหาพันธุ์ไม้นั้นมาเพื่อเพาะพันธุ์ “ พวกเด็กๆ ชวนกันเก็บพันธุ์ไม้มาเพาะและนำไปปลูกเป็นอาหารให้ชาวบ้าน เราเห็นแล้วรู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ได้ปลูกฝังให้เขาได้รู้จักต้นไม้และดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชนเราเอง แม้ตอนเพาะที่ผ่านมาจะปลูกขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง ตายบ้างก็ตาม สาเหตุที่ต้นไม้มันตายเพราะว่าอากาศร้อน เด็กอยู่ในช่วงใกล้สอบไม่มีใครมารดน้ำ และเด็กจะไม่มาที่ศูนย์เองถ้าผู้ใหญ่อย่างเราไม่เป็นคนพาเด็กๆ มา เพราะผู้ปกครองไม่อนุญาตเนื่องจากมีข่าวว่ามีรถจับเด็กออกมาจับเด็กในชุมชน” พี่สั้นยังบอกอีกว่าสิ่งที่พี่สั้นคาดหวังคือการได้ปลูกฝังเด็กเยาวชนในพื้นที่ให้เกิดความรักในสิ่งแวดล้อม เกิดแรงใจในการอนุรักษ์และสร้างอาหารให้ชุมชน เป็นผู้นำผู้ใหญ่ให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน และเมื่อเยาวชนรุ่นนี้เติบโตจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและกลับมาพัฒนาท้องถิ่นที่เขาอยู่ได้แทนคนรุ่นพี่สั้นต่อไป แค่นี้พี่สั้นก็พอใจในสิ่งที่พี่สั้นทำแล้ว


เกิดการเรียนรู้

หลังจากที่เด็กๆ ปลูกต้นไม้กันเสร็จแล้วเด็กๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขารู้สึกชื่นใจกับการได้มาปลูกต้นไม้ริมทางในชุมชนครั้งนี้ เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กกลุ่มชั้นประถมคละวัยกันมา และนี่คือสิ่งที่เด็กๆ ประทับใจและอยากให้เกิดจากการลงแรงปลูกต้นไม้ในครั้งนี้


“ คนไม่มีผักอะไร ก็หามากินได้ ”

“ ประทับใจที่ได้มาปลูกต้นไม้ทำให้มีร่มเงา สัตว์จะได้มาทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้ มูลสัตว์ก็เอามาทำเป็นปุ๋ยได้ และทำให้พื้นที่เรามีความอุดมสมบูรณ์”

“ ประทับใจที่คนในชุมชนมีความสุขที่ได้ปลูกต้นไม้”

“ มีคนมาช่วยกันทำงาน”

“ สวนสาธารณะมีต้นไม้ที่ดี จะได้ไปนั่งใต้ต้นไม้ได้”

“ประทับใจที่ได้ทำความดี ช่วยทดแทนที่เราทำลายต้นไม้”

“ หนูชอบปลูกต้นไม้ค่ะ อยู่ที่บ้านหนูก็ขอแม่ แม่หนูขอทำแปลงผักหนึ่งแปลงค่ะ”


จากการลงมือปฏิบัติ ทำให้เด็กๆ ได้เห็นถึงการพึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งจากภายนอกมากมาย เรียนรู้ที่จะแบ่งปันกันและกัน เห็นความสอดคล้องของธรรมชาติกับวิถีชีวิตของหมู่บ้าน อันมีพืชพันธุกรรมท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมให้เด็กและผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ร่วมกัน ทั้งยังส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียงทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน เช่น กลุ่มครอบครัวสร้างโลกเย็น กลุ่มครอบครัวพอเพียง เป็นต้น เรียนรู้ปัญหาร่วมกัน และร่วมแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมของท้องถิ่น และเกิดความมั่นคงทางอาหาร ถึงแม้ว่าจะพบเจอปัญหาจากการรวบรวมภาพพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่นยังไม่ครบตามที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากพันธุ์พืช พันธุ์ไม้บางชนิดต้องรอตามฤดูกาลถึงจะได้ภาพที่บ่งบอกลักษณะเด่นของสายพันธุ์ เพื่อรวบรวมจัดพิมพ์เป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์พันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของหมู่บ้าน


และนี่คือสิ่งที่พี่สั้นได้กล่าวไว้ “ ให้น้องได้รู้ว่าฉันตัวเล็กๆ ก็มีประโยชน์นะ ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ของหมู่บ้าน เป็นคนหนึ่งที่ช่วยให้หมู่บ้านมีต้นไม้ เมื่อเวลาเขาโตไป เขาก็บอกได้ว่าต้นนี้นะฉันเป็นคนปลูก เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เก็บไว้กับเขาไป ให้ได้ถ่ายทอดให้รุ่นต่อๆ ไป” การเรียนรู้ยังคงดำเนินต่อไป ความสนิทสนมกลมเกลียวของคนในชุมชนนั้นเป็นจุดเด่นอีกสิ่งหนึ่งของตำบลจอมทอง การมีกิจกรรมร่วมกันในหมู่บ้านทำให้เยาวชนรุ่นหลังได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น ผู้ใหญ่ในชุมชนต่างก็ช่วยดูแลเด็กๆ โดยไม่มีเกี่ยงงอนว่าเป็นลูกหลานใคร เปรียบเสมือนเป็นดั่งญาติพี่น้อง การดูแลกันและกันในชุมชนแบบนี้ทำให้เกิดการปลูกฝังจิตสำนึกรักบ้านเกิดของตัวเองโดยไม่ต้องบอกกล่าว เพราะเด็กๆ ได้สัมผัสถึงคุณค่าของวิถีชีวิตด้วยตนเอง เมื่อเติบโตขึ้น การดูแลรักษาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและการพัฒนาชุมชนจะดำเนินไปอย่างเข้มแข็งโดยเด็กๆ กลุ่มนี้ “กลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทอง”

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ