กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
สรุปผลโครงการรักษ์ส้มรังสิตพัฒนาดินเสื่อมโทรม
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

โครงการรักษ์ส้มรังสิตพัฒนาดินเสื่อมโทรม


กลุ่มเยาวชนรักษ์สัมรังสิต จ.ปทุมธานี

ผู้ประสานงาน วิภาดา แก้วพร (น้ำมน) โทรศัพท์ 08-3221-9304 อีเมล์ vipada_mon@hotmail.com

กลุ่มเป้าหมาย/พื้นที่ดำเนินการ นักเรียนโรงเรียนธัญบุรี 100 คน / พื้นที่สวนบริเวณรังสิตคลอง 7,8,10,11 และ 12

­

ทุ่งรังสิต พื้นที่ราบลุ่มที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว หลายพื้นที่ได้แปลงสภาพเป็นสวนส้ม เมื่อพื้นที่ปลูกส้มในพื้นที่บางมดถูกน้ำทะเลหนุน จึงย้ายเข้ามาปลูกที่ทุ่งรังสิต จนมีชื่อเสียงเรื่องการปลูก “ส้มรังสิต” เกือบ 30 ปี พื้นที่สวนส้มรังสิตลดน้อยลง เนื่องจากเกิดโรคระบาด เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน การแก้ปัญหาของรัฐได้พัฒนาสวนส้มร้างนับแสนไร่กลายเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นยิ่งส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรลดน้อยลง แต่ถึงกระนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของทุ่งรังสิตก็ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่มีการใส่ปุ๋ยและใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแต่กลับส่งผลให้คุณภาพดินแย่ลง

­

จากการสำรวจ จึงเกิดสงสัย ชวนกันออกตามหา


จากการเปิดโอกาสของครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนธัญบุรี จ.ปทุมธานี ในปี พ.ศ. 2552 พานักเรียนชั้น ม.2 ออกสู่โลกกว้างด้วยโครงการ “นักสำรวจท้องทุ่ง” ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งเกิดความสงสัยถึงการหายไปของ “ส้มรังสิต” หรือ “สวนส้มรังสิต” ที่เคยเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อขนาดติดอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดปทุมธานี เด็กๆ จึงพากันออกสืบหาการหายไปของส้มรังสิตจากพ่อแม่ คุณลุงคุณป้าที่เคยปลูก บอกเล่าให้ฟังว่า “ส้มรังสิตที่เคยปลูกให้ผลผลิตดีและรสชาดอร่อยในอดีตนั้น เมื่อปลูกไปเรื่อยๆ บนที่ดินเดิม กลับให้ผลผลิตที่ลดน้อยลง ใบเหลือง เกิดโรค และในที่สุดก็ตาย จนหลายสวนต้องเลิกปลูก ขายที่ดินทิ้ง หรือหันไปปลูกส้มดำเนิน หรือพืชอื่นแทน”


เด็กๆจึงตั้งข้อสงสัยกับการตายและให้ผลผลิตลดลงของต้นส้มรังสิตว่าเป็นเพราะ “ปัญหาดิน” เพราะจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าการปลูกส้มรังสิตในอดีต ต้องอัดปุ๋ยเคมี ฉีดยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืชปริมาณมาก เพราะชาวสวนคิดว่าทำให้ได้ผลดี แต่กลับไม่เคยมีการตรวจสอบคุณภาพดินว่าขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง

­

เริ่มต้นด้วย...การตรวจดิน และทดลองปรับปรุง


เมื่อพบปัญหาจึงอยากแก้ เพราะสิ่งดีใกล้ตัวกำลังจะสูญหายไปในรุ่นของพวกเขา ทำให้เด็กเยาวชนหลายคนตื่นตัวบวกกับการสนับสนุนของคุณครูสาระวิทยาศาสตร์ ในปี 2553-2555 จึงชวนกันทำโครงการ “สืบสวนป่วนส้ม” และต่อมาคือ “รักษ์ส้มรังสิต” เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ความรู้ และเครื่องมือ จากหน่วยงานภายนอก อาทิ กองทุนสัตว์ป่าโลกในประเทศไทย (WWF-Thailand) , กรมพัฒนาที่ดินจังหวัดปทุมธานี รวมถึงมูลนิธิกองทุนไทย ที่ได้ริเริ่มโครงการปลูกใจ..รักษ์โลก เปิดรับสมัครโครงการจากกลุ่มเยาวชนที่อยากดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตัวเอง


กลุ่มเด็กเริ่มต้นโครงการใหม่รอบสอง ด้วยการขออนุญาต คุณลุงคุณป้าเจ้าของสวน เก็บดินที่ใช้ปลูกส้มไปตรวจและทดลองหาวิธีปรับปรุงบำรุงดิน โดยเน้นใช้ธรรมชาติมาทดแทนเคมีเป็นหลัก เช่นงานนี้สวนนลุงสืบ ซึ่งเป็นสวนส้มที่เหลือแห่งเดียวในพื้นที่ใกล้โรงเรียนยินดีสนับสนุนแบ่งบริเวณที่ดินซึ่งมีต้นส้มถึง 10 ต้น ให้กลุ่มเด็กๆมาขุดเก็บดินไปตรวจวัดคุณภาพ ธาตุอาหาร และทดลองปรับปรุงดินด้วยวิธีชีวภาพ


ในขณะเดียวกันก็สร้างแนวร่วมในโรงเรียนเพื่อค้นหาเพื่อนๆ น้องๆที่สนใจอยากทำกิจกรรม และมีความรู้เรื่องการตรวจวัดคุณภาพดินได้เข้ามาพัฒนาทักษะ ผ่านค่ายอบรม “หมอดินน้อย 100 คน” โดยเริ่มจากการประชาสัมพันธ์หาสมาชิกเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยการเดินเข้าไปประชาสัมพันธ์ตามห้องเรียน “เราเข้าไปบอกจุดประสงค์ของเราว่าต้องการอนุรักษ์ดินไว้ น้องเห็นดินไหมมันกลายเป็นปูนไปหมดแล้ว น้องๆ รู้สึกอย่างไรบ้าง” ซึ่งการอบรมให้ความรู้ครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรผู้มีความรู้จากหน่วยงานต่างๆเข้ามาให้ความรู้ หรือหากโชคดีเพื่อนๆ คนไหนที่พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีสวนเกษตรก็สามารถนำทักษะ ความรู้ที่ได้ไปช่วยตรวจวัดคุณภาพดินและปรับปรุงดินให้ดีขึ้นได้ การเรียนรู้นอกจากจะทำให้สมาชิกที่เข้าร่วมได้ชุดความรู้แล้ว กิจกรรมภายในค่ายครั้งนี้ยังทำให้รุ่นพี่ รุ่นน้องเกิดความสนิทสนมและรู้จักกันมากขึ้นอีกด้วย


การลงพื้นที่ไปสำรวจแต่ละครั้งกลุ่มพี่ๆแบ่งน้องออกเป็นกลุ่มๆ ละ 10 คน แต่ละกลุ่มจะมีพี่แกนนำคอยดูแลและจ่ายงานเพื่อให้น้องๆได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะให้ชำนาญ น้ำมน (วิภาดา แก้วพร) นักเรียนชั้น ม.5 หนึ่งในแกนนำรุ่นพี่ที่พาน้องไปเก็บดินในสวนของลุงเปียก บริเวณรังสิตคลอง 11 เมื่อไปถึงสวนเป้าหมายก็พากันลงเดิน นั่งเรือเข้าไปในร่องสวน พร้อมอุปกรณ์ น้ำมนและน้องๆในกลุ่ม ช่วยกันอธิบายขั้นตอนการเก็บดินว่า “ก่อนลงพื้นที่ พี่แกนนำจะทำหน้าที่แบ่งกลุ่มน้อง เพื่อลงเดินสายเก็บดินในพื้นที่รังสิตคลองต่างๆ” อย่างเช่น การลงพื้นที่คลอง 11 ครั้งนี้เป็นการลงเก็บตัวอย่างดิน ครั้งที่ 3 ไปตรวจหลังจากในครั้งที่ 2 เป็นการลงไปเติมปุ๋ยให้ดิน ซึ่งส้มที่อยู่ในโครงการ 5 ต้น มีการนำปุ๋ยมาใส่ 4 ต้น และไม่ใส่ปุ๋ย 1 ต้น เพื่อเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น จากการเรียนรู้จากกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดปทุมธานี จึงได้เกิดแนวทางทดลองการใส่ปุ๋ยชีวภาพ 1 ต้น ขุดดินบริเวณรอบๆ ต้นส้ม ลึกลงไปประมาณ 15 ซม. เพราะแร่ธาตุอยู่ในระดับนี้ นำดินใส่ถุง วัดขนาดความโตของต้น ความสูง เส้นรอบวง เพื่อประเมินการเจริญเติบโตในรอบ 2 เดือน


จากคำบอกเล่าของ น้ำมน ถึงการทำกิจกรรมภายใต้โครงการนี้ การสำรวจคุณภาพดินที่ผ่านมา 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการลงมาเก็บดินไปตรวจ “สวนนี้จะเป็นสวนของน้องๆ ซึ่งพ่อของเขาเป็นคนทำ เรามาขออนุญาตเก็บดินไปตรวจ เพื่อพัฒนาคุณภาพดินตรงนี้ ส่วนรอบที่ 2 เราไปกรมพัฒนาที่ดิน เอาดินไปตรวจสอบ ให้เขาแนะนำวิธีการปรับสภาพดินในพื้นที่นั้น คล้ายๆ สูตรปุ๋ย แล้วเราไปคิดอีกทีว่าจะใส่ปุ๋ยอย่างไร ความคาดหวังที่น้ำมนเข้ามาตรงนี้ เพราะอยากอนุรักษ์ส้มรังสิตไว้ แต่ตอนนี้อยากถ่ายทอดความรู้ที่ตัวเองมีให้กับน้องๆ ให้กับเกษตรกร ให้เขามีความรู้ แต่ตอนนี้การถ่ายทอดความรู้ยังไม่ได้ลงไปถึงเกษตรกร เพราะยังไม่ชำนาญถึงขนาดนั้น” น้ำมน เล่าให้ฟังอีกว่า “สถานการณ์สวนส้มรังสิต ตอนนี้เหลือเพียงสวนเดียว แต่เห็นอาจารย์บอกว่าเขากำลังทำเพิ่มเป็นสวนที่ 2 หากเสร็จโครงการส่วนนี้แล้วประสบความสำเร็จดีก็จะลงไปขยับต่อ มานั่งคุยกันก่อนว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรมาอบรมกับเรา ได้มีความรู้ สนใจโครงการของเรา” การรับรู้การทำโครงการของกลุ่มเยาวชน และพูดคุยเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มเจ้าของสวนที่ลงไปทำกิจกรรมเท่านั้น ถึงแม้ยังไม่มีแนวทางที่จะทำให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงผลดิน แต่จริงอยากจะทำ อยากจะนั่งคิด นั่งคุย แต่ตอนนี้ไม่มีเวลา ที่จะไปทำตรงจุดนั้น


เมื่อไม่ได้มองเพียงส้มรังสิต แต่มองไปถึงคุณภาพดิน เด็กๆ จึงแบ่งกลุ่มกันไปขอเก็บดินจากสวนผลไม้อื่นมาตรวจด้วย รวม 12 สวน กระจายตัวอยู่แถวเขตรังสิตคลอง 7, 8, 10, 11 และ 12 โดยมีเด็กรุ่นพี่ ม. 5 ประมาณ 13 คน เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลรุ่นน้อง ม. 2-4 ที่รับสมัครเข้ามาใหม่อีกราว 100 

­

เป้าหมายที่ตั้งไว้


โครงการที่เริ่มจากการสำรวจมาสู่การตรวจดินและทดลองปรับปรุงคุณภาพ ท้ายสุดแล้วมีเป้าหมายผลลัพธ์ ผลกระทบที่อยากเห็นในระยะไกลๆ คือ การที่เกษตรกรสามารถมีความรู้และปรับปรุงคุณภาพดินสวนตัวเองให้เหมาะสมกับการปลูกส้มรังสิต ปลูกผลไม้ ได้อย่างยั่งยืน ดังเช่น “หนูหวังว่าต้นไม้จะเพิ่มขึ้น” เป็นการแสดงความคาดหวังของ บิ๊ว (กมลรัตน์ เทือกไชยคำ) นอกจากนี้ “ผมอยากเห็นผลไม้ในชุมชนออกสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ ถ้าเราไม่อนุรักษ์ดูแลดิน ส้มบางลูกก็สุกไม่เติมที่หรือไม่ถูกใจคนกินก็มี” ปลื้ม (พงษ์วัฒน์ พันธุ์ไพโรจน์) เล่าให้ฟังในขณะที่พาเพื่อนไปเก็บตัวอย่างดิน


เป้าหมายที่สอง ที่ครูที่ปรึกษา ผู้ปกครอง และเจ้าของสวน ให้การสนับสนุนการทำโครงการนี้กับเด็กๆก็คือ การเห็นเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งรุ่นพี่ที่เป็นแกนนำ และรุ่นน้องที่สมัครเข้ามาเป็นหมอดินน้อย 100 คน มีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองในทุกด้านไปพร้อมกับการทำกิจกรรม แม้จะคิดว่ามันเป็นไปได้ยากมาก หรือไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและวิธีการปลูกส้ม ปลูกผลไม้ต่างๆ โดยไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี แต่ทำให้ชาวสวนได้ผลผลิตที่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพได้

­

การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเยาวชนจากรุ่นพี่ สู่ รุ่นน้อง


เพราะการทำงานต้องต่อเนื่อง ความสำเร็จในการแก้ปัญหา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น หรือเพียงแค่หนึ่งถึงสองปี คุณครูจึงวางแผนให้มีการขยายวง เปิดรับสมัครชักชวนนักเรียนรุ่นน้องรุ่นถัดๆ ไปเข้ามาร่วมในโครงการ

ครูขวัญ (ขวัญชีวิต นุชบัว) ที่ปรึกษาในการทำโครงการนี้เล่าถึงแผนการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องและการทำบทบาทของตัวเองว่า พอรุ่น ม. 2 ขึ้นมา แกนนำเหล่านี้ก็จะไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ เราต้องการฝึกพี่เลี้ยงให้มีความเป็นจิตอาสา โดยมีกระบวนการจัดรวมกลุ่ม 6-8 คน แล้วไปหารุ่นพี่ที่เคยทำ กระบวนการแบบนี้ช่วยทำให้เด็กๆ ได้รู้จักกัน เคารพกัน พูดคุยหารือกันไม่ใช่เฉพาะเรื่องงาน แต่มีทั้งเรื่องเรียนและเรื่องส่วนตัว มากกว่านั้นรุ่นพี่จะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันกับน้องๆ” ครูขวัญ เห็นว่ากระบวนการทำงานของโครงการนี้ จะช่วยให้เด็กไม่ตีกัน ไม่ทะเลาะกัน ไม่ใช้เวลาว่างไปกับเรื่องไม่มีประโยชน์


น้ำมน พูดถึงการเข้ามาเป็นเยาวชนแกนนำว่า บางคนที่เข้ามาแรกๆ อาจจะเพียงแค่อยากสนุก อยากลอง หลายคนอาจจะเบื่อๆ แล้วหายไปบ้าง เพราะมันต้องใช้ใจรักจริงๆ ในการทำ ซึ่งอาจจะเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน หวังที่จะเกิดผลกับชุมชน หนูไม่คิดว่าตัวเองจะทำให้มันดังขึ้นมา แต่อยากทำให้มันมีอยู่และให้ทุกคนได้รู้ว่าตรงนี้มันก็ยังอยู่ ไม่หวังอะไรมากค่ะ ตอนนี้มีน้องๆ เข้ามาทำแทนได้บ้างแล้ว เลยคิดว่าถ้าเราเรียน ม. 6 คงให้น้องๆ เป็นแกนนำหลักทำงานต่อ”


เยาวชนแกนนำเพื่อนสนิทกับ น้ำมน เป็นเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ได้พัฒนาตัวเองมากับโครงการตั้งแต่ต้นจนสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดกระบวนตรวจสอบคุณภาพดินให้กับรุ่นน้องได้ เป็นพี่เลี้ยงหลักนำกลุ่มน้องไปเก็บตัวอย่างดินจากสวนส้มของลุงสืบ บิ๊ว พูดถึงตัวเองว่า “อย่างหนูชอบที่จะหาอะไรมาทำเรื่อยๆ มองไปก็คิดไปเรื่อยๆ เห็นต้นไม้มีใบแคระแกรน คิดสงสัยต่อว่ามันเป็นอะไร อ้าวมันเป็นโรคนี้ เกิดจากอะไร ทำไมมันถึงเป็น” สิ่งที่อยากให้รุ่นน้องได้ คือ “อยากให้น้องได้เรียนรู้อะไรกว้างๆ ไม่ได้ดูแต่เฉพาะต้นส้มที่ตัวเองทดลอง อยากให้น้องสังเกตไปทั่วๆ เหมือนกับตัวเองเวลามาที่สวน ก็จะเดินดูอย่างอื่นไปด้วย”


ในฐานะแนวร่วมรุ่นใหม่ยังบอกอีกว่าการที่ตัวเองเข้ามาในโครงการนี้เป็นเพราะอยากเรียนกับครูขวัญ เพราะเห็นครูขวัญเป็นคนทุ่มเทให้กับเด็กๆ โชคดี ตอน ม.2 ได้มาอยู่ห้องครูขวัญ เขาจึงมีโอกาสสมัครเข้าร่วมกลุ่มหมอดินน้อย 100 คน “ตอนแรกๆ ก็คิดว่าอะไรเนี่ย ผมต้องทำหรือ ไปๆ มาๆ ยิ่งทำยิ่งได้ความรู้เกี่ยวกับดิน pH , N, P, K เท่าไหร่ถึงจะดีกับต้นมะม่วง ผมเองขายต้นมะม่วงอยู่แล้ว ก็คิดว่าจะมาต่อยอดเรื่องคุณภาพต้นมะม่วง แม้ความฝันจะอยากเป็นวิศวกร แต่ก็จะทำอันนี้ไปด้วย การทำงานร่วมกับเพื่อนๆ เราอาจจะต้องทำงานหนักหน่อยเพราะเราอาจจะรู้เยอะกว่าคนอื่น ก็ให้ความรู้กันไปทำงานร่วมเป็นทีมกันไป บางคนถ่ายรูปเล่นบ้างก็ไม่เป็นไร ให้เขามารู้เรื่องก็พอแล้ว”


การหนุนเสริมจากครูพี่เลี้ยง


บทบาทสำคัญในการช่วยกลุ่มเยาวชนวางแผนโครงการ การขยายผลไปสู่นักเรียนรุ่นถัดไป การให้คำปรึกษา หนุนเสริม สร้างแรงจูงใจในการทำโครงการให้กับเด็ก และประสานงานการจัดกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอก ดึงครูพี่เลี้ยงอื่นๆ มาช่วย ประสานเจ้าของสวน รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน และผู้ปกครองนักเรียน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ของครูขวัญได้ช่วยผลักดันให้แกนนำเยาวชนกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำกิจกรรม กล้าที่จะนำน้องๆ แนวร่วมลงพื้นที่เรียนรู้การทำงาน และกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา


บทบาทที่ ครูขวัญ ทำบ่อยครั้งจนเป็นบทบาทหลัก ก็คือ การเป็นผู้ประสานงานพาเยาวชนในโรงเรียนเข้าร่วมอบรมต่างๆ และประชาสัมพันธ์ข่าวสารโครงการต่างๆ ให้คนในโรงเรียนได้รับรู้ เมื่อกลุ่มเด็กได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ครูขวัญก็จะทำเรื่องถึงผู้บริหารโรงเรียนเพื่อแจ้งว่ากลุ่มเยาวชนกำลังไปทำกิจกรรมอะไรกัน ไม่ได้หนีเรียนไปเกเรที่ไหน ซึ่งก่อนไปก็ขออนุญาตอาจารย์ประจำวิชาให้เด็กๆ ด้วย


ครูขวัญ กล่าวถึงเรื่องการจัดการในโครงการเยาวชนที่ยากสุด คือ การประสานใจเด็กเยาวชนให้สามารถทำงานร่วมกันได้ วิธีการที่มักใช้คือ หนึ่ง การแสดงความเป็นผู้ให้ เด็กอยากได้อะไรมาหาครูขวัญ ครูให้ทุกอย่าง จนเด็กๆ พูดว่า “อยากได้อะไรให้ไปหาครูขวัญ” สอง หลังจัดค่ายวิทยาศาสตร์เสร็จ เด็กๆ รวมใจกันได้แล้ว ถือเป็นการขอบคุณ โดยจัดค่ายนอกสถานที่ให้เด็กๆ เป็นคนเลือก ซึ่งครูขวัญจะจัดหางบประมาณ และเชิญวิทยากรจากที่อื่นมาช่วย ทั้งนี้เด็กๆ ที่เข้ามาทำโครงงานหรือโครงการกับครูขวัญมักจะเป็นนักเรียนที่ครูขวัญสอนอยู่ด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการประสานงาน และดูแลพวกเขาได้สะดวก เหตุที่ไม่รับเด็กๆ ที่ไม่สอนเพราะเจอปัญหาการไม่ยอมรับกันภายในกลุ่มเด็ก


มุมมองของ ครูขวัญ ต่อบุคลิกแกนนำเยาวชนอย่าง บิ๊ว และ น้ำมน ที่เติบโตมากับโครงการ บิ๊ว เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เมื่อเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องแล้วอะไรจะมาลบล้างความคิดนี้ค่อนข้างยากมาก ส่วน น้ำมน เป็นคนเก่ง แต่ขาดความมั่นใจ ไม่สามารถเป็นผู้นำกิจกรรมได้ หากมีคนทัก น้ำมนจะไปไม่ถูก หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำทันที การช่วยแก้ไขพฤติกรรมที่เกิดขึ้น คือ บอกถึงจุดอ่อนให้กับเด็กแต่ละคน และบอกวิธีการฝึกฝนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาทักษะให้ดีขึ้น เช่น “น้ำมนมีจุดอ่อนตรงที่ขาดความมั่นใจ ไม่กล้านำกิจกรรม เวลามีกิจกรรมก็จะให้ไปยืนใกล้ๆ พี่ลักษณ์ ศึกษาจากรุ่นพี่เพื่อ ให้เธอมั่นใจ” ถ้าเป็น บิ๊ว ครูจะบอกว่า “ถ้าจะเป็นนักวิชาการก็ต้องหาข้อมูล อย่าเชื่อครู เพราะครูไม่ได้รู้ทุกเรื่อง” ทำให้ บิ๊ว ชอบค้นคว้าหาข้อมูล ในตอนแรก บิ๊ว ยังคงเชื่อมั่นและยืนยันที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองคิดไว้ คือ จะทำแต่เรื่องส้มเท่านั้น ครูขวัญก็จะปล่อยให้ทำตามนั้นก่อน “เพราะเด็กคือ เจ้าของโครงการ เราต้องยอมรับในจุดยืนของเขา” แต่ท้ายที่สุดเมื่อเด็กๆ ลงมือทำและเรียนรู้ก็เกิดการเปลี่ยนแนวคิด มองภาพที่กว้างขึ้น เชื่อมโยงสู่พืชอื่นๆ ทำให้ภายใต้โครงการ จึงเป็นการแก้ปัญหาดินในพื้นที่ปลูกมะม่วง มะละกอ นาข้าว กล้วย อีกทั้งสวนส้มก็ไม่ค่อยเหลืออยู่แล้ว


“ปัญหาในการทำโครงการของเด็กๆ คือ เจ้าของสวนรายใหม่ๆ ที่ลงไปพูดคุยชักชวนเข้าร่วมโครงการ จะไม่ให้ความเชื่อถือเด็ก หากครูไม่ลงไปทำกิจกรรมด้วย และส่วนใหญ่จะไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้สำเร็จ แต่ในสวนลุงสืบที่ร่วมทดลองกับเด็กๆ ยอมรับว่าส้มที่เด็กทดลองมีรสชาติแตกต่างกัน ตัวเราเองก็ภูมิใจกับการทำงานของเด็กๆ นะ พวกเขารับผิดชอบ ทำงานได้ขนาดนี้ แสดงว่าเขารักในสิ่งที่เขาทำแล้ว สิ่งที่เด็กแกนนำ 2 คนนี้ ได้โดยไม่รู้ตัวคือ เขาสามารถก้าวไปด้วยตัวของตัวเองได้ ตอนนี้น้ำมนกลายเป็นผู้นำเกมได้แม้ว่ายังไม่ดีพอ ส่วนบิ๊วมีทักษะตรวจสอบคุณภาพได้ดีๆ กว่าครูด้วย”


ทักษะชีวิต...สิ่งที่เด็กเรียนรู้และฝึกด้วยตัวเอง


การทำงานย่อมมีปัญหาให้เด็กๆ ต้องเผชิญ เรียนรู้และฝึกแก้ไข น้ำมน ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเอง “เจอปัญหาเยอะเหมือนกัน ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง โดยเฉพาะความท้อเกิดขึ้นบ่อยมาก เพราะหนูเป็นคนที่เครียดกับการทำงาน จริงจังกับงาน เมื่อมีเพื่อนและน้องๆ บางกลุ่มที่เราเข้าไปควบคุมไม่ได้ เวลาเรานัดทำงานเขาไม่อยากมา เราก็จะรู้สึกไม่ดี” น้ำมน แก้ปัญหาด้วยการพยายามเข้าไปอธิบาย “ก็พูดคุยกับเขานะค่ะ การทำตรงนี้มันดีอย่างไร และจะมีพี่ๆ เข้ามาช่วยพูดด้วย ซึ่งพี่เขาจะเก่งเรื่องการพูดจูงใจคน รวมทั้งอาจารย์ด้วยที่ช่วยพูดให้เขาเข้ามาช่วยกันทำงาน”


สำหรับ บิ๊ว ซึ่งเชื่อในความคิดของตัวเองค่อนข้างมาก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับรุ่นน้อง และคนอีกหลายกลุ่ม คือ ได้เรียนรู้การอยู่กับน้อง เรียนรู้ความคิดคนอื่นบ้าง รวมถึงการบริหารจัดการตัวเอง “การเข้าค่ายและจัดค่ายทำให้หนูได้รู้จักคนหลายคน เรื่องใหญ่เลยคือ เวลาพี่ว่าง น้องไม่ว่างสลับกันเรา ก็ใช้วิธีว่าใครว่างก็ทำแล้วแบ่งหน้าที่กันเหมือนทุกคนๆทำแทนกันได้ค่ะ ก็เต็มใจทำค่ะเหมือนจิตอาสาเราก็ทำมานานแล้ว เสาร์อาทิตย์ก็แทบไม่ได้หยุด เรียนเยอะแต่ก็แบ่งเวลาเล่นบ้าง เวลาคุยงาน ส่วนใหญ่ก็ใช้การโทรคุยกันเพราะไม่ค่อยเจอกัน จะเจอกันก็วันงานเลย คุยกันว่าว่างวันไหนเอาไงก็ตกลงกันได้เลย เราก็บอกคร่าวๆ ว่างานนี้ต้องทำแบบนี้นะทุกคนก็เข้าใจได้เพราะทำกันมานานแล้วอย่างหนูก็ไม่ค่อยมีเวลาให้เพื่อน ก็เรียนเต็มวันไปเลยตั้งแต่ 8.00 น. ถึง 2 ทุ่ม เพื่อให้มีวันว่าง” นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการถอดบทเรียนของบิ๊ว


มากไปกว่านั้น บิ๊ว ได้เรียนรู้โลกแห่งความจริงที่แตกต่างไปจากความฝันและสิ่งที่ตัวเองคิดเชื่อมาตลอด เพราะเดิมเชื่อว่าภาครัฐจะสนับสนุนให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ อย่าไปใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งจะทำให้ส่งผลต่อดิน เพราะปุ๋ยเคมีมีส่วนผสมของหินอยู่ด้วย หากเทลงไปในดินมากๆ จะเกิดเป็นหินปูนปกคลุมหน้าดิน “แต่จากการทำโครงการนี้ หนูต้องเข้าไปประสานงานกับกรมที่ดิน ทำให้หนูแปลกใจมากที่เขาสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งหนูเองก็งงและเพิ่งรู้ว่าเขาส่งเสริมแบบนี้”


สำหรับ เมย์ (อุมาภรณ์ หอมเกสร) แกนนำอีกคนหนึ่งเล่าถึงการบริหารจัดการเรียนของตัวเองกับกิจกรรมให้ไปด้วยกันได้ว่า “เมย์ก็เรียนในห้อง บางทีอาจจะไม่ได้เนื้อหาที่ชัด เลยชอบเรียนพิเศษค่ะ โดยจันทร์ถึงศุกร์ก็จะทำการบ้านตอนเย็น แล้วคุยเรื่องงานในกลุ่มไปด้วย เวลานัดน้อง คือ นัดไว้ก่อนล่วงหน้าหลายๆอาทิตย์ โดย 2-3 วันก่อนงานเราก็จะนัดหมายอีกให้ชัด แต่ก็มีที่ไม่มาเหมือนกัน ก็ทำเท่าที่ทำได้ค่ะ”


กลอย (ปิยธิดา อ่ำทอง) เมื่อเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิด มุมมอง และทัศนคติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม มิใช่เพียงการดูแลดิน แต่รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันอีกด้วย ผลการเปลี่ยนแปลงทั้งมิติวิธีคิด สังคมที่กว้างขึ้นกว่าเดิม “จุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มเข้ามาสมาคมกับเพื่อน เพราะตอนทำโครงการต้องพาน้องๆ เข้าไปพูดคุยกับเกษตรกร ถ้าเราไม่เป็นคนพูด หรือเข้าไปพูดกับน้องก่อนเราก็จะไม่สนิทกันการทำงานก็จะไม่ราบรื่น อีกทั้งถ้าเราอยากรู้จักเพื่อนใหม่ๆ แล้วไม่เปิดใจไปพูดกับเพื่อนคนอื่นก่อน หรือทั้งสองคนไม่กล้าพูดกันเราก็ไม่มีทางรู้จักกัน ซึ่งแนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นตอนเข้าร่วมกิจกรรมและเข้าค่าย”


เสียงสะท้อนจากเยาวชน...ความหวังต่อไป


ถึงแม้โครงการจะจบลงแต่กลุ่มเยาวชนรักษ์ส้มรังสิตยังมีความคิดที่จะทำโครงการต่อ “หนูอยากทำต่อ แต่ต้องมานั่งคุยกันอีกทีเพราะหนูคิดว่าทำคนเดียวไม่ได้ ให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษากลุ่ม เนื่องจากหนูอยากให้เกษตรกรที่ทำสวนเข้ามาเรียนรู้กับพวกหนูว่าสิ่งที่พวกหนูทำเป็นประโยชน์กับเกษตรกรเอง และอยากให้น้องๆมีความรู้ ส่วนพี่ๆก็คอยให้คำปรึกษาน้องๆรุ่นต่อไป” น้ำมน สะท้อนให้ฟัง ซึ่งสอดคล้องกับ ปลื้ม ที่ว่า “อยากพัฒนาโครงการต่อ ถ้าเราไม่อนุรักษ์ ดูแลดิน ก็จะมีผลต่อผลไม้ที่ปลูกด้วย” ส่วน บิ๊ว อยากจะฝากไปถึงหน่วยงานภาครัฐว่า อยากให้ภาครัฐรณรงค์ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพดีกว่าปุ๋ยเคมี”


บทส่งท้าย

จากโครงงานที่มองแต่ “ส้มรังสิตหายไป” มาเป็นโครงการที่มุ่งเน้นไปปรับปรุง พัฒนาผืนดินอันเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวสวนคลองรังสิต พัฒนากระบวนการคิดที่เป็นระบบ มีการเชื่อมโยงกัน และพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กกับเด็ก ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ระหว่างครูกับเด็กนักเรียน ของกลุ่มรักษ์ส้มรังสิต “ตอนแรกหนูเข้ามาเพราะต้องทำโครงงานส่ง พอทำยิ่งได้เรียนรู้ ทำแล้วสนุก ได้ทำหลายอย่างที่เราไม่เคยทำ ได้เอาความรู้ใส่หัว ได้ทำงานร่วมกันเพื่อน หนูอยากให้รุ่นน้องเข้ามาทำตรงนี้ด้วยเพราะมันเป็นประโยชน์” น้ำมน กล่าวทิ้งท้าย

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ