กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
สรุปผลโครงการหินก้อนเดียว
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โครงการหินก้อนเดียว


เครือข่ายเยาวชนชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน


“ปัจจุบันพลับพลึงธารมีเฉพาะในคลองสายนี้ ในจังหวัดพังงามีเหลือแค่ 2 หมู่บ้าน” เสียงของเด็กและคนในชุมชน


พลับพลึงธาร คุณค่ามากกว่าความงาม

พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ เป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้แห่งเดียวในโลก และอยู่ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) โดยจะพบเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดระนองตอนล่างและพังงาตอนบนเท่านั้น พลับพลึงธารมีดอกสวยงาม เป็นพืชที่มีใบแบนยาวไหลไปตามกระแสน้ำ เหมาะที่จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ที่หลบภัย และวางไข่ของสัตว์น้ำนานาชนิด ในบริเวณที่มีพลับพลึงธารขึ้นอย่างหนาแน่นจะช่วยลดความแรงของกระแสน้ำได้ รวมทั้งเป็นที่ดักตะกอน ทำให้น้ำมีความใสสะอาด ส่วนดอกของพลับพลึงธารเป็นแหล่งอาหารของเหล่าแมลงต่างๆและมนุษย์ก็ใช้ประโยชน์จากพลับพลึงธารได้ อาทิ นำไปเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงผิว เป็นพืชน้ำส่งออกราคาแพง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


ในอดีตตามแม่น้ำ ลำคลองในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จะเห็นพลับพลึงธารเติบโตสวยงาม ตามสายคลองตั้งแต่หมู่ที่ 6 (บ้านห้วยทรัพย์) ยาวไปถึงหมู่ที่ 11 (บ้านแสงธรรม) แต่ปัจจุบันพลับพลึงธารมีจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วงและมีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งพบเหลือเพียง 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 6 (บ้านห้วยทรัพย์) และหมู่ที่ 7 (บ้านบางซอย) เท่านั้น สาเหตุของการลดลงของพลับพลึงธาร เช่น ขุดหัวพลับพลึงธารเพื่อขายทั้งในและต่างประเทศ การขุดลอกคลอง การขุดหินและทรายตามพื้นคลองเพื่อไปใช้ประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ดินริมฝั่งคลองโดยเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรดั้งเดิมมาเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันที่อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำไหลแรงและเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และเมื่อเกิดอุทกภัย น้ำที่ไหลแรงก็พัดพลับพลึงธารให้หลุดไปตามกระแสน้ำด้วย ทำให้พลับพลึงธารหายไปจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว ชาวบ้านในตำบลคุระเห็นว่าพลับพลึงธารเป็นพืชที่มีเฉพาะท้องถิ่นของตนจึงรวมตัวช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ไว้

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

โครงการหินก้อนเดียว


เครือข่ายเยาวชนชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน


 “ปัจจุบันพลับพลึงธารมีเฉพาะในคลองสายนี้ ในจังหวัดพังงามีเหลือแค่ 2 หมู่บ้าน” เสียงของเด็กและคนในชุมชน


พลับพลึงธาร คุณค่ามากกว่าความงาม

พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ เป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้แห่งเดียวในโลก และอยู่ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) โดยจะพบเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดระนองตอนล่างและพังงาตอนบนเท่านั้น พลับพลึงธารมีดอกสวยงาม เป็นพืชที่มีใบแบนยาวไหลไปตามกระแสน้ำ เหมาะที่จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ที่หลบภัย และวางไข่ของสัตว์น้ำนานาชนิด ในบริเวณที่มีพลับพลึงธารขึ้นอย่างหนาแน่นจะช่วยลดความแรงของกระแสน้ำได้ รวมทั้งเป็นที่ดักตะกอน ทำให้น้ำมีความใสสะอาด ส่วนดอกของพลับพลึงธารเป็นแหล่งอาหารของเหล่าแมลงต่างๆและมนุษย์ก็ใช้ประโยชน์จากพลับพลึงธารได้ อาทิ นำไปเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงผิว เป็นพืชน้ำส่งออกราคาแพง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


ในอดีตตามแม่น้ำ ลำคลองในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จะเห็นพลับพลึงธารเติบโตสวยงาม ตามสายคลองตั้งแต่หมู่ที่ 6 (บ้านห้วยทรัพย์) ยาวไปถึงหมู่ที่ 11 (บ้านแสงธรรม) แต่ปัจจุบันพลับพลึงธารมีจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วงและมีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งพบเหลือเพียง 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 6 (บ้านห้วยทรัพย์) และหมู่ที่ 7 (บ้านบางซอย) เท่านั้น สาเหตุของการลดลงของพลับพลึงธาร เช่น ขุดหัวพลับพลึงธารเพื่อขายทั้งในและต่างประเทศ การขุดลอกคลอง การขุดหินและทรายตามพื้นคลองเพื่อไปใช้ประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ดินริมฝั่งคลองโดยเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรดั้งเดิมมาเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันที่อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำไหลแรงและเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และเมื่อเกิดอุทกภัย น้ำที่ไหลแรงก็พัดพลับพลึงธารให้หลุดไปตามกระแสน้ำด้วย ทำให้พลับพลึงธารหายไปจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว ชาวบ้านในตำบลคุระเห็นว่าพลับพลึงธารเป็นพืชที่มีเฉพาะท้องถิ่นของตนจึงรวมตัวช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ไว้


เยาวชนคือกำลังสำคัญ

“คลองนางย่อน” สายน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านบางซอย ตำบลคุระ ต้องประสบปัญหาจากการขุดลอกคลองและการเสี่ยงต่อการหายไปของพลับพลึงธารเช่นกัน กลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านบางซอยจึงได้ร่วมทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงของคลองนางย่อนและทดลองทำการอนุบาลพลับพลึงธารร่วมกันกับกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดยการสนับสนุนจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่คุระบุรี ซึ่ง ฟ้า (น.ส.สุธารัตน์ พรมเกิด) หนึ่งในแกนนำเยาวชนก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนั้นด้วย


การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นทำให้เด็กๆเห็นและรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นฟ้าและเพื่อนๆในหมู่บ้านบางซอยก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ด จากการชักชวนของพี่ๆในกลุ่มอันดามันดิสคัฟเวอร์รี่ และ IUCU ในนาม “เครือข่ายเยาวชนชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.พังงา” จากการหล่อหลอมบวกกับประสบการณ์ที่เคยทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมกับเพื่อนๆในเครือข่ายทำให้ฟ้ามีความมั่นใจอยากทำโครงการที่บ้านของตนเองบ้าง (หมู่บ้านบางซอย อ.คุระบุรี จ.พังงา) จุดเริ่มต้นของเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นแล้ว ฟ้าตั้งใจว่า “จะต้องดูแลพลับพลึงธารที่บ้านเกิดของเธอให้ได้”


“หินก้อนเดียว” จุดเริ่มต้นโครงการ

จากความประทับใจแนวคิดของคุณอาชำนิ ผู้ดูแลพลับพลึงธาร ในคลองนาคา จังหวัดระนอง เคยกล่าวว่า “หินก้อนเดียวใต้ต้นไม้ใหญ่ยังหลุดไปกับกระแสน้ำได้ และถ้าเกิดขนกันเป็นรถสิบล้อจะเกิดอะไรขึ้น” คำพูดนี้ปลุกให้ฟ้าลุกขึ้นมา อยากช่วยให้แม่น้ำของชุมชนดีขึ้น อยากดูแลพลับพลึงธารเสมือนหินหนึ่งก้อนนั้น ความประทับนี้จึงกลายเป็นโครงการ “หินก้อนเดียว”


การทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาทางเครือข่ายเยาวชนชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.พังงา ไม่ได้เชื่อมต่อกับเยาวชนหมู่บ้านอื่นมากนัก โครงการหินก้อนเดียว จึงเกิดแนวคิดว่าอยากทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ในการเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศคลองนางย่อนและช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูพลับพลึงธารในท้องถิ่นของเขาเอง รวมทั้งให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าของพลับพลึงธาร ซึ่งพลับพลึงธารเป็นพืชน้ำที่ เติบโตในแหล่งน้ำสะอาด การรักษาและดูแลพลับพลึงธารก็ต้องดูแลแม่น้ำลำคลองด้วย


แต่เนื่องจากเด็กในบ้านบางซอยยังเล็กอยู่ เด็กที่รุ่นราวคราวเดียวกับฟ้าก็ไปเรียนต่างพื้นที่กันหมด ฟ้าจึงชวนเพื่อนๆที่วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่ามาเป็นแกนนำเยาวชนช่วยกันทำโครงการฯ เมย์ (วัชราภรณ์ การคลอด) สมาชิกหินก้อนเดียวเล่าว่า “ฟ้ามาเล่าให้ฟังว่ามีพลับพลึงธารที่อำเภอคุระบุรีจะสูญพันธุ์จากการขุดลอกคลอง ก็เลยเกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมขยายพันธุ์พลับพลึงธารให้อยู่ไปนานๆ จึงมาร่วมเป็นแกนนำเยาวชนในโครงการหินก้อนเดียว”


เก็บเมล็ด เพาะ ขยายพันธุ์พลับพลึงธาร


“เมื่อเริ่มลงแรง ก็ไม่ได้สำเร็จเสมอไป”

การเริ่มต้นของการดูแลและขยายพันธุ์พลับพลึงธารเกิดขึ้นเมื่อแกนนำเยาวชนชักชวนเยาวชนบ้านบางซอยมาได้ 8 คน ช่วยกันลงมือเก็บเมล็ดพันธุ์บริเวณคลองตาเลื่อนเพื่อที่จะนำเมล็ดพันธุ์มาอนุบาล เด็กๆ ลงมือเก็บเมล็ดที่ตัวเองเจอโดยไม่มีความรู้มาก่อนว่า ควรเก็บเมล็ดลักษณะใด แต่เมื่อเห็นว่าเป็นเมล็ดก็เก็บมาตามจำนวนที่ประมาณกันเอาไว้


การเก็บเมล็ดครั้งนี้ทำให้เยาวชนรู้ว่า มีเมล็ดที่อ่อน – แก่แตกต่างกัน บางเมล็ดก็เน่าเสียไปบ้าง เพราะไม่ได้มีการให้ความรู้กับน้องๆก่อนทำให้หลายเมล็ดที่เก็บมาใช้ไม่ได้ นี้จึงเป็นบทเรียนแรกที่กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้ว่าต้องมีการวางแผน การให้ความรู้ และการเก็บเมล็ดต้องดูให้ดีว่าเมล็ดแก่หรืออ่อน การทำงานไม่ได้หมายความว่าต้องสำเร็จทั้งหมดแต่เด็กๆกำลังเริ่มต้นที่จะเรียนรู้การทำงานไปด้วยกันจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้


ทดลองปลูกแบบใช้อวน


“เลือกปลูกแบบอวน เพื่อจะได้ใส่เมล็ดพันธุ์ได้จำนวนมาก”

เมื่อเก็บเมล็ดพันธุ์มาได้แล้วก็นำมาเพาะซึ่งก็ต้องหาอุปกรณ์มายึดเมล็ดเอาไว้ เวลาปลูกกับลำห้วยจะได้มีสิ่งช่วยยึดปลูกเอาไว้ เด็กๆ มีผู้ใหญ่ใจดีมาช่วยอย่างพี่จรัส ลุงผู้ใหญ่บ้าน น้าผู้ช่วยอบต. และแม่ของฟ้าเอง มาให้ความรู้และแนะนำว่าถ้าใช้วิธีปลูกโดยใช้อวนจะทำให้ลงปลูกได้พร้อมๆกันหลายเมล็ด


อวนขนาด 20 x 20 ซม. ถูกตัดวางเรียงรายอยู่เต็มหน้าบ้านของฟ้า โดยอวน 1 แผง ใช้เมล็ดพลับพลึงธาร 9 เมล็ด ฟ้าและเพื่อนๆตัดอวนได้ทั้งหมด 95 แผง รวมแล้วสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์พลับพลึงธารได้ 855 เมล็ด เมื่อเมล็ดเริ่มแตกรากเล็กๆก็จะยึดเกาะกับอวนไว้ จากนั้นจะนำไปทดลองปลูกในแหล่งน้ำต่อไป โดยเด็กๆได้เลือกพื้นที่ปลูกบริเวณคลองตาเลื่อน (หมู่ที่ 7) เนื่องจากพื้นที่นี้ยังคงมีต้นพลับพลึงธารขึ้นอยู่


กลุ่มเยาวชนดำเนินโครงการมาได้ระยะหนึ่ง นายอำเภอคุระบุรีเห็นว่าน้องๆมาช่วยกันดูแลอนุบาลเมล็ดพันธุ์และลงปลูกพลับพลึงธาร นายอำเภอจึงมองว่าการดูแลพลับพลึงธารเป็นเรื่องของส่วนรวม จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วยเพราะอยากให้ทุกคนหวงแหนพลับพลึงธาร อีกทั้งยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ วันที่ 4 ธันวาคม 255 จึงจัดกิจกรรม “สร้างบ้านสร้างชีวิตพลับพลึงธาร” ขึ้น บริเวณคลองห้วยทรัพย์ (หมู่ที่ 6) กิจกรรมดำเนินไปอย่างสนุกสนานทั้งชาวบ้าน ข้าราชการและหน่วยงานในพื้นที่ต่างก็มาช่วยกัน ครั้งนี้เด็กๆนำอวนเพาะพลับพลึงธารไปปลูกจำนวน 60 แผง


ร่วมแรง แลกเปลี่ยน เรียนรู้

อีก 1 เดือนต่อมากลุ่มเยาวชนได้จัดกิจกรรมปลูกพลับพลึงธารที่คลองตาเลื่อน (หมู่ที่ 7) แต่ครั้งนี้ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้และเทคนิคการฟื้นฟูพลับพลึงธารในอำเภอคุระบุรีด้วย ฟ้าได้ติดต่อผู้มีความรู้เกี่ยวกับพลับพลึงธารหลายท่านในอำเภอคุระบุรี กลุ่มผู้ใหญ่รวมถึงกลุ่มเยาวชนที่สนใจ โดยการสนับสนุนจากอำเภอคุระบุรี


กิจกรรมจัดขึ้นวันที่ 5 มกราคม 2556 ที่โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม มีคนสนใจเข้าร่วมถึง 50 คน ประกอบด้วย นายอำเภอ ปลัดอำเภอ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 แกนนำเยาวชนโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม กลุ่มอนุรักษ์ดินและน้ำบ้านบางซอยและกลุ่มเด็กปั่นจักรยานครูชาลี โดยเนื้อหาในการอบรม ได้พูดถึงเทคนิคและการฟื้นฟูแบบต่างๆ และให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันในการอนุรักษ์พลับพลึงธารในท้องถิ่นของตน


นอกจากได้ความรู้แล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมยังได้ร่วมลงแรงในการปรับภูมิทัศน์ที่บริเวณคลองตาเลื่อน โดยการตัดกิ่งไม้ที่บังแสงไม่ให้ส่องถึงลำน้ำ ถางหญ้าที่ขึ้นอยู่ริมคลอง แต่ลงแรงแบบไม่มีการวางแผนเกิดขึ้นอีกครั้ง ทุกคนตั้งใจลงไปทำงานโดยไม่ได้แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาน้ำในคลองขุ่น และเกรงว่าจะถูกพลับพลึงธารที่มีอยู่แล้ว บทเรียนนี้น้องฟ้าเล่าว่า “การที่คนลงไปในลำคลองเยอะๆ พร้อมกัน เพราะคิดแค่ว่าจะช่วยกัน แต่ไม่ได้นึกถึงว่า เวลาที่คนลงไปมากๆ จะลงไปทำอันตรายกับพลับพลึงธารที่มีอยู่ด้วย คราวหน้าจะต้องระมัดระวังมากกว่านี้” บทเรียนที่ฟ้าได้เรียนรู้ในการทำงานหากมีการแบ่งหน้าที่กันหรือคิดให้รอบครอบกว่านี้ งานก็จะสำเร็จโดยง่ายและไม่เป็นการทำลายธรรมชาติอย่างไม่ตั้งใจด้วย


เมื่อถึงเวลาเอาอวนลงปลูกในดินหลังจากการปรับภูมิทัศน์ที่ลำคลองแล้ว ทุกคนถูกแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจนเพื่อให้การทำงานไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังอนุรักษ์อยู่ และการแบ่งงานนี้ก็สำเร็จไปได้ด้วยดี


การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างทันที ทำให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตรงหน้าโดยไม่ต้องรอบทสรุปใดใด การแบ่งหน้าที่เกิดขึ้น หลังจากที่เห็นว่าการลงน้ำไปช่วยกันทำงานโดยไม่แบ่งงาน และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้น้ำขุ่นและเหยียบพลับพลึงธารที่มีอยู่ การเรียนรู้นี้ถูกปรับทันทีเช่นกัน ทีมงานและผู้เข้าร่วมงาน ถูกปรับการทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อให้งานประสบผลสำเร็จและไม่ทำลายพลับพลึงธารที่เรากำลังรักษาด้วย ในปรับแต่งภูมิทัศน์และการวางอวนครั้งนี้ ได้ข้อเตือนใจในการทำงานสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างหนึ่ง ว่าการคิดดีและมีแรงร่วมกำลัง ก็อาจจะนำผลเสียไปสู่สิ่งนั้นได้ หากไม่ไตร่ตรองวางแผนให้ถ้วนถี่


เฝ้าติดตามความเติบโต

เมล็ดพลับพลึงธารลงสู่พื้นดินที่คลองตาเลื่อนและคลองห้วยทรัพย์แล้ว ทุกๆเดือน ฟ้ากับเพื่อนๆ เป็นผู้ติดตามการเจริญเติบโตของพลับพลึงธาร โดยการตรวจแผงอวนที่ลงไปวาง นับจำนวนเมล็ดที่ยังเจริญเติบโต พบว่ามีบางเมล็ดที่แห้งตายหรือบางเมล็ดได้หลุดหายไปบ้าง บางแผงอวนแห้งตายทั้งแผงเพราะปลูกบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง (นำไปปลูกในพื้นที่ที่เป็นน้ำนิ่งๆไม่มีน้ำไหลผ่าน หรืออยู่บนฝั่งคลองมากเกินไป) บางแผงอวนหายไปหาไม่เจอมาจากสาเหตุ เช่น น้ำพัดหายไป ดินทรายบริเวณนั้นไหลมาทับทมแผงอวนเอาไว้ และในช่วงฝนตกหนัก น้ำท่วมสูงไม่สามารถลงไปในคลองเพื่อติดตามดูต้นพลับพลึงธารได้เลย


สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ยังอยู่ฟ้าและเพื่อนๆเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของพลับพลึงธารโดยการวัดความยาว จำนวนของใบพลับพลึงธาร และจดจำนวนเมล็ดที่เหลือในแต่ละแผงอวน โดยผลของการติดตามการเจริญเติบโตของแต่เมล็ดไม่เท่ากัน เนื่องจากความอ่อน – แก่ของเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่แรกเก็บ


จากกิจกรรมนี้ ฟ้าและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้การปลูกพลับพลึงธารโดยเฝ้าดูอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดของเมล็ด ซึ่งก็พบว่า ในพื้นที่บางพื้นที่อัตราการรอดต่ำเพราะเมื่อตอนปลูกมีน้ำ แต่เมื่อเวลาน้ำลดลง น้ำจะท่วมไม่ถึงในพื้นที่ปลูกก็แห้งตายหรือไม่ก็เป็นอาหารของมด การเฝ้าดูแผงอวนที่มีจำนวนน้อยลงอาจจะทำให้ท้อไปบาง แต่อัตราการรอดส่วนใหญ่ของพลับพลึงธารก็เป็นกำลังใจในการเฝ้าดูและติดตามของฟ้าและเพื่อนอยู่เสมอ เด็กๆหวังว่าแผงอวนที่วางไปจะช่วยเพิ่มจำนวนพลับพลึงธารในคลองสองแห่งนี้ได้


“จะต้องเข้าใจธรรมชาติ และใช้หลักการจัดระบบนิเวศลุ่มน้ำ เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่ของพลับพลึงธาร”


ก่อนจะทำโครงการกลุ่มเยาวชนไม่ได้มีความรู้เรื่องการฟื้นฟูพลับพลึงธารที่แท้จริง จึงเลือกที่จะทดลองปลูกตามคำบอกของผู้ใหญ่ และเมื่อทำไปๆความรู้ต่างๆ ก็อยู่กับตัวเด็กเองทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น รู้จักพื้นที่ที่เหมาะสมในการฟื้นฟูพลับพลึงธารว่าต้องเป็นที่ที่มีน้ำไหล น้ำสะอาด ดินที่ปลูกเป็นดินปนทรายและด้านล่างมีหิน เพื่อให้รากพลับพลึงธารเกาะยึด


ส่วนการขุดลองคลอง เมื่อก่อนก็เข้าใจว่าการขุดลอกคลองเป็นสิ่งที่ดี ทำให้น้ำไหลสะดวก ไม่ก่อปัญหาน้ำท่วมในชุมชน แต่พอได้ศึกษาก็พบว่าการขุดคลองเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่งและหันกลับมาช่วยชาวบ้านต้านการขุดคลอง เพื่อรักษาระบบนิเวศเอาไว้คงเดิม ให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น และได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกว่า พลับพลึงธารไม่ได้หายไปจากการขุดลอกคลองเพียงอย่างเดียว มีหลายเหตุหลายปัจจัยในการที่ทำให้พลับพลึงธารลดน้อยลง นั้นก็คือ การที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงทำให้มีน้ำป่าไหลหลาก จากน้ำที่เคยไหลเอื่อยๆ ก็ไหลแรงพัดเอาพลับพลึงธารหลุดไป บางครั้งก็ท่วมขังอยู่นาน น้ำกลายเป็นน้ำที่ไม่สะอาด พลับพลึงธารก็ไม่รอด


“มีหัวใจเข้มแข็ง ร่าเริง สนุกกับงาน แต่บางครั้งก็เครียดที่งานไม่บรรลุเป้าหมาย”


ไม่ใช่แค่เพียงพลับพลึงธารเท่านั้นที่กลุ่มเยาวชนเฝ้าดูการเติบโต แต่พวกเขายังเห็นวิธีการทำงานของพวกเขาเองที่ต้องสละเวลามาทำโครงการฯ ต้องชักชวนเพื่อนๆ มาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเขาประเมินโครงการฯด้วยตัวเอง พวกเขากลับรู้สึกว่า โครงการที่ทำได้ผลไม่บรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ตัวเองไม่รู้จักแบ่งเวลาให้กับงานโครงการ ทำให้รู้สึกทำงานไม่เต็มทีผลสำเร็จจึงไม่เต็มที่ด้วย


แต่โครงการหินก้อนเดียวในสายตาของผู้ใหญ่หลายๆคน ก็ดูประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ความกล้าแสดงออกและความกล้าที่จะเข้าไปปรึกษาปัญหากับคนในชุมชน ผู้ใหญ่ทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และหน่วยงานอื่นๆ ทำให้ได้รับความร่วมมือและช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการหินก้อนเดียวเสมอ นี้จึงเป็นแรงหนุนเสริมที่ดีในชุมชนเพราะไม่เพียงแต่จะให้โครงการสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ยังจะทำให้เห็นพลังสามัคคีของอำเภอคุระบุรีและเป็นแรงใจในการทำงานต่อไปของโครงการอีกด้วย


ถึงแม้ว่าการทำงานที่สนุกและเกิดท้อแท้กลางทาง แต่ก็สามารถเติบเต็มหัวใจที่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเด็กๆได้ หลังจากเสร็จโครงการฯเด็กๆหลายคนต้องขอหยุดพักเพื่อการเรียนต่อ แต่ฟ้าก็ยังหวังที่จะทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเด็กและเยาวชนต่อไปเพราะคุณค่าจากการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ควรบอกต่อๆ กันไป


แกนนำเครือข่ายเยาวชนชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

­

น.ส.สุธารัตน์ พรมเกิด (ฟ้า)

ศึกษา ปวช. สายการโรงแรม วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า


“ตอนเป็นเด็กๆ เคยทำกิจกรรมกับพี่ๆ ในชุมชนบ้านบางซอย ได้ทำการสำรวจ

พลับพลึงธาร ต้นอ้อลิง การตรวจวัดคุณภาพน้ำ วัดกระแสน้ำ

พอบอกว่าจะมีการทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็อยากจะทำเรื่องพลับพลึงธารที่เรา

พอมีความรู้อยู่บ้างแล้ว ดีใจที่ได้ทำเรื่องที่อยากทำ”


หลังจากทำโครงการแล้ว ฟ้าบอกว่า “ความรู้เกี่ยวกับพลับพลึงธารไม่ค่อยแตกต่างมากนักทั้งก่อนและหลังทำโครงการเนื่องจากเคยร่วมทำกิจกรรมฟื้นฟูพลับพลึงธารกับกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน แต่สิ่งที่ได้คือทักษะการเก็บข้อมูลและประเมินผลการเติบโต ทำให้เรารู้จักคิด รู้จักการวางแผนและแบ่งเวลา เพราะว่าเราต้องเรียนและฝึกงานด้วยเราจึงต้องจัดสรรเวลาให้ดี”


ความสำเร็จในการทำโครงการนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความสามารถในการประสานงานของน้องฟ้าเอง ทั้งที่ตัวฟ้าเองบอกว่าไม่มีประสบการณ์และไม่กล้าพูดคุยกับใคร แต่เมื่อน้องฟ้าได้ทำงานโครงการหินก้อนเดียวทำให้ฟ้าได้เห็นว่า “เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในการพูดคุยการอยู่ร่วมกับคนที่หลากหลาย” หลังจากทำโครงการฯจึงสามารถติดต่อประสานงานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นได้ เช่น อำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กล้าคุย ปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่างๆ


ฟ้าสะท้อนถึงประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนว่า “เมื่อก่อนคิดว่าเรื่องการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวมาก ตอนนี้มีความรู้สึกว่าเราเองก็มีส่วนร่วม การทำงานอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องมีแนวร่วม ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ฟ้าอยากให้เด็กๆในหมู่บ้าน เยาวชนรุ่นหลังๆ เห็นคุณค่าของพลับพลึงธารมากกว่านี้ จะได้ช่วยกันออกมารักษาให้พลับพลึงธาร พืชที่มีคุณค่าในท้องถิ่นของเราให้ยังคงอยู่ต่อไป”




วัชราภรณ์ การคลอด (เมย์) ศึกษา ปวช. สายการโรงแรม วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า


“แค่ฟ้าไปชวน เมย์ก็สนใจอยากจะช่วยดูแลพลับพลึงธารกับฟ้าด้วย”


“จากการร่วมทำโครงการทำให้ได้ความรู้มากขึ้นว่า พลับพลึงธารมีความสำคัญขนาดไหน ได้เข้าไปสัมผัส เข้าไปดู เข้าไปติดตาม พลับพลึงธารมีความสำคัญกับชุมชนมาก เข้าไปร่วมเพาะและขยายพันธุ์พลับพลึงธาร นอกจากยังมีความมั่นใจที่จะกล้าบอกเล่าเรื่องพลับพลึงธารให้คนอื่นๆ ฟังด้วย” จากการลงมือทำได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างความมั่นใจให้กับเมย์และเพื่อนๆ อยากบอกเล่าเรื่องราวของพลับพลึงธารให้คนอื่นๆ รับรู้อีกด้วย


พี่เลี้ยงโครงการ


น.ส. เพชรรุ่ง สุขพงษ์ (เอ)

นักปฏิบัติการอิสระ เรื่องสิ่งแวดล้อม วิจัยการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง หญ้าทะเล และปะการัง


ทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาทางทะเลกับเยาวชนและพื้นทางภาคใต้ ประสานงานและรวมกลุ่มเครือข่ายเยาวชนชายฝั่ง เห็นว่าฟ้ามีศักยภาพน่าจะทำงานได้เลยชวนให้เขาได้ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมของชุมชนเขาเอง เพราะอยากสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกิจกรรมและสนับสนุนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์


พี่เลี้ยงโครงการหินก้อนเดียว ได้เห็นปัญหาการทำงานและบอกถึง มุมมองการทำงานในโครงการนี้ ว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของ “คน” วิธีการทำงานของเราไม่ได้มองแยกว่าเด็ก, ผู้ใหญ่, คนแก่ ดังนั้นการทำงานกับน้องฟ้าเราจะมองว่าเขาเป็นคนไม่ใช่เด็ก เราให้เกียรติกัน ทำงานเป็นทีม เรียนรู้ด้วยกัน แต่ก็ต้องฝึกเรื่อง “ความรับผิดชอบ” และการคิดนอกกรอบ ให้กับน้องฟ้าเยอะเหมือนกัน เราให้น้องฟ้าเรียนรู้เอง จากการทำโครงการหินก้อนเดียวแต่สรุปบทเรียนกันเป็นครั้งคราว น้องฟ้าไม่มีกลุ่ม ไม่มีทีมอย่างแท้จริง เพราะเกิดจากฟ้ารวมตัวเพื่อนที่โรงเรียน ที่สนใจ เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องคาดหวังกับการทำงานเป็นกลุ่มแบบจริงจัง แต่เราก็พยายามให้กำลังใจฟ้า ว่าถ้าไม่มีเพื่อนช่วยเราเลย แล้วเราสามารถทำโครงการนี้ได้ไหม? ยังอยากทำไหม? ท้อแท้ไหม? ให้น้องฟ้าคิดทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเราเปลี่ยนบทบาทตัวเองจาก “พี่เลี้ยง” เป็น “แรงงาน” ให้น้องฟ้าได้เรียกใช้เป็นครั้งคราว แต่เราก็ไม่ได้มีเวลาให้ฟ้าเท่าที่ควรจะเป็น ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ฟ้าทำได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้าฟ้าผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ ก็จะแกร่งและคิดเป็น”


ความสำเร็จและความล้มเหลวอยู่ใกล้กันนิดเดียว โครงการหินก้อนเดียวมีแรงหนุนเสริมจากผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน หากแต่เยาวชน จะคิดว่า เรื่องใดควรทำเอง เรื่องใดควรขอความช่วยเหลือ งานที่เราเตรียมไว้ก็จะเสร็จได้อย่างง่ายดาย ด้วยพลังของคนในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ