กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเยาวชนและคณะทำงาน
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับคณะอนุกรรมการศึกษาและประเมินรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมาตรการการแก้ไขในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดสงขลา และเครือข่ายพลเมืองสงขลา จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านกรณีศึกษาการพังทลายของหาดสงขลาขึ้น โดยมุ่งหวังว่าห้องเรียนดังกล่าวจะเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้และความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้จากปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ สงขลาฟอรั่ม เด็กและเยาวชนแกนนำที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชน ประชาชนทั่วไปให้มีความตระหนักรู้ เห็นคุณค่าและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสสร้างสรรค์โครงการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อต่อยอดความคิดในการพัฒนาสังคมหรือชุมชนบ้านเกิดของตนเอง รวมทั้งยังเป็นการทดสอบและพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลาในการดำเนินงานครั้งต่อไป

เป้าหมาย


  1. เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา กรณีการพังทลายของหาดสงขลาให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชน
  2. เพื่อสื่อสารสาธารณะกับเครือข่าย เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสงขลาและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา
  3. เพื่อพัฒนาศักยภาพและกระบวนการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มผ่านกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา
  4. เพื่อทดสอบและพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

1. การจัดกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา กรณีการพังทลายของหาดสงขลาให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชน

จากการดำเนินงานเยาวชนที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชนจำนวน 34 คน เป็นเยาวชนแกนนำซึ่งทำกิจกรรมของทางโรงเรียนหรือชุมชนมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งมีจิตอาสาและความรับผิดชอบในการทำงาน สามารถพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่เขาเรียนรู้ได้ครูและผู้นำชุมชนจึงทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนและประสานงานในบางเรื่องที่เยาวชนไม่สามารถทำเองได้เท่านั้นนอกจากนั้นสังเกตุพบว่าในระหว่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ เยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในระยะวัยรุ่นที่มีอายุ 14-17 ปีและเป็นเยาวชนในชุมชนเมือง ไม่ค่อยมีสมาธิในลักษณะการแบ่งกลุ่มย่อยแสดงความคิดเห็นกันมากนัก แต่ในทางกลับกัน การให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ของตนเองมากขึ้นทั้งในช่วงกิจกรรม 6 Station และกิจกรรมการสื่อสารอย่างมีพลัง

การประเมินผลด้วยแบบสอบถามปลายเปิดทั้งก่อน-หลัง การเข้าร่วมกิจกรรมชี้ให้เห็นว่าเยาวชนเกิดการเรียนรู้เรื่องการพังทลายของชายหาดและมีความตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นดังความรู้สึกของเยาวชนคนหนึ่งที่ว่า “ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของหาดทรายที่ยังหลงเหลืออยู่และยังรู้สาเหตุที่เกิดการพังทลายของหาด และจะนำไปเผยแพร่ให้ชุมชนได้รับทราบและตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก”ในด้านทักษะชีวิต เยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้มากนักแต่มีพื้นฐานอยู่บ้าง ดังนี้

  • ทักษะการคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์พอสมควรและสามารถคิดเชื่อมโยงสิ่งที่เขาเรียนรู้กับสังคม/ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ได้เช่นความรู้สึกของเยาวชนที่ว่า “เนื่องจากเป็นคนจังหวัดตรังที่ได้มารับรู้และมองเห็นถึงปัญหาของจังหวัดสงขลาทำให้ย้อนคิดเป็นห่วงบ้านของตนเอง กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับบ้านเรา...”
  • ทักษะด้านความตระหนักรู้ในตนเองและเข้าใจผู้อื่น เยาวชนมีความเข้าใจตนเองระดับหนึ่งคือ สามารถบอกได้ว่าตนเป็นคนเช่นไร มองเห็นข้อดีและข้อเสียของตนเอง แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเขาสามารถเข้าใจผู้อื่นได้อย่างไร
  • ทักษะด้านการจัดการกับอารมณ์และความเครียด เยาวชนสามารถเข้าใจลักษณะการทำงานเป็นทีมที่จะต้องปรับตัวเข้ากับผู้อื่น เคารพความเห็นในเสียงข้างมาก และมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับคนอื่นพอสมควรซึ่งเห็นได้จากผลงานของแต่ละกลุ่มที่ทำออกมาได้สำเร็จทันเวลาและเยาวชนส่วนใหญ่สามารถควบคุมอารมณ์และความเครียดของตนเองได้ดีแม้ว่าจะต้องทำงานในเวลาที่จำกัด
  • ทักษะด้านการสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพเยาวชนยังต้องพัฒนาในด้านนี้พอสมควร เนื่องจากการสื่อสารของพวกเขายังเป็นการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย แต่พวกเขาจะมีวิธีการแก้ปัญหาโดยการขอโทษและปรับความเข้าใจกับเพื่อนและเยาวชนส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นใจในตนเองและไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมใหญ่
  • ทักษะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง เยาวชนรู้ว่าตนเองจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เช่น ไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ ปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นต้นและมีความตระหนักรู้ว่าตนเองจะต้องช่วยสอดส่องดูแลชุมชนและพยายามสื่อสารให้ชุมชน/สังคมเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากตัวเองในการเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวและนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาชุมชนของตนต่อไปซึ่งผลสะท้อนจากการเข้าร่วมกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลกแสดงให้เห็นว่าเยาวชนมีความรับผิดชอบต่อบทบาทที่ตนเองได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี


2. สื่อสารสาธารณะกับเครือข่าย เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสงขลาและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา


จากการจัดนิทรรศการ ณ ถนนคนเดิน วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2555 และการจัดงานแลเล แลหาด ครั้งที่ 2 วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2555 ได้รับความสนใจจากเครือข่ายพอสมควรและอาจมีการต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาอื่นๆในจังหวัดสงขลาต่อไป เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป เดินเข้ามาอ่านและให้ความสนใจกับนิทรรศการของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา และปัญหาหาดพังทลาย ประชาชนบางกลุ่มประมาณ 40-50 คนซักถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการและร่วมฟังการเสวนา กรณีการพังทลายของหาดสงขลา

เยาวชนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ วันที่ 3-5 มิถุนายน พ.ศ.2555 กลับมาร่วมเดินรณรงค์การอนุรักษ์หาดสงขลาในช่วงภาคค่ำเกือบครบทุกคนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีความตั้งใจว่าจะเขียนโครงการเสนอขอทุนเพื่อใช้พัฒนาหรือแก้ปัญหาในชุมชน/สังคมของตน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารกับสาธารณะครั้งนี้สามารถสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ที่สนใจส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมฯ และประชาชนบางกลุ่มที่มีความสนใจและรู้จักกับสงขลาฟอรั่มเป็นทุนเดิม ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบมากขึ้นจึงควรมีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย


3. พัฒนาศักยภาพและกระบวนการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มผ่านกระบวนการเรียนรู้ PBL


การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ วันที่ 31 พ.ค. 2555-1 มิ.ย. พ.ค. 2555 วิทยากรกระบวนการนำโดยรศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์จากคณะเศรษฐศาสตร์มอ.หาดใหญ่ ได้นำกระบวนการ PBL มาจัดกระบวนการเรียนรู้ กรณีการพังทลายของหาดสงขลา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการ PBL เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงการของเยาวชน ทั้งในเรื่องของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้การเตรียมงาน/อุปกรณ์ การประสานงานภายใน/นอก การประเมินผลกิจกรรม และความรับผิดชอบร่วมกันของทีมในโอกาสต่อไปได้

หมายเหตุ: หลังจากเสร็จสิ้นงานแลเล แลหาด ในวันที่ 8 มิย. 55 อาจารย์พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ได้ไปร่วมสัมมนาเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL กับคณะเศรษศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ จึงได้มาสรุปสาระสำคัญและแนวคิดหลักๆ ของเรื่องนี้ให้เจ้าหน้าทีได้เห็นภาพ PBL ชัดขึ้นพร้อมด้วย power point แนะนำหนังสือและเวปไซด์ที่อธิบายเรื่องนี้ด้วย


4. ทดสอบและพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม


แบบประเมินผลที่นำมาใช้แบ่งออกเป็น 3 ตอนคือ ตอนที่ 1 ข้อมูลส่วนตัว ตอนที่ 2 แบบทดสอบความรู้เรื่องทักษะชีวิต และตอนที่ 3 แบบสอบถามด้านพฤติกรรมความเป็นพลเมืองซึ่งใช้วัดทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อทดสอบคุณภาพของแบบประเมินและความเข้าใจของเยาวชนต่อคำถามปลายเปิดตอนที่ 2 และ 3รวมทั้งสิ้น 10 ข้อ ซึ่งปรากฏว่าเยาวชนสามารถตอบแบบประเมินผลได้บางส่วนและยังไม่ค่อยเข้าใจคำถามเท่าที่ควรโดยให้เหตุผลว่ามีข้อคำถามเยอะเกินไป ดังนั้นฝ่ายวิชาการจะดำเนินการปรับปรุงแบบประเมินผลให้มีความกระชับและเข้าใจง่ายขึ้น และใช้แบบประเมินผลดังกล่าวสำหรับวิเคราะห์ผลสำเร็จในภาพรวมของโครงการ

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ