กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
หนึ่งโรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (สร้างสรรค์งานศิลป์)
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

              หนึ่งโรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (สร้างสรรค์งานศิลป์) คุณธรรมนำความรู้ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ

­

              “แม้เด็กบางคนจะเรียนไม่เก่ง แต่เราสามารถสร้างให้เขาเป็นคนดีและหาเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต การเรียนวิชาการไม่เก่ง ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
เป็นหน้าที่ของครูที่จะสอนให้เขาคิดได้ คิดเป็น และสร้างทางเลือกในชีวิตได้” 

­

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้โรงเรียนจึงส่งเสริมการสร้างอาชีพระหว่างเรียนขึ้นผ่านโครงการต่างๆ  เช่น โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (สร้างสรรค์งานศิลป์) คุณธรรมนำความรู้ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ซึ่งมี ครูสมพร  นิสยันต์  เป็นผู้รับผิดชอบ  โดยทำเป็นบริษัทจำลองในลักษณะของการส่งเสริมอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน (สอร.) ฝึกนักเรียนให้สร้างสรรค์งานศิลป์เพื่อจำหน่ายเป็นการหารายได้ระหว่างเรียน  โดยให้นำวัสดุเหลือใช้เป็นวัตถุดิบ ซึ่งนักเรียนที่เข้าโครงการนี้มีทั้งชั้น ม.ต้น และ ม.ปลายที่สนใจงานศิลปะ  เริ่มจากทดลองนำกระดาษที่เหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นการ์ตูนและลายไทยสามมิติออกจำหน่าย

­

ผอ.ทิพวรรณบอกว่า ในขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการจะมีการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนอยู่ตลอดเวลา โดยก่อนลงมือทำนักเรียนจะต้องศึกษาข้อมูลการดำเนินการทั้งหมด พร้อมทั้งเขียนโครงการนำเสนอ จากนั้นจึงจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง จัดทำงานสร้างสรรค์งานศิลป์ในรูปแบบบริษัทจำลอง  พร้อมทำการประเมินผล เช่น ความสำเร็จที่ได้รับตรงตามวัตถุประสงค์ของงานหรือไม่ ซึ่งพบว่านอกจากนักเรียนจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และทักษะในการทำงานศิลปะแล้ว ยังส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกความอดทนและการจัดการ สุดท้ายนักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้ โครงการเช่นนี้จึงทำให้เด็กได้นำหลักปรัชญาของเศรษบกิจพอเพียงไปใช้สร้างความสำเร็จของทีมงาน สร้างสรรค์ผลงานที่ดี นำไปสู่รายได้ที่เป็นผลพลอยได้ของโครงการ

­

“เจี๊ยบ” นางสาวชลธิชา  พุทธิกุล นักเรียนชั้น ม.6/1  เล่าถึงการทำงานในบริษัทจำลองนี้ว่า ตอนอยู่ ม.2 ได้เรียนวิชาการเขียนการ์ตูน เวลาว่างๆ เห็นรุ่นพี่กำลังทำลายไทยกันอยู่ จึงเข้าไปดูและเข้าไปช่วย จนเกิดความคิดกันขึ้นมาว่าน่าจะลองทำเป็นการ์ตูนสามมิติดู จากนั้นก็พากันไปปรึกษากับอาจารย์ที่สอนศิลปะคือ ครูสมพร นิชยันต์  ซึ่งอาจารย์ก็บอกให้ลองทำดู พร้อมกับสอนวิธีการทำการ์ตูนให้เป็นสามมิติ  เพื่อนๆ พี่ๆ ก็ทดลองทำกันจนสำเร็จ ต่อมาจึงร่วมกับรุ่นพี่และเพื่อนๆ ประมาณสิบกว่าคนที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งบริษัท ผลิตศิลป์ จำกัด ขึ้นซึ่งเป็นบริษัทจำลองที่ขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน มีการดำเนินการเหมือนกับบริษัทจริงเกือบทุกอย่าง ทำการ์ตูนและลายไทยสามมิติโดยเฉพาะ  ซึ่งเป็นสินค้าที่มีรูปแบบแปลกใหม่ที่นักเรียนช่วยกันคิดและออกแบบกันเอง มีครูสมพรเป็นที่ปรึกษา   และ “เจี๊ยบ” มีตำแหน่งเป็ ผู้จัดการบริษัท ก่อนจะส่งต่อให้กับรุ่นน้อ ๆ ในปีต่อไปทำหน้าที่แทน

­

เจี๊ยบบอกว่า การทำการ์ตูนและลายไทยสามมิติ มีวัสดุหลักคือ กระดาษจากการรับบริจาค ซึ่งส่วนใหญ่คุณครูในโรงเรียนจะนำกระดาษรายงานที่ใช้แล้วเพียงหน้าเดียวนำมาบริจาคให้ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกระดาษใช้แล้ว ที่แต่เดิมเมื่อครูคัดรายงานที่ดีๆ เก็บไว้แล้ว ก็มักขายไป เมื่อมีโครงการนี้และเห็นผลงานที่เราทำก็เลยนำมาบริจาคให้  แต่ว่าแม้กระดาษจะได้มาฟรี  เราก็ต้องใช้อย่างประหยัด  กระทั่งเศษชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ตัดไปแล้ว ก็ยังสามารถนำมาทำเป็นชิ้นส่วนตัวการ์ตูนได้  ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการสอนเรื่องการประหยัด มัธยัสถ์ไปในตัว สอนให้เห็นคุณค่าของเศษกระดาษทุกชิ้น  เพราะจากเศษกระดาษไร้ค่า ตอนนี้เราสามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้หลายรูปแบบ พร้อมกับพัฒนาฝีมือ คุณภาพผลงาน และรูปแบบที่แปลกใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า 

­

ผลงานการ์ตูนและลายไทยสามมิติจะเน้นการขายตรงให้กับลูกค้าซึ่งก็คือ ผู้ที่มาเยี่ยมชมโรงเรียน มาศึกษาดูงาน หรือมาใช้สถานที่ในโรงเรียน เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการขนส่ง และการตั้งราคาสินค้าก็จะไม่แพง จะเหมาะสมกับคุณภาพของชิ้นงานที่เราตั้งใจทำอย่างประณีตและมีรูปแบบเฉพาะ โดยจะตั้งราคาให้ลงท้ายด้วยเลข 9 เพื่อให้คนมาซื้อมีความรู้สึกว่าไม่แพง  แต่หากนักเรียนในโรงเรียนอยากได้ เราจะสอนให้ทำใช้เอง มากกว่าจะขายให้  เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในผลงานฝีมือของตัวเอง 

­

จากดีไซน์เฉพาะและผลงานที่ประณีตทำให้ผลงานการ์ตูนและลายไทยสามมิติได้รับการตอบรับที่ดี มียอดสั่งซื้อเข้ามาอยู่ตลอดเวลา และบางครั้งมากจนไม่พอจำหน่าย  ต้องมาทำในวันหยุด แต่เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนคณะทำงานจึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ สำหรับรายได้เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว ก็จะนำกำไรมาปันผลให้กับสมาชิก   โดยคนที่เข้ามาเป็นสมาชิก มาจากการสมัครใจ สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง และมีฝีมือที่ดีพอสมควร (เน้นคุณภาพ)  ซึ่งในระยะหลังจะมีน้องๆ สนใจอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยการดำเนินงานของบริษัทที่ต้องเข้มงวดในการฝึกฝนและรับเฉพาะคนที่มีฝีมือและทำได้จริงๆ  เท่านั้น จึงต้องให้น้องๆ ฝึกทำงานไปก่อนจะให้ลงมือจริง ถือเป็นการถ่ายทอดสอนงานจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อช่วยอนุรักษ์งานตรงนี้ไม่ให้สูญหายไป  บริษัทผลิตศิลปะนี้ ปัจจุบันกลายเป็นมรดกตกทอดสร้างการเรียนรู้ให้รุ่นน้องต่อๆ ไป จากรุ่นสู่รุ่น ที่ช่วยกันพัฒนาผลงานและเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานให้งดงาม ซับซ้อนขึ้นจนถึงปัจจุบัน

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงจากงานศิลปะ


“เจี๊ยบ” บอกว่า การทำงานศิลปะสอนอะไรหลายอย่าง อย่างแรกคือการทำงานในรูปแบบบริษัท ที่ต้องทำกับคนจำนวนมากทั้งเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จะช่วยสอนในเรื่องมิติทางสังคม คือ การอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกับผู้อื่น  การบริหารจัดการบริษัท ขั้นตอนการคิด กรรมวิธีการผลิตที่ดีและมีคุณภาพ การทำงานให้ทันต่อเวลา และทันต่อยอดการสั่งซื้อในแต่ละครั้ง ซึ่งครูสมพรย้ำเสมอว่า เวลาทำงานพี่ต้องสอนน้อง เพราะเมื่อพี่ ๆ จบไปแล้วน้อง ๆ จะได้สานงานต่อได้เลย  เวลาทำงานเราจะสอนน้องในหลายๆ เรื่อง  เช่น เรื่องการประหยัด การเห็นคุณค่าของเงิน คุณค่าของกระดาษ   ทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ  และเมื่อทำจนชำนาญแต่ละคนอาจมีเคล็ดลับในการทำของตนเองได้ว่าทำอย่งางไรให้ชิ้นงานออกมาสวย ดูดี และรวดเร็ว  เมื่อได้เคล็ดลับแล้วต้องบอกต่อกับคนอื่น แต่ให้บอกน้องๆ ว่าไม่ให้ยึดติดกับเคล็ดลับที่พี่สอน เพราะเมื่อน้องๆ  นำไปใช้อาจคิดพลิกแพลงจนได้เคล็ดลับใหม่ๆ ที่เป็นของตัวเองขึ้นมาใช้ก็ได้  เป็นการต่อยอดพัฒนาชิ้นงานไปเรื่อย ๆ

­

หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้เรียนรู้จากการทำงานศิลปะนั้นมีหลายอย่าง อาทิ “ความพอประมาณ” ด้านเวลา เช่น เมื่อต้องการทำการ์ตูนตามใบสั่งซื้อ ก็ต้องดูว่าจะทำกี่ตัว ต้องวางขายเมื่อไร ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง  ใช้กระดาษกี่แผ่น มีอุปกรณ์อะไรบ้างที่ต้องซื้อ ใช้ต้นทุนเท่าไหร่  ถ้ากระดาษที่ได้รับบริจาคมาไม่พอ จะใช้กระดาษเพิ่มจากไปไหน  การใช้เทปโฟมสำหรับติดดุนด้านหลังให้นูนเป็นสามมิติ ต้องใช้อย่างพอประมาณ โดยจะตัดเป็นรูปลูกเต๋าเล็กๆ ไม่ให้ใหญ่เกินไป เพราะถ้าใหญ่เกินไปก็จะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะเทปโฟมมีราคาแพง เวลาซื้อจะซื้อม้วนใหญ่ๆ ในช่วงลดราคา ซึ่งช่วยประหยัดได้มากขึ้น

­

การบริหารจัดการ เรื่องเงิน อุปกรณ์ ต้องโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เจี๊ยบยกตัวอย่าง “หลักเหตุและผล” ที่ใช้ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการ์ตูนและลายไทยสามมิติ ที่มีการระดมความคิดกันว่าจะทำอะไรดี  “ป่าน” เพื่อนในบริษัทเสนอว่าน่าจะทำพวงกุญแจ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าทำเป็นพวงกุญแจเล็กๆ ขายอันละ 10 บาท ก็จะขายได้ง่าย เพราะสามารถใช้เป็นของที่ระลึกและของฝากได้ด้วย  แต่น้องอีกคนแย้งว่า การทำพวงกุญแจการ์ตูนสามมิติเล็กๆ นั้นทำได้ยากและต้องใช้เวลามาก หากขายแค่ 10 บาท คงไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป  ซึ่งป่านก็ชี้แจงว่า การทำพวงกุญแจไม่ต้องทำเป็นการ์ตูนสามมิติ แต่ให้ใช้เป็นภาพถ่ายแทน ซึ่งภาพถ่ายนี้สามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็น สคส. หรือนำไปใส่กรอบขายเป็นของที่ระลึกขายก็ได้  จะเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มต่างก็มีความคิดเห็นของตน แต่ก็ต้องใช้เหตุและผลในการโน้มน้าวความคิดของเพื่อนและต้องฝึกรับฟังเพื่อนในทีมด้วยเช่นกัน

­

เจี๊ยบ บอกต่อว่า การมาทำงานตรงนี้ ไม่เพียงทำให้เจี๊ยบมีรายได้ระหว่างเรียนเท่านั้น แต่เจี๊ยบยังสามารถแบ่งปันเงินส่วนหนึ่งเก็บเป็นเงินออมฝากธนาคาร แบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้อีกด้วย ที่สำคัญการได้พูดคุยกันระหว่างทำงานในเรื่องต่างๆ เหมือนเป็นการช่วยกันระดมความคิดเห็นและเป็นลักษณะพี่สอนน้องว่า อะไรเหมาะสมควรทำหรือไม่ควรทำ  อย่างไรก็ตามเจี๊ยบมองว่า ข้อดีของรวมกลุ่มกันทำงานบริษัทก็คือ การรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากทุกคนต้องใช้เวลาว่างช่วงพักกลางวัน ตอนเย็นหลังเลิกเรียน และวันหยุด(เวลามียอดสั่งซื้อเข้ามาก) มาทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาไปทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (เช่นเข้าร้านเกมข้างโรงเรียน)  ที่นี่สอนให้ทุกคนรู้จักแบ่งเวลา โดยจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงมาทำงานตรงนี้ เพราะทำงานที่บริษัทไม่ทันก็ยังมีรุ่นน้องที่ยังทำได้ จากที่เราสอนรุ่นน้องให้ทำเป็นไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่นถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับบริษัท

­

เจี๊ยบบอกว่าการทำงานนี้ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม การคิดอย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรและต้องมีความรู้ในเชิงธุรกิจ รวมไปถึงความรู้ใหม่เกี่ยวกับเทคนิคการทำการ์ตูนสามมิติ  สิ่งเหล่านี้มีการสอนและบอกต่อ เพื่อให้คนอื่นนำไปใช้หรือคิดต่อยอดได้อีก ยิ่งทำเราก็รู้ลึกมากขึ้น เก่งขึ้น แต่ที่สำคัญคือ การที่นักเรียนช่วยกันทำงานจนมีบริษัทเล็กๆ นี้ในโรงเรียน เราทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์และรับผิดชอบ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จึงจะทำให้บริษัทของเราเติบโตต่อเนื่องมาได้

­

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ