กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

ป็นค่ายที่นักเรียนได้ผ่านการคัดเลือกจากโครงการเรื่องเล่าเยาวชน ซึ่งนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกได้แก่ เด็กหญิงณัฐชา มณีฉาย ชั้น ม.1 เด็กหญิงอนุรักษ์ แก้ววรรณรัตน์ ชั้น ม.2 นางสาวธัญญพัทธ์ อัครพันธุ์ทวี ชั้น ม.3 เด็กหญิงณิศรา ปติพัตร ชั้น ม.3 นางสาวชวนา สุทธินราธร ชั้น ม.4 และคุณครูบุญยรัตน์ ลมงาม เป็นที่ปรึกษา

­

วัตถุประสงค์

มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้จัดขึ้นเพื่อสร้างสัมพันธ์ และความรู้ความเข้าใจต่อการทำงานจิตอาสาภายใต้หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในลักษณะของการเข้าค่ายอบรมและลงมือปฏิบัติจริง ณ ชุมชนป้อมมหากาฬ พระนคร กรุงเทพซึ่งนักเรียนในการเข้าค่าย นักเรียนได้ร่วมออกแบบผลิตสื่อให้กับชุมชนและนักเรียนแต่ละโรงเรียนจะต้องคิดทำโครงการ/กิจกรรมจิตอาสาภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

­

­

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

เรื่องเล่า การเข้าค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2556

โดย นางสาวชวนา สุทธินราธร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

108 หมู่ 5 ต.จันทนิมิต อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี


จากการเข้าร่วมโครงการประกวดเรื่องเล่าเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง จากมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยการส่งเรื่องเล่าในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการปฏิบัติงานจิตอาสา ผ่านการคัดเลือกและได้รับโอกาสในการเข้าค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความรู้ความเข้าใจต่อการทำงานจิตอาสา ภายใต้หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่โรงแรมแกรน เดอ วิลล์ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 14-18 มีนาคม 2556 และมีการลงมือปฏิบัติจริง ในชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

­

ก่อนการเดินทางไปเข้าค่าย ประมาณหนึ่งสัปดาห์ คุณครูบุญยรัตน์ ลมงาม ซึ่งเป็นคุณครูที่ปรึกษานักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ได้แจ้งรายละเอียดในการเดินทางและการเข้าค่ายให้กับนักเรียนทุกคนได้เข้าใจ โดยการเดินทางจะเดินทางโดยรถตู้จากทางโรงเรียน มีคุณครูจากโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ 1 คน และนักเรียน 5 คน นอกจากนี้คณะครูและนักเรียนโรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) อีก 3 คน จะร่วมเดินทางไปกับเราด้วย ฉันเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำมัน ประหยัดทรัพยากรและลดมลพิษแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนอีกด้วย เวลาออกเดินทางคือ 05.00 น. พบกันที่หน้าโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เพราะต้องลงทะเบียนก่อน 10.00 น.

­

สาเหตุที่ต้องออกเดินทางเร็ว เนื่องจากก่อนการเดินทาง เรามีการศึกษาเส้นทางก่อนว่าบริเวณโรงแรมแกรน เดอ วิลล์ เป็นย่านการค้า ที่การจราจรมักติดขัด เมื่อรวมกับเวลาทานอาหารเช้าระหว่างทาง จึงต้องเหลือเวลาไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางฉันจัดกระเป๋าเดินทาง โดยพกไปแต่สิ่งของที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดความลำบากในการขนย้าย เมื่อเดินทางมาถึงโรงแรมแกรน เดอ วิลล์ เราทุกคนนั่งรอการประสานงานจากทางมูลนิธิสักพัก ระหว่างนี้จึงมีเวลาในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเข้าค่าย ทั้งการทำผม การแต่งตัว สภาพร่างกายและจิตใจ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จากทางมูลนิธิมารับไปลงทะเบียนและเริ่มกิจกรรมสันทนาการ อันเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความรู้จักเพื่อนๆ ในค่าย พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นสี คละโรงเรียน เพื่อการทำงานร่วมกันภายในค่าย กิจกรรมนี้ช่วยสอนให้เรารู้จักการเข้าหาผู้อื่นอย่างถูกวิธี การมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและเป็นการสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิตร่วมกันผู้อื่นอย่างมีความสุข จากนั้นวิทยากรจึงมาให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาชุมชน การมองหาปัญหาของชุมชน เรียนรู้ประสบการณ์และความต้องการของชุมชน แล้วให้นักเรียนแต่ละสีคิดหาประเด็นที่สำคัญในการศึกษาชุมชนและเรื่องราวที่อยากเรียนรู้ 

­

จากนั้นจัดหมวดหมู่ประเด็นที่ต้องการศึกษา พร้อมนำเสนอ นอกจากนี้วิทยากรยังให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะสำคัญของการศึกษาชุมชน การเตรียมตัวลงพื้นที่ วิธีการแนะนำตัวให้คนภายในชุมชนรู้จักและการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน อีกทั้งแจ้งกำหนดการในการเข้าลงพื้นที่ศึกษาชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความรู้และสร้างความพร้อมในการลงพื้นที่ ณ ชุมชนป้อมมหากาฬ จากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มวางแผนสำหรับการเก็บข้อมูลของชุมชน การตั้งคำถามการถาม การแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนในวันรุ่งขึ้น ในการนอนหลับพักผ่อน พี่เลี้ยงจะจัดห้องให้กับนักเรียนแต่ละคน โดยนอนห้องละ 2 คน ซึ่งต่างอยู่คนละโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในค่ายและเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักปรับตัว เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในคืนนี้ฉันและพี่ที่ร่วมนอนห้องเดียวกันนอนเร็วกว่าปกติ เพราะในวันพรุ่งนี้จะมีการลงพื้นที่จริง ดังนั้นควรพักผ่อนให้เต็มที่ ในวันรุ่งขึ้นฉันตื่นนอนตั้งแต่ 06.30 น. เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดินทางโดยเท้าไปยังชุมชนป้อมมหากาฬ การเดินทางไปไม่ลำบากอย่างที่คิด เพราะอากาศไม่ร้อนมาก ผู้คนไม่แออัด ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที เมื่อเดินทางถึงนักเรียนทุกคนต่างก็ลงทะเบียนและพบกับพี่กบ ซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชน 

­

พี่กบได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและความสำคัญของชุมชนป้อมมหากาฬ จากนั้นจึงเป็นการเดินสำรวจชุมชน เพื่อใช้ในการทำแผนที่ชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่าในชุมชนมีภูมินิเวศน์ วัฒนธรรม จุดเด่นและมีปัญหาอย่างไร ต่อมาในช่วงบ่ายเป็นเข้าเรียนรู้ภูมิปัญญาภายในชุมชนตามฐาน ที่ไม่ได้สร้างเพียงแต่ความรู้เท่านั้น ยังเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและชุมชนให้ก้าวหน้าต่อไปได้ โดยฐานแรกที่กลุ่มสีส้มเข้าศึกษาเรียนรู้นั้น คือ ฐานปั้นพ่อแก่ ในฐานนี้เราได้เรียนรู้วิธีการปั้นพ่อแก่ ประวัติความเป็นมาของภูมิปัญญานี้ และการสืบสานภูมิปัญญาของชุมชน ที่มีการให้เยาวชนร่วมปั้นพ่อแก่จัดจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้เสริม ในฐานที่ 2 คือ ฐานการทำกรงนกเขาชวา เราได้เรียนรู้วัสดุที่ใช้ในการทำกรงนกเขา วิธีการผลิตและจัดจำหน่าย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยการนำผ้ามาตัดประดับตกแต่งกรงนกเขาและการสลักลวดลายที่กรงนก รวมไปถึงสาเหตุที่ทำให้ภูมิปัญญาเหล่านี้สูญหาย เนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่ มีค่านิยมในการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนไป มีความต้องการที่จะออกไปทำงานในบริษัทมากกว่าการสืบสานงานหัตถกรรมในบ้านของตนเอง ฐานที่ 3 เป็นฐานอาชีพในชุมชน ชุมชนนี้มีการรวมกลุ่มของแม่บ้านในการประกอบอาชีพเสริม โดยการผลิตยาดมจำหน่าย ซึ่งอาชีพเสริมนี้ จะทำให้กลุ่มแม่บ้านภายในชุมชน มีเวลาในการทำงานบ้านและสร้างรายได้ได้พร้อมๆ กัน ฐานที่ 4 เป็นฐานของการมีส่วนร่วมของเยาวชนในชุมชน เราได้เรียนรู้วิธีการสร้างกิจกรรม เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีความกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ กล้าคิด กล้าทำ กล้ามีส่วนร่วมในชุมชน เช่น การรวมกลุ่มจัดการแสดง รำ เต้นประกอบเพลง เพื่อแสดงในชุมชนหรือแสดงภายนอกชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริม 

­

ซึ่งรายได้บางส่วนที่เหลือจากการใช้จ่าย พี่ดาว ซึ่งเป็นผู้ดูแลกิจกรรม ก็จะนำไปซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับ เพื่อใช้ในการแสดงหรือรับบริจาคจากผู้คนในชุมชน ทำให้ขณะนี้มีชุดสำหรับใช้แสดงมากกว่า 10 ชุด นอกจากนี้เยาวชนยังสามารถออกคะแนนเสียงในที่ประชุมแทนผู้ปกครองได้ ในกรณีที่ผู้ปกครองไม่อยู่ร่วมในการประชุมและมีการจัดกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อย ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในชุมชน เป็นผู้นำนักท่องเที่ยวชมชุมชน และในฐานสุดท้าย คือฐานการปลูกผักและทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในชุมชน ซึ่งมีการนำตะกร้ามาใช้ปลูกต้นไม้แทนกระถาง ซึ่งมีราคาถูกกว่าและปลูกได้เยอะกว่า หลังจากการศึกษาชุมชนแล้ว พวกเราทุกคนเดินทางกลับมายังโรงแรม และรวมกลุ่มกันเป็นสี สรุปข้อมูลทั้งหมดและคิดทำโครงการจิตอาสาภายในชุมชน ภายใต้เงื่อนไขที่ทางพี่เลี้ยงกำหนดให้ นั่นคือ งบประมาณ 5,000 บาท ใช้ระยะเวลาในการทำโครงการ 1 วัน ในกลุ่มของฉันต้องการทำโครงการปลูกผักเพื่อชีวิต เพราะจากการลงพื้นที่เราพบว่าทางชุมชนมีความต้องการที่จะได้รับเมล็ดพันธุ์ผักและผู้ช่วยในการปลูก

­

ดังนั้นโครงการนี้จึงสามารถสร้างผลประโยชน์และตอบสนองความต้องการของชุมชน อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ผักมีราคาถูก วิธีการปลูกง่าย ใช้เวลาไม่นาน ไม่เกินความสามารถของสมาชิกในกลุ่มและสมาชิกบางคนก็มีความรู้ในเรื่องของการปลูกผัก จากนั้นสมาชิกในกลุ่มสีเขียวก็ออกมานำเสนอและรับฟังคำแนะนำจากคุณศศินี ลิ้มพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการ ทำให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการคิดในการเลือกทำโครงการโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ในวันรุ่งขึ้นเรากลับไปที่ชุมชนป้อมมหากาฬอีกครั้งและเข้าไปช่วยชุมชนทำความสะอาดกำแพงพระนคร นับเป็นโอกาสสำคัญในชีวิตที่จะได้ขึ้นไปบำเพ็ญประโยชน์บนกำแพงพระนคร ที่ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและบุคคลทั่วไปไม่สามารถขึ้นได้ 

­

­

อีกทั้งเป็นการเรียนรู้ชุมชนโดยการปฏิบัติจริงอีกด้วย ซึ่งวิธีนี้ทำให้นักเรียนทุกคนมีความใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น หลังจากการทำความสะอาดเราทุกคนกลับมาเรียนรู้วิธีการผลิตสื่อที่โรงแรมแกรน เดอ วิลล์ และร่วมกันผลิตสื่อมอบให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มของฉันเราเลือกที่จะทำวิดิทัศน์เกี่ยวกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้นและทำไปรษณียบัตร ที่สื่อถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในชุมชน ซึ่งสื่อชนิดสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกด้วย แต่เนื่องด้วยเงื่อนไขที่ทางพี่เลี้ยงกำหนดให้ ว่าให้ทำภายใน 3 ชั่วโมงและไม่สามารถคัดลอกรูปและข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ต้องใช้ข้อมูลและรูปที่เรามีเท่านั้น ทำให้กลุ่มของเราไม่สามารถผลิตสื่อให้ทันเวลาได้ กิจกรรมสอนให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาด มีกลุ่มที่ทำเสร็จเพียงไม่กี่ชิ้น เพราะเราทุกคนต่างรีบร้อนที่จะทำงาน จนลืมวางแผน ลืมนึกถึงข้อมูลทั้งหมดที่ตนมีที่จะใช้ในการผลิตสื่อและลืมตระหนักถึงศักยภาพของตนเองและสมาชิกในกลุ่ม ทำให้เราทุกคนเห็นความสำคัญของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการวางแผนงาน การปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหา

­

วันที่สามพี่เลี้ยงให้นักเรียนแบ่งกลุ่มตามโรงเรียน เพื่อที่จะเริ่มกันวางแผนโครงการจิตอาสาที่จะทำในชุมชนของตน โดยเริ่มจากการสร้างแผนที่ชุมชน ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้เราสามารถทำความรู้จักชุมชนที่จะทำโครงการได้มากขึ้น สามารถมองเห็นภูมินิเวศน์ วัฒนธรรม การดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนได้มากขึ้น จากนั้นมองหาทุกข์ ทุนและโอกาสในชุมชน วิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร แล้วเลือกหนึ่งหัวข้อสำหรับใช้เป็นหัวข้อในการทำโครงการและวิเคราะห์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการเลือกหัวข้อนี้ 

­

จากนั้นวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา ผลกระทบ วิธีการแก้ไข ศักยภาพที่ชุมชน โรงเรียนและที่ตัวเราเองมี เพื่อเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ และความเสี่ยงของชุมชน โรงเรียนและตัวเราที่จะทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ แล้วนำปัญหาที่วิเคราะห์มานี้ นำไปคิดหาวิธีแก้ไข ซึ่งวิธีแก้ไขนี้ก็คือกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำในโครงการ นำกิจกรรมที่วิเคราะห์ได้ จัดเรียงตามช่วงเวลาที่ใช้ในการทำโครงการ ที่สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนไปจนถึงปลายเดือนกันยายน และวางแผนว่ากิจกรรมเหล่านี้ สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย มีวิธีการอย่างไร จัดทำขึ้นที่ไหน เมื่อไรและใช้งบประมาณเท่าไร เท่านี้เราก็จะได้ขั้นตอนในการดำเนินโครงการของเราทั้งหมด จากนั้นจึงเป็นการนำเสนอในรูปแบบของตลาดนัดความรู้ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 8 โรงเรียน 

­

โรงเรียนของฉันอยู่ในช่วงที่ 2 ในช่วงแรกเราจึงสามารถเดินเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนที่นำเสนอได้ และในแต่ละรอบ โรงเรียนที่ไม่ได้นำเสนอก็จะได้รับสติ๊กเกอร์ 3 ดวง เพื่อมอบให้กับโรงเรียนที่ตนประทับใจ ในรอบที่ฉันนำเสนอ ก็ได้รับคำติชมมาอย่างมากมาย สำหรับเนื้อหาโครงการของกลุ่มของฉัน เป็นการสอนการพูดภาษาอังกฤษให้กับน้องๆ ต่างโรงเรียน เพราะน้องเหล่านั้นไม่มีโอกาสและขาดบุคลากรในการสอน พวกเราจึงต้องการที่จะนำความรู้จากการเรียนการพูดภาษาอังกฤษจากสถาบัน Thambrit ที่ทางโรงเรียนสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น ไปสอนให้กับน้องๆ ต่างโรงเรียน นอกจากนี้จะมีการนำงบประมาณที่ได้รับจากทางมูลนิธิ 5,000 บาทและการเปิดรับบริจาคไปซื้อสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แล้วมอบให้กับโรงเรียนน้อง เพราะเป็นสิ่งที่สามารถให้ความรู้แก่น้องๆ ได้เป็นเวลานานมากกว่าการสอน ซึ่งโครงการของฉันก็ได้รับสติ๊กเกอร์ จำนวน 26 ดวง ซึ่งมีจำนวนสูงสุดในรอบที่ 2 หนึ่งในจำนวน 26 ดวงนั้น เป็นลายเซ็นของคุณศศินี ลิ้มพงษ์ ที่เข้ามารับฟังการนำเสนอโครงการของโรงเรียนของฉัน ซึ่งเป็นกำลังใจให้แก่พวกเราในการดำเนินโครงการต่อไป

­

ในวันสุดท้าย ไม่มีกิจกรรมสำคัญใดๆ นอกจากการรับเกียรติบัตรและการอำลากับเพื่อนๆ ในค่ายทุกคน พวกเรารู้สึกเสียใจที่จะต้องลาจาก แต่ต่างก็มีความปลื้มปิติที่ได้มีโอกาสมาพบกันและได้ใช้ช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน เราทุกคนต่างประทับใจที่ได้รับมิตรภาพใหม่ๆ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัย แต่ที่สำคัญคือ เราทุกคนได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน การวางแผนในการทำโครงการ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ แม้จะต้องปัญหาและอุปสรรคใดๆก็ตาม

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ