กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพันธุ์ข้าวและการจัดการพันธุ์ข้าวของชุมชนบ้านแหลม บ้านทุ่ง ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

ชุมชนบ้านแหลมและบ้านทุ่งยังทำนาปลูกข้าวไว้กินเองทุกคนเห็นว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารอย่างหนึ่ง แต่เมื่อประสบกับปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ก็อาจบั่นทอนความตั้งใจที่จะทำนาลงไปได้ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรที่มีความรู้น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรบ้านแหลมและบ้านทุ่งได้เรียนรู้เรื่องพันธุ์ข้าว และนำความรู้มาปรับใช้แก้ปัญหาการทำนาของชุมชน
  2. เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและวิธีการแก้ไขกับศูนย์วิจัยและเมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงซึ่งมีความรู้ความชำนาญในเรื่องพันธุ์ข้าว

การดำเนินการ

  วันนี้นัดหมายทีมเกษตรกรบ้านแหลม-บ้านทุ่ง ตอน  7.00 น. แต่ก็มีคนที่มาช้ากันบ้างทำให้เวลาล่วงเลยออกไป 8.00 น. กว่าๆ ชาวเกาะนั่งเรือมาที่ท่าเรือตะเสะ ได้เวลาเริ่มออกเดินทางจากท่าเรือตะเสะ ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ ด้วยรถตู้  2 คัน มุ่งหน้าสู่ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งอยู่ใกล้ๆ ณ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ไปถึงตอน 10 โมงกว่าจึงรีบเข้ารับฟังการบรรยายของศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวก่อนเป็นที่แรก ก่อนจะฟังบรรยายตัวแทนชุมชนคือนายก อบต.ได้เล่าสภาพพื้นที่และปัญหาให้ฟังก่อน ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำเสนอเรื่องพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และแลกเปลี่ยนปัญหาเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ การจำกัดหอยเชอรี่ การจำกัดหนู ทางเกษตรกรจากบ้านแหลมและบ้านทุ่งให้ความสนใจต่อประเด็นที่พูดเป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นปัญหาของตนเองและเป็นเรื่องที่ต้องการแก้

  เสร็จจากที่แรกก็เกือบเที่ยงเดินทางไปศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงที่อยู่คนละฟากถนนกันต่อ โดยไม่ได้พักเที่ยงเนื่องจากเป็นช่วงถือศีลอดของมุสลิม มีบางคนที่ไม่กินข้าวดังนั้นจึงสรุปกันว่าเข้าแลกเปลี่ยนกันต่อเลยเพราะแถบนั้นไม่มีร้านอาหาร อีกทั้งทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวก็เร่งรีบเพราะตอนบ่ายเจ้าหน้าที่มีภารกิจ ไปถึงเข้าห้องประชุมพื้นที่ก็แนะนำตัวเอง เล่าสภาพปัญหาเล็กน้อยแล้วหัวหน้าศูนย์ก็เล่าเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ข้าวให้ฟัง เมื่อเสร็จจากรับฟังแล้วก็ไปดูโรงงานที่จัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เอาไว้ขาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เกษตรกรสนใจเป็นอย่างยิ่งด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยและกระบวนการจัดการที่มีหลายขั้นตอนและมีเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดอย่างดี  

  ในตอนบ่ายเมื่อเสร็จแล้วก็เดินทางมาแวะรับประทานอาหารเที่ยงแต่ก็บ่ายสองโมงไปแล้ว ก่อนจะแวะหาซื้อข้าวสังหยด และเดินทางกลับสู่เกาะสุกร

 ผลการดำเนินการ

  • ทำให้ชาวนาได้ความรู้เรื่องพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่มีหลากหลายพันธุ์และแต่ละชนิดก็มีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับพื้นที่แตกต่างกันออกไป บางชนิดจึงกลายเป็นทางเลือกสำหรับชาวนาบางคนที่กำลังประสบปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวอยู่ได้  และบางสายพันธุ์ก็ได้รับความสนใจอย่างเช่น สังหยด
  • ชาวนาได้คู่มือเมล็ดพันธุ์ข้าวมา 1 เล่มเพื่อไว้เรียนรู้ว่ามีพันธุ์ข้าวชนิดไหนที่น่าสนใจนำมาปลูกอีกบ้าง และมีความเหมาะสมกับพื้นที่แบบใด
  • การรับฟังเรื่องการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวทำให้ชาวนารู้ว่าที่ตนเองทำอยู่นั้นไม่ถูกต้องจึงทำให้มีข้าวปนเปื้อนสายพันธุ์ และไม่ได้คัดรวงที่สมบูรณ์ทำให้พันธุ์ข้าวที่ใช้ในปีต่อไปไม่เจริญงอกงามอย่างที่ต้องการ
  • การรับฟังเรื่องการกำจัดหอยเชอรี่โดยการเก็บทำน้ำหมัก ทำปุ๋ย จึงเป็นอีกทางเลือกในการนำมาดำเนินการต่อ

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

ชาวนาบ้านแหลมและบ้านทุ่ง ได้เรียนรู้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ การเก็บเมล็ดพันธุ์
และความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ