โครงการชุมชนจัดการตนเองเพื่อความมั่นคงด้านอาหารตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง (phase1)
โครงการชุมชนจัดการตนเองเพื่อความมั่นคงด้านอาหารตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง (phase1)
กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เวทีประชุมหาแกนนำชุมชนบ้านแหลม-บ้านทุ่ง ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

แกนนำเกษตรกรชุมชนบ้านแหลม-บ้านทุ่ง ร่วมพูดคุยเพื่อการจัดการบ้านตนเอง

วัตถุประสงค์
1. เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจโครงการ
2. เพื่อหาแกนนำในการทำโครงการ

พูดคุยก่อนประชุม
  คุณมานพ ช่วยอินทร์ และทีมงานโครงการจำนวน 4 คนได้ลงพื้นที่บ้านแหลม ณ บ้านคุณรัตนา  ไชยมล ซึ่งทางคุณรัตนาได้นัดหมายชาวบ้านในชุมชนเพื่อหาแกนนำโครงการของชุมชน มากันประมาณ 10 คน เมื่อมาถึงก็พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาของคนรุ่นใหม่ที่ออกไปเรียนข้างนอกเกาะ แล้วส่วนใหญ่ก็ไปเป็นลูกจ้างไม่ได้กลับมาทำนาที่บ้าน และเกิดจากค่านิยมของพ่อแม่เองเช่นกันที่ต้องการให้ลูกเรียนสูงๆ ได้งานดี เมื่อเป็นเช่นนี้ถามว่าต่อไปใครจะทำนา คนรุ่นใหม่ก็จะขายนากันไปหมด น่ากลัวที่จะเป็นเหตุให้การทำนาค่อยๆ ลดลง ยิ่งคนนอกมาซื้อที่ดินราคาแพงๆ เมื่อนาข้าวมีคนทำน้อย แต่มีคนกินมากราคาข้าวก็ต้องแพง ตอนนี้ราคาสามสิบสี่สิบบาทต่อกิโลกรัมแล้ว แล้วเด็กสมัยนี้ต่อให้ทำงานเป็นลูกจ้างก็ยังไม่พอกินต้องมาขอเงินที่บ้านอีก
  จ๊ะหนา (คุณรัตนา ไชยมล) มีเรื่องที่ดูและฟังจากสื่อมาเล่าสู่กันฟังว่ามีเศรษฐีอังกฤษฐานะร่ำรวย มหาศาล มาซื้อที่ดินที่สุพรรณบุรีโดยใช้ชื่อคนไทย ลงทุนทำนาอย่างจริงจัง ทำพนังกั้นน้ำที่น้ำท่วมภาคกลางครั้งก่อน เพราะเขาไม่มีที่ปลูกต้องมาปลูกเมืองไทย และมีฝรั่งคนหนึ่งมาได้เมียอีสาน เขาบอกว่าที่เมืองไทยน่าอยู่ที่สุดแล้ว เพราะบ้านเขาคงไม่มีปัญญามีที่ดินยี่สิบไร่ทำนาได้ เขาจึงมาทำนาอยู่ที่บ้านเมีย ถ้าเทียบกับบ้านเขาเรียกไว้ว่ารวยอย่างมาก ตอนนี้กลายเป็นวิทยากรสอนทำนาไปแล้ว 

แลกเปลี่ยนการทำนาของชุมชน
  ก่อนทำแบบ ซอ (ช่วยเหลือกัน) คือวันนี้ก็ช่วยของคนนี้ วันต่อไปก็ของอีกคน แต่ก่อนมีการใส่ปุ๋ย แต่ขั้นตอนตั้งแต่ถอนจนดำก็ช่วยกันไม่ต้องมีค่าจ้าง ในอดีตใช้ควายไถ ปัจจุบันนี้ใช้รถไถเดินตาม ก็ต้องจ้างคนที่มีรถไถ นอกจากนี้มีรถของโครงการ SML เอารถไถมาไถเองได้ต้องเติมน้ำมันเอง ส่วนรถไถนั่งขับก็มีแต่ไม่ค่อยนิยมใช้ไถ อาจเนื่องจากไถไม่ดีเท่ารถไถแบบเดินตามค่าจ้างไถไร่ละ 800บาท ทุกคนอยากให้การทำนาอยู่ต่อไป แต่เด็กรุ่นหลังทำนาไม่เป็น รุ่นโหม๋เรา(พวกเรา) หมดก็คงจบกัน ที่ยังทำกันอยู่ก็รุ่นนี้(อายุมากแล้ว) ข้าวที่ทำได้เหลือจากกินก็ขายให้กับคนบนเกาะที่ไม่ทำนา โดยเฉพาะคนจากหมู่ 1 และ 4 ที่ไม่ทำนา และขายคนข้างนอกก็มี ขายได้กิโลกรัมละ 35 บาท/กก. (การปลูกข้าวพันธ์ปทุมธานี ให้ผลผลิตมากกว่าหอมมะลิ แต่ข้าวปทุมธานีราคาต่ำกว่า) คนทำนาเกาะสุกรหากต้องไปซื้อข้าวสารกินจะไม่ชอบเพราะข้าวสารจืด ไม่อร่อย แล้วข้าวสารที่ซื้อเก็บไว้นานเท่าไรก็ไม่เปลี่ยน เพราะคงใส่ยามามาก และกว่าจะถึงเราก็คงนานแล้ว ข้าวสารเราเองเก็บไว้นานจะมีมอดมีมด เคยตั้งข้าวสารเทียบกันพบว่าข้าวบนเกาะจะมีมดมากิน แต่ข้าวสารซื้อมดไม่คอยไปกิน ข้าวสารที่เราปลูกเองแม้จะเม็ดไม่สวยแต่กินมันกว่า ลูกหลานที่ออกไปข้างนอกก็ยังกินข้าวจากบนเกาะ บางคนที่อยู่ข้างนอกก็ชอบข้าวเกาะสุกร

คิดเห็นอย่างไรต่อการทำนาของชุมชนเกาะสุกร
  ชายนวล ไชยมล ผู้เฒ่าผู้แก่ของบ้านแหลม ถามว่า เราชาวเกษตรกรเกาะสุกรยังอยากจะยืนหยัดทำนากันต่อไปหรือไม่
 .............หลายเสียงครวญ ก่อนจะบอกว่าแล้วเราจะทำกันต่อไปได้กี่ปี
  คุณมานพ ช่วยอินทร์ บอกว่าเด็กสมัยใหม่ พ่อแม่ส่งเรียนหนังสือจึงเรียนอย่างเดียว ทำให้ไม่รู้ค่าของการทำนา

การหาแกนทำงาน
  การหาแกนนำในวันนี้ก็ได้แกนหลัก  อย่างเช่น ผู้ประสานงานพื้นที่คือ คุณรัตนา ไชยมล ส่วนคนอื่นๆ ก็มี บังทีป  จ๊ะมีนา จ๊ะจุ๊ 

การหาประเด็นร่วม
 ประเด็นร่วมของชุมชนก็คือการทำนาเนื่องด้วยเป็นเรื่องมีปัญหาร่วม หลายๆ อย่างและเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ได้ อย่างปัญหาโดยตรง เช่น ศัตรูพืชระบาด ปัญหาขาดระบบน้ำ นาร้างเพิ่มขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และปัญหาอื่นเช่นที่ดินถูกขายให้แก่นายทุนมากขึ้น ลูกหลานไม่ทำนา ซึ่งหากสามารถพัฒนาการทำนาได้ ก็จะช่วยลดปัญหาการขายที่ดินแก่คนภายนอก และลูกหลานกลับมาทำเกษตรโดยสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

ได้แกนนำของชุมชนบ้านแหลม ในการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ