กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ลงพื้นที่สัมภาษณ์และเก็บข้อมูล
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

       ในวันที่ 13 มกราคม 2556 น้องๆชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และพี่จากชมรมศิลปะมหาวชิราวุธ ได้เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะรักษ์สงขลา ในขณะเดียวกัน ชมรมต้นคิดได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม และถ่ายภาพเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการจัดนิทรรศการ ภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา ในเดือนมีนาคมนี้


วัตถุประสงค์


-  เพื่อต้องการรวบรวมข้อมูลจากการที่ลงพื้นสัมภาษณ์เรื่องราววิถีชีวิตของผู้ คนบริเวณถนนนครนอก ถนนนครใน ถนนนางงามซึ่งเป็นบริเวณชุมชนเมืองเก่าของจังหวังสงขลา ในเรื่องอาหารการกิน สภาพสิ่งแวดล้อม  อาคารบ้านเรือน

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

•ร้านสกรีนเสื้อ (นายพูนศักดิ์   รัตนคันทรง อายุ 45 ปี)
 

คุณลุงอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ซึ่งบ้านที่อาศัยสกรีนเสื้อ ทำป้าย ทำการ์ดจำหน่ายเป็นบ้านเช่า ลักษณะเป็นบ้านเก่าสังเกตจากพื้นกระเบื้องสีแดงมีมาตั้งแต่แรกเช่า แต่บ้านที่คุณลุงอาศัยอยู่จริงๆไม่ใช่ร้านสกรีนเสื้อ แต่อยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น บ้านส่วนใหญ่ของผู้ที่อาศัยอยู่นั้นจะเป็นในลักษณะบ้านเช่า บางบ้านที่เห็นปิดอยู่เจ้าของที่แท้จริงไปอยู่กรุงเทพกันหมด ในเรื่องของลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และอื่นๆทั่วไปซึ่งทยอยเข้ามาสั่งทำอยู่เรื่อย ตอนนี้คุณลุงมีร้านอยู่ 2 สาขา อีกสาขาอยู่ที่หาดใหญ่ แต่ลูกค้าที่ถนนนครในมีเยอะกว่า ถนนสายนี้เป็นถนนที่มีความสงบตั้งแต่อดีต ในอดีตเวลาห้าหกโมงเย็นบ้านแต่ละหลังก็ปิดเงียบหมด แต่ปัจจุบันสามสี่ทุ่มก็ยังมีเสียงอยู่บ้างเล็กน้อย บ้างก็เป็นเสียงจากร้านอาหารคาราโอเกะ โทรทัศน์จากเพื่อนบ้าน และในปัจจุบันบริเวณเมืองเก่านี้ก็มีร้านอาหารเปิดขายมากมายทำให้มีรถเยอะ ขึ้นด้วย สุดท้ายคุณลุงได้ฝากถึงเยาวชนชาวสงขลาว่า บ้านจะเก่าหรืออะไรก็ตามล้วนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่มีสิ่งใดที่จะคงอยู่เช่นเดิมตลอดไป ต่อไปเมืองเก่าอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เราก็ต้องยอมรับให้ได้และช่วยกันรักษาสิ่งเก่าๆนั้นเอาไว้
 

•นางประคอง   บุญรัตน์ (ป้าเล็ก อายุ 55 ปี)
 

ป้าเล็กอาศัยอยู่หลังนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เริ่มขายน้ำข้าวโพด น้ำฟักทอง น้ำมะพร้าว ขนมบ้าบิ่นเมื่อ พ.ศ.2547 จากเมื่อก่อนป้าเล็กทำอาชีพเย็บผ้า เมื่อก่อนเป็นเมืองเงียบ สงบ แต่ปัจจุบันมีรถเยอะเยอะมากขึ้น บ้านเรือนเมื่อก่อนเป็นบ้านไม้เล็กๆหลายหลังติดกัน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตึกแทน ถนนซอยยะหริ่งเป็นถนนที่มีความสะอาด เพราะแต่ละบ้านช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของบ้านของตัวเองและสภาพแวดล้อมภาย ในซอย    ป้าเล็กได้ฝากถึงเยาวชนชาวสงขลาว่าให้ช่วยกันดูแลรักษาเมืองเก่า ความเป็นเมืองเก่านี้ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานของลูกได้รู้จักได้เห็นได้ศึกษา เรียนรู้ ถ้าคนรุ่นนี้ไม่ดูแลรักษาไว้ต่อไปเมืองเก่าคงเป็นได้แค่เล่าทางประวัติ ศาสตร์ไม่มีให้เห็นให้สัมผัสกันจริงๆ

 

•คุณยายประสานสุข   นิพัทธสัจท์ อายุ 77 ปี อดีตคุณครูสอนโรงเรียนวรนารีเฉลิม
 

ในอดีตถนนนครในเป็นถนนสายแรกและสายเดียวของจังหวัดสงขลาซึ่งอยู่คู่ชาวสงขลา มานานถึงปัจจุบัน เดิมบ้านคุณยายอยู่ที่ถนนนครใน แต่ปัจจุบันคุณยายมาสร้างบ้านอยู่ที่ถนนซอยยะหริ่ง บ้านที่ถนนนครในนั้นคุณพ่อคุณแม่ของคุณยายยังอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ในความคิดของคุณยายบ้านใหม่อยู่สบายกว่าบ้านเก่า คุณยายเป็นคนขยัน ขว่นขวาย คุณยายเล่าว่าคุณยายหาเงินได้ด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 6 ปี โดยการไปโรงเรียนตั้งใจเรียนจำบทเรียนได้หมด กลับบ้านมาทำการบ้าน งานบ้าน และเมื่อเสร็จงานคุณยายก็ไปช่วยห่อขนมท็อฟฟี่แล้วนำท็อฟฟี่ไปขายที่โรงเรียน ได้เงินกลับมาเป็นรายได้ ต่อมาคุณยายได้เป็นนักเรียนทุนของจังหวัดสงขลาไปศึกษาที่สวนสุนันทา เรียนฟรี อยู่กินฟรีและกลับมาสอนที่โรงเรียนวรนารีเฉลิม คุณพ่อคุณแม่ของคุณยายจึงไม่ลำบากเรื่องเงินค่าใช้จ่ายมากนัก คุณยายได้ฝากถึงเยาวชนชาวสงขลาว่าความสะอาดความเป็นระเบียบเป็นเรื่องที่ควร ให้ความสำคัญ เช่น ในเมืองเก่าบ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเช่า ผู้คนที่ไม่รู้คุณค่าอาศัยอยู่เฉยๆไม่ดูแลรักษาเหมือนบ้านตัวเองทำให้บ้าน พังเสียหายยากต่อการซ่อมแซม สกปรก ไม่สะอาด และไม่ควรดูถูกสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่น ขนมโบราณที่เป็นฝีมือของคนเฒ่าคนแก่ในเมืองเก่า
 

•ร้านยินดี (นายธนธร  รัตนปราการ อายุ 55 ปี)
 

ร้านยินดีเป็นร้านขายอาหารพื้นเมือง เช่น ข้าวเกรียบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกหยี เป็นต้น ร้านนี้เปิดขายมา 3 รุ่น คือ รุ่นพ่อ รุ่นลูก และปัจจุบันเป็นรุ่นหลาน ประมาณ 50 ปีแล้ว ในความคิดของคุณลุงบ้านสมัยเก่าสบายกว่าบ้านสมัยใหม่ เย็นสบาย และสงบ ในอดีตค้าขายดีกว่าในปัจจุบัน เพราะ ปัจจุบันมีคู่แข่งเยอะขึ้น คุณลุงอยากให้ดีมีผู้สืบทอดกิจการต่อไป เดิมคุณลุงเกิดที่จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ แต่ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสงขลาตั้งแต่ตอนเด็ก ครอบครัวของคุณลุงเป็นศิษย์โรงเรียนมหาวชิราวุธ และคุณลุงเล่าว่าอาคารรัตนปราการที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ เจ้าของโรงสีแดง หรือ หับ โห้ หิ้น เป็นผู้สร้างมอบให้โรงเรียนประมาณ 30-40 ปี ครอบครัวของคุณลุงยังบริจาคสาธารณทรัพย์อีกมากมายให้วัดเช่นกัน สภาพแวดล้อมในอดีตไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงต่างจากปัจจุบันมากนัก เพราะ เป็นสถานที่ที่ขยายไม่ได้ เพียงแต่บ้านหลังเก่าๆก็ทรุดโทรมไป เพราะไม่มีคนดูแล แต่ก็บ้านที่มีคนดูแลอนุรักษ์ไว้ ในปัจจุบันรถมีเยอะขึ้นต่างจากในอดีตมีรถโดยสาร เช่น รถเมล์คันใหญ่ยังสามารถขับเข้ามาในซอยนี้ได้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถเข้ามาได้แล้ว ยิ่งในช่วงเวลาเลิกเรียน เลิกงาน รถจะเยอะมากวิ่งได้ช้า และในเวลาที่รถน้อยรถจะวิ่งเร็วมาก ปัญหาลักขโมยไม่พบในย่านนี้ เพราะเป็นย่านที่สงบ จะพบก็เพียงคนจากที่อื่นฉกวิ่งราวสร้อย กระเป๋า เป็นต้น ปัญหาขยะไม่ค่อยพบ เพราะมีรถจากเทศบาลมาเก็บทุกเช้า และปัญหาน้ำเสียที่ลงสู่ทะเลมาจากท่อที่คลองขวาง คูน้ำ หากเราไม่ทิ้งอะไรลงไปในท่อก็จะไม่เกิดอะไร คุณลุงได้ฝากถึงเยาวชนชาวสงขลาว่าให้ช่วยกันดูแลเรื่องของยาเสพติด และการใช้รถใช้ถนนต่อไปอาจให้มีขี่รถจักรยานมากขึ้นแทนรถยนต์ รถจักรยานยนต์
 

•ร้านขนมจีน ขนมหวาน ข้าวแกง (นางปรีดา  รัดถา อายุ 46 ปี)
 

จากเดิมป้าดาย้ายมาจากบ้านเช่าอีกหลังในถนนนครนอกใกล้ๆกันซึ่งอาศัยอยู่ 16 ปี เป็นบ้านไม้สองชั้น เคยเป็นที่ถ่ายทำละคร แต่เนื่องจากเจ้าของบ้านต้องการขายบ้าน ป้าดาจึงต้องอาศัยอยู่บ้านเช่าขายขนมจีนปัจจุบันประมาณ 7 ปี บ้านเกิดของป้าดาอยู่ที่อำเภอสทิงพระแต่ได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนนครใน สภาพแวดล้อมในอดีตไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก คือ ผู้คนในอดีตพลุกพล่านจากเรือขนส่งที่ถนนนครนอก รถไม่เยอะ แต่ปัจจุบัน มีร้านอาหารเยอะขึ้นผู้คนจึงไม่ค่อยพลุกพล่าน ปลอดภัยจากในอดีตมาก มีรถเยอะมากขึ้นเป็นบางช่วง เช่น ช่วงเลิกเรียน เลิกงาน พักเที่ยง เป็นต้น ป้าดาเล่าว่าถนนสายนี้สบาย มีความสงบ ปลอดภัย ป้าดารักและผูกพันกับถนนสายนี้มาก และคนในถนนสายนี้ส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิม แต่บ้านบางหลังที่เห็นว่าไม่มีคนอยู่ เจ้าของบ้านไปอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ บางหลังก็เปิดให้เช่า ไม่ค่อยมีคนดั้งเดิมอาศัยอยู่จริง แต่อาจจะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของเขา ในความคิดของป้าดาบ้านสมัยเก่าสบายกว่า เพราะ เป็นบ้านไม้ จึงไม่ค่อยร้อนและต้นไม้ก็มีส่วนช่วยด้วย ปัญหาสุนัขถ่ายอุจจาระไม่เป็นที่ ป้าดาให้ความเป็นว่าป้าดาเป็นคนสะอาดให้สุนัขถ่ายในห้องน้ำ เป็นเวลาจึงไม่พบ ป้าดาขายขนนจีน ข้าวแกง ขนมหวานตั้งแต่เช้า เพราะมีคนซื้อไปบิณฑบาตพระ ขนมจีนของป้าดามีมาตั้งแต่รุ่นแม่ของป้าดา แต่คงจะไม่มีผู้สืบทอด เพราะ ลูกหลานมีงานทำกันหมดแล้ว                              

ป้าดาได้ฝากถึงเยาวชนชาวสงขลาให้ช่วยกันดูแลเป็นเช่นเดิมตลอดไป ไม่ให้เจ้าของบ้านขายบ้านสมัยเก่านี้ให้คนอื่นและรื้อสร้างใหม่ ให้อนุรักษ์สืบต่อไปเหมือนในอดีต

•ร้านขายข้าวฟ่าง ข้าวเหนียวดำ  ( คุณป้ากมลวรรณ เงารังษี  ภูมิลำเนาเดิมคือจังหวัดสงขลา อายุ 50 ปี )
 

         ในอดีตร้านข้าวฟ่างของคุณป้า ขายขนมไทยหลากหลายชนิด โดยมีขนมไทยขึ้นเชื่อคือ ข้าวฟ่างกวน ซึ่งเป็นสูตรอันมรดกที่ตกทอดมามากกว่า 3 ชั่วอายุคนแล้ว หรือเป็นสูตรขนมที่มีอายุมามากกว่า 100 กว่าปีแล้ว ซึ่งรสชาติของขนมข้าวฟ่างกวน มีลักษณะความโดดเด่น มีความหวานพอดี เนื้อของข้าวฟ่างกวน นุ่ม และไม่มีการใส่สารกันบูดลงในขนม จนหลายๆคนให้คำสั้นๆ คุณป้าว่า สุดท้ายของจบการสัมภาษณ์คุณป้ามีสิ่งอยากจะฝากกับคนรุ่นหลังคือ

- ของที่มีในสมัยอดีตได้หายไปกับกาลเวลา จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันฟื้นฟูปัจจุบันมีความอุดมสมบรูณ์อย่างเมื่อก่อน

- เด็กผู้หญิงรุ่นปัจจุบัน ไม่รักนวลสงวนตัว พูดจาหยาบคาย แตกต่างจากผู้หญิงสมัยก่อนจะพูดจา กริยาท่าทางเรียบร้อย คนสงขลาสมัยก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ 
 

•ร้านจงดี ( นางจงดี อ่องไพบูลย์ ภูมิลำเนาเดิมคือจังหวัดสงขลา อายุ 60 ปี )            
   

     ความเป็นมาของกิจการเริ่มจากคนเฒ่าแก่ข้างเคียง ( ร้านพืชผล ) ได้ถ่ายทอดสูตรขนมทองเอกและขนมสัมปันนี ซึ่งเป็นสูตรโบราณให้แก่คุณป้าจงดี อ่องไพบูลย์ คุณป้าจงดี จึงทดลองทำขนมอยู่หลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ โดยนำขนมที่ทำขึ้นลองให้เพื่อนชิม ผลตอบรับเป็นเสียงเดียวกันว่า สามารถทำขายได้ จึงตัดสินใจทำขายมาจนถึงทุกวันนี้รสชาติของขนมทองเอก มีกลิ่มหอม ไม่หวานเลี่ยน เหนียว นุ่ม ส่วนรสชาติของขนมสัมปันนีจะกรอบนอกนุ่มด้านใน หวานอร่อย ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และขนมขี้มอดก็ หอม กรอบ อร่อย สุดท้ายของจบการสัมภาษณ์คุณป้ามีสิ่งอยากจะฝากกับคนรุ่นหลังคือ

-ถ้าเกิดเป็นไปได้อยากให้เด็กไทยสมัยนี้หันมาทานขนมไทยดีกว่าขนมขบเคี้ยว เพราะว่าขนมจำพวกขบเคี้ยวมันอันตรายต่อร่างกาย ส่วนขนมไทยส่วนผสมนั้นของมาจากธรรมชาติไม่มีโทษมีประโยชน์กว่าขนมขบเคี้ยว มาก


•ร้านขายเครื่องจักสาน (นายถาวร  วรรณวิไล อายุ 76 ปี)
 

           คุณลุงเปิดร้านขายมาประมาณ 20 ปี  บ้านที่อาศัยอยู่เป็นบ้านเช่าอยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่  คุณตาเป็นหลานของนางนงเยาว์  บุญญาสิวา (นางงามคนแรกของสงขลา) คุณตาอยากให้มีการพัฒานาเมืองเก่าเพราะมนุษย์ต้องการการพัฒนาอยู่แล้วและฝาก ถึงเยาวชนชาวสงขลาว่า คนที่จะพัฒนาคือเด็กรุ่นใหม่ แต่รุ่นของคุณตาได้แค่เฝ้าดูและอยากให้เด็กรุ่นใหม่รู้คุณค่าของเก่า อย่าไปทำลายมันให้ซ่อมแซมมันจนกว่าจะซ่อมไม่ได้แล้ว ก็ให้สร้างใหม่แต่ควรคงรูปทรงเก่าไว้

สิ่งที่คุณตาฝากไว้กับคนรุ่นหลัง:  1.  “คนที่จะพัฒนาสงขลาไม่ใช่รุ่นของตาแล้ว  แต่เป็นรุ่นของลูกๆที่ต้องนำพาเมืองสงขลาก้าวต่อไป”                                                          

2.  “ ของที่มันเก่าหรือผุพังก็อย่าไปทำลายมันทิ้ง  ให้ซ่อมแซมและดูแลให้มันคงสภาพเดิมมากที่สุด”

 

•ร้านอ่อง เฮียบ ฮวด  (นายศิริพงษ์  สถิรวรกุล อายุ 55 ปี)
 

          บ้านที่อยู่เปิดเป็นร้านกาแฟ บ้านเป็นบ้านเก่ามีอายุประมาณ 100 กว่าปี (3-4 รุ่น) ภายในบ้านจะมีของเก่าจำนวนมากอาทิเช่น โคมไฟ ตะเกียง สิ่งของเครื่องใช้ในอดีต เป็นต้น คุณลุงเก็บของเก่าไว้เพราะเป็นความชอบและอยากให้คนรุ่นหลังได้คิดถึงอดีต เมื่อก่อนถนนนครในเป็นตลาดนำเข้าของจากต่างประเทศ (ทุกอย่างเมือก่อนของต่างๆมาจากนอกหมด  เมืองไทยทำของเองได้หลังพ.ศ. 2500) โดยจะเข้าทางประตูเมืองในถนนนครนอก ซึ่งจะตรงกลับถนนหนองจิกในปัจจุบัน  ถนนหนองจิกเป็นถนนที่สามารถมองทะลุผ่านจากศาลเจ้าพ่อกวนอูถึงทะเลของถนนนคร ในได้ และมีบ้านอยู่ 9 หลัง  จึงทำให้ในอดีตเรียกถนนนางงามว่า “ถนนเก้าห้อง” เมือก่อนระหว่างถนนนครนอกกับถนนนครใน จะมีกำแพงกั้น  ส่วนที่อยู่ภายในกำแพงคือ ถนนนครใน และส่วนที่อยู่ยอกกำแพง คือ ถนนนครนอก  ในถนนนครในผู้คนนิยมเปิดบ้านกันเป็นส่วนใหญ่เพราะถือว่าหากอยู่ในกำแพง เมืองก็จะปลอดภัยเปรียบเสมือนอยู่ในวัง  ซึ่งมีหลักฐานจากภาพถ่ายในขณะที่รัชกาลที่ 5  ได้เสด็จมายังถนนนครใน จะสังเกตเห็นบ้านเรือนไม่มีประตู  ในอดีตรถที่แพงสุดคือ ฮอนด้า 50 และค่าแท็กซี่ในอดีตราคาเพียง 3 บาท และในอดีตบ้านเรือนจะเป็นทรงจีนแต่บางหลังมีการปรับเปลี่ยนหน้าบ้านใหม่ทำ ให้มีการผสมผสานระว่างวัฒนธรรมจีนและโปตุเกส ซึ่งเรียกอาคารดังกล่าวว่า ชิโนโปตุกีส  และบ้านเก่าจะใช้กระเบื้องหน้าวัวเป็นอิฐสีแดง รูปสี่เหลียมจตุรัส  คนในอดีตจะดูทิศทางลมในการสร้างบ้านทำให้บ้านในอดีตไม่ร้อน ในปัจจุบันบ้านเรื่อนในถนนนครในจะปิด เพราะไม่มีคนอยู่และบางบ้านก็ปิดตายเลย 

สิ่งที่ฝากไว้: “รักษาสิ่งที่คงซึ่งความเก่าไว้ เผื่ออนาคตลูกหลานจะเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น”

 


"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ