กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
โครงการ "ข้าวไม่ยาก หมากไม่แพง"
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

จัดทำโดย

นางสาวเสาวนีย์ ศรีโพธิ์ทอง โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย

­

­

 

 

เสาวนีย์ ศรีโพธิ์ทอง หรือ “กิ่ง” หนึ่งในกลุ่มนักเรียนที่ร่วมกันทำโครงการ “ข้าวไม่ยาก หมากไม่แพง” ซึ่งต่อยอดจากกิจกรรม “สานสัมพันธ์วันทำบุญ อบอุ่นทั้งตำบล” ที่พบว่าในทุกๆ วัดจะมีข้าวเหลือทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อเกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในช่วงปลายปี 2550 ที่ข้าวมีราคาแพง ทางโรงเรียนจึงคิดกันว่าทำไมไม่นำเอาข้าวมาทำให้เกิดประโยชน์ นักเรียนบางคนไม่ได้กินข้าวเที่ยง ได้แต่กินข้าวเช้าจากบ้านมา แล้วกลับไปกินข้าวเย็นที่บ้าน จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นมาสำรวจวัดในแต่ละหมู่บ้านว่ามีข้าว เหลือเท่าไหร่ และมีนักเรียนคนไหนบ้างที่ต้องอดข้าวมื้อกลางวัน

       

­

เมื่อได้ ข้าวมา เราก็ไปที่ห้องคหกรรมของโรงเรียน บรรจุใส่ถุง พอถึงช่วงพักกลางวัน ก็ประกาศให้แต่ละห้องที่มีตัวแทนไปรับข้าวมาจากวัด มารับข้าวที่ห้องคหกรรม ปรากฎว่าข้าวที่เราไปรับมา ไม่เพียงพอกับปริมาณที่นักเรียนต้องการ เราจึงทราบว่ามีนักเรียนที่ไม่ได้ทานข้าวกลางวันเยอะเหมือนกัน พอดีเห็นพี่ม.๖ ห่อข้าวมาทานที่โรงเรียน อาจจะเป็นเพราะพวกพี่ไม่มีเวลาลงมาทานข้าวเที่ยงที่โรงอาหาร จึงเกิดความคิดว่า เราเอาข้าวมาจากวัด แล้วเอามาแจกให้นักเรียน นักเรียนก็ไม่ต้องซื้อข้าวทานกัน เขาซื้อแค่กับข้าวก็พอ แล้วคนที่ห่อข้าวมาก็เอากับข้าวมาแบ่งกันทาน คนนี้ห่อไข่พะโล้มา คนนี้ห่อต้มยำกุ้ง คนนี้มีปลาซิวปลาสร้อย เราก็จะได้ทานข้าวแบบ2ที่เรียกกันว่า “กับข้าวบุฟเฟต์” พวกเราเห็นว่าพวกเขาห่อข้าวมาทานด้วยกัน ดีกว่าไปนั่งทานโรงอาหารตัวใครตัวมัน เราก็คิดว่า โครงการที่พี่เขาทำนี่มันดีนะ พวกเราน่าจะไปช่วยพี่เขาทำและสานต่อโครงการจากรุ่นพี่”

 

     “ในการทำโครงการนี้ เราต้องหา “ความรู้” ในเรื่องของการถนอมอาหารจากคุณครูหมวดคหกรรม เพื่อทำให้ข้าวมีคุณค่ามากขึ้น เช่น การนึ่งเพื่อเก็บรักษาข้าวไว้ได้นานขึ้น มีการเอาใบเตยมานึ่งด้วย ทำให้ข้าวมีกลิ่นหอม น่าทาน คือบางทีเขาเห็นว่าข้าวที่เราได้มาเป็นข้าววัด ไม่อร่อยหรอกก็เลยคิดว่าเอามาทำให้ดูน่ากินมากกว่านี้ดีกว่า สำหรับ “คุณธรรม” ที่ได้จากทำงานนี้ต้องบอกว่าได้เยอะมากเลยค่ะ การทำงานตรงนี้ การพูดจาไพเราะ รู้จักการขอความช่วยเหลือหรือขอความร่วมมือจากผู้อื่น และการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ ทั้งกับน้องๆ ในโรงเรียนและคนในชุมชน เราไม่ได้แจกข้าวเฉพาะในโรงเรียนนะคะ เราเอาไปแจกให้กับชุมชนด้วย คือคนที่ไปรับข้าวมาจากวัดเขาก็จะไปดูในชุมชนด้วยว่าครอบครัวไหนต้องการ พอตกเย็น เขาก็จะเอาข้าวที่โรงเรียนจัดไว้ไปแจกตามหมู่บ้าน ไปแจกตามชุมชน แล้วการทำงานตรงนี้เป็นการทำงานกันเป็นกลุ่ม สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือความสามัคคี เราต้องทำงานกันเป็นหมู่คณะ เราจึงต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือควรจะรู้จักไว้ใจผู้อื่นอย่างไร จึงจะทำให้ทุกขั้นตอนการดำเนินงานสัมฤทธิ์ผลลงได้ด้วยดี”

­

 

 

ครูชวลิตร วรรณดี ครูที่ปรึกษาโครงงาน ให้ความเห็นถึงนิสัยพอเพียงของเด็กว่า น่าจะเป็นเด็กที่มีความพอประมาณ เป็นเด็กที่เดินในทางสายกลาง ไม่หย่อนไม่ตึง มองโลกในแง่ดี พูดจาไพเราะ มีสัมมาคารวะ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน

       แต่อุปนิสัยและพฤติกรรมเหล่านี้จะฝังอยู่ในตัวเด็กได้อย่างไร? ครูชวลิตรตอบว่า “ต้องให้เขาได้ลงมือปฏิบัติ และทำซ้ำให้เกิดความเข้าใจบ่อยๆ” โดยการเน้นย้ำหรือชี้แนะนักเรียนได้ ตัวครูเองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่าง ถ่องแท้ ดังนั้น ในการที่โรงเรียนศีขรภูมิจะจัดทำโครงการอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา พลังในการขับเคลื่อนหลักจึงตกเป็นหน้าที่ของนักเรียน

 

 

     ครูชวลิตรยกตัวอย่างกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ๒ โครงการ คือ โครงการ “สานสัมพันธ์ วันทำบุญ อบอุ่นทั้งตำบล” และ โครงการ “ข้าวไม่ยาก หมากไม่แพง” เป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกิดจากปัญหาเด็กในโรงเรียน ที่มักจะแก้ปัญหาเฉพาะครูฝ่ายปกครองกับเด็ก ซึ่งไม่ครบวงจร ผู้ปกครองและชุมชนน่าจะรับรู้ด้วย โรงเรียนจึงเคลื่อนกิจกรรมนี้ออกไปที่ชุมชน จุดสำคัญคือมุ่งไปที่วัด”

 

     โครงการ “สานสัมพันธ์ วันทำบุญ อบอุ่นทั้งตำบล” เป็นกิจกรรมที่นักเรียนและผู้ปกครองที่มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลเดียวกัน ไปร่วมทำบุญที่วัดในวันเสาร์ช่วงเข้าพรรษา โดยนำอาหารไปทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ร่วมกับคณะครูและผู้นำชุมชน โดยมีตัวแทนนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้งภายในกลุ่มตำบลปฏิบัติหน้าที่ตาม บทบาทสมมติเป็นผู้นำท้องถิ่น

      “เราทำกับนักเรียนทั้งโรงเรียน ซึ่งมีกว่า 2,500 คน เราจึงแบ่งนักเรียนออกเป็น 15 ตำบล ตามภูมิลำเนาที่นักเรียนและผู้ปกครองอยู่ ให้นักเรียนแต่ละตำบลเลือกตั้งตัวแทนนักเรียนประจำตำบลของตนเองพอเลือกเสร็จ ก็มาประชุมคุยกัน วางแผนที่จะแบ่งงาน แบ่งบทบาทหน้าที่กัน การขับเคลื่อนตรงนี้ เด็กได้เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะครูให้เด็กประสานงานเองทุกอย่างเลย เด็กจะทำหน้าที่เป็นมัคนายกนักเรียน เริ่มตั้งแต่การติดต่อประสานงานกับวัด การนิมนต์พระ การใช้คำพูดกับพระ การทำหนังสือเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมงานบุญ...แต่อะไรที่เขาทำไม่เป็น เราก็ต้องสอน โครงการนี้มีข้อตกลงว่าการไปทำบุญที่วัดนั้น ให้ทุกฝ่ายแต่งกายแบบอนุรักษ์ไทย ชายนุ่งโสร่ง หญิงนุ่งผ้าถุง”

 

     แนวคิดการแต่งกายนี้เกิดจากคนสุรินทร์มีภูมิปัญญาทอผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์ การแต่งกายอนุรักษ์ไปวัดนี้ นอกจากเพื่อให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังเป็นการสืบสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านด้วย นักเรียนบางคนมีแม่หรือยายที่สามารถทอผ้าที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตาทวด ถ้าเพื่อนอยากได้ เขาก็จะพาไปให้ยายช่วยสอน จนทอผ้าไหมใส่ได้ด้วยตัวเอง ก่อเกิดเป็นอาชีพและความภูมิใจตามมา

 

 

     โครงการ นี้มีการพัฒนาเป็นลำดับ เมื่อเด็กไปวัดต้องบันทึกว่าได้เรียนรู้หลักความพอเพียงจากคำสอนของพระอย่าง ไร จากผู้นำชุมชนอย่างไร จากผู้ปกครองอย่างไร และท้ายสุดมีการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู ผู้ปกครอง ชุมชน และนักเรียน เพื่อหาวิธีการส่งเสริมและป้องกันปัญหาพฤติกรรมนักเรียน

 

  สำหรับโครงการ “ข้าวไม่ยาก หมากไม่แพง” เป็นโครงการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนักเรียนทำกิจกรรมโครงการ “สานสัมพันธ์วันทำบุญ อบอุ่นทั้งตำบล” แล้วเห็นปัญหาข้าวเหลือทิ้งจำนวนมากจากวัดหลังงานบุญ

 

    “เด็กมองว่าเราน่าจะถนอมข้าวที่เหลือทิ้งนี้ไว้ เอาไปช่วยเหลือเด็กที่ไม่มีข้าวกลางวันกิน นักเรียนเราไม่มีข้าวกินเยอะ คนจนในชุมชนที่ยากจนก็เยอะ ข้าวที่เหลือจากวัดมักจะแปรไปเป็นข้าวมือสอง เป็นอาหารเสริม เช่น ข้าวเกรียบ แต่เราเห็นว่าข้าวน่าจะเป็นอาหารหลักเหมือนเดิม จึงเกิดมุมมองว่าน่าจะยืดอายุข้าว เป็นที่มาของการแพ็คใส่ถุงแล้วแช่ตู้เย็นไว้ เมื่อจะทานก็เอาไปนึ่ง แล้วเอาไปแจกจ่ายให้นักเรียนในโรงเรียนก่อน ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เด็กที่ได้เงินมาโรงเรียน 20 บาท ซื้อข้าวกินจานละ 15 บาท พอโครงการนี้ออกมาเด็กก็แค่ไปซื้อกับข้าวกิน จานละ 10 บาท จากเงินเหลือ 5 บาท ก็เหลือ 10 บาท ”

 

      ครูชวลิตรเล่าถึงการดำเนินงานในแต่ละโครงการที่เกิดขึ้นว่า ต้องหันกลับมามองว่า ตัวเองทำงานครบสูตรหรือยัง และที่เด็กนักเรียนตั้งใจกันทำกิจกรรมนั้น พวกเขาทำเพราะอยากได้คะแนนหรือเปล่า หลักความพอเพียงปลูกฝังอยู่ในตัวเด็กแล้วหรือยัง จึงทำคู่มือแบบประเมินพฤติกรรมนักเรียน โดยใช้ชื่อว่า “วิเคราะห์ตนเองสัปดาห์ละครั้ง ชีวิตจะไม่พลาดพลั้งดั่งวันวาน” เป็นคู่มือสมุดพกนักเรียน ให้นักเรียนใช้เวลาในคาบโฮมรูมวิเคราะห์การดำเนินชีวิตตนเองว่าสัปดาห์ที่ ผ่านมาทำอะไรบ้าง  เล่มเกมบ่อยไหม อ่านหนังสือมากไปน้อยไปหรือเปล่า ถ้าทำอะไรที่เกินไป ก็ต้องวางแผนสัปดาห์ถัดไปใหม่ให้เหมาะสม

 

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ