กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เกียรติศักดิ์ คำสี : จากผู้รับสู่การเป็นผู้ให้
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

"แจ้" เกียรติศักดิ์ คำสี บัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นงานอาสาสมัครเพื่อสังคมตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมปลาย ด้วยการร่วมเป็นทีมวิทยากรเกี่ยวกับสิทธิเด็ก เดินทางไปอบรมให้ความรู้ตามหมู่บ้านต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับมูลนิธิซีซีเอฟ (ประเทศไทย) หลังจากสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เขามีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรม "อาสาสมัคร" กับองค์กรภาคสังคมนอกมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไปเป็นอาสาสมัครค่ายสร้างของชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย 

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

“แจ้” เกียรติศักดิ์ คำสี บัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นงานอาสาสมัครเพื่อสังคมตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมปลาย ด้วยการร่วมเป็นทีมวิทยากรเกี่ยวกับสิทธิเด็ก เดินทางไปอบรมให้ความรู้ตามหมู่บ้านต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับมูลนิธิซีซีเอฟ (ประเทศไทย) หลังจากสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เขามีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรม “อาสาสมัคร” กับองค์กรภาคสังคมนอกมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไปเป็นอาสาสมัครค่ายสร้างของชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย

 

จนกระทั่งเรียนปี 2 โอกาสสำคัญที่เข้ามาในชีวิตของแจ้คือ การได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในตำแหน่งประธานฝ่ายกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนการทำงานของชุมนุม/ชมรม ด้านบำเพ็ญประโยชน์ของมหาวิทยาลัย หลังจากหมดวาระองค์การนักศึกษา แจ้ก็ได้เป็นปรับเปลี่ยนตนเองมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมแกนนำอาสาสมัครของ ศูนย์อาสาสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเขาได้ใช้ประสบการณ์และการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมอาสาสมัครที่ผ่านมาในการช่วยงานศูนย์ฯ เกี่ยวกับกิจกรรมอบรมต่างๆ เช่น พานักศึกษาไปจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับเด็กๆ รอบมหาวิทยาลัย หรือการเป็นที่ปรึกษาโครงการอาสาสมัครให้กับรุ่นน้อง เป็นต้น

 

 
   

 

 

หากมองย้อนกลับไปสู่ “แรงบันดาลใจ” ที่ทำให้แจ้หันมาสนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคมคือ เขารู้สึกว่าที่ผ่านมาตนเองเป็นผู้รับ เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่จากองค์กร/มูลนิธิการกุศลต่างๆ มาโดยตลอด ทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะทำอะไรเพื่อคนอื่น และอยากเป็นผู้ให้บ้าง มิใช่เพียงแค่การเป็นผู้รับอย่างเดียวเท่านั้น และความประทับใจสำคัญก็มาจากเมื่อได้เห็นรอยยิ้มที่มีความสุขของผู้อื่น

 

จากการเข้ามาทำกิจกรรมอาสาสมัครระยะเวลาเกือบ 4 ปีในมหาวิทยาลัย แจ้พบว่าตัวเองมีทัศนคติหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการมองโลก เขาเข้าใจและเรียนรู้ในความหลากหลายของผู้คนในสังคม ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นจากการที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรง ซึ่งแตกต่างจากความคิดเดิมที่เคยรับรู้มาจากห้องเรียนหรือคำบอกเล่าของคนอื่น เขาเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่ง มีโอกาสไปศึกษาชีวิตของเด็กที่อาศัยอยู่ใต้สะพานลอย ก่อนหน้านั้นเขามีความคิดว่าพวกเด็กๆ อาจจะไปอยู่ด้วยเพราะความยากไร้ แต่เมื่อได้พูดคุยกับพวกเขา กลับพบคำตอบว่าการที่ออกมาอยู่นอกบ้านเพราะต้องการอิสระ คำตอบดังกล่าวทำให้เขารู้สึกอึ้ง เพราะคิดตลอดมาว่าคนเหล่านั้นมีปัญหาจึงต้องร่อนเร่ไร้บ้านอยู่เช่นนี้ ปรากฏว่าเป็นเพราะพวกเขาอยากอยู่ด้วยตัวเอง

 

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เดิมทีเคยคิดว่าไม่รังเกียจเด็กๆ ที่อยู่ตามสะพานลอยหรือใต้สะพานต่างๆ แต่พอถึงเวลาจริงก็พบว่าตัวเองรังเกียจ ไม่กล้าเข้าไปโอบกอดเหมือนกับคนอื่นๆ เขาจึงเรียนรู้ว่าสิ่งที่คิดกับการกระทำอาจไม่ตรงกันก็ได้ จึงได้พยายามปรับตัว แจ้บอกว่าประสบการณ์ลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น และเข้าใจความหลากหลายของผู้คนในสังคม

 

ด้วยความที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งที่เขาประทับใจจากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาคือ การฟื้นฟูชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ไปปลูกพืชให้ช้าง ปลูกปะการัง ถึงตอนนี้ชมรมก็มีคนสานต่อแล้ว เขารู้สึกดีที่สามารถชุบชีวิตชมรมขึ้นมาได้

 

นอกจากเรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ แล้ว เขายังได้เรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย บางครั้งเราเห็นคนที่ทำอะไรไม่ถูกใจเรา ก่อนหน้านี้มักรู้สึกว่าทำไมเขาจึงทำแบบนั้น ทำไมเขาจึงไม่เป็นแบบนี้ แต่เมื่อผ่านประสบการณ์เป็นอาสาสมัครจึงเรียนรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างของคน เหมือนคำพูดที่ว่า “ไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์แบบ” ดังนั้น เมื่อโกรธใคร เขาก็จะคิดแบบนี้ว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ ตัวเขาเองก็เช่นกันที่ต้องทบทวนตัวเองในสิ่งที่คนอื่นไม่ชอบ

 
 
   

 

 

เมื่อผสานสิ่งที่เรียนรู้จากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเข้ากับความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของแจ้ เขาคิดว่า ตนเองได้เรียนรู้สัจธรรม ความเป็นจริงของสังคมและธรรมชาติว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกันไม่มีอะไรแยกจากกันได้ ขณะที่มนุษย์ทำกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ใช้ไฟฟ้าอยู่ ก็ส่งผลกระทบกับสัตว์ป่าได้ เช่น ทำให้พวกมันวางไข่ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีป่า เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกนำมาทำเป็นโรงไฟฟ้าให้กับมนุษย์ได้ใช้ สัตว์ป่าจึงถูกแย่งพื้นที่เพื่อดำรงชีวิต เขาเห็นถึงความเชื่อมโยงว่าตัวเราไม่ได้แยกขาดออกจากสังคม โลก หรือจักรวาลแต่อย่างใด เขาจึงเห็นว่าแม้สิ่งที่ทำอาจจะเป็นสิ่งเล็กน้อย ไม่ใหญ่มาก แต่ก็ดีกว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลย

 

สำหรับแจ้แล้ว “สังคมที่ดีในความคิดของเขาคือสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีสำหรับตัวของเขาและดีสำหรับคนอื่นด้วย”

 
 
เกียรติศักดิ์ คำสี
โทร.086-813-9159
E-mail : nayrugdee@gmail.com

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ