กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เรื่องเล่าจากภาคเหนือ จากปากน้ำโพ มาโผล่หริภุญชัย
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

สหัทยา วิเศษ

ผู้ประสานงานโครงการจัดการความรู้เยาวชนท้องถิ่น ๔ ภาค (ภาคเหนือ)


หลังจากที่ทีมงานโครงการเยาวชน ๔ ภาคได้ไปพบพูดคุยกันที่ไม้หอมรีสอร์ท จังหวัดนครสวรรค์ ช่วงวันที่ ๔-๖ สิงหาคม ๒๕๕๑ ทีมงานภาคเหนือ ๔ จังหวัดอันได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา และเชียงรายก็พากันไปทั้งหมด ๘ ชีวิต จังหวัดละ ๑ คน ทีมงานจากลำพูนพากันมาตั้ง ๓ สาว ทำให้การเดินทางครั้งนี้มีสีสรรค์มากขึ้น พวกเราทั้งหมดได้มาพบปะกับพี่น้องในภาคอื่นๆ เป็นการพบปะกันครั้งแรกของทีมงานในพื้นที่ทั้ง ๔ ภาค หลังจากที่เจอกันแต่กลุ่มผปส.แก่ๆ สองสามคน ครั้งนี้ได้มาเจอะเจอน้องๆ เยาวชนบ้าง ก็กระชุ่มกระชวยกันมากขึ้น ต้องขอบคุณท่านผู้จัดการปานที่จัดกระบวนการในครั้งนี้ได้ราบรื่น สนุกสนาน มีความชัดเจนกลับไปทำงานได้มากขึ้นในแต่ละพื้นที่


ด้านทีมงานภาคเหนือ ผปส. เองคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ทีมงานในพื้นที่ได้เกิดความชัดเจนในการทำงานโครงการจากการเข้ามาร่วมในการพบปะพุดคุยครั้งนี้ เพื่อที่จะได้แนวทางในการเดินหน้าลุยงานในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุดในช่วงสามเดือนข้างหน้า ที่ปลายปีแต่ละภาคจะต้องมาพบเจอกันอีกครั้ง ได้โอกาสเหมาะที่ผู้จัดการปานได้จัดเวลาให้แต่ละภาคคุยกันเอง ก็เลยชวนมาช่วยกันทำ ช่วยกันดูเส้นทางการขับเคลื่อนงานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ก็มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน วิธีการทำงานก็ต่างกันด้วย ดำจากสกว.แม่โจ้ช่วยทำให้แต่ละเห็นแนวทางในการดำเนินงานของตนเองที่มีความชัดมากขึ้น รวมทั้งงานนี้แต่ละคนยังได้เรียนรู้แบบลัดในการเขียนเรื่องเล่า จากตัวอย่างที่เป็นเอกสาร ชมวิดีทัศน์การจัดตลาดนัดความรู้ซึ่งเป็นเครื่องไม้ เครื่องมือของ KM เรียกได้ว่าครั้งนี้ต้องตามตอกย้ำ จ้ำจี้ จ้ำไชถึงเรื่องเล่าที่จะต้องออกมาจากแต่ละพื้นที่ เพื่อให้รับรู้ความเคลื่อนไหวจากการทำงานอีกทางหนึ่ง นอกเหลือจากการลงพื้นที่ติดตามงาน หรือการใช้โทรศัพท์ (ครั้งนี้ผปส.พี่กุ้งก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนนะ และตั้งใจว่าจะเล่าทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่แต่ละครั้ง เพื่อสร้างให้เกิดวินัยและนิสัยในการจัดการความรู้)
ส่วนเรื่องเล่าในภาพรวมที่นครสวรรค์ ผู้จัดการปานรับปากจะเขียนเองเร็วๆ นี้ ทุกคนรออ่านเด้อ ได้ข่าวว่าจะเอาเรื่องราวของเราลงบล็อกในเว็บไซด์ www.scbfoundation.com ใครอยากมีเรื่องราวลงในบล๊อค ใครอยากมีบล๊อคส่วนตัว รีบๆ เขียนส่งมากันนะจ๊ะ อยากอ่านมากๆ เลย

ออกเดินทางจากนครสวรรค์ มากินข้าวกลางวันที่พิษณุโลก ส่งเอ็มที่มาจากพะเยาขึ้นรถประจำทางที่บขส. เพราะรถตู้ไปสุดสายปลายทางที่เชียงใหม่ เกรงว่าจะกลับพะเยาไม่ทัน ผู้โดยสารที่เหลือหลังจากหนังท้องตึงก็หลับ สลบไสลตามกันไป ดำสบายสุดๆ เพราะจองเบาะยาวข้างหลัง เข้าเขตจังหวัดแพร่เริ่มเห็นเห็ด หน่อไม้วางขายข้างทาง สาวๆ ที่มาจากลำพูนก็สวมวิญญานแม่บ้านทันที กะว่าเย็นนี้เมนูเด็ดคือ แกงเห็ด และยำหน่อให้สมีและลูกกิน หลังจากที่กินข้าวเจ้ามาหลายมื้อ (คิดแล้วน้ำลายไหล) ก็ช่วยอุดหนุนแม่ค้ากันคนละหลายห่อ ก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้าบ้านใคร บ้านมัน พักผ่อน และเตรียมพร้อมสู่วันใหม่ ....... วันพรุ่งนี้ที่จะเดินทางไปเมืองหริภุญชัย

เยือนนครหริภุญชัย

เช้าวันนี้เรานัดหมายกับคุณเกษสุดา กำแพงทิพย์ เรียกว่าตุ๊กตาคนงามก็ได้ เพราะเธอจะชอบมั้กๆ เธอเป็นสาวเจียงฮายที่มาตกหลุมรักหนุ่มป่าซาง จนปักฐานที่มั่นได้ที่นั้น วันนี้ทีมงานลำพูนประกอบด้วยตุ๊กตา สาวนก และสาววาลย์ พาลงพื้นที่บ้านอุดมพัฒนา ตำบลศรีวิชัย และบ้านแม่ตืน ตำบลแม่ตืน เพื่อดูสภาพพื้นที่ นัดกลุ่มเด็กพุดคุย การเดินทางจากลำพูนไปอำเภอลี้ต้องผ่านอำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง เรามาถึงบ้านอุดมพัฒนาประมาณ ๑๐ โมงก็ตรงไปบ้านของลุงสมัย แก้วภูศรี อดีตข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ผันตัวเองออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ลุงสมัยเป็นคนสุโขทัย แต่มีที่ทางแถวบ้านโฮ่ง และลี้ ทำเกษตรอินทรีย์เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านจนได้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำลี้ ก่อนหน้านั้นลุงสมัยเป็นนักวิจัยชาวบ้าน ชักชวนชาวบ้านอุดมพัฒนาค้นหาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยการทำบัญชีครัวเรือน หลายครอบครัวเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น ลดรายจ่ายจากเดิมลงมากโดยเฉพาะในด้านการเกษตร และการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในครัวเรือน


มาถึงบ้านลุงสมัยพบว่าแกมีธุระด่วน ต้องไปรับภรรยาที่ลำพูน เอาเข้าแล้วสิ ทีมงานเราเลยเคว้งคว้าง ไม่รู้จะหันไปทางไหน พอดีพ่อหลวง และผู้ช่วยก็มาตามที่นัดหมายไว้เช่นกัน เราก็เลยชวนคุยเป้าหมายที่มาในครั้งนี้ว่าอยากมาเจอกับน้องๆ เยาวชนบ้านอุดมพัฒนา หลังจากที่อ่านข้อมูลที่เด็กๆ เขียนเกี่ยวกับตัวเอง ครอบครัวและสิ่งที่อยากจะทำแล้ว พ่อหลวงก็ได้เล่าให้ฟังว่าเด็กกลุ่มนี้ได้มีการรวมตัวกันมานานแล้ว ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่เด็กสนใจเลี้ยงไก่เพราะสำรวจข้อมูลชุมชนพบว่าแต่ละครัวเรือนกินไข่กันเดือนละหลายฟอง และไปซื้อไข่มาจากนอกชุมชน เด็กเยาวชนก็เลยมีความสนใจที่จะเลี้ยงไก่ไข่ ในตลาดก็สามารถนำไปส่งให้ร้านค้าในชุมชนได้ ไม่มีปัญหา ได้ข้อมูลเบื้องต้นจากพ่อหลวงพอสมควร เอาเป็นว่าเย็นนี้นัดเจอแกนนำเยาวชนทั้ง ๓ คน พร้อมกับลุงหมัยและแกนนำคนอื่น พร้อมกับให้พ่อหลวงเตรียมอาหารเย็น ก็มาบ้านเฮาหนีไม่พ้นแกงเห็ด กับแกงหน่อแน่นอน ............

สิบเอ็ดนาฬิกาแล้ว ช่วงที่มีเวลาว่าง ก่อนที่จะไปบ้านแม่ตืนซึ่งนัดไว้ประมาณบ่ายสามโมง ก็มีข้อเสนอว่าจะไปทานอาหารกลางวันที่ทะเลสาบดอยเต่า อยู่ที่อำเภอดอยเต่าซึ่งติดกับอำเภอลี้ มีบรรยากาศดี น่าจะได้หารือกันเรื่องงานต่อไปด้วย ขับรถประมาณครึ่งชั่วโมงถึงอำเภอดอยเต่า เมืองเล็กๆ เงียบดี เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบเสียงสีแสง เลี้ยวไปตามป้ายที่ชี้ไปยังทะเลสาบดอยเต่า เมื่อเราไปถึงภาพที่เห็นสาวๆ ลำพูนอุทานออกมาพร้อมกันว่าน้ำหายไปไหนหมด ในทะเลสาบมีแต่ต้นหญ้ากับฝูงวัว ขับรถตรงไปที่แพกะว่าเขาจะมีอาหารขายมั้ยน้า ตอนนี้ท้องชักร้องเสียงดังแล้ว คนที่อยู่บนแพโบกไม้โบกมือ เราไม่เชื่อสายตาเดินลงไป ชัดแล้วแหละว่าไม่มีอาหารขาย ก็ใครจะมาเที่ยวหละ จากทะเลสาบกลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวไปเสียแล้ว

เก็บความสงสัยว่าน้ำหายไปไหนพร้อมๆ กับความหิว ขับรถย้อนไปหาข้าวกิน เจอร้านอาหารตามสั่งกินข้าวราดกระเพราไข่ดาว พร้อมมันทอด อิ่มหนำสำราญ ก็สอบถามแม่ค้ามันทอดได้ความว่าปีก่อนน้ำท่วมดอยเต่า ไม่มีที่ระบายน้ำ ปีนี้เขาก็เลยปล่อยน้ำลงเขื่อนภูมิพล ได้ความเช่นนี้เอง สายตาเหลียวมองเห็นร้านกาแฟก็เลยขยับก้นไปนั่งกินกาแฟแก้ง่วง สอบถามเรื่องน้ำในทะเลสาบอีก แม่ค้าร้านนี้บอกว่าเขาปล่อยไปให้คนภาคกลางทำนา พร้อมกับเสียงบ่นว่าภาคกลางทำนากันปีละหลายหน เราต้องเสียสละน้ำให้เขา นี่ก็อีกเหตุผลหนึ่ง.........................

จากดอยเต่ากลับมาลี้ ยังมีเวลาพอเราก็ศึกษาชุมชนไปเรื่อยๆ ขับรถไปตามถนนจะสังเกตเห็นป้ายวัดหลายๆ แห่ง สมกับเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนา แห่งสยามประเทศ ทีมเราก็เลยได้ข้อตกลงกันว่าจะไปเยียนวัดที่ไหนสักแห่ง เพื่อพัก ทำจิตใจให้สบายๆ ....ที่แท้ง่วงนอน ตามเส้นทางนี้มีวัดให้ท่องเที่ยวหลายแห่งตามที่บอกข้างต้น รวมถึงวัดบ้านปาง ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของครูบาศรีวิชัย ตนบุญที่ชาวล้านนาให้ความเคารพนับถือ ถ้าใครนึกไม่ออกก็ทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ก็เกิดขึ้นจากบารมีของท่านร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสร้างถนนขึ้นไปสักการะบูชาพระธาตุดอยสุเทพ สาธุชนจึงสร้างรูปปั้นของท่านไว้ทางขึ้น เพื่อให้ผู้ที่จะขึ้นไปไหว้พระธาตุ ก็แวะสักการะท่านก่อน ที่เล่ามานี่ไม่ได้ไปวัดบ้านปางหรอกนะ เพราะต้องย้อนไปอีก ตั้งใจไว้ว่าโอกาสหน้าจะไปให้ได้

ตกลงว่าเราก็มุ่งหน้าไปยังตัวอำเภอลี้ ซึ่งค่อนข้างเจริญพอสมควร เพราะว่าเป็นเส้นทางไปยังอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และเข้าสู่กรุงเทพฯ เลยจากตัวเมืองไปนิดหนึ่งก็เห็นวัดพระธาตุหนึ่งดวง เลยไปอีกเป็นวัดพระธาตุห้าดวง ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่โตพอสมควร เข้าไปข้างในวัด เงียบเชียบ มีศาลา โบสถ์หลายหลัง และกำลังมีการก่อสร้างเจดีย์เพิ่มเติม เจอศาลาพอดี เราสี่คนก็เข้าไปพึ่งวัด หาความสงบ แต่ก็นั่งคุยกันไปเรื่อยๆ ตามประสาสาว(โฉด)

เกือบชั่วโมง ครูดี (วรรณทิภา ปัญญากร) ปราชญ์ชาวบ้านในเครือข่ายเกษตรลุ่มน้ำลี้เช่นเดียวกับลุงสมัย ที่ช่วยค้นหาเด็ก และประสานงานกับผู้ปกครองบ้านแม่ตืนก็โทรศัพท์มาแจ้งว่าเสร็จธุระแล้ว พร้อมที่จะพาเราไปพบเด็กและกำนันตำบลแม่ตืน ก็รีบบึ่งรถมารับครูดีที่รออยู่ที่บ้าน ไปที่บ้านกำนัน แต่ก็ไม่เจอเด็ก เพราะว่าออกไปรับงานที่จังหวัดเชียงใหม่ จะกลับมาอีกทีวันที่ ๑๐ จึงได้ทำความเข้าใจกับกำนันและผู้ปกครองของเด็ก ว่าโครงการของเราจะเน้นการพัฒนาศักยภาพของเด็ก พาเด็กไปเรียนรู้ แต่ไม่ได้เน้นการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพราะว่าน้องเยาวชนที่แม่ตืนทั้ง ๓ คนมีความสนใจในด้านช่างเชื่อม และมีการเปลี่ยนตัว เมื่อไม่ได้พบตัวเยาวชนจึงไม่ได้พูดคุยว่ามีความสนใจมากน้อยเพียงใด และจะเป็นไปได้หรือไม่ในการเข้าร่วมโครงการ กำนันจึงอยากให้ทีมเราได้พบปะพูดคุยกับน้องๆ จึงมีการนัดหมายกันอีกครั้งในวันที่ ๑๐ เพื่อคุยกับเด็ก .....ติดตามอ่านได้จากเรื่องเล่าของสาวตุ๊กตาเด้อพี่น้อง

จากแม่ตืนกลับไปยังบ้านลุงสมัยที่อุดมพัฒนาอีกครั้ง พบลุงสมัย แต่แกก็รีบออกไปทำธุระก่อน พวกเราก็หมดแรงจากการเดินทางก็เลยสอดส่ายสายตาหาของกินในบ้านลุงสมัย แน่นอนว่ามีแต่ผลผลิตที่ปราศจากสารพิษ ที่ทำง่ายที่สุดก็เห็นจะเป็นส้มตำ เพราะมีอุปกรณ์พร้อมทั้งมะนาว มะเขือ พริกขี้หนู ที่ขาดไม่ได้ก็เป็นปลาร้า ไม่รอช้าตุ๊กตารีบไปเก็บมะละกอมาจัดการปลอก สับไม่นานก็ออกมาส้มตำอันโอชะ รองท้องก่อนที่ทีมแกนนำชาวบ้าน พร้อมทั้งน้องๆ เยาวชนจะเข้ามา ส้มตำเราก็หมดถาด เป็นอันว่าได้แรงจากส้มตำช่วยให้การประชุมดำเนินไปได้ราบรื่นในยามเย็นนี้



การพูดคุยจึงเริ่มขึ้นแบบเป็นกันเองที่ศาลาหน้าบ้านลุงสมัย เย็นนี้มีพ่อหลวงวิเชียร ชัยพูน ผู้ช่วยหลง แก้วพรหม และสอบต.บุญนำ อุตตะมาเข้าร่วมกับแกนนำเยาวชนทั้ง ๓ คือน้องรุ้ง น้องหนัน และน้องเฟริน์ ก็เล่าสิ่งที่น้องๆ อยากจะทำคือการเลี้ยงไก่โดยกลุ่มเยาวชน ตอนนี้มีการรวมกลุ่มประมาณ ๓๐ คน แต่คนที่สนใจเข้าร่วมมีประมาณ ๑๐ คน ซึ่งทั้งหมดเป็นน้องๆ ที่เรียนในระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย น้องรุ้งแกนนำกลุ่มตอนนี้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้เล่าว่าเหตุที่สนใจเลี้ยงไก่มาจากการมีส่วนร่วมในการทำวิจัยของชุมชนอุดมพัฒนา และทำบัญชีครัวเรือน ทำให้เห็นถึงข้อมูลการบริโภคไข่ไก่ในชุมชนซึ่งมีมากถึงวันละ ๑๕๐ ฟองต่อวัน ซึ่งไก่ที่เลี้ยงในชุมชนไม่เพียงพอในการบริโภคและได้นำจากที่อื่นมาจำหน่าย กลุ่มเยาวชนจึงมีความสนใจที่จะเลี้ยงไก่ไข่ และขี้ไก่สามารถนำไปขายเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย ส่วนแหล่งที่จะไปเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ก็เป็นครูที่โรงเรียน ซึ่งสามารถให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยง การดูแลได้ ในด้านสถานที่เลี้ยงไก่ก็จะใช้บริเวณบ้านของน้องรุ้งซึ่งปลูกพริกอยู่ข้างๆ บ้านลุงสมัย เพราะถ้าจะใช้สถานที่ของหมู่บ้านก็จะอยู่ไกลจากชุมชน ไม่สะดวกในการดูแล ในการเลี้ยงดูไก่น้องๆ บอกว่าสมาชิกทั้ง ๑๐ คนจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้ง


ส่วนทางด้านลุงสมัย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของเด็กๆ ซึ่งมักจะมาขอคำปรึกษาเป็นประจำ ที่บ้านของแกเป็นศูนย์ปราชญ์ท้องถิ่น จะมีพืชผักนับสิบชนิดในสวนลำไยแห่งนี้ มีอีเอ็มที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารอินทรีย์ให้แก่ไก่ได้ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารไก่ พ่อหลวงวิเชียร บอกว่าเด็กๆ มีความสนใจมาก ถามไถ่ตลอดว่าจะทำได้เมื่อไหร่ ทางชุมชนก็พร้อมให้การสนับสนุนเด็กๆ อย่างเต็มที่ ด้านสมาชิกอบต.บุญนำก็บอกว่าทางอบต.สามารถสนับสนุนได้ถ้าเยาวชนทำจริง และเห็นผลที่เป็นรูปธรรม อบต.ซึ่งมีงบประมาณในด้านการพัฒนาเยาวชนสามารถสนับสนุนงบประมาณในการขยายผลภายในชุมชนเพิ่มเติมได้

เมื่อได้เห็นข้อมูล และความตั้งใจของน้องๆ ทีมงานจึงได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ชุมชนว่าโครงการนี้อยากเห็นพลังของเด็กเยาวชนในการขับเคลื่อนสิ่งที่เขาอยากจะทำ โดยกิจกรรมนั้นได้ผ่านการคิดวิเคราะห์ความเป็นไปได้ จุดแข็ง จุดอ่อน และการให้คำแนะนำ ปรึกษาจากคนในชุมชนและทีมพี่เลี้ยง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน การหนุนเสริมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อหลวงกล่าวว่าชุมชนสามารถช่วยกันสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ได้ ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ก็หาได้ง่ายภายในชุมชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลงหุ้นเพื่อเป็นทุนในการเลี้ยง ในการเลี้ยงเริ่มแรกอาจเลี้ยงจากน้อยๆ เมื่อได้ผลทางอบต.สามารถสนับสนุนให้เกิดการขยายผลได้ สุดท้ายได้ฝากการบ้านให้น้องเยาวชนเขียนโครงการ จุดที่สำคัญคือ ทีมงาน การจัดการกลุ่ม บทบาทหน้าที่ การมีส่วนร่วมของชุมชนและความยั่งยืนของโครงการ

ทำความเข้าใจแก่น้องๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ ได้เวลาที่พยาธิในท้องเรียกร้อง ตามที่บอกไว้ว่ามื้อเย็นนี้พ่อหลวงจะแกงเห็ด และแกงหน่อไม้ (หักที่สวนลุงสมัยเมื่อเย็นนี้เอง) ทีมงานเราก็พากันอพยพไปกินอาหารเย็นที่บ้านพ่อหลวงด้วยฝีมือแกงเห็ด กับแกงหน่อไม้ของแม่หลวง ทำเอาพวกเรากินแบบไม่พูดไม่จา ไม่มิงหน้าใคร จ๊ำแล้วซดอร่อยอย่าบอกใครเชียว ตบท้ายด้วยมะละกอสดหวานจากสวนลุงสมัยเช่นกัน อาหารมื้อนี้ปลอดสารพิษ ไม่มีสิ่งเจือปน ต้องขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องทุกท่านที่ให้ความกรุณามื้อเย็นนี้ กินข้าวเสร็จก็คุยกันสัพเพเหระ สักพักขอตัวกลับ คืนนี้ไปอาศัยนอนที่บ้านตุ๊กตา .....บ้านไร่น้อยคอยรัก มาถึงสี่ทุ่มกว่าอาบน้ำนอน เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางของวันนี้ เจอกันใหม่ค้า.......

บ้านสันขะเจ๊าะ พะเยา
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๑

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ