กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เรื่องเล่าจากด้ามขวาน การพัฒนาเยาวชนเชิงพื้นที่ ตอนที่ 2 “ตามไปดู การเรียนรู้ของเยาวชน”
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในท้องถิ่น ภาคใต้มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวในตำบลต่างๆแตกต่างกัน บางพื้นที่เริ่มต้นวิเคราะห์ตัวเด็ก ครัวเรือน และชุมชนชัดแล้ว และมีกิจกรรมด้านอาชีพและกิจกรรมสร้างสรรค์ชุมชนเริ่มดำเนินการแล้ว บางพื้นที่ก็มีแผนหนุนเสริมเยาวชนค่อนข้างชัดเจน บางพื้นที่ยังต้องตามไปวิเคราะห์ตัวเด็กและเยาวชนที่เหลือเพิ่มเติม บางพื้นที่มีอบต.มาสนับสนุนและเริ่มขบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม แต่ในขณะที่บางพื้นที่อยู่ระหว่างเลือกตั้งนายกและสมาชิกอบต. จึงต้องพักยกรอการไปต่อเชื่อมกับอบต. แต่ก็ได้ไปต่อเชื่อมกับชุมชนและเยาวชนไว้พลางๆ

เรื่องเล่าต่อไปนี้ จึงเป็นการนำเสนอสถานการณ์ ข่าวคราว ความเคลื่อนไหว ในมุมมองการตีความ ให้คุณค่า ความหมาย ของทีมงานผู้ประสานงานพื้นที่ร่วมกันทั้ง 4 คน ได้แก่ สมโภชน์ นาคกล่อมอาจารย์จิรวิทย์ จำปาน้องราเชน บุญเต็มและน้องพงค์ศักดิ์ ปัญจะเภรี ที่แต่ละคนช่วยเขียน ช่วยแก้ไข เพื่อให้เป็นร่องรอยการเรียนรู้ และเป็นข้อมูลกลุ่มเป้าหมายก่อนเริ่มต้นปฏิบัติการ (base line data) ที่จะใช้เปรียบเทียบความก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลงในเดือนต่อๆไปโดยมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆดังต่อไปนี้


ความเคลื่อนไหวใน “อำเภอปากพนัง”

ธีรวุฒิ ย่านวารี : เยาวชนแกนนำตำบลคลองน้อย



วันที่ 21 กรกฎาคม 2551

ได้มีโอกาสไปหาน้องธีรวุฒิถึงบ้าน พร้อมด้วยอาจารย์จิรวิทย์ และน้องราเชน ผู้ช่วยผู้ประสานงานภาคใต้ เราใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ จากท่าเรือกว่าจะขับไปรับอาจารย์จิรวิทย์ที่ดักรออยู่ตำบลบางจากทางผ่านไปตำบลคลองน้อยและไปถึงบ้านแกนนำเยาวชนคนสำคัญของตำบลคือ ธีรวุฒิ ย่านวารีได้ ก็เมื่อยกันพอสมควร ลองคิดดูรถคันเล็กนิดเดียวแค่อาจารย์คนเดียวก็เต็มแล้ว แถมยังมีผมนั่งรั้งท้ายอีกจะเบียดกันแค่ไหน

ราเชนพาเราไปตามถนนสายนครศรีธรรมราช-ปากพนัง ตำบลคลองน้อยอยู่ระหว่างรอยต่ออำเภอเมืองและอำเภอปากพนัง จึงใช้เวลาไม่นานนักก็ถึงทางแยกไปสถานีอนามัยบ้านเปี๊ยะเนิน ซึ่งมีป้ายบอกทางประมาณ ๕ กิโลเมตร ขับรถเข้าไปได้ไม่ทันสุดสายถนนก็สิ้นสุดทางลาดยาง ต่อจากนี้ไปก็เป็นทางลูกรังถนนบด เราเลยป้ายวัดปิยารามไปไม่นานก็เจอสามแยก ธีรวุฒิพารถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาดักรอข้างถนนอยู่แล้ว จึงรีบลงจากรถราเชนเปลี่ยนคันทันที

เข้าซอยไปเล็กน้อยก็ถึงบ้านธีรวุฒิ วันนี้มีพ่อและแม่อยู่กันพร้อมหน้า แม่ธีรวุฒิเพิ่งกลับจากวัด แม้จะเข้าพรรษามาหลายวันแล้ว แต่ชาวใต้ยังไปวัดกันอย่างต่อเนื่องอีกหลายวัน หิ้วชั้น (ปิ่นโต) ไปถวายอาหารให้ลูกหลานพระบวชใหม่ ซึ่งทางใต้จะเรียกว่า “ต้น” การเข้าในชุมชนท้องถิ่น เราจะได้กลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่อยู่อย่างเห็นได้ชัด

เข้าไปที่บ้านพ่อแม่ธีรวุฒิยังไม่รู้จักเรา แต่อาศัยเทคนิคการพูดคุยกับชาวบ้านอย่างมืออาชีพของอาจารย์จิรวิทย์ที่ใช้วิถีเกษตรของชาวลุ่มน้ำนำร่องการพูดคุย ทำให้สามารถเปิดใจคนได้อย่างรวดเร็ว การชวนคุยของอาจารย์เหมือนมาถามไถ่เยี่ยมครอบครัวลูกหลาน เป็นการทำความรู้จักพ่อแม่ เราสังเกตการพูดคุย ชาวบ้านที่ทำการเกษตรมาตลอดอายุจะมีความรู้มาก การไปคุยกับชาวบ้านเราต้องมีภูมิที่เสมอกัน จึงจะคุยแล้วมันออกรสออกชาติอาจารย์เห็นวัวชนก็ชวนคุยเรื่องวัว เห็นธีรวุฒิเพิ่งสึกจากพระไม่นานก็ชวนคุยเรื่องลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว ทำให้ได้ข้อมูลครัวเรือนไปด้วยในตัว

บ้านธีรวุฒิทำเกษตรผสมผสาน มีทั้งการเลี้ยงวัว ตัวที่เราเห็นขุนด้วยหญ้ามา ๑ เดือนแล้ว มีเปลือกมะพร้าวที่เหลือจากการผ่าตากแดด เอาเนื้อมะพร้าวไปขายเป็นมะพร้าวแห้งได้ราคาดี สุมเป็นกองไฟให้ควันไล่เหลือบแมลงแก่วัวชนในตอนกลางวัน มีแปลงหญ้าปล้องขาวซึ่งจะยืนต้นยาวเหมาะกับสภาพพื้นที่ปากพนังที่น้ำท่วมขังอยู่หลังบ้าน มียาสมุนไพรไว้รักษาวัว รู้สึกจะเป็นลูกยอสุกที่พ่อธีรวุฒิดองให้วัวกิน ที่มีความรู้เรื่องการดองแฝงฝังอยู่มากมาย เช่น ถ้าให้ครบเครื่องดองยาวัว ต้องมีชุมเห็ด พาโหม ส้มเถาคัน ใบสวด เจ็ดหมูน ตาลหมอน ทุบแล้วดองไว้ ใช้แต่น้ำให้วัวกิน

ตอนนี้บ้านธีรวุฒิมีวัวอยู่ 4 ตัว เอามาเลี้ยงแล้วขุนขาย จากนั้นนำวัววัวชุดใหม่มาขุนต่อไปเรื่อยๆ พ่อธีรวุฒิยกตัวอย่างวัวตัวที่เห็นว่า ซื้อมาเมื่อ 1 ปีที่แล้วในราคา 10,000 บาท ถ้าขายตอนนี้ (หลังจากที่เลี้ยงมาปีหนึ่ง) จะได้ราคา 20,000 บาท แต่พ่อของธีรวุฒิยังไม่ยอมขาย วัวที่ขุนอยู่นี้หากเอาไปซ้อมชนเพื่อดูลักษณะความเป็นวัวชน คนบ่อนวัวเห็นท่าทางดี ก็จะได้ราคาดีหลายหมื่น วัวก่อนเอาไปซ้อม ต้องพาเดินออกแรงเช้าๆ คนจูงก็ได้ออกกำลังกายไปพร้อมกับวัวด้วย ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีตัวอย่างให้เห็นเป็นปู่ของธีรวุฒิ ซึ่งมีอายุ 84 ปีแล้ว ยังจูงวัวไปเดินเช้าๆทุกวัน ยังตัดหญ้า หาบหญ้าไหว แต่พ่อเห็นว่าแก่แล้วก็เลยให้หยุด

ความรู้เรื่องวัวเป็นความรู้ที่อยู่ในตัวตั้งแต่รุ่นปู่ ถ่ายทอดสู่รุ่นพ่อ และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่อย่างธีรวุฒิได้อย่างไม่ขาดตอน คนในบ้านนี้จะไปหาลูกวัวจากพื้นที่ในลุ่มน้ำปากพนังนั่นแหละมาเลี้ยง ส่วนแหล่งน้ำเชื้อวัวชนก็มีจากสำนักงานปศุสัตว์ปากพนัง ถ้าจะเอามาผสมให้แม่พันธุ์ก็ดี เพราะจะมีประวัติพ่อวัวเจ้าของน้ำเชื้ออยู่ทั้งสิ้น

วัวของครอบครัวที่มีอยู่ 4 ตัว ถูกแบ่งให้ดูแลกันคนละ 2 ตัว เป็นการแบ่งงานให้แต่ละคนไปทำ เวลาตัดหญ้ามาให้วัว ทำให้ไม่เป็นภาระหนักแก่พ่อซึ่งเริ่มมีปัญหาบ้างตามประสาคนอายุเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆแต่ความรู้ความชำนาญเรื่องการเลือกซื้อวัวไม่ลดลงตามอายุ พ่อธีรวุฒิเป็นคนดูวัวเก่ง บางทีซื้อมาวันเดียวเขามาขอซื้อต่อก็มี บางทีก็ซื้อมา 5,000 บาท เพื่อนบ้านมาขอซื้อ 6,000–7,000 บาท ก็ปล่อยขาย บางตัวเป็นวัวใหญ่ซื้อมา 13,500 บาท แต่สามารถเอามาขายต่อได้ราคาถึง 15,000 บาท

ความรู้เรื่องการซื้อวัว จากรุ่นพ่อได้ถ่ายทอดสู่ลูก ด้วยการขับรถไปส่งพ่อ ทำให้ได้เรียนรู้การดูวัวจากพ่อด้วย ความรู้เรื่องการซื้อวัวจะประกอบด้วย การดูลักษณะวัวเป็น รู้แหล่งซื้อ รู้จักคน ทำให้ได้วัวดี ได้ราคาดีด้วย จากความรู้ความชำนาญนี้ บางทีพ่อค้าต่างถิ่นก็ให้พาไปหาแหล่งซื้อวัว ก็จะได้ค่านายหน้าบ้าง

หลังจากซื้อวัวมาแล้ว ก็ต้องมีความรู้ภาคปฏิบัติในการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน ตอนนี้ให้หมอ (สัตวบาล) มาฉีดให้ในราคาเข็มละ 100-150 บาท พร้อมทั้งฉีดยาบำรุงอีก 1 เข็ม รวมเป็น 2 เข็ม ยาพยาธินี้ต้องฉีดกันไว้ก่อน แต่พอเลี้ยงไปเกิน 6 เดือนแล้วค่อยให้ยาสมุนไพรเสริมด้วย อาจารย์แนะนำว่าหากธีรวุฒิเป็นอาสาปศุสัตว์ ฉีดยาวัวได้ด้วย ก็จะดี เพราะธีรวุฒิเป็นอสม.ฉีดยาคนเป็นอยู่แล้ว

เราเห็นว่าซื้อวัวมาขุนได้ราคาดีอย่างนี้ ถึงถามว่าทำไมไม่เลี้ยงให้มากขึ้นตามประสาคนตาล่อ (ตาโตอยากได้เงิน) ได้ฟังเหตุผลที่ไม่เลี้ยงหลายตัวก็เพราะว่า หน้าน้ำท่วมจะมีปัญหาที่เลี้ยง ส่วนมากจะเลี้ยงแล้วขายหมดไม่เก็บไว้หลายตัวแล้ว ทำให้เข้าใจทันทีว่า การประกอบอาชีพต้องเชื่อมโยงกับสภาพภูมินิเวศ ดิน น้ำ ฟ้าของแต่ละพื้นที่ด้วย

นอกจากเลี้ยงวัวแล้ว ธีรวุฒิยังปลูกดีปลี (พริก) ไว้ 1,500 ต้น หรือประมาณ 2-3 ไร่ เว้นไว้ไม่ปลูกมากในช่วงนี้เพราะปุ๋ยแพง แต่ผักเราขายได้ราคาถูก และเหตุผลที่ไม่ปลูกหลายชนิดเพราะพื้นที่น้อยและปลูกขายส่งให้แม่ค้ามารับถึงที่หากปลูกหลายอย่างอย่างละเล็กละน้อย ต้องเอาออกตลาดเอง แต่พิจารณาดูแล้วถ้าเราเอาผักออกตลาดเองจะไม่คุ้ม เพราะระยะทางไกลพูดถึงเรื่องผักอาจารย์จิรวิทย์ก็นึกขึ้นได้ว่าแถวนี้มีศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์คนหนึ่งคือ ประสิทธิ์ ตุดเกื้อ เรียนปวส.จากเกษตรใส่ใหญ่แล้วไปต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปลูกผักหลายอย่าง อยู่หมู่ที่ 4 ไม่ไกลจากที่นี่นัก เดี๋ยวไปดูผักดูพื้นที่หลังบ้านธีรวุฒิแล้วจะได้ไปคุยด้วย

คุยกับพ่อ แม่ และธีรวุฒิได้พักใหญ่ เราได้ทราบว่าแถวนี้มีแต่น้องธีรวุฒิแหละอยู่ที่บ้าน คนอื่นเรียนอย่างเดียว แต่ธีรวุฒิเรียนกศน.ไปด้วยเลี้ยงวัวอยู่ด้วย ปลูกดีปลี เลี้ยงปลาในร่องบ่อ ฯลฯ ไปด้วย ได้ดูแลพ่อแม่ด้วยธีรวุฒิชอบเกษตร ชอบเลี้ยงวัวด้วย ก็เลยอยู่ติดบ้าน กรณีของธีรวุฒิได้ให้ความรู้แก่เราว่า การจะทำให้เยาวชนอยู่ติดถิ่น ขึ้นอยู่กับใจรักถิ่นของเยาวชนเอง และใจรักอาชีพเกษตรของพ่อแม่เยาวชนด้วย การอยู่ติดถิ่นนอกจากเราจะอธิบายได้ว่าสมองไม่ไหลออกไปจากท้องถิ่นแล้ว ยังอธิบายได้ว่า เยาวชนในถิ่นเหล่านี้มีบุญที่ได้อยู่ดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่าด้วย เป็นคุณค่าที่สวนทางกลับค่านิยมของสังคมที่อยากให้ลูกออกไปทำงานได้ดิบได้ดีนอกบ้านตัวเอง

นอกจากได้ความรู้จากบ้านธีรวุฒิแล้ว ครอบครัวธีรวุฒิยังเล่าว่า แถวนี้ที่หมู่ 7 มีคนเลี้ยงปลาบู่ส่งขายให้ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ กิโลกรัมละ 450-500 บาทเราพูดยังไม่ทันขาดคำน้าประสิทธิ์ จอมเสนา เจ้าของความรู้ก็มาที่บ้านธีรวุฒิพอดี ได้เล่าให้ฟังว่า ทำฟาร์มปลาบู่เอง เก็บพ่อ-แม่พันธุ์ที่แม่น้ำลำคลองไร่นาแถบนี้เอง เพราะถ้าไปซื้อลูกปลาจากสุพรรณบุรีราคาจะแพงมาก อีกอย่างกลัวว่าปลาจะแพ้น้ำที่นี่ (ปลาผิดน้ำ?) น้าประสิทธิ์บอกว่าเปรียบเทียบการเลี้ยงปลากระพง 500 ตัว กับปลาบู่ 300 ตัวแล้ว เลี้ยงปลาบู่ดีกว่าเพราะราคาดีกว่า

การพูดคุยทั้งของทั้งพ่อแม่ น้าประสิทธิ์ ทำให้เราเห็นว่าอนาคตของธีรวุฒิแทนที่จะเรียนให้จบกศน.แล้วไปทำงานอยู่โรงงานเหมือนพี่ น่าทำวิถีเกษตรที่เหมาะสมกับคนลุ่มน้ำให้คนอื่นเห็น โดยโค่นปาล์ม ปลูกมะพร้าว ปลูกส้มนาวรองรัง ใส่ปุ๋ยมะนาวได้ให้มะพร้าวกินด้วย

ชาวบ้านคลองน้อยอย่างบ้านธีรวุฒิและน้าประสิทธิ์ได้แสดงให้เราเห็นว่า เขตลุ่มน้ำไม่ใช่เน้นปลูกปาล์ม แต่ควรจะปลูกไม้ผล พืชผัก และเลี้ยงปลา จะดีกว่า โดยที่โคกปลูกมะพร้าวและมะนาว ในคูเลี้ยงปลา นี่เป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาเกษตรกรรมแถบลุ่มน้ำที่ชาวบ้านเองจะเป็นคนบอก คนนอกอย่างเราได้ฟังแล้วยอมรับโดยดุษณี

ตอนนี้พ่อธีรวุฒิได้เอากิ่งส้มนาวมาเตรียมไว้อยู่แล้ว ส่วนสวนมะพร้าวมีอยู่แล้วน่าจะปลูกมะนาวแซมได้เลย อาชีพเลี้ยงวัวขุนด้วยหญ้าแล้วปล่อยขายไปเรื่อยๆ บวกกับอาชีพทำมะพร้าวตากแห้งขาย ได้ราคากิโลละ ๒๐ บาท มีไม้ผล เช่น ส้มโอ อยู่ด้วย น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าอนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตร จะเป็นทางเลือกที่และมั่นคงได้อย่างไร

เราใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกับการพูดคุยแบบเป็นกันเอง พอจะเริ่มเข้าเรื่องการเมืองท้องถิ่นซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกอบต.ในต้นเดือนกันยายนนี้ อาจารย์จิรวิทย์ก็เป็นได้ทีขอตัวชวนธีรวุฒิไปดูแปลงหญ้า โคกปลูกพริกหลังบ้านทันที

เราผ่านแปลงหญ้าปล้องขาว ที่ขึ้นต้นยาวอยู่เต็มแปลงท่ามกลางพื้นที่ชื่นแฉะซึ่งอยู่หลังบ้าน ถัดไปเป็นต้นพริกที่สูงท่วมหัว จนตัวเราเข้าไปแล้วมองไม่เห็นคนแน่ แสดงให้เห็นว่าการดูแลรักษาและสภาพพื้นที่ของที่นี่เหมาะสมกับการปลูกมาก อาจารย์ตั้งคำถามเชิงท้าทายว่า ถ้าใส่ปุ๋ยตัดต้นให้แตกใหม่จะได้ผลผลิตรุ่นใหม่อีกรอบ แต่ธีรวุฒิยังไม่แน่ใจ ก็เลยได้ทีว่าตอนบ่ายนี้จะไปที่บ้านของพี่ประสิทธิ์ เจ้าพ่อผักแห่งคลองน้อย เป็นครูเกษตรให้คำแนะนำดูว่าจะได้หรือไม่

พื้นที่เขตแดนของครอบครัวธีรวุฒิด้านตะวันออก เป็นคูเล็กๆมีต้นจากขึ้นอยู่เต็ม สะท้อนให้เห็นความเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญขณะที่เราขับรถผ่านเข้ามา มีหลายบ้านตากใบจากไว้ริมถนน แล้วเอาไปแขวนไว้กับราวไม้เป็นแถวๆ อาชีพลอกใบจากก็เป็นอาชีพท้องถิ่นที่ยึดโยงอยู่กับธรรมชาติของคนที่นี่อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน ควบคู่ไปกับอาชีพหลักคือการทำนา หาปลา และปลูกผัก ทำสวนส้มโอ โดยเฉพาะส้มโอจากหมู่บ้านแสงวิมานของคลองน้อย มีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จัก มีแผงขายส้มโอและผลิตผล/ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองตั้งเรียงรายอยู่สองข้างทางถนนสายนครศรีธรรมราช-ปากพนัง ที่เรามาทางนี้ทีไรขากลับก่อนส่งอาจารย์ขึ้นรถเมล์กลับทุ่งสง ก็จะได้อุดหนุนทุกครั้งไป

เราออกจากบ้านธีรวุฒิก็มุ่งหน้าไปบ้านพี่ประสิทธิ์ ตุดเกื้อ หมู่ที่ 4 ผ่านบ้านเรือน สวนส้มโอ แปลงผัก ทั้งโหระพา พริก ฯลฯ มาหยุดอยู่แปลงปลูกบวบเหลี่ยมบนเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 5 ไร่ เล่นเอาเราตะลึงเพราะไม่เคยเห็นแปลงบวบใหญ่ขนาดนี้ในพื้นที่มาก่อน

สักพักพี่ประสิทธิ์พร้อมภรรยาที่ทำงานอยู่ลิบๆในแปลงบวบฝั่งขโน้นก็เดินมาหาพร้อมกับทักทายอาจารย์จิรวิทย์ว่ามาเหยียบถึงถิ่นเลยพี่ประสิทธิ์คนนี้แหละที่เราเจอเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่มาเยี่ยมพื้นที่คลองน้อย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ มทร.ศรีวิชัยคนหนึ่ง นึกไม่ถึงว่าจะได้โคจรมาพบกันอีกครั้ง

ผ่านไปหลายปี พี่ประสิทธิ์ก็ยังยึดอาชีพปลูกผักเหมือนเดิม แต่เพิ่มเนื้อที่และเปลี่ยนแปลงการผลิตจากใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์แทน ตอนนี้ที่บ้านเปิดเป็นร้านขายปุ๋ยด้วย เพราะสั่งมาใช้เองทีละมากๆ หากซื้อปลีกเป็นรายย่อยจะได้ราคาแพงกว่า

บวบของพี่ประสิทธิ์ ต้องจ้างคนเก็บวันละหลายคน แต่ช่วงนี้เหลือแค่ 2 คนเพราะผลผลิตที่ออกเยอะ หากเก็บขายพร้อมกันหมดราคาก็จะตก สิ่งที่น่าแปลกใจอีกอย่างหนึ่งคือ บวบเหลี่ยมต้องใช้ก้อนหินเล็กใส่ถุงมัดปากผูกไว้กับปลายผลบวบ เพื่อถ่วงไม่ให้บวบงอ จะได้รูปทรงสวย

อาจารย์จิรวิทย์ให้พี่ประสิทธิ์แนะนำให้ความเห็นว่าต้นพริกที่สูงใหญ่ของธีวุฒิถ้าตัดกิ่งและใส่ปุ๋ยใหม่จะได้หรือไม่ เพราะพี่ประสิทธิ์เป็นคนที่เชี่ยวชาญทั้งความรู้และการปฏิบัติมากกว่าอาจารย์ เป็นเชื่อมครูเกษตรในพื้นที่ให้แก่เยาวชน (จับคู่พี่เลี้ยง) ต่อไปความรู้เรื่องการปลูกผักที่ธีรวุฒิอยากจะทำ จะได้นำเอาประสบการณ์ของพี่ประสิทธิ์ไปใช้แบบเรียนลัด

เราคุยเรื่องผักแล้วก็เลยไปเรื่องการเมือง ทราบว่าพี่ประสิทธิ์เป็นอดีตประธานบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้อย (สมัยก่อนยังไม่เลือกนายกอบต.โดยตรง แต่เลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นประธานบริหาร) การทำงานสมัยนั้นพี่ประสิทธิ์ให้ความสำคัญเรื่องอาชีพ โดยเฉพาะการเกษตร ซึ่งเป็นพื้นฐานของคนลุ่มน้ำ

การเลือกตั้งคราวนี้ (วันที่ 7 กันยายน) ก็มีทีมที่พี่ประสิทธิ์แอบเชียร์อยู่ในใจ หากได้เป็นนายกอบต.ก็จะมีโอกาสเชื่อมโยงให้สนับสนุนกลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดของตัวเองมากขึ้น แต่หากการเมืองพลาดท่าอย่างไร อีกหน้าที่หนึ่งซึ่งพี่ประสิทธิ์สวมหมวกอยู่คือ “ประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยประจำตำบล” ซึ่งมีหน้าที่ต้องส่งเสริมความรู้ (จัดการความรู้) แก่เกษตรกรในพื้นที่อยู่แล้ว

พูดถึงเรื่องการเมือง มันก็เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ในชุมชนอย่างธีรวุฒิไม่ได้ การเมืองจะเปลี่ยน ชุมชนจะเปลี่ยน ก็เพราะมีคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสนใจในการพัฒนาคนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านพี่ประสิทธิ์และอาจารย์ยังแซวธีรวุฒิว่าตอนนี้ทำงานชุมชนในหมวกอสม. อปพร. ฯลฯ อยู่หลายหมวก ต่อไปคงจะได้สวมหมวกสมาชิกอบต.เป็นแน่แท้

เรื่องการเมืองท้องถิ่น ธีรวุฒิมีความเห็นว่า ตอนนี้ใกล้เลือกตั้ง คนสมัครก็ญาติๆกันทั้งนั้น ตนพูดอะไรไม่ออก ปากบอกสนับสนุนทุกคน แต่ก็มีเป้าหมายอยู่ในใจแล้วว่าจะเลือกใคร ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นขณะนี้ โดยทั่วไปสร้างความแตกแยกในชุมชน แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำให้เยาวชนเองก็เบื่อกับการเมืองได้เหมือนกัน

24 สิงหาคม 2551

ช่วงระหว่างที่ผู้ประสานงานพื้นที่ (สมโภชน์) ไม่ได้ลงไปคลุกคลีในพื้นที่ภาคใต้ อาจารย์จิรวิทย์ จำปา และน้องราเชน บุญเต็ม ทีมผู้ช่วยผู้ประสานงาน ได้ลงไปจัดการวิเคราะห์ตัวเยาวชนและครอบครัวเพิ่มเติม และได้สรุปเป็นข้อมูลของเยาวชนแต่ละคน เรื่องราวโดยสรุปของธีรวุฒิ ติดตามได้จากเรื่องเล่าของราเชน ดังต่อไปนี้ [1]

...ธีรวุฒิ ย่านวารี อายุ 23 ปี แกนนำเยาวชนตำบลคลองน้อย เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดกัลยาณมิตร และกำลังศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอปากพนัง

ช่วงแรก ธีรวุฒิทำงานช่วยเหลือที่บ้านและเรียนหนังสือไปด้วย พ่อของธีรวุฒิทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ช่วงหลัง 2-3 ปีมานี้ รู้สึกว่าตัวเองอายุมากขึ้น และงานสำรวจ งานเอกสาร การประชุมก็มากขึ้น จึงตัดสินใจลาออก และให้ลูกชายคือธีรวุฒิทำหน้าที่อสม.แทน

ธีรวุฒิบอกว่า เมื่อตนเองได้เข้ามาเป็นอสม. ก็ถือว่าดี แต่จริงๆแล้ว อสม.ผู้ชายไม่ค่อยจะมี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง เมื่อตนเองได้เข้าไปทำหน้าที่นี้ถือว่าเป็นความรู้ที่สามารถนำมาใช้กับตนเองและคนอื่นในครอบครัวได้ ทั้งความรู้จากการดูแลผู้ป่วยและความรู้จากการประชุม อบรมต่างๆ

เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ทางสถานีอนามัยได้ทำโครงการคุ้มครองผู้ป่วยเรื้อรังด้วยพลังเยาวชน โดยธีรวุฒิได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานของโครงการนี้ และทำหน้าที่เรื่อยมา ทั้งเรื่องการประสานงาน เก็บข้อมูล และเยี่ยมผู้ป่วย โดยเยาวชนที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยจะได้รับการอบรมเบื้องต้นให้สามารถแนะนำเรื่องการกินยาและการกินอาหาร (เป็นโรคอะไร และควรกินอาหารประเภทไหน ควรงดอาหารประเภทไหน)

เรื่องโครงการคุ้มครองผู้ป่วยด้วยพลังเยาวชนนี้ กาญจนา เทพแก้ว ซึ่งเป็นแกนนำเยาวชนคนหนึ่ง เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า นอกจากไปแนะนำแล้ว บางครั้งต้องพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยระบายความเครียด เพราะผู้ป่วยบางคนถูกลูกหลานทอดทิ้ง จึงเครียดมาก นอกจากพูดคุยช่วยทำให้ระบายความเครียดแล้ว ยังแนะนำให้ทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลงเบาๆ เป็นต้นด้วย

ตอนนี้โครงการฯ สิ้นสุดการดำเนินการแล้ว แต่กำลังเสนอโครงการเพื่อทำต่อไปอีก เพราะผลที่ได้รับถือว่าดี นอกจากเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนแล้ว ผู้ป่วยก็มีการตอบรับที่ดี และสิ่งสำคัญคือ ทำให้เยาวชนรักบ้านเกิดมากขึ้น รักพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มากขึ้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ปลูกฝังอยู่ในจิตสำนึกแล้ว ต่อไปปัญหาก็ก็คงจะลดน้อยลง

หันไปมองด้านส่วนตัว คืองานด้านการเกษตรที่ช่วยเหลือครอบครัวอยู่ในขณะนี้ ธีรวุฒิมีอาชีพหลักคือ การเลี้ยงวัวและปลูกผัก ส่วนพี่ชายก็ทำงานอยู่ที่จังหวัดชลบุรี 3 คน ส่งเงินมาช่วยเหลือครอบครัวอยู่เรื่องๆ ธีวุฒิเองก็ช่วยทุกกิจกรรมที่บ้าน เพราะพ่อแม่ก็แก่และไม่ค่อยสบาย โดยกิจกรรมสำคัญคือการขุนวัวตัวผู้ที่มีเลือดวัวชน เริ่มต้นจากไปหาซื้อวัวที่มีอายุประมาณ 2-3 ปี ราคาประมาณ 10,000 บาทต้นๆ มาขุนเป็นเวลา 1 ปีเพื่อให้ขายได้ราคาประมาณ 20,000 บาท

เวลาไปซื้อธีรวุฒิก็จะไปกับพ่อ เพราะมีเทคนิคการดูวัวและการต่อรองราคา พ่อของธีรวุฒิบอกว่าบางตัวซื้อมาในราคา 13,000 บาท กลับมาถึงบ้าน พ่อค้าที่ฆ่าวัวเพื่อขายเนื้อซื้อต่อในราคา 14,000 บาท ถือว่าได้กำไร 1,000 บาทโดยไม่ต้องเสียเวลาขุนเลย บางครั้งไปเลือกวัวตัวที่ชอบได้แล้วแต่คนขายให้ราคาแพงเกินไป ก็ต้องต่อรองราคาลงมาให้ได้กำไรเมื่อกลับไปถึงบ้าน (แล้วขายต่อ) อย่างน้อย 500 บาทเราสามารถสรุปขั้นตอนการขุนวัวเนื้อของธีรวุฒิได้ดังนี้

1)ถ่ายพยาธิ โดยใช้ยาถ่ายพยาธิของโค โดยฉีด 6 เดือนครั้ง ถ้าไม่ฉีดก็ใช้ยาเบนด้า 500 และยาดองควบคู่กันไป ยาดองที่มีส่วนผสมของลูกยอดองเกลือ ช่วยเป็นยาบำรุง ทำให้โคกินหญ้าดี ที่สำคัญการถ่ายพยาธิแก้โรคตาลจุก (ท้องอืด) ได้

2)อาบน้ำ (ทุกวัน) และให้กินหญ้าตลอดวัด รวมทั้งกลางคืนด้วย ในช่วงกลางวันจะก่อไฟให้เพื่อป้องกันเหลือบมากินเลือดวัว กลางคืนก็ก่อไฟเพื่อป้องกันยุง และมีมุ้งป้องกันด้วย

ในการขุน จะขุนครั้งละ 3-4 ตัว ปลูกหญ้าปล้องขาวไว้ 1 แปลง พื้นที่ 1 ไร่ ธีรวุฒิจะเป็นคนตัดหญ้าให้กินเอง นอกจากว่ามีธุระพ่อก็จะทำแทน วัว 1 ตัวกินหญ้าแต่ละวันถ้าคิดเป็นน้ำหนักสดประมาณ 50-70 กิโลกรัม

เมื่อก่อนที่บ้านธีรวุฒิปลูกผักหลายชนิดในพื้นที่ยกร่องหลังบ้าน (จำนวน...ร่อง ขนาด....) มีทั้งคะน้า กวางตุ้ง ผักชี ผักกาดขาว แต่ผักเหล่านี้ต้องใช้สารเคมีมาก จึงเริ่มลดปริมาณการปลูกลง ตอนนี้ไม่ปลูกแล้ว หันมาปลูกผักประเภทผักบุ้งแทน เพราะเป็นผักที่โตเร็ว ไม่ค่อยมีศรัตรูพืช เราจึงไม่ต้องใช้ยา เป็นความเอื้ออาทรที่เราคำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภคเป็นหลัก

ปีนี้ ธีรวุฒิปลูกพริกขี้หนู ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และเตรียมแปลงปลูก ขุดหลุมกว้างประมาณ 30 x 30 ซม. ผสมปุ๋ยคอก เมื่อต้นกล้าอายุได้ 1 เดือน ก็นำมาปลูกได้ โดยปลูกหลุมละ 2-3 ต้น และเด็ดยอดก่อนปลูก

พันธุ์พริกที่ใช้เป็นพันธุ์ซี มีข้อมดีคือต้านทานโรคกุ้งแห้งได้ดีกว่าพันธุ์ทั่วไป มีอายุการเก็บเกี่ยวนาน และขายยได้ราคาดีกว่าพริกอื่นๆถึงกิโลกรัมละ 5-10 บาท แต่ก็มีข้อเสียคือขั้วผลจะเหนียวเก็บเกี่ยวได้ยากกว่าพันธุ์ดอกสน

การดูแลรักษาพริก ช่วงแรกต้องรดน้ำทุกวันจนต้นพริกเริ่มตั้งตัวได้ ช่วงหลังก็รดน้ำ 2-3 วันครั้ง โดยใช้เครื่องสูบน้ำหลังจากปลูกไปแล้ว 15 วัน ก็ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในปริมาณ 1 ช้อนแกงต่อหลุม และใส่ปุ๋ยคอกเสริมเมื่อพริกเริ่มออกดอก ให้ใส่ปุ๋ย 46-0-0 และสูตร 13-13-21 ผสมกันในอัตราส่วน 1:3 ใส่ในปริมาณ 1 กำมือต่อหลุม แต่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตชุดแรกแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตรหลังนี้ในอัตรา 1 ช้อนแกงต่อหลุม

รายได้เฉพาะของธีรวุฒิ เกิดจากการขายวัวขุนปีละ 2-3 ตัว ได้กำไรประมาณ 20,000 – 30,000 บาทจากการปลูกพริกและผักปีละประมาณ 15,000 บาทรายได้อื่นๆจากการทำหน้าที่อสม. (เบี้ยเลี้ยง เงินประชุม ฯลฯ) ประมาณเดือนละ 500-1,000 บาท

การพัฒนาอาชีพในอนาคต ตอนนี้ธีรวุฒิกำลังหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต โดยมองไปที่ปัญหาหลักคือปุ๋ยมีราคาแพง จึงคิดว่าจะหมักปุ๋ยใช้เอง และจะปลูกมะนาวเพิ่มให้มากขึ้น ตอนนี้มีกิ่งมะนาวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว

ธีรวุฒิถือว่าเป็นแกนนำในตำบลคลองน้อยคนหนึ่ง ที่ทำการเกษตรที่บ้าน แม้จะไม่ใช่อาชีพส่วนตัว แต่ก็เป็นการช่วยเหลือครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยเหลืองานชุมชน เป็นคนที่ขยันทำงาน มีจิตสาธารณะ เสียสละ และจัดสรรเวลาเพื่อภารกิจส่วนตัวและภารกิจส่วนรวมมาโดยตลอด


ธีระพงษ์ หนูแก้ว : เยาวชนแกนนำตำบลคลองกระบือ[2]

ธีระพงษ์ “ลูกหลานเกษตรกรผู้รักถิ่น”ตอนนี้อายุ 21 ปี เป็นแกนนำเยาวชนตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรราช ที่พยายามทำการเกษตรปลอดสารพิษ และหวังอย่างยิ่งว่าจะมีคนทำตามหรือขยายผลได้ในอนาคต ตอนนี้กำลังทำเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนในครอบครัวและญาติพี่น้องก่อน

ธีระพงษ์เล่าให้ฟังว่า ตนเองไม่มีความรู้เรื่องเกษตร แต่อาศัย “ทำไปก่อนเพื่อลองผิดลองถูก”แล้วค่อยหาความรู้ สกัดความรู้จากผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านที่เขาทำแล้วประสบผลสำเร็จ ดีกว่าปล่อยให้พื้นที่ไร่นารกร้างว่างเปล่าอยู่ เมื่อเราทำของเราให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ปลูกผัก เลี้ยงปลา มีรายได้เพิ่มขึ้น คนอื่นที่อยู่ละแวกใกล้เคียงก็คงเห็นความสำคัญขึ้นมาบ้าง

ตอนนี้ธีระพงษ์กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อถูกถามว่าเรียนจบแล้วจะไปทำงานที่อื่นหรือเปล่า ธีระพงษ์ตอบว่าไม่ไปหรอก อยู่บ้านเราสบายกว่าเยอะ เคยไปฝึกงานที่กรุงเทพฯ 2 ครั้งแล้วรู้สึกว่าเป็นเมืองที่มีแต่ความวุ่นวาย รถก็มาก ฝุ่นละอองมาก และอากาศก็ไม่ดี แตกต่างจากบ้านเราโดยสิ้นเชิง

การอบรมเรียนรู้และเติมเต็มความรู้ ธีระพงษ์เคยไปฝึกอบรมเกษตรกรอาสา ณ วัดป่ายาง ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช กับพระสุวรรณ คเวสโก ผู้รู้ท้องถิ่นคนสำคัญด้านการเกษตรและสวัสดิการภาคประชาชนภาคใต้ ธีระพงษ์สะท้อนให้ฟังว่า หลังจากไปอบรมมาแล้ว ก็มีความรู้เพิ่มในทุกๆเรื่องตามฐานการเรียนรู้ที่วัดมี แต่การนำมาทำให้ได้จริงๆไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่ที่ได้เรียนรู้แล้วสามารถมาทำได้เลยคือ “การทำปุ๋ยหมัก” เพราะทำได้ง่ายและมีทุนในแปลงเกษตรของตัวเองอยู่แล้ว

จากการลงพื้นที่เพื่อไปดูไร่นาของธีระพงษ์ ซึ่งมีประมาณ 5 ไร่ มีบ่อเลี้ยงปลาใหญ่ๆ 2 บ่อ คือ บ่อเลี้ยงปลานิล 1 บ่อ และอีกบ่อหนึ่งเลี้ยงปลาดุก ซึ่งเพิ่งจะปล่อยลูกปลาได้ไม่นาน เขาปล่อยลูกปลาไว้ 100,000 ตัว แต่เป็นปลาที่มีขนาดยังเล็กมาก ถือว่าเป็นระยะที่ต้องอนุบาล ทำให้ปลาที่เลี้ยงตอนนี้เหลือน้อยเต็มทีแล้ว

กรณีการเลี้ยงปลาดุกของธีระพงษ์ทำให้เราเห็นว่ายังขาดความรู้ก่อนทำ ทั้งการเลี้ยงปลาและการปลูกผักบางอย่าง ดังนั้น น่าจะให้ธีระพงษ์ได้ไปเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น อาจจะไปดูงานที่สองชายฟาร์ม หรือบ้านลุงช่วง สิงโหพล ที่อำเภอพระพรหม เป็นต้น เพื่อกลับมาทำแล้วมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อมีความรู้ชัด ก็กล้าที่จะลงทุนว่าทำไปแล้วจะมีกำไรที่ดีหรือคุ้มค่ากับการลงแรง และช่วยพัฒนาเป็นอาชีพต่อไปในอนาคตได้

กิจกรรมช่วยเหลือครอบครัว ธีระพงษ์มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน รวมทั้งตัวธีระพงษ์เองด้วย พ่อของธีระพงษ์ก็มีอาชีพทำนา แม่ก็มีอาชีพค้าขาย โดยขายปลา ขายผักที่ธีระพงษ์หาได้ รวมทั้งผักที่ปลูกเอง และรวบรวมจากเพื่อนบ้านออกขายตลาดปากพนัง เพื่อให้น้องๆได้เรียนหนังสือ ธีระพงษ์ในฐานะพี่ชาย จึงต้องดิ้นรนทำงานส่งตัวเองเรียนและจุนเจือครอบครัว

ธีระพงษ์ จะไปดักปลาในอ่างเก็บน้ำของการประปาซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไม่มากนัก การดักจะใช้อวนดักทุกวันๆ ละ 7-8 หัว ไปดูอวนวันละ 2 ครั้ง ได้ปลาวันละ 8-10 กิโลกรัม ปลาที่ได้ส่วนมากจะเป็นปลานิล นอกจากนี้ยังเลี้ยงวัว เลี้ยงปลาในบ่อดิน ทำนา และปลูกพืชผักหมุนเวียนอยู่ตลอด

วัวที่เลี้ยงมีทั้งหมด 14 ตัว จะเลี้ยงแบบปล่อยให้กินหญ้าในทุ่งนา เพราะพื้นที่รกร้างยังมีมาก ในปีหนึ่งๆ จะขายวัวได้ 4-5 ตัวการปลูกผักส่วนมากจะเป็นผักอายุสั้นพวกแตงและผักชนิดอื่นๆ เน้นปลูกน้อยๆแต่หลากชนิด เพราะธีระพงษ์จะได้ให้แม่นำไปขายเองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วงที่ผ่านมาก็ทำปุ๋ยหมักแห้งและปุ๋ยหมักน้ำใช้กับแปลงผักเพื่อลดต้นทุน

รายได้ของครัวเรือน แม่ของธีระพงษ์ขายปลาที่ตลาดรวมทั้งผัก มีรายได้วันละประมาณ 300-400 บาท ส่วนธีระพงษ์เองก็ดักปลามีรายได้วันละ 300-400 บาท แต่เงินที่หาได้ก็จะนำมาช่วยเหลือครอบครัว

กิจกรรมช่วยเหลือชุมชนได้เคยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาของตำบลคลองน้อย โดยเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน และเข้าร่วมกิจกรรมจิตสาธารณะ เช่น พัฒนาหมู่บ้านในวันสำคัญ เดินรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ เดินวิ่งเพื่อสุขภาพ และการปลูกป่าชายเลน

ธีระพงษ์มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อขยายผลให้คนในชุมชนได้ทำและได้เรียนรู้ เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นทางออกที่หลีกการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี เป็นหนทางแห่งความยั่งยืนในอนาคต

มิติด้านคุณธรรมในครอบครัว อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ครอบครัวของธีระพงษ์มีน้องๆเรียนหนังสืออยู่ถึง 5 คน ดังนั้น พ่อแม่ของธีระพงษ์และทุกคนในครอบครัวจึงต้องประหยัดและขยันช่วยเหลือทำงานที่บ้าน

ธีระพงษ์ยังมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งซึ่งรู้จักกันตอนที่ธีระพงษ์อยู่ที่วัด เรียกได้ว่าเพื่อนคนนี้เป็น “คู่หู คู่งาน” เพราะจะมาช่วยงานที่บ้านธีระพงษ์ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการไถนา ปลูกผัก หรือดายหญ้าในสวน ธีระพงษ์จึงชวนมาอยู่ที่บ้าน เพราะเพื่อนครอบครัวแยกกันคนละทางตัวเองจึงไปอาศัยอยู่กับหลวงตาที่วัด แม่ธีระพงษ์ก็มีความเอื้ออาทร ได้ส่งเสียให้เพื่อนได้เรียนหนังสือด้วย

ธีระพงษ์พยายามดึงหลานๆให้เข้ามาช่วยงานในสวน ทั้งการปลูกผัก ดายหญ้า เน้นการทำผักอินทรีย์ที่เขาพยายามปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็กๆ รักการทำเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งเด็กๆก็ทำกันสนุกสนานดี ธีระพงษ์ยังเล่าให้ฟังว่า ครูเขาก็ชอบใจมากๆที่เห็นลูกศิษย์มีน้ำใจและช่วยเหลืองานที

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ