กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
โครงการเสริมศักยภาพและสร้างเยาวชนนักจัดการชุมชนและตนเอง จังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลา
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

บริบทของเด็กและเยาวชน บนกระแสการพัฒนา


ท่ามกลางกระแสความทันสมัยและการพัฒนา ที่ถาโถมเข้าใจทุกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชุมชนท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่นับวันผู้คนในชุมชนจะพึ่งพาอิงอาศัยใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่ที่กินได้น้อยลงและความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม ที่ผู้คนมีวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ความเชื่อ ที่ให้ความสำคัญกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ สร้างฐานะทางเศรษฐกิจ โดยยึดถือเงินเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต ชุมชนขาดเอกลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเอง ขาดหลักคิด หลักยึด ไม่สามารถรู้เท่า รู้ทัน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

ทำให้ชุมชนท้องถิ่นปัจจุบัน เผชิญศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพ ซึ่งส่วนมากเป็นภาคเกษตรการศึกษาและการเรียนรู้การจัดการความมั่นคงทางการเงิน สุขภาพอนามัย ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ขาดคนจัดการชุมชนในหลากหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ชุมชน หรือเครือข่าย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญ และกำหนดอนาคตการพัฒนาของหมู่บ้าน ตำบลในยุคต่อไป

จากการลงสัมผัสความสามารถในการปรับตัวต่อกระแสความทันสมัยและการพัฒนา เราพบว่าคนรุ่นเก่าหรือผู้อาวุโส ยังมีหลักคิด หลักยึด และหลักปฏิบัติที่เน้นความประหยัด พอเพียง และมีอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่เป็นฐานรากสำคัญคอยค้ำจุนสังคมอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ขาดความสามารถในการเข้าใจและปรับตัวเข้ากับคนรุ่นใหม่

ส่วนคนรุ่นใหม่หรือเด็กและเยาวชน แม้จะรับรู้และอยู่กับโลกของความทันสมัยและการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขาดวิจารณญาณในการใช้ประโยชน์กับความทันสมัยและการพัฒนานั้น ดังเราจะเห็นได้ชัดว่า ปัญหาของวัยรุ่นมีหลากหลาย ซับซ้อน และนับวันจะเป็นที่เข้าใจยากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนไหวทางอารมณ์ อบายมุข ยาเสพติด เพศ ฯลฯ และที่สำคัญคนรุ่นใหม่ยังไม่สามารถมีที่ยืนในชุมชนตนเองได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะทางสังคม

ในขณะเดียวกัน องค์ความรู้จากการทำงานขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา โดยโช้แนวคิด หลักการ และเครื่องมือของการจัดการความรู้และการวิจัย ที่เน้นการสร้างคนและกลไกในสังคมให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาลส่วนราชการต่างๆ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ นายอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสถาบันการศึกษาและการขัดเกลาทางสังคม เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน วัด พบเยาวชนในพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ซึ่งฐานและทุนที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ หากมีการต่อยอด เสริมกระบวนการเรียนรู้ และสนับสนุนการลงมือปฏิบัติที่ดี ก็จะเป็นตัวอย่างที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและขยายผลสู่ความเปลี่ยนแปลงของครอบครัว กลุ่ม และชุมชนได้

คนรุ่นใหม่ในฐานะทุนทางสังคม

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านเกษตรในสาขาวิชาต่างๆ เช่น พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีภูมิทัศน์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา ยกระดับอาชีพการเกษตรของชาวบ้าน

แม้แต่ละปีมีบัณฑิตจำนวนมากที่จบการศึกษา แล้วอาศัยช่องทางต่างๆในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพด้วยความขยันขันแข็ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน ราชการ ธุรกิจส่วนตัว และการกลับไปประกอบอาชีพเกษตรที่บ้าน

เส้นทางชีวิตของบัณฑิตเหล่านี้ สุดท้ายปลายทางคือการกลับไปใช้ความรู้เกษตรที่บ้าน ไม่ว่าจะผ่านประสบการณ์จากภาคราชการหรือธุรกิจมาหลายปีก็ตามแต่ก็มีบัณฑิตจำนวนหนึ่งซึ่งมีเป้าหมายชีวิตชัดเจน มีฐานทางอาชีพที่บ้านซึ่งสอดคล้องกับปริญญาที่จบการศึกษาด้านเกษตรมานอกจากจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ กลับไปใช้ชีวิตเป็น “บัณฑิตเกษตรเพื่อท้องถิ่น” แล้ว ยังสามารถเป็นที่พึ่งของคนในชุมชน ทำหน้าที่เป็นคนสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรของชาวบ้าน หรือเป็น “นักจัดการความรู้ในท้องถิ่น”ได้อีกด้วย

โดยเฉพาะลูกหลานเกษตรกรภาคใต้ ส่วนมากจะมีฐานอาชีพของพ่อแม่ ที่เอื้อต่อการกลับคืนถิ่น ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สภาพดินฟ้าอากาศ หรือความต้องการด้านการตลาดเอง แต่สิ่งที่ขาดไป คือปรับฐานคิดของชุมชนและฐานคิดของบัณฑิตเองให้มีความเชื่อมั่น และที่สำคัญยังขาดการพิสูจน์ให้เห็น และขาดการชูประเด็นคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น ให้เป็นกรณีเรียนรู้ที่ชัดเจน

ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งประกอบอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลายในรูปแบบของ “เกษตรผสมผสาน” ทั้งเลื้ยงสัตว์ ทำนา ประมง แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรอีกทั้งมีวัฒนธรรมที่น้อมนำ ยึดโยง และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในตำบลได้ดีอย่าง “รำวงเวียนครก”

มีบัณฑิตคืนถิ่นรุ่นใหม่ ที่กลับมาอยู่กับครอบครัว กำลังก่อร่างสร้างตัว และพิสูจน์ใจตนเอง พิสูจน์ฐานทางเศรษฐกิจให้คนในชุมชนยอมรับ เช่น ครอบครัวพุ่มหอม(ลูกหลานกับการสานต่ออาชีพเลี้ยงวัว) ครอบครัวรัศมีประกาย (บัณฑิตที่กลับคืนมาหาทางยกระดับการผลิตของครอบครัว)ครอบครัวบุญเต็ม (บัณฑิตเกษตรที่กำลังจะกลายเป็นผู้นำรุ่นใหม่ทั้งด้านเกษตร วัฒนธรรม เด็กและเยาวชน)ครอบครัวปัญจเภรี (บัณฑิตที่แม้ไม่ได้จบการเกษตร แต่เป็นนักปฏิบัติ ยืนหยัดทำการเกษตรกับครอบครัว)

นอกจากนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน โดยอาศัยการศึกษานอกระบบ และการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่ที่ ๑๒ บ้านหนองหนอน ที่มีโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร และมีผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ (คนดี คนเก่ง ด้านการเกษตร) จำนวนมาก ที่พร้อมจะเป็นที่ปรึกษา และพากันก้าวเดินไปด้วยกัน

ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการเกษตรของตำบลถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆของอบต.มีศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ เป็น “นักจัดการความรู้อยู่ในหมู่บ้าน”มีคนรุ่นใหม่ที่อาศัยเป็นกรณีตัวอย่างทางการเกษตรได้ อย่างครอบครัวจันทร์สีทอง ที่ทั้งผลิตและทั้งจำหน่ายผักปลอดภัยในเครือข่ายกันเอง

ที่สำคัญความพร้อมทางด้าน “โครงสร้างทางการเมือง” ที่ผู้นำทั้งผ่ายท้องถิ่น (อบต.) และฝ่ายท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งพร้อมจะให้ความร่วมมือสนับสนุน เป็นทุนด้านกำลังคนที่สำคัญ เช่น หมู่ที่ ๓ มีสภาเยาวชนระดับหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการเอื้ออำนวยจากผู้ใหญ่บ้าน ให้ใช้ที่ดินสาธารณะเพื่อรวมตัวกันทำการเกษตร อันเป็นโรงเรียนเกษตรที่สามารถเรียนรู้วิชาชีพ วิชาชีวิต และวิชาชุมชนไปพร้อมกัน

อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มเป้าหมายที่ได้ผ่านการปรับฐานคิด ฐานจิต ฐานใจมาระดับหนึ่งแล้ว และมีเส้นทางชีวิตที่อยู่ในชุมชนแน่นอน เช่น ลูกหลานบัณฑิตเกษตร และบัณฑิตคืนถิ่นสาขาอื่นๆ ของ “กลุ่มสร้างสุขไสต้นทง” ที่หันกลับมาอาศัยอาชีพ ที่ดินของพ่อแม่ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ทำปุ๋ย อยู่อย่างพอเพียง และเป็นกำลังสำคัญของชุมชน จัดกิจกรรม ออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชน (โรงเรียนชีวิตของเยาวชน) และครอบครัว (โรงเรียนพ่อแม่)ทั้งนี้อาศัยวัฒนธรรมและกิจกรรมงานบุญ ประเพณี เทศกาลต่างๆ เป็นเครื่องมือเชื่อมร้อยคนในชุมชน

แต่โจทย์ของการขยายผลและการยกระดับให้เห็นความชัดเจนในฐานด้านเศรษฐกิจ การขยายผลสู่กลุ่มใกล้เคียงอื่นๆ และการพัฒนาตนเองเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถนำพาชุมชนให้รอดพ้นและต่อเนื่องยั่งยืนในอนาคต ยังต้องการการหนุนเสริมอีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ มีครอบครัวเกษตรอินทรีย์ที่ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งด้านเกษตรให้แก่ลูกหลานของตนเองและคนรุ่นใหม่อื่นๆ เช่น ครอบครัวมาศเมฆ (ผักอินทรีย์ที่ส่งต่อให้กับลูกชายได้ทั้งครอบครัว) ครอบครัวโกกิฬะ (จากผู้จัดการโรงแรมสู่ครอบครัวมะนาวอินทรีย์) ครอบครัวศิริเสน (การเลี้ยงปลาเป็นอาชีพหลักซึ่งขยายผลสู่ครอบครัวคนรุ่นใหม่อื่นๆในอำเภอ)

อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากจะมีตัวอย่างที่ดี เป็นที่เรียนรู้ให้แก่เครือข่ายเด็กและเยาวชนด้วยกันแล้ว การเสริมการเรียนรู้และทักษะชุมชนให้กับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและจะเป็นการสร้างบัณฑิตนักจัดการความรู้ชุมชนได้เป็นอย่างดี เช่น กรณีของศักดิ์นรินทร์ ธราดลวิศิษฎ์ ศิษย์พ่อท่านสุวรรณ คเวสโก ผู้รู้และนักปฏิบัติด้านเกษตรธรรมชาติ วัดป่ายาง ซึ่งจะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่พิสูจน์ใจตัวเองอยู่กับบ้าน วัด และชุมชน ที่ตำบลท่างิ้วหรือกรณีกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ได้รับการหนุนเสริมความเข้มแข็งจากอบต.ปากพูนในรูปของกิจกรรม “วันเอกภาพครอบครัว” หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปแต่ละหมู่บ้าน

ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อาศัยการลงลึกและต่อเนื่องของอบต.ท่าข้าม ที่สามารถเป็น “คุณเอื้อ” ทั้งเอื้องบประมาณและโอกาสในการปฏิบัติจริงในพื้นที่ ทำให้มีกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็น “คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ไร้ราก” ทำงานเป็นอาสาสมัครชุมชนในตำบล อย่างกลุ่ม “มหัศจรรย์จิ๋ว” ที่พิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม เก็บขยะในหมู่บ้านหรือทีมงาน “วิทยุชุมชนเด็ก” ซึ่งจะเป็นแหล่งมั่วสุมกันสั่งสมประสบการณ์และฐานชีวิตให้กับตนเอง

นอกจากนี้ มีกลุ่มเด็กและเยาวชนที่สนใจเป็นอาสาสมัครรักบ้านเกิด (นักศึกษามอ. และสถาบันการศึกษาอื่นๆในสงขลา) ที่ต้องการพื้นที่แห่งการทำดีในรูปของพี่ช่วยน้องในตำบลและมีเครือข่ายสถานศึกษา ที่พยายามขับเคลื่อนการเรียนรู้ตนเองของนักเรียนและเยาวชนนอกระบบใน “ประเทศท่าข้าม” โดยการเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาอบต.

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญและขาดหายไป คือการหนุนเสริมการเรียนรู้ ในรูปของเวทีพัฒนาศักยภาพ เป็นพี่เลี้ยง และเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงาน กลุ่ม หรือองค์กรจากภายนอก ที่จะเป็น “พันธมิตร” สำคัญในการพัฒนาประเทศของ “กระทรวงเด็กและเยาวชน”

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน ให้พิสูจน์ตนเองในฐานทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีในชุมชนของตนเอง (ประโยชน์ตน)
  2. เพื่อสร้างนักจัดการความรู้รุ่นใหม่ในชุมชน ที่สามารถเป็นทั้งผู้ปฏิบัติการเอง (คุณกิจ) และสามารถขยายผลการเรียนรู้สู่กลุ่มเป้าหมายอื่นในชุมชน (คุณอำนวย) อย่างได้ผล (ประโยชน์ท่าน)
  3. เพื่อสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน ในพื้นที่เป้าหมายให้สามารถเชื่อมโยง เรียนรู้ และพัฒนาจากกันและกัน และสามารถเชื่อมโยงผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ และทรัพยากรต่างๆ และช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว


กลุ่มเป้าหมาย

ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะเป็นหัวเชื้อนำในการปฏิบัติเป็นตัวอย่างในระยะแรกๆ และกลุ่มเป้าหมายรองซึ่งจะร่วมเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมายหลักและเริ่มต้น“ขยายผล”การทำงานของตัวเองตามความเหมาะสม รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๑๓๐ คน ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๐ ตำบล คือ

  1. บัณฑิตนักปฏิบัติปีที่ ๓-๔ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นครศรีธรรมราช ประมาณ ๑๐ คน
  2. บัณฑิตคืนถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๑๐ คน
  3. เยาวชนในถิ่นตำบลท่าเรือ ตำบลบางจาก ตำบลปากพูน ตำบลโพธิ์เสด็จ และตำบลอื่นๆในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวนประมาณ ๓๐ คน
  4. เยาวชนในถิ่นตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนประมาณ ๒๐ คน
  5. เยาวชนในถิ่นตำบลช้างซ้าย ตำบลนาพรุ ตำบลนาสาร และตำบลท้ายสำเภา อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนประมาณ ๓๐ คน
  6. เครือข่ายเด็กและเยาวชน (บัณฑิตคืนถิ่น แกนนำเยาวชน และเยาวชนในถิ่น) ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๓๐ คน
กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ