กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
จากคนเฒ่าเล่านิทานสู่การปันน้ำใจให้สังคม
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์กลองสะบัดชัย วัดต๊ำม่อน ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

 

ตึง ตึง ตึง เสียงกลองสะบัดชัยจากการร่ายรำ อย่างโลดโผนโดยการใช้ศอก เข่า ศีรษะ ประกอบการตี พร้อมกับเสียงฆ้อง และฉาบ ของน้องๆ กลุ่มเยาวชนบ้านต๊ำม่อนที่รวมกลุ่มกันสืบสานวัฒนธรรมล้านนา เกิดจากการริเริ่มของท่านพระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน ที่ได้ตั้งกลุ่มเยาวชนต๊ำม่อนเมื่อปี พ.ศ.2547 จากการที่เด็กเข้ามาเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในวัดต๊ำม่อน เด็กหลายคนมีความสนใจในศิลปวัฒนธรรมล้านนา

 

ครั้งหนึ่งที่ท่านพระครูได้ไปร่วมงานบุญที่อำเภอเชียงคำ เป็นวัฒนธรรมไทลื้อ มีศิลปการแสดง  เช่น การฟ้อน  กลองสะบัดชัย เมื่อท่านได้พบเห็น จึงเกิดความประทับใจและคิดว่าน่าจะมีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมทางพะเยาบ้าง เพื่อจะได้รักษาศิลปวัฒนธรรมล้านนาไว้ในหลายๆ ที่  เมื่อกลับมาได้ปรึกษากลุ่มเยาวชน อธิบายให้ฟังถึงความเป็นมา ว่าอยากจะให้เยาวชนได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม  และถามความต้องการของเด็ก เยาวชนก่อน เพื่อให้เยาวชนได้เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ร่วมกัน จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำ และเกิดกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์กลองสะบัดชัยขึ้นมา

 

ท่านพระครูฯ ได้ประชุมผู้นำในชุมชน และกลุ่มเยาวชน และหาศรัทธามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการหากลองสะบัดชัย โดยได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัว “ธงเธียร” ในการเป็นเจ้าภาพได้ถวายกลองสะบัดชัย พร้อมฆ้อง ฉาบ 1 ชุด และกลองตึงโนงขนาดกลาง 1 ลูก เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2547 การรวมกลุ่มตีกลองสะบัดชัยครั้งแรกมีประมาณ 10 คนและหาอาจารย์มาฝึกสอนจากเชียงราย ชื่อว่าครูแอ๊ด นายคงฤทธิ์ กำแพงคำ ใช้เวลาฝึกประมาณ 2 เดือน เด็กๆ มีตั้งแต่ชั้น ป.6 และ ม.1ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ได้สอน ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก ออกงานครั้งแรกในงานบุญที่วัดต๊ำม่อนที่จัดขึ้น หลังจากนั้นก็มีคนที่สนใจมาติดต่อให้ไปแสดงงานทั้งงานในระดับจังหวัด ตามงานบุญต่างๆ รวมทั้งงานในตำบลบ้านต๊ำ

 

เมื่อมีงานที่วัด ก็จะประกาศให้ผู้ปกครองทราบว่าเด็กจะมาฝึกซ้อมในตอนกลางคืน ถ้าเลิกดึกก็จะให้รุ่นพี่ไปส่งรุ่นน้อง จะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเช่นกัน  อยากให้ผู้ปกครองสนับสนุนเยาวชน  เวลามีกิจกรรมต่างๆ ก็อยากให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนกับเด็กเพื่อที่เด็กจะได้มีกำลังใจและภูมิใจในกิจกรรมของตัวเอง

 

 “ตอนแรกที่ไปตีกลองสะบัดชัยที่ทางวัดจัดขึ้น น้องๆ เยาวชนในชุมชนก็ได้ไปเที่ยวดูก็เลยตื่นตาตื่นใจอยากจะลองทำดู ก็เลยฝึกให้น้องทำดู เพราะกลุ่มกลองสะบัดชัยกลุ่มแรกซึ่งเป็นรุ่นพี่บางคนก็ไปเรียนต่อที่อื่นก็เลยซึมซับให้น้องๆ ได้เรียนรู้ต่อไป ส่วนรุ่นพี่ตอนนี้ก็เหลืออยู่ประมาณ 2-3 คน ส่วนใหญ่มีน้องเยาวชนที่ฝึกใหม่ ก็สลับกันไปแสดง ก็จะมีชั้น ป.3, ป.4, ป.6, ม.1 และม.2”     

 

องค์ประกอบของกลองสะบัดชัยวัดต๊ำม่อน ประกอบด้วยกลองหน้า (กลองสะบัดชัย) ฉาบ (ประมาณ 4-5 คน)  ฆ้อง 4  ใบ แล้วแต่จำนวนสมาชิก และชุดการแสดงย่อย เช่น ฟ้อนดาบ ,ฟ้อนนกกิงกะหล่า , โต (สัตว์ที่รำคู่กับนกกิงกะหล่า) รำดาบไฟ, รำกระบองไฟ ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์กลองสะบัดชัยบ้านต๊ำม่อน มีสมาชิกตั้งแต่เด็กรุ่นเล็กที่เรียนในระดับประถมศึกษา จนถึงรุ่นพี่ที่เรียนในระดับอาชีวศึกษา จำนวน 25 คน เป็นผู้หญิง 10 คน และผู้ชาย 15 คนเด็กๆ เหล่านี้นอกจากจะตีกลองสะบัดชัยแล้วยังมีความรู้ ทักษะการแสดง การสืบสานวัฒนธรรมล้านนา ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนดอกไม้ ฟ้อนโต ฟ้อนนกกิ่งกะลา ฟ้อนดาบ รำฉาบ กระบองไฟ และดาบไฟ โดยแม่บ้านในหมู่บ้านจะมาสอนเด็กฟ้อนรำ

 

 

ที่มาของกลองสะบัดชัย

กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ ในสมัยก่อนใช้ ตียามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็น ขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ทำนองที่ใช้ในการตี กลองสะบัดชัยโบราณมี 3 ทำนอง คือ ชัยเภรี, ชัย ดิถี และชนะมาร

 

การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้าน ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ผู้รู้ได้ให้ประวัติของกลองสะบัดชัยว่า

 

"สมัยก่อนมีกลองรูปร่างคล้ายกลองปูจาในปัจจุบัน มีลูกตุบ เรียกกลองชนิดนี้ว่า กลองชัยมงคลๆ นี้ถือว่าเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ใช้ในการตีออกศึก ตีเรียกฟ้าเรียกฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีทำนองอยู่หลายทำนอง แล้วแต่ใช้ในงาน หรือประกอบพิธี เช่น ทำนองออกศึก เป็นทำนองที่ใช้ตีเมื่อจะไปออกศึก เพื่อให้นักรบมีความฮึกเหิม เป็นการปลุกขวัญกำลังใจให้เหล่านักรบ ทำนองชนะศึก เป็นทำนองที่นิยมตีกันในปัจจุบัน ตีเมื่อรบชนะ เป็นการตีเอาชัยชนะกลับเข้าเมือง นักรบจะแสดงท่าทางฮึกเหิมโดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายประกอบการตีด้วย ทำนองแปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์ และทำนองฝนแสนห่า ใช้ตีเรียกฟ้าฝนให้ตกตามฤดูกาล

กลองชัยมงคลนั้น เมื่อว่างเว้นจากการศึก สงครามก็จะนำมาไว้ที่วัด เพราะกลองที่ผ่านศึก สงครามาแล้ว ไม่ควรนำมาไว้ที่บ้านหรือเคหะสถาน แต่จะนำไปเจริญพระพุทธมนต์และเก็บไว้ที่วัด สมัยต่อมาเมื่อไม่มีสงครามแล้ว กลองชัยมงคลจึงถูกเปลี่ยนมาใช้ตีบอกวันโกน วันพระ และตีเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา"   

 

กลองสะบัดชัยประกอบด้วยขนาดกลองสองหน้าเล็ก 1 ลูก กลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอ ๆ กับกลองใหญ่อีก 1 ใบ พร้อมไม้ตีอีก 3 อัน หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน ส่วนที่พบโดยทั่วไป คือกลองสะบัดชัยที่แขวนอยู่ตามหอกลองของวัดต่าง ๆ ในเขตล้านนา ซึ่งมักจะมีลักษณะเหมือนกัน คือมีกลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก หน้ากว้างประมาณ 30 – 35 นิ้ว ยาวประมาณ 45 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุด (ล้านนาเรียก ‘' แซว่ ) โดยที่หมุดไม่ได้ตัดเรียบคงปล่อยให้ยาวออกมาโดยรอบ ข้าง ๆ กลองใหญ่ มีกลองขนาดเล็ก 2 - 3 ลูก เรียกว่า ลูกตุบ ‘' กลองลูกตุบทั่วไปมักมีสองหน้าบางแห่งมีหน้าเดียว ขนาดหน้ากว้างประมาณ 8 – 10 นิ้ว ความยาวประมาณ 12 – 15 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุดเช่นกัน

 

กลองสะบัดชัยในปัจจุบันเป็นกลองที่ย่อส่วนมาจากวัด เมื่อย่อขนาดให้สั้นลง โดยหน้ากว้างยังคงใกล้เคียงกับของเดิม ลูกตุบก็ยังคงอยู่ ลักษณะการหุ้มหน้ากลองเหมือนของเดิมทุกประการ ตัวกลองติดคานหามสำหรับคนสองคนหามได้ ต่อมาไม่นิยมใช้ลูกตุบ จึงตัดออกเหลือแต่กลองใหญ่ ลักษณะการหุ้มเปลี่ยนจากการตรึงด้วยหมุดมาใช้สานเร่งเสียง เพราะสะดวกต่อการตึงหน้ากลองให้ตึงหรือหย่อนเพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ ข้างกลองประดับด้วยไม้แกะสลักซึ่งนิยมแกะเป็นรูปนาค และมีผ้าหุ้มตัวกลองให้ดูสวยงามอีกด้วย

การตีกลองสะบัดชัย เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมสู่ล้านนา และบทบาทของกลองสะบัดชัยจึงอยู่ในฐานะการแสดงในงานวัฒนธรรมต่าง ๆเช่น งานขันโตก งานพิธีต้อนรับแขกเมืองขบวนแห่ ฯลฯ แต่โอกาสในการใช้กลองสะบัดชัยแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายประการ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณกรรมกล่าวว่า

 

1. ใช้ตีบอกสัญญาณ การใช้กลองสะบัดชัยตีบอกสัญญาณนั้นมีหลายลักษณะ ดังนี้

 

สัญญาณโจมตีข้าศึก ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม ผูกที่2 กล่าวถึงสมัยพระญามังราย ตอนขุนครามรบพระญาเบิกที่เมืองเขลางค์ ขุนครามแต่งกลให้ขุนเมืองเชริงเป็นปีกขวา ขุนเมืองฝางเป็นปีกซ้ายยกพลเข้าโจมตี กล่าวว่า "เจ้าขุนครามแต่งกลเส็กอันนี้ แล้วก็หื้อสัญญาริพลเคาะคล้องโย้ง ( ฆ้อง ) ตีกลองชัย ยกสกุลโยธาเข้าชูชนพระญาเบิก ยู้ขึ้นมาวันนั้นแล" กลองชัยในที่นี้ คือกลองสะบัดชัยนั่นเอง เพราะในบริบทที่ใกล้เคียงกันนี้มีคำว่า

 

"สะบัดชัย ตีคู่กับฆ้องอยู่ด้วย กล่าวคือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พระยาลุ่มฟ้าห้อยกพลเข้าตีเชียงแสนชาวเมืองแต่งกลศึกโดยขุดหลุมพรางฝังหลาว แล้วตีปีกทัพล้อมไล่ทัพห้อให้ถูกกลอง"

 

"ยามแตรจักใกล้เที่ยงวันหร้อ (ฮ่อ) ยกพลเส็กเข้ามาชาวเราจิ่งเคาะคล้อง (ฆ้อง) ตีสะบัดชัย ยกพลเส็กกวมปีกกากุมติดไว้ และในสมัยพระญาติโลกราช ตอนหมื่นด้งนครรบชาวใต้ (สองแคว) ได้ให้พลโยธาซุ่มอยู่จนข้าศึกตายใจแล้ว กล่าวว่า ‘' หมื่นด้งหื้อเคาะคล้องโย้ง ตีสะบัดชัย เป่าพุลุ ลาภา ปลี่  หร้อยอพลเส็กเข้า ฝูงอยู่คุ่มไม้ก็สว่ายเดงช้างตีจองวองยู้เข้าไพ โห่ร้องมี่นันมากนัก

 

สัญญาณบอกข่าวในชุมชน "วรรณกรรมไทเขินเรื่อง  เจ้าบุญหลง ผูกที่ 5 ตอนชาวเมืองปัญจรนคาผูกผุสรถเพื่อเสี่ยงเอาพญาเจ้าเมือง อามาตย์ได้สั่งให้เสนาไปป่าวประกาศ "อมาตยแก้วพรองเมือง หื้อเสนาเนืองเอิ้นป่าว ค้อนฟาดหน้ากลองไชย เสียงดังไปผับจอด รู้รอดเสี้ยงปัญจรนคร" และผูกที่ 7 ตอนเจ้าพรหมปันจัดเตรียมทัพไปเยี่ยมอนุชาและมารดา ได้สั่งให้เสนาไปร้องป่าวให้ชาวเมืองเตรียมขบวนาร่วมด้วย" เจ้าก็ร้องเสนามาสู่ แทบใกล้กู่ตนคำปลงอาชญาทำโดยรีบ ถีบคนใช้หนังสือ กลองสะบัดชัยตีป่าวกล่าวไพร่ฟ้ามามวล

 

2. เป็นมหรสพ วรรณกรรมเรื่อง อุสสาบารส ผูกที่ 1 ตอนพระยากาลีพรหมราชให้นำมเหสีสุราเทวีไปเที่ยวชมสวนอุทยานและในสวนอุทยานก็มีการเล่นมหรสพ

 

"มหาชนา อันว่าคนทังหลายก็เหล้นมโหรสพหลายประการต่าง ๆ ลางพร่องก็ตีกลองสะบัดชัยตื่นเต้น ลางพร่องก็ตีพาทย์ค้องการะสับ ลางพร่องเยียะหลายฉบับ ฟ้อนตบตีนมือ ลางพร่องปักกะดิกเอามือตางตีน"

 

ในวรรณกรรมประเภทค่าวซอเรื่อง หงส์หิน ที่แต่งโดยเจ้าสุริยวงส์ ตอนมีงานสมโภชเจ้าหงส์หินได้เป็นเจ้าเมืองกล่าวถึงการเล่นมหรสพต่างๆ ซึ่งมีกลองสะบัดชัยด้วยว่า

 

"เจ็ดแบกเมี้ยน บ่ถูกตัวเขา ดาบลาเอา ท่ารบออกเหล้นกลองสะบัดชัย ลูกตุบไล่เต้น ขบวนเชิงต่อยุทธ์ ชนผัดหลัง แล้ววางอาวุธ พิฆาตข้าฟันลอง" และแม้ในงานศพของกษัตริย์ หรือเจ้าเมืองก็มีกลองสะบัดชัยเป็นมหรสพ เช่น ที่ปรากฏในวรรณกรรมคร่าวซอเรื่องก่ำกาดำ ตอนงานศพของพระยาพาราณสี" เชิญพระศพมา ฐานตั้งไว้ กลางข่วงกว้างเมรุไชย ฟังดูกลองค้อง พิณพาทย์เสียงใส เภรีบัดไชย สรรเสริญเจ้า

 

3 . เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง

 

"ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตี กลองสะบัดชัย เหล้นม่วนโห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก หากได้แล้วก็ตีค้อง กลองสะบัดชัย สงวนม่วนเหล้น กวัดแก่วงดาบฟ้อนไปมา"

 

4. เครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน ในวรรรณกรรมประเภทโคลงเรื่องอุสสาบารส มีการตีกลองสะบัดชัย ดื่มสุราในเหล่าพลโยธายามว่างจากการรบ ดังปรากฏในโคลงบทที่ 130 ว่า

 

"พลท้าวชมชื่นเหล้น สะบัดชัย อยู่แลมัวม่วนกินสนุกใจ โห่เหล้า ทัพหลวงแห่งพระขิต ชมโชค พระเอย่ กลองอุ่นเมืองท้าวก้อง ติ่งแตร”

 

กลองสะบัดชัยจากหลักฐานทางวรรณกรรมดังกล่าวแสดงว่าแต่เดิมนั้นเกี่ยวพันกับฝ่ายอาณาจักรกษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพ ต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์เจ้าเมืองของล้านนาถูกลดอำนาจจนสูญไปในที่สุด กลองสะบัดชัยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูง จึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับศาสนจักร ซึ่งมีบทบาทคู่กับอาณาจักรมาตลอด ศาสนสถานของพุทธศาสนาคือวัด ฉะนั้นวัดจึงน่าจะเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดชัยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัดหน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือตีเป็น ‘' พุทธบูชา” จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า กลองปูชา (อ่าน ก๋องปู๋จา) เวลาตีก็บอกว่า ตีกลองปูชา กระนั้นก็ตามหลายแห่งยังพูดว่า ตีกลองสะบัดชัย  

 

อย่างไรก็ตามแม้จะได้หน้าที่ที่ใหม่แล้ว หน้าที่เดิมที่ยังคงอยู่ก็คือเป็น สัญญาณ เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชนข่าวสารต่างๆ จึงมักออกจากวัด ปัจจุบันจึงได้ยินเสียงกลองจากวัดอยู่บ้าง (เฉพาะวัดที่ยังไม่มีเครื่องเสียงตามสาย) เพื่อเป็นสัญญาณเรียกประชุมสัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน สัญญาณบอกวันโกนวันพระและหน้าที่รองลงมาที่เกือบจะสูญหายแล้วาคือเป็น" มหรสพ ซึ่งเหลือเฉพาะในงานบุญคือ บุญสลากภัตที่เรียกว่า ทานกวยสลาก  

 

บทบาทและหน้าที่เดิมของกลองสะบัดชัยอย่างหนึ่งคือเป็นมหรสพ ซึ่งเป็นมหรสพในงานระดับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง (วัง) ต่อมาเป็นมหรสพในงานบุญคือระดับศาสนา (วัด) ก็ยังหาหลักฐานไม่พบว่ามีการนำเอาเข้าขบวนแห่ด้วยหรือไม่ เพราะกลองสะบัดชัยหรือกลองบูชาที่อยู่ตามวัดนั้นมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ยากแก่การเคลื่อนย้าย ภายหลังน่าจะมีผู้คิดว่าควรนำไปแห่เข้าขบวนด้วย จึงจำลองขนาดให้พอหามสองคนได้โดยย่อขนาดให้สั้นลงประมาณ 1 ใน 3 ส่วน

 

เปิดวัดให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้

 

ท่านพระครูเล่าว่า เริ่มมองปัญหาของเยาวชนที่เกิดขึ้นจากผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรม เลี้ยงดูบุตรหลาน พ่อแม่บางคนไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ความเจริญเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาทำให้เด็กติดในเทคโนโลยีเหล่านั้น โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเด็กเยาวชนที่มีเวลาว่างมากก็จะไปเที่ยวซึ่งพ่อแม่บางคนก็ไม่รู้ จะเสี่ยงเรื่องยาเสพติด  ชู้สาว  ก็เลยคิดว่าน่าจะมีจุดศูนย์รวมให้เด็กเยาวชนมารวมตัวกัน  โดยเอาความสนุกสนานมาก่อนโดยใช้วัดเป็นศูนย์รวม ก็ต้องทำใจบ้าง เปิดวัดเป็นที่สบายใจของเด็ก  ส่วนกลุ่มใหญ่ก็อาจเอาบอลมาเล่นกัน พอเด็กเริ่มเข้ามาก็เลยมีความคิดว่าทำอย่างไรจะให้เป็นประโยชน์ โดยเอาวัฒนธรรมเป็นตัวดึงเข้ามาเริ่มฝึกซ้อมกลองสะบัดชัย

 

ปีพ.ศ.2550 การฝึกอบรมค่ายเยาวชนต้นกล้า โดยการอบรมแกนนำเยาวชนจากสถาบันพัฒนาศักยภาพ  ทำให้เยาวชนเกิดความกล้า ความภูมิใจ จากกิจกรรมนั้นได้ขยายไปสู่การจัดกิจกรรมวันพ่อ วันแม่ ทำให้เด็กเยาวชนคิดได้ การเชิญผู้ใหญ่มาร่วมทำให้เด็กภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นจุดการทำงานของเด็กๆ  โดยจะประสานงานกับผู้ใหญ่ และเข้าหาผู้ใหญ่

 

ท่านพระครูฯ บอกว่าเป็นห่วงในเรื่องของสื่อและวัฒนธรรมต่างๆ  ที่เข้ามาทำให้เด็กเลียนแบบ พยายามปลูกฝังความรับผิดชอบ  ในเรื่องการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง เรื่องการคบเพื่อน  และสื่อ  การทำงานของท่านได้จัดให้มีการอบรม การปฏิบัติในเรื่องธรรมะ  และนำเยาวชนมารวมตัวกันเพื่อที่จะตัดวงจรของเยาวชนโดยไม่ให้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น

 

 "อยากให้เยาวชนแต่ละคนตระหนักในเรื่องของความรับผิดชอบ พัฒนาขึ้น มีงานเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ และพูดให้เยาวชนเข้าใจว่าการแสดงกิจกรรมไม่ให้หวังในเรื่องของรางวัล แต่ให้นึกถึงว่าเป็นเรื่องของการสืบสานวัฒนธรรม บางงานเด็กก็ถามถึงเรื่องรางวัลถ้าไม่มีรางวัล ทางวัดเราก็ให้ความช่วยเหลือเด็กในเรื่องของอาหาร ค่าเดินทาง การรวมกลุ่มเยาวชน ถ้าหากเยาวชนมาปรึกษาก็จะให้ความสนับสนุน"

 

ช่วยกันทำงานเป็นทีม

 

ในการจัดการกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์กลองสะบัดชัย ได้แบ่งงานกัน ช่วยกันทำตามหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ แต่ไม่ได้เป็นไปในรูปของคณะกรรมการ มีเพียงแต่หัวหน้ากลุ่มกลองสะบัดชัยขึ้นมาเท่านั้นเพื่อมาช่วยกำกับและดูแลน้องเยาวชนในกลุ่ม โดยการประสานงานจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง จะมีผู้ประสานงานคือ นายทานุพงษ์ บุญโนนแต้ หรือน้องโด้ ซึ่งเป็นรุ่นแรกของการตีกลองสะบัดชัย เข้ามาเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปวช. 2 ที่โรงเรียนไชยพันธ์พงศ์เทคโนโลยี โด้จะเป็นผู้แจ้งให้กระจายไปตามสมาชิก และให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ทราบว่าจะมีงานวันไหน เพื่อให้น้องๆ ได้เตรียมตัวมาฝึกซ้อม เมื่อจะมีการแสดง ทุกเย็นหลังเลิกเรียนน้องๆ จะมาซ้อมตีกลอง และฟ้อนจนค่ำ ช่วงแรกจะถี่ฝึกซ้อมทุกวัน คนที่ไม่เป็นจะมีรุ่นพี่ซ้อมให้ เมื่อเป็นแล้วก็ยังต้องมาซ้อมทุกวัน

 

ท่านพระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ ที่เด็กๆ เรียกว่าพระอาจารย์ จะเป็นหลักและจัดการด้านการประสานงาน และงบประมาณ โดยค่าตอบแทนที่ได้มาจากการแสดงแต่ละครั้ง จะมีบัญชีของกลุ่ม มีการเบิกจ่าย และฝากไว้ที่พระอาจารย์ บางส่วนเข้ากองกลางสำหรับการจัดการกลุ่ม และซื้อวัสดุอุปกรณ์ ส่วนอุปกรณ์กลองสะบัดชัยนั้น ถ้าเล่นเสร็จก็จะช่วยกันเก็บเข้ากล่อง  ถ้าอุปกรณ์เสียก็มาช่วยกันซ่อมแซม

 

ส่วนการฝึกซ้อม ก็จะเป็นช่วงเย็นช่วงเวลา 18.00-20.00  ซ้อมตีกลองก็จะซ้อมทั้งหมด เหมือนแสดงจริง จะได้รู้ว่าควรจะเพิ่มหรือตัดอะไรออกบ้าง และเพิ่มความเคยชิน ถ้าฝึกอยู่เรื่อยๆ  เวลาไปแสดงจริงก็จะได้ไม่ลืม ก็ต้องฝึกไปเรื่อยๆ

 

การออกงานแต่ละครั้งก็แล้วแต่ทางเจ้าภาพจะให้ค่าตอบแทน ครั้งหนึ่งก็ไม่เกิน 2,000  บาท    ถ้าเป็นการแสดงชุดใหญ่ก็จะมีการฟ้อนเสริมเข้าไปด้วย ถ้าไปแสดงตามงานวัดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับวัดจะให้เป็นสินน้ำใจ แต่ละครั้งที่ไปแสดงก็จะมี กลองสะบัดชัย, ฟ้อนดาบ, ฟ้อนนก, รำฉาบ, รำกระบองไฟ

 

ปัจจุบันมีมีน้องเยาวชนแถวสองที่เข้ามาเรียนกลองสะบัดชัยเพิ่ม ประมาณ 20 คน จากรุ่นพี่ในหมู่บ้านชักชวนมา อีกช่องทางมาจากพระอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ชวนมาตีกลอง แรงบันดาลใจ ที่เข้ามาเพราะเห็นรุ่นพี่เข้ามาก่อน อยากสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกอย่างคือ ได้รายได้ ที่นำไปให้พ่อแม่ ยาย ซื้อของ เรียน ดีกว่าเล่นเกมส์ เสียเงิน 

 

ความภาคภูมิใจคือสิ่งที่ได้รับ

 

น้องเยาวชนบอกว่าพ่อแม่ของเขามีความภูมิใจในตัวเขา เห็นคุณค่า ความสามารถ ทำให้ครอบครัวมีความสุข พ่อแม่รู้ว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นหน้าตาของชุมชน นอกจากนี้ยังได้ความสนุกสนาน ประสบการณ์  เจอเพื่อนใหม่ ได้เที่ยว มีประสบการณ์ใหม่ๆ  ได้ออมเงิน ได้เงินให้ครอบครัว ได้ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง

 

"ตอนเข้ามาครั้งแรก พ่อแม่ก็มักจะมองว่าเข้าไปมั่วสุม ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ หาว่าพากันมามั่วสุมเพราะต้องกลับบ้านดึก พอเริ่มออกงานพ่อแม่เด็กมาเห็นลูกของตัวเองก็เลยเข้าใจว่าเรามาทำอะไรกัน ไปทางไหนก็เห็นคนชมว่าลูกคนนั้นคนนี้เก่งก็รู้สึกภูมิใจ"

 

บทเรียนที่เกิดขึ้นของกลุ่ม ฯ น้องโด้บอกว่าได้เรียนรู้เรื่องระบบในการทำงาน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ ได้ประสบการณ์ในการออกไปแสดงแต่ละครั้ง เรียนรู้ได้เรื่องของการฟ้อน และการตีกลอง ที่เข้ามาเพราะตนเองความสนใจ ทำด้วยความสมัครใจ ต่อมาตนเองได้ฝึกเรื่องความรับผิดชอบมากขึ้น จากการที่ต้องดูแลน้องๆ เป็นครูฝีกให้น้องๆ เขาจึงต้องทำเป็นแบบอย่าง เพื่อไม่ให้เสียงาน

 

ส่วนท่านพระครูฯ เมื่อทำงานกับเยาวชน ท่านได้เรียนรู้ธรรมชาติของเยาวชน แต่ละคนก็มีอารมณ์ต่างกัน ก็ต้องยอมรับ บางทีนัดเวลานี้ก็มาไม่พร้อมกันซึ่งก็ต้องเข้าใจอารมณ์ของพวกเขา  แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจให้กับเยาวชนในเรื่องของวินัย  และก็ต้องเข้าใจในเรื่องของเยาวชน มีบางเรื่องที่เยาวชนไม่เข้าใจถึงการสืบสานวัฒนธรรม เราต้องปลูกจิตสำนึกของเขาด้านศิลปวัฒนธรรม ส่วนค่าจ้าง ค่าตอบแทนมันเป็นเพียงผลพลอยได้

 

ท่านพระครูฯ ตระหนักดีถึงการเปลี่ยนผ่านของเยาวชน ท่านบอกว่าต้องทำใจว่าเยาวชนจะต้องเปลี่ยนรุ่นต่อไป ท่านทำงานกับเยาวชนมาหลายรุ่น  บางรุ่นก็ไปมีครอบครัว จึงอยากให้ผู้ปกครองช่วยสนับสนุนเยาวชนให้เข้ามาสืบทอดต่อไป

 

น้องโด้ ผู้ประสานงานกลุ่มบอกว่าอยากสืบสานวัฒนธรรมให้ต่อไปเรื่อยๆ  เพราะเมื่อเวลารุ่นพี่ไปเรียนต่อที่อื่นก็จะมีรุ่นน้องมาสืบสานต่อ อีกทั้งเยาวชนในหมู่บ้าน ก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ  คนที่สนใจ ก็ไม่ค่อยมี จึงอยากสืบทอดให้ดำรงต่อไป และสืบทอดเป็นรุ่นๆ ถ้าไปเรียนต่อที่อื่นก็สามารถมีรุ่นน้องสืบต่อไป

 

อีกอย่างคือ ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานในชุมชน  เมื่อมีงานก็อยากให้พาไปแสดง  ซึ่งเด็กๆ  ก็อยากให้ชุมชนได้รู้ ได้เห็นความสามารถของเขา ได้รับการสนับสนุนก็จะทำให้เด็กมีกำลังใจ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยในเรื่องการฝึกทักษะ มีทุนให้เยาวชนในการทำงาน  กิจกรรม  เด็กก็มีกำลังใจให้เด็กฝึกทักษะเด็กก็จะมีเพิ่มมากขึ้น กำลังใจก็จะดีขึ้น หากมีความสนใจเยี่ยมชมการฝึกซ้อมและการแสดงของของกลุ่มเยาวชน เพื่อการศึกษาเรียนรู้ หรือสามารถติดต่อไปแสดงในงานต่างๆ ได้ที่นายทานุพง

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ