กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ครอบครัวสุขสันต์ กิจกรรมหรรษา
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

 

กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนา ตำบลทุ่งกล้วย  อำเภอภูซาง  จังหวัดพะเยา

 

ทำความรู้จักกลุ่มเยาวชน

              กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนา หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งกล้วยเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีการรวมกลุ่มกันทำงานตั้งแต่ปี 2547 ด้วยการเริ่มต้นทำงานในประเด็นเอดส์และเพศสัมพันธ์ ด้วยในระยะเวลานั้นสถานการณ์เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในพื้นที่ตำบลทุ่งกล้วย บทบาทในขณะนั้นผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่ได้พัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนในหมู่บ้านโดยการสร้างเสริมความรู้ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ต่อจากนั้นแกนนำเยาวชนเหล่านี้ต้องทำหน้าที่ขยายความรู้ต่อไปยังกลุ่มเยาวชนและชาวบ้านในหมู่บ้านต่อไป จากการเริ่มต้นทำงานดังกล่าวนี้เองที่ทำให้กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนาได้เกิดแรงบันดาลใจ ใส่ใจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

ปัจจุบันนี้กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนายังรวมตัวและเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชน แต่จากประเด็นเอดส์และโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ในปี 2547  ปัจจุบันนี้กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนาได้เพิ่มประเด็นการทำงานของกลุ่มตนเองหลากหลายขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนาสามารถดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้เพราะแกนนำแต่ละรุ่นมีข้อตกลงร่วมกันว่าต้องสร้างรุ่นน้องในหมู่บ้านขึ้นมาทำหน้าที่แทนตนเองโดยเรียกกันภายในกลุ่มว่า “ระบบพี่รหัส น้องรหัส”  โดยแกนนำเด็กและเยาวชนบ้านหัวนาส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในระบบการศึกษาเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายต้องออกไปเรียนต่อในตัวจังหวัดพะเยา ต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯดังนั้นระหว่างช่วงปีสุดท้ายก่อนออกไปเรียนต่อนั้นแกนนำเยาวชนแต่ละคนต้องพยายามสร้างรุ่นน้องขึ้นมาแทนตนเองให้ได้ โดยแต่ละคนจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน เช่น สอน ฝึก หรือทำให้รุ่นน้องเห็นเป็นตัวอย่างเป็นต้น  จากวิธีการนี้เองทำให้ปัจจุบันนี้แกนนำเด็กและเยาวชนของบ้านหัวนามีการทำงานสืบทอดกันมารุ่นที่ 3 แล้ว

 

              จากที่กล่าวไปขั้นต้นว่าการทำงานของกลุ่มเยาวชนบ้านหัวนาที่หลากหลายมากขึ้นนั้น น้องกรุงและน้องแคท ตัวแทนกลุ่มเยาวชนบ้านหัวนาเล่าให้ฟังว่า “แกนนำเยาวชนทำงานทุกอย่างที่จะสามารถช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนของบ้านหัวนาให้ดีขึ้นได้” ซึ่งความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของบ้านหัวนานั้น น้องทั้ง 2 คนเล่าว่า 

 

              “แกนนำเด็กและเยาวชนบ้านหัวนามีการค้นหาปัญหาสถานการณ์เด็กและเยาวชนในระดับครอบครัวก่อนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำมาออกแบบกิจกรรมทำในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้” 

 

              ในขั้นตอนของการค้นหาปัญหาเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านนั้นทำให้กลุ่มแกนนำพบว่าเยาวชนในหมู่บ้านมีปัญหาหลายด้านทั้งที่เป็นเพราะตนเองและที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนกับครอบครัวด้วย เช่น ปัญหาเด็กติดเกมส์ซึ่งในหมู่บ้านมีร้านเกมส์อยู่จำนวนไม่กี่ร้านและทั้งหมดเป็นคนในหมู่บ้านแต่ชุมชนไม่เคยนำเรื่องนี้มาพูดคุยแก้ปัญหากัน ปัญหาเด็กติดเกมส์ของเยาวชนบ้านหัวนานั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆหลายด้าน ซึ่งน้องกรุงและน้องแคทเล่าให้ฟังอย่างเชื่อมโยงว่า

 

              “ชาวบ้านหัวนาส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรและรับจ้างและต้องกลับบ้านค่ำหรือดึก ช่วงเย็นเด็ก เยาวชนกลับจากโรงเรียนแล้วไม่มีผู้ปกครองดูแล บางส่วนจับกลุ่มเล่นกีฬา บางส่วนทำการบ้านซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เด็ก เยาวชนเริ่มมีพฤติกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเกมออนไลท์ การบ้านสมัยนี้ต้องมีการค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมและแหล่งความรู้ที่เด็กและเยาวชนเข้าได้ง่ายและเป็นที่สนใจคือ Internet แต่เวลาที่เด็ก เยาวชนใช้หาข้อมูลนั้นไม่นานแต่ในร้าน Internet นั้นมีการคิดค่าบริการเป็นชั่วโมง จึงทำให้เด็ก เยาวชนที่เข้าไปใช้บริการใช้เวลาช่วงนั้นเล่นเกมส์ และเมื่อทำบ่อยๆจึงติดเป็นนิสัย  เมื่อติดเกมส์แล้วเด็ก เยาวชนก็เริ่มใช้เงินเพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบกับครอบครัวกับการทำงานของ พ่อ แม่ ผู้ปกครองและในที่สุดก็เกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว” 

 

              จากการบอกเล่าของน้องกรุงและน้องแคททำให้เห็นว่าการทำงานของกลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหัวนานั้นไม่ได้คิดอยากจะทำแล้วก็ทำ แต่การทำกิจกรรมนั้นเกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหา พยายามเข้าใจสาเหตุของปัญหาแล้วพยายามสร้างกิจกรรมที่เป็นความต้องการของเด็กและเยาวชนเอง

 

ตัวอย่างกิจกรรมของกลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหัวนา

              ลานเด็กและเยาวชนบ้านหัวนา เป็นสถานที่รวมตัวของเด็กและเยาวชนบ้านหัวนา โดยแกนนำมีกิจกรรมต่างๆจัดให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อการใช้เวลาว่างหลังเรียนก่อนที่ พ่อ แม่ผู้ปกครองจะกลับมาจากทำงาน เช่น สอนการบ้านให้กับน้อง ซึ่งกิจกรรมการสอนการบ้านนี้ประโยชน์เกิดขึ้นทั้งกับน้องๆและพี่ที่สอนการบ้านให้ด้วย เนื่องจากพี่จะได้ทบทวนความรู้ก่อนการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนี้แกนนำเยาวชนยังมีการจัดการพูดคุยกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆเพื่อจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไขได้

 

              การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ของแกนนำเด็กและเยาวชนบ้านหัวนานั้นส่งผลให้เกิดผลดีขึ้นมากมาย เช่น เด็กและเยาวชนเกิดผลการเรียนดีขึ้น แกนนำเองได้ทบทวนความรู้ เยาวชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องปัญหาและแนวทางแก้ไขร่วมกัน แต่ผลเสียก็มีเช่นกัน แต่เป็นผลที่เกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่และผู้ปกครองในชุมชน น้องกรุงและน้องแคทเล่าให้ฟังว่า 

 

              “ชาวบ้านเกิดความไม่เข้าใจและกล่าวหาว่าเยาวชนไปมั่วสุมกัน ไม่เข้าใจว่าเยาวชนไปรวมตัวกันเพื่ออะไร” 

 

              ทำให้แกนนำเด็กและเยาวชนบ้านหัวนาเกิดความเข้าใจว่า การสร้างกิจกรรมดีๆให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านเกิดการเปลี่ยนแปลงและสามารถจัดการกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆได้นั้นไม่สามารถทำเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจสร้างการตระหนักถึงปัญหาร่วมกันของผู้ปกครองด้วย 

 

“แต่จะมีวิธีการอย่างไร? ที่จะทำให้เด็ก เยาวชนและผู้ปกครองได้มีกิจกรรมร่วมกันและเกิดการเรียนรู้ เข้าใจกันได้” เป็นโจทย์ที่ท้าทายของกลุ่มแกนนำเด็กและเยาวชนบ้านหัวนา

 

คิดและเขียนโครงการ

              ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2552 พี่พงศ์ ผู้ใหญ่ใจดีจากกลุ่มดอกหญ้าที่ทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่รุ่นแรกนั้นได้แจ้งข่าวว่ามี “โครงการคิดดี ทำดี เพื่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน  ” ที่ให้การสนับสนุนการทำกิจกรรมดีๆ ที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในตำบล เมื่อน้องแคทและน้องกรุงได้รับข่าวจึงนำมาปรึกษากับกลุ่มแกนนำ จึงเกิดช่องทางการทำกิจกรรมที่จะสามารถสร้างกิจกรรมที่ทำร่วมกันของเด็กและเยาวชนกับผู้ปกครองได้ โดยใช้โอกาสในวันที่ 5 ธันวาคมซึ่งเป็นวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งเดิมทุกคนในหมู่บ้านจะหยุดงานอยู่กลับบ้านอยู่แล้ว ดังนั้นๆน้องจึงช่วยกันคิดและเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการฯ

ในช่วงของการคิดโครงการน้องแคทรับหน้าที่เป็นแกนนำเองเพราะน้องแคทมีความสามารถพิเศษเรื่องการคิดการเขียนอยู่แล้วเพื่อนๆในกลุ่มรู้กันดี น้องแคทเล่าให้ฟังว่า 

 

“ช่วงนั้นเป็นช่วงเตรียมตัวสอบ น้องแคทต้องคิดโครงการด้วยทำให้เครียดพอดู แต่ถ้าสามารถแบ่งเวลาได้ก็สามารถคิดและเขียนโครงการได้สำเร็จซึ่งเราจะคิดเองคนเดียวไม่ได้ต้อง เกิดจากข้อตกลงร่วมกันของกลุ่ม” 

 

              ปรากฏว่าโครงการของกลุ่มเยาวชนบ้านนาส่งทันวันสุดท้ายพอดี  ในขั้นตอนการคิดและการเขียนโครงการส่งนั้น จำเป็นต้องใช้ทักษะในการคิด การเขียนอย่างมากซึ่งน้องแคทโดยลำพังนั้นทำไม่สำเร็จแน่ แต่มีพี่พงศ์เข้ามาช่วยจัดกระบวนการให้เกิดความเข้าใจ  น้องแคทสะท้อนถึงกระบวนการดังกล่าวว่าดี สามารถทำเรื่องการเขียนโครงการที่ยากๆให้ง่ายจากการช่วยกันคิด ช่วยกันเขียนได้ ถ้าจะมีครั้งต่อไปกระบวนการนี้ก็ยังจำเป็นต่อกลุ่มเยาวชนแกนนำอีก

 

              “โครงการครอบครัวสุขสันต์ กิจกรรมหรรษา” ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจ ลดช่องว่างระหว่างครอบครัวลง โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมนั้นเน้นการทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว การแลกเปลี่ยนสื่อสารสร้างความเข้าใจกัน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 “วันพ่อแห่งชาติ” ก่อนงานการเตรียมการเป็นเรื่องสำคัญ การประสาน การประชาสัมพันธ์งานให้กับคนในหมู่บ้านนั้นถ้าแกนนำเด็กและเยาวชนทำเองคงไม่ได้รับความร่วมมือเต็มที่ เพราะชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจเด็กอยู่แล้ว ดังนั้นแกนนำเยาวชนบ้านหัวนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของผู้นำ เช่น สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกล้วย หรือ ผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้วนั้นได้ขอความร่วมมือกับแกนนำเหล่านี้ช่วยประชาสัมพันธ์ประกาศเสียงตามสายให้กับคนในหมู่บ้านรับทราบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน “พ่อ” ที่กำลังจะมาถึง

 

              ก่อนวันพ่อประมาณ 1 อาทิตย์ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้แต่ละครอบครัว ซึ่งมีพ่อ แม่ ลูก หลาน เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสดเตรียมใส่บาตรในตอนเช้าในวันที่ 5 โดยขอความร่วมมือให้ออกมาใส่พร้อมกันทั้งครอบครัว ส่วนฝ่ายแกนนำเด็กและเยาวชนนั้นก็ได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กับเพื่อนๆให้ออกมาตักบาตรตามนัดหมายพร้อมเพียงกัน   หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมสนุกสนานที่กลุ่มแกนนำเยาวชนออกแบบให้ทำร่วมกันระหว่าง พ่อ แม่ ผู้ปกครองและเด็ก เยาวชน ช่วงบ่ายเป็นการเปิดใจพูดคุยกันผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า “จดหมายสื่อใจ” และช่วงค่ำเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่วัดตามปกติ น้องกรุงและน้องแคทได้บทเรียนสำคัญเรื่องการประสานงานนี้ว่า

1.ต้องใช้แกนนำในหมู่บ้านเป็นคนช่วยประสานงาน ขอความร่วมมือกับชาวบ้าน

2.เครื่องมือที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์ต้องสามารถเข้าถึงและชาวบ้านเข้าใจได้ คือ เสียงตามสาย

 

 

ปฏิบัติจริง

              เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมมาถึง ตอนเช้าทั้งผู้ปกครองและเด็ก เยาวชนออกมาตักบาตรพร้อมเพรียงกันสร้างความประทับใจให้กับชาวบ้าน แกนนำชาวบ้าน และที่สำคัญแกนนำเยาวชนเป็นอย่างมาก น้องทั้ง ๒ คนเล่าว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้านมาก่อน เมื่อเริ่มต้นกิจกรรมได้ประทับใจทำให้กิจกรรมต่อไปได้รับความสนใจต่อจากชาวบ้าน ยังไม่ถึงเวลานัดหมายชาวบ้านและเด็ก เยาวชนก็นั่งรอกับครบแล้ว ทำให้น้องกรุงที่รับบทบาทเป็นผู้นำกิจกรรมตื่นเต้นพอสมควร 

 

              แต่เนื่องจากการเตรียมการที่ดี แกนนำเยาวชนทุกคนรู้บทบาทของตนเอง รู้กำหนดการทำให้กิจกรรมสามารถดำเนินการไปได้ สามารถสร้างความสนุกสนาน สร้างกิจกรรมร่วมกันของ พ่อ แม่ ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนได้  น้องกรุงผู้มีบทบาทนำในกิจกรรมนี้สะท้อนว่า ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องนำมาใช้หลายครั้งในช่วงกิจกรรมนี้ เนื่องจากกิจกรรมที่วางไว้ตามลำดับขั้นตอนในขั้นของการวางแผนนั้นเมื่อนำมาปฏิบัติจริงต้องมีการปรับเปลี่ยนซึ่งถ้าขาดทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วกิจกรรมนี้คงไม่ประสบผลสำเร็จ 

 

              ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้เกิดขึ้นได้จากการทำกิจกรรมบ่อยๆ การมีโอกาสเห็นตัวอย่างที่ดี น้องกรุงเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่แกนนำที่ทำกิจกรรมในชุมชนและได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งน้องกรุงเล่าว่าทักษะจะติดตัวเล่าไปตลอดชีวิตทำให้น้องกรุงรักการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่างๆให้กับตนเอง

 

              น้องแคท ผู้ช่วยวิทยากรในกิจกรรมนี้ก็เกิดการเรียนรู้เหมือนกัน น้องแคทเล่าว่า “ทำให้ตนเองได้ใช้เหตุผลในการทำงานมากขึ้น” เดิมน้องแคทจะมีอารมณ์ในการทำงานมากกว่าเหตุผลแต่ในครั้งนี้ระหว่างน้องกรุงทำกิจกรรมอยู่นั้น เพื่อนๆบางคนไม่ได้ทำตามหน้าที่ของตนเองเมื่อน้องแคทเข้าไปพูดคุยทำให้พบว่าเพื่อนไม่ทราบบทบาท หน้าที่ของตนเองเมื่อน้องแคทแจกแจงหน้าที่ใหม่แล้วเพื่อนๆทุกคนก็สามารถกลับไปทำหน้าที่ของตนเองได้ ซึ่งผิดกับเมื่อก่อนที่ต้องทะเลาะกัน  น้องแคทให้ข้อสังเกตที่ต่อเนื่องจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของน้องกรุงว่า ในระหว่างทำกิจกรรมของกรุงที่ต้องแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ถ้าแกนนำ/คนทำงานไม่เข้าใจกันกิจกรรมก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น กิจกรรมที่ 5 ต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆตามแผนแต่กรุงนำมาเล่นเป็นกิจกรรมที่ 2 ถ้าคนรับผิดชอบเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ไม่เข้าใจเอาอุปกรณ์ในกิจกรรมที่ 2 มาเตรียมให้กิจกรรมก็คงต่อไปไม่ได้ ดังนั้นความเข้าใจกันของผู้นำและผู้ตามต้องสามารถสื่อสารกันได้ในระหว่างทำกิจกรรมเพื่อทีมงานที่ได้รับมอบหมายจะได้ปฏิบัติหน้าที่ตามภาระงานของตนเองได้

 

จากช่วงเช้าที่กิจกรรมถูกออกแบบให้เน้นพิธีกรรมทางศาสนาและกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานเพื่อให้ครอบครัวเกิดความสนุกสนาน และเป็นการเตรียมความพร้อมในกิจกรรมที่เน้นการพูดคุยเปิดใจกันของ ผู้ใหญ่และเยาวชนในช่วงบ่าย

 

              “จดหมายสื่อใจ” เป็นกิจกรรมที่น้องกรุงและน้องแคทเคยเล่นมาจากค่าย เป็นประสบการณ์จริงที่ผ่านามาเมื่อต้องมาออกแบบกิจกรรมที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับตนเองในครั้งนั้นๆที่ผ่านมาน้องทั้ง 2 คนจึงสามารถหยิบกิจกรรมในคลังสมองของตนเองออกมาใช้ได้ทันที กิจกรรมนี้น้องกรุงและน้องแคทแบ่งผู้ปกครองและเด็กเยาวชน ออกจากกันต่อจากนั้นแจกกระดาษให้ทุกคนเขียน ความในใจ ข้อกังวล หรืออยากจะบอกอะไรกับฝั่งตรงข้ามแล้วนำมาหยอดในตู้จดหมายโดยไม่มีการเขียนชื่อให้รู้ว่าเป็นของใคร ต่อจากนั้นให้แต่ละฝ่ายออกมาหยิบของฝ่ายตรงกันข้าม ผู้ปกครองก็หยิบของฝ่ายเด็ก เยาวชน เด็กและเยาวชนก็หยิบของฝ่ายผู้ปกครองอ่านเสียงดังฟังชัด แล้วให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นนั้นๆเพื่อเพิ่มความเข้าใจกันของผู้ปกครองและเด็กเยาวชน จากกิจกรรมนี้ช่วยให้ข้อสงสัยระหว่างกันเริ่มคลี่คลายลง การรวมตัวกันทำกิจกรรมดีๆในลานกิจกรรมตอนเย็นก็ได้รับการเขียนออกมาให้ผู้ปกครองได้รับทราบเช่นกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำกิจกรรมต่อไปในอนาคต

 

              น้องทั้ง 2 คนเล่าว่าในกิจกรรมนี้ต้องระวังอย่างให้เกิดปากเสียงกันระหว่างกิจกรรมเพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วนอกจากการความเข้าใจกันจะไม่เกิดแล้วความบาดหมางกันก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ศิลปะในการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์จึงต้องนำมาใช้ตลอดเวลาในการทำกิจกรรม การเสริมแรงให้ทั้ง 2 ฝ่ายคิดทางบวกก็ต้องนำมาใช้มากเช่นกัน 

ผลของกิจกรรมนี้ทำให้แต่ละฝ่ายเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกันทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อนำสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคต ในขณะที่ผู้ปกครองบอกว่าลูก หลานไม่ช่วยงานบ้าน ไม่ค่อยอยู่บ้าน ไม่ฟังพ่อแม่ แต่ลูกหลานในครอบครัวก็สะท้อนว่าไม่อยากอยู่บ้านเพราะพ่อเมาเหล้า ทะเลาะกับแม่ ลูกอยู่บ้านแล้วไม่มีความสุขเครียด เป็นต้นนอกจากนั้นยังเป็นช่องทางให้แกนนำในชุมชนได้คิดหาวิธีการ เครื่องมือมาแก้ไขซึ่งข้อมูลที่ช่วยกันสะท้อนออกมาทั้ง 2 ฝ่ายนั้นเป็นข้อมูลจริงที่ออกมาจากความรู้สึกของผู้ที่ได้ประสบปัญหานั้นอยู่จริง 

 

บทเรียน

              กิจกรรมเพียง 1 วันที่กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหัวนาได้ทำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ ก่อนทำที่มีการวางแผนที่ชัดเจน มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของทีมงานตามความถนัด ระหว่างทำที่ทีมงามรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ทีมงานมีความเข้าใจกัน มีเป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน หลังทำที่มีการสร้างวงสนทนาคุยบทเรียนที่เกิดขึ้นและเป็นการคุยเชิงสร้างสรรค์ไม่ใช่การหาข้อผิดพลาดเพื่อตำหนิกันภายในกลุ่ม ของแกนนำเยาวชนบ้านหัวนานั้นทำให้น้องเกิดบทเรียนขึ้นมากมาย เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป้าหมายความสำเร็จต้องการให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านเท่านั้นแต่ 

 

              จากบทเรียนในครั้งนี้ทำให้แกนนำกลุ่มเยาวชนบ้านหัวนามีเป้าหมายและเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตนเองด้วย ทั้งน้องแคทและกรุง สามารถบอกถึง ทักษะที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ในระหว่างการทำกิจกรรม เช่น เกิดทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะการพูดการสื่อสาร ทักษะการเขียน และการฟังเพื่อนมากขึ้น ซึ่งน้องทั้งสองบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำกิจกรรมในมิติใหม่ที่ทำแล้วรู้ว่าตนเองทำอะไรได้ดีขึ้น เก่งขึ้นอย่างไรนั้นทำให้ตนเองมีกำลังเพิ่มมากขึ้นจากเดิมและจะใช้กระบวนการจัดการความรู้ ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำให้การทำกิจกรรมในครั้งต่อๆไปและจะพยายามขยายกระบวนการนี้ให้สืบทอดในกลุ่มน้องๆเยาวชนรุ่นต่อไป

 

              สำหรับแผนการดำเนินงานของกลุ่มเยาวชนกลุ่มหัวนานั้น น้องแคทในฐานะของพี่ใหญ่เล่าว่า กลุ่มแกนนำมีการพูดคุยวางแผนในการทำพื้นที่ทำกิจกรรมของเยาวชนในหมู่บ้านให้มีมาตรฐานขึ้นเนื่องจากปัจจุบันนี้กลุ่มเยาวชนและเยาวชนยังไม่มีพื้นที่ที่มีมาตรฐานมากนักซึ่งได้เริ่มพูดคุยกับผู้นำในหมู่บ้านเพื่อวางแผนดำเนินการแล้ว ส่วนกิจกรรมต่างๆนั้นจะต้องหาแกนนำรุ่นต่อไปเข้ามาดำเนินการต่อไป

 

 

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ