กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ตรวจเยี่ยมภายใน โรงเรียนหนองหมื่นถ่านวิทยา อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 คณะกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมการขับเคลื่อน ปศพพ. โรงเรียนหนองหมื่นถ่าน ได้แก่ ผอ.ธนิตา กุลสุวรรณ จากโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร และ ศน.วิภา ประราศรี ศึกษานิเทศก์ สพม. เขต 27 ร้อยเอ็ด และกระผม ส่วน รอง ผอ.ฉลาด ปาโส ติดภาระกิจสำคัญ ไม่สามารถมาร่วมได้

หลังจากกิจกรรมเคารพธงชาติหน้าเสาธง นักเรียนมารวมกันภายในโรงยิมขนาดใหญ่ เพื่อทำกิจกรรมสวดมนตร์ไหว้พระ และนั่งสมาธิอย่างพร้อมเพียงกัน

หลังจากนั้น นักเรียนแกนนำได้นำเดินไปตรวจเยี่ยมตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจชมได้อย่างทั่วถึง คณะกรรมการได้แยกกันไปตามฐานต่างๆ ผมเอง ซักถามได้ทั้งหมด 3 ฐานได้แก่ ฐานสวนศิลป์ ผลงานของกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และผลงานของกลุ่มภาษาไทย ส่วน ผอ.ธนิตา และ ศน.วิภา ก็ตรวจเยี่ยมฐานการงานอาชีพฯ กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา และอื่นๆ

มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการ ทั้งที่เป็นความก้าวหน้า หรือพัฒนาการในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ของนักเรียน และทั้งที่เป็นปัญหาหรืออาจเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.ชูศักดิ์ ย้ายไปโรงเรียนพลาญชัย ผอ.ทินกร มารับงานแทน มีการสลับหน้าที่ของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง คือมอบให้หัวหน้าฝ่ายวิชาการมารับงานแทนอาจารย์สุดารัตน์ และเปลี่ยนหัวหน้าครูแกนนำ ซึ่งท่านบอกกับผมว่า ยังไม่เคยฝึกอบรมที่ใดที่ไหน แม้ว่าท่านจะมีพลังใจและความมุ่งมั่นเต็มที่ แต่งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านเป็นนักเรียนรู้และนักปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาฯ ก็ใช่ว่าจะไม่สำเร็จ.....ขอเอาใจช่วยเต็มที่ครับ 

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

หากพิจารณาตามสูตร 3-4-5 ที่ผมเสนอไว้ที่นี่ ผมมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้ครับ

  • ผู้อำนวยการ แม้ว่าจะมารับงานใหม่ แต่ผมคิดท่านก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ท่านเป็น ผอ. ที่มีผลงานดีกรีการันตีด้วย "ซี 9" ผมเห็นท่านเลือกรอง ผอ. ฝ่ายวิชาการ ที่มีความมุ่งมั่น เอาจริง ปรับเปลี่ยนคนมีไฟ อย่างหัวหน้าแกนนำครูคนใหม่เข้ามารับช่วงต่อ.... ขอเป็นกำลังใจและกำลังเสริมหากท่านต้องการเพิ่มเต็มที่ครับ
  • สำหรับครูแกนนำคนใหม่และรองผอ.ที่รับงาน การรู้และเข้าใจหลักพอเพียงคงไม่ใช่ปัญหาใด เพราะเมื่อท่านทั้งสองมีความมุ่งมั่นจากใจ ความศรัทธาระดับเห็นคุณค่า (ระดับ 5) จะระเบิดออกมาจากภายในอยู่แล้ว ส่วนการขับเคลื่อนสู่เพื่อนครู ผมคิดว่าท่านก็คงพอรู้ว่าควรเริ่มจากเพื่อนครูท่านใดก่อน ..... เริ่มจากคนที่มีใจก่อนจะง่ายกว่าครับ ต่อไปนี้เป็นข้อคิดเห็นขณะเดินดูแต่ละฐานครับ
    • ฐานงานศิลป์ ซึ่งนำเสนอผลงานภาพวาดสีน้ำ สีน้ำมัน และภาพลายเส้น ของนักเรียนทั้งที่จบไปแล้วและของนักเรียนแกนนำในปัจจุบัน มีการนำกระบอกไม้ไผ่ที่ทำเป็นกระปุกออมสิน และมีป้ายไวนิวแสดง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ ดังภาพ ผมสะท้อนต่ออาจารย์่ประจำฐานว่า นั่นยังไม่ใช่ฐานการเรียนรู้ครับ น่าจะเรียกเป็นฐานการแสดงผลงานของนักเรียน ผมเสนอว่า 1) ฐานการเรียนรู้จะต้องชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้เกิดผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ใดกับนักเรียน เช่น เกิดทักษะใด 2) ชัดเจนว่านักเรียนที่เข้ามาใช้ฐานการเรียนรู้นั้นจะเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์หรือทักษะตามข้อแรกนั้นอย่างไร เท่าที่ผมสังเกตดู บริเวณฐานที่จัดแสดงนั้น ไม่มีร่องรอยว่านักเรียนได้ทำกิจกรรมใดๆ ณ ที่นั่น ผลงานที่ติดแสดงอยู่ น่าจะมาเป็นการเรียนในรายวิชาศิลปะที่อาจารย์สอนอยู่ 3) ควรมีการวัดผลหรือประเมินผลว่า ฐานการเรียนรู้นั้นได้ผลตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้หรือไม่ ในข้อนี้ผมนึกไปถึงฐานการเรียนรู้ที่มีนักเรียนเข้ามาใช้อย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลานาน มีบันทึกการเข้าใช้ฐานการเรียนรู้ เป็นต้น 4) เป็นฐานการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงบูรณาการกับทั้งการจัดการเรียนการสอน การนำไปปรับชั้นในชีวิตผ่านมิติต่างๆ รู้ทั้งประโยชน์ ความสำคัญ และแม้กระทั่งผลกระทบต่อชีวิตของนักเรียนเอง
    • ผลการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในรายวิชาโครงงาน มีโครงงานหลายอย่างที่ตั้งแสดงโชว์ในแบบที่ "เขาทำกัน" คือมีป้ายฟิวเจอร์บอร์ดวางเป็นรูปเหลี่ยม และชิ้นผลงานที่จัดเตรียมมานำเสนออย่างดี ผมมีความเห็นดังนี้ครับ
      • โครงงานที่จะสามารถพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนได้จริง จนเขาสามารถคิดเชื่่อมโยงกับชีวิตหรือถึงขั้นภูมิใจและเห็นคุณค่าของงานนั้นได้ นักเรียนจะต้องมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เป็นผู้คิดหรือมีส่วนร่วมในการคิด ออกแบบ และลงมือปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเอง โดยแต่ละขั้นตอนหรือการลงมือทำต่างๆ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ในทั้ง 3 ช่วงตอน ตั้งแต่ก่อนทำ ศึกษาหาความรู้ หลักวิชา ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง ระหว่างทำคือ ออกแบบ วางแผน และลงมือปฏิบัติตามแผนอย่างระมัดระวัง รอบคอบ มีสติ ใคร่ครวญ และหลักทำ พิจารณาตรวจสอบ ประเมินผล ตรวจเช็คความถูกต้อง เป็นต้น
      • โครงงานเรื่องจักรยานปั่นชาร์ทไฟใส่ในแบตเตอรี่ ไม่ชัดว่านักเรียนคิดเอง นักเรียนยังไม่สามารถอธิบายหลักการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากขดลวด ซึ่งเป็นหลักสำคัญของไดนาโมที่เป็นหัวใจสำคัญของจักรยานปั่นไฟ
      • โครงงานเรื่องการละลายของโฟม ด้วยน้ำมันเบนซิน แล้วนำมาทำดอกไม้ประดิษฐ์ ทั้งต้นคิด วิธีการ และขั้นตอนการทดลองต่างๆ น่าจะเป็นผลงานของอาจารย์ทั้งหมด และอีกอย่างอาจเป็นความคิดของผมคนเดียวดังนี้ว่า ผมคิดว่าดอกไม้ประดิษฐ์จากโฟมละลายผสมสีผสมอาหารไม่สวย ไม่ละเอียด ไม่ประณีต ข้อดีเดียวที่นักเรียนตอบผมคือ สามารถนำของที่กำลังจะทิ้งเช่น โฟม มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และบอกว่าสามารถลดโลกร้อนได้........... เป็นคำตอบในรูปแบบ.... หากดอกไม้ประดิษฐ์จากโฟมละลายขายดี ก็จะมีคนหันมาทำขายแข่งกัน ถึงตอนนั้นก็คงไม่เลือกว่าเป็นเศษโฟมอีกต่อไป....... นอกจากนี้แล้ว ผมว่าโครงงานนี้อาจค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็กด้วยที่ต้องอยู่กับสารเคมีที่มีกลิ่นฉุนนานๆ ...... ผมเองสนับสนุนให้นักเรียนตั้งปัญหาโครงงานจากฐานปัญหาชีวิตและวัฒนธรรมมากกว่า ...... อย่างไรก็ตาม ขอชมว่าอาจารย์สามารถสอนให้พวกเขาได้คุ้นชินกับการทดลองแบบคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ จากการทดลองเปรียบเทียบตัวแปรต่างๆ ....อันนี้ดีมากครับ
  • นักเรียนมีสัมมาคารวะ เคารพน้อบน้อมดีมาก แต่งกายมีระเบียบเรียบร้อยน่ารัก สะอาด นักเรียนแกนนำกล้าพูดกล้าแสดงออกครับ แต่ยังคงติดรูปแบบอยู่ การถอดบทเรียนหากทำกันเป็นรูปแบบ ผลก็จะได้การตอบในลักษณะรูปแบบที่ทำให้การนำเสนอและเล่าเรื่อง
  • ผมมองว่าโรงเรียนมีหลายอย่างที่ไม่ได้นำมาบูรณาการเป็นฐานการเรียนรู้ เช่น ศาลเจ้าพ่อปู่ ที่อยู่คู่กับโรงเรียน เป็นต้น
  • ขอเป็นกำลังใจให้ ผอ. รอง ผอ. และหัวหน้าครูแกนนำ
  • ผิดถูกประการใด ขออภัยไว้ ณ ตรงนี้ครับ

ด้วยความจริงใจ

ฤทธิไกร 

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ