การส่งเสริมให้เยาวชนมี “ความรู้” และ “ทักษะ” ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับทุนทางสังคม ทุนทรัพยากร และทุนทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่ เป็นความพยายามของชุมชน ตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ในการเปลี่ยนแปลงเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจาก "ภาระ" สู่การเป็น "พลัง" ของชุมชน และเป็นที่มาของโจทย์การทำวิจัยของทีมงานเทศบาลตำบลกันตวจระมวล ในหัวข้อโครงการกระบวนการเรียนรู้ทุนทางสังคมเพื่อสร้างทักษะอาชีพให้เยาวชน ตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ที่มุ่งให้เยาวชนมีอาชีพติดตัว มีทักษะความคิดในการทำงาน นอกจากเยาวชนที่เปลี่ยนแปลง คนรอบข้างเองก็เปลี่ยนมุมมองความคิดที่มีต่อเยาวชนกลุ่มนี้เช่นกัน นอกจากนี้กลุ่มคนทำงานเองยังได้เคล็ดลับ วิธีการทำงานกับเยาวชนในแบบฉบับกันตวจระมวลอีกด้วย
“ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เขารัก จะทำให้เขาทำสิ่งนั้นได้ยาวนานมากกว่ากิจกรรมที่ผู้ใหญ่อย่างเราเลือกให้เขาทำ”
มนัญชยา บอกว่าการทำวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของชุมชน ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิดและเลือกเองว่าเขาชอบอะไร อยากทำอะไร และได้ทดลองทำสิ่งนั้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน ไม่ใช่กิจกรรมที่ผู้ใหญ่เลือกให้ทำเป็นครั้ง ๆ แล้วจบไป ทำให้เขาได้ทบทวนตัวเอง และรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริง ๆ เมื่อเยาวชนได้ทำในสิ่งที่รัก เขาจะทำสิ่งนั้นได้ยาวนาน
“เราในฐานะผู้ใหญ่บ้านเห็นเด็กกลับมาเป็นแบบนี้ก็ภูมิใจ จากเมื่อก่อนไม่เคยเลย เหมือนกับว่าพอโครงการนี้เข้ามา ทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง และชุมชนเห็นคุณค่าของเยาวชน”
มนัญชยา เป็นตามวา
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านสระ และนักวิจัย
“ถ้าจะพัฒนาเยาวชนให้ดีขึ้น เราต้องเข้าใจเขาก่อนตั้งแต่การพูด จะพูดอย่างไร วิเคราะห์เด็กเป็นแล้วปรับตัวให้เข้ากับเขาให้ได้ เพื่อให้เขาเปิดใจทำงานร่วมกับเรา”
ต๋อง อรุณรัตน์บอกว่า การมาทำวิจัยครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดยังเป็นการทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองอุ่นใจว่าลูกหลานไม่ได้ไปเถลไถลที่ไหน บางครั้งผู้ปกครองแอบตามมาดู พอรู้ว่ามีผู้ใหญ่อยู่ด้วยก็วางใจ เลิกตาม บอกว่าดีแล้วที่ได้มาทำแบบนี้ เพราะอย่างน้อยลูกหลานอยู่ในหมู่บ้านและมีพี่เลี้ยงคอยดูแล
อรุณรัตน์ สอดศรีจันทร์
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
และนักวิจัย หมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต
“งานวิจัยทำให้เปลี่ยนตัวเองจากคนพูดน้อย มาเป็นคนพูดเยอะขึ้น ในเย็นลงมีมุมมองต่อการทำงานเปลี่ยนไป รู้จักวิธีการเข้าหาคน”
“แต่ก่อนเวลาลงชุมชน เราไม่ชอบคนลักษณะไหน เช่น ไม่ชอบคนพูดขวานผ่าซาก เราก็จะเลี่ยงหนีไปเลย ไม่เข้าใกล้ แต่พอได้มาทำวิจัย เหมือนเราได้มองมุมกลับ ทำให้เราเข้าใจเขา พยายามคิดว่าถ้าเราเป็นเขาอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะต้องทำอย่างไร ต้องปรับตัวอย่างไร ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองได้เยอะ อันนี้มันเกิดจากการเป็นนักวิจัยด้วย และจากการที่เราเป็นนักถักทอด้วย ทำให้เราเปลี่ยน บางทีมันซึมซับไปโดยที่เราไม่รู้ตัว” มางเล่า
จิราพร น่าชม มาง
ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร และหัวหน้าทีมวิจัยหมู่ที่ 2 บ้านสระ
“เมื่อก่อนมองว่างานวิจัยเป็นเรื่องยาก ยิ่งต้องไปทำงานกับชุมชนยิ่งยาก แต่พอมาทำแล้ว ทำให้ได้ความรู้และได้ทักษะในการทำงานกับชุมชน”
ปุ้ย-สายสุนีย์ ยอมรับว่า เมื่อก่อนตัวเองไม่รู้จักงานวิจัย มองว่าเป็นเรื่องยาก ยิ่งต้องไปทำกับชุมชน ยิ่งยาก แต่พอมาทำแล้ว ทำให้ได้ความรู้ และได้ทักษะต่างๆ ในการทำงานกับชุมชน
เมื่อก่อนจะเป็นคนทำงานแบบทำให้เสร็จเป็นงาน ๆ ไป ไม่เคยคิดว่าจะต้องต่อยอดงานให้ดีขึ้น แต่พอมาทำวิจัยทำให้มีความคิดต่อยอดมากขึ้น ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารในเทศบาลยิ่งทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ ได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม และบางครั้งการลงพื้นที่ทำงานวิจัย ยังพลอยได้งานในหน้าที่หลักคืองานสาธารณสุขไปด้วย
สายสุนีย์ แก้วสอน
ผู้ช่วยนักวิชาการสาธารณสุข และหัวหน้าทีมวิจัย หมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต
เมื่อก่อนอยู่แต่บ้าน เล่นโทรศัพท์มือถือเพราะไม่มีอะไรทำ แต่พอมีกลุ่มขนมเลยเข้ามาเรียนรู้เผื่อยึดเป็นอาชีพในอนาคตข้างหน้าได้
เจนเป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว เธอบอกว่า เมื่อก่อนไม่ได้ทำอะไรก็จะอยู่บ้าน เล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะไม่มีอะไรให้ทำ พอมีกลุ่มทำขนมจึงมาช่วย มาเรียนรู้วิธีการทำ เผื่อว่าในอนาคตจะสามารถยึดเป็นอาชีพได้
เธอยังบอกอีกว่า พ่อแม่เห็นแล้วดีใจ อยากให้มาทำ ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ การมาทำขนมยังทำให้ได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ชอบที่ได้ทำขนมแล้วพูดคุยกันไป ทำขนมแล้วซื้อข้าวมาทานด้วยกัน นอกจากนั้น การได้เข้าร่วมกลุ่มทำขนมยังทำให้รู้ตัวเองด้วยว่าชอบอะไร และยากทำอะไรในวันข้างหน้า
เจน-เจนนิสา นาคงาม
เยาวชนกลุ่มอาชีพทำขนมพื้นบ้าน
หมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต
“เมื่อก่อนติดเกมหนักมากไม่สนใจโลกภายนอก กิจกรรมนี้ช่วยให้ผมค้นพบตัวเอง วางแผนอนคตเป็น มีรายได้ให้ครอบครัว แม่และยายภูมิใจในตัวผม”
แต่ก่อนโดนัทติดเกมหนักมาก เมื่อได้มาเข้าร่วมกลุ่มกับพี่ ๆ รุ่นพี่ให้ช่วยหยิบโน้นจับนี่ ก็รู้สึกชอบ หมั่นสังเกต และเรียนรู้จากพี่ๆ จนตอนนี้สามารถเปลี่ยนยาง ถอดประกอบชิ้นส่วน ทำสีเองได้ และเริ่มทำเครื่องยนต์เป็น การที่พี่ๆ แบ่งงานให้ ยังทำให้ตัวเองมีรายได้ ไม่ต้องขอเงินแม่และยายเหมือนแต่ก่อน
โดนัท-ณัฐพล ไชยผง เยาวชนหมู่ที่ 2 บ้านสระ สมาชิกกลุ่มซ่อมรถจักรยานยนต์