โครงการ อนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมือง เยาวชนบ้านห้วยโป่งสามัคคี อ.ลี้ จ.ลำพูน
พรรณมาลี พานทวีป

เมื่อเลือกการฝึกซ้อม “ดนตรีพื้นบ้าน” มาแทนเวลาว่างที่หมดไปกับ ROV Facebook Instagram ซึ่งเป็นกิจกรรมยามว่างของเด็กรุ่นใหม่ โดยเยาวชนบ้านห้วยโป่งสามัคคี อ.ลี้ จ.ลำพูน เลือกท้าทายตัวเองจากสิ่งเร้าและรวมตัวทำ โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นบ้าน โดยใช้ประสบการณ์พื้นฐานทางด้านดนตรีพื้นเมืองที่พอมีกันอยู่แล้ว มาปัดฝุ่นและพัฒนาต่อให้คล่องแคล่วแล้วไปสอนน้องๆ ในชุมชน

­

“เมื่อลงมือดำเนินโครงการ”เริ่มต้นหาความรู้ จากการออกตามเก็บข้อมูลผู้รู้ด้านดนตรีพื้นเมืองที่มีอยู่ในชุมชน และพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมจาก “พ่อครู” ปราชญ์ผู้รู้ในชุมชนที่เติมเต็มความรู้เรื่องดนตรีพื้นบ้านและเทคนิคการเล่นที่หาความรู้ได้ยากมาก และอาจจะหมดไปถ้าไม่มีคนสืบทอดต่อ

­

แน่นอนว่าโจทย์ยากพอสมควร สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือการฝึกฝน แบ่งเวลาซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าพวกเขาจะบรรลุเป้าหมายอย่างที่คิดไว้ตอนแรกหรือไม่ นอกจากตัวพวกเขาเอง เพราะการเรียนรู้ระหว่างทางที่พวกเขาได้เรียนรู้นั้นสำคัญมากกับการพัฒนาตัวเอง

­

“เวลาฝึกเล่นแล้วเราตามครูไม่ทัน จะหัวร้อนมาก เมื่อก่อนอาจเลิกเล่นไปเลย ตอนนี้รู้สึกว่าต้องจัดการอารมณ์ตัวเอง หาอย่างอื่นทำให้ใจเย็นลงก่อน แล้วค่อยมาเล่นใหม่”

ลีโอ ถ่ายทอดอารมณ์อย่างชัดเจนว่าการเล่นดนตรีพื้นบ้านในแบบของพ่อครูนั้น “โครตยากเลย” เพราะที่เคยเรียนในโรงเรียนง่ายกว่านี้มาก สมมติว่าเพลงเดียวกันแต่วิธีเล่นกลับไม่เหมือนกัน เพราะของพ่อครูจะเพิ่มเทคนิคเข้าไปด้วย มีความพลิ้วของทำนอง สนุกกว่าแต่ว่าก็ยากจริง ๆ

ลีโอ-ธนภัทร ใจทัน

โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมือง

­

“ตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยๆ ก็ขอให้ตัวเองเล่นได้เก่งขึ้น เล่นแบบพ่อครูได้ ก็พอใจแล้ว ส่วนการสอนน้องได้ก็ถือว่าเป็นกำไร”

เมื่อทุกอย่างดูผิดแผนจากที่วางไว้เพราะคิดว่ามีพื้นฐานการเล่นดนตรีกันมาก่อนก็คงไม่ยาก แม้สถานการณ์จะทำให้ บอล อึ้งไปพร้อม ๆ กับทีม แต่เขาก็ไม่ละทิ้งความพยายาม อาศัยทักษะที่ตัวเองพอมีติดตัว ประกอบกับความเป็นคนช่างสังเกตค่อยๆ ดูนิ้วที่กดลงสายแต่ละสาย จับเสียง สำเนียงการเล่นค่อยๆ ฝึกฝนไปจนพอได้ในระดับหนึ่ง

บอล-กรีฑาพล วงศ์ษายะ

โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมือง

­

“พอได้ตีกลองรู้สึกว่าตัวเองนิ่งขึ้น และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการกำกับจังหวะก็เลยรู้สึกชอบเครื่องดนตรีนี้และอยากจะทำให้ดี”

นัท สะท้อนว่าดนตรีที่ตัวเองชอบมากที่สุดคือกลองสองหน้า เพราะเล่นแล้วตัวเองรู้สึกว่าเวลาที่ตีกลองแล้วความรู้สึกเรานิ่ง จดจ่ออยู่กับการกำกับจังหวะก็เลยรู้สึกชอบเครื่องดนตรีนี้

ณัฐ-ณัฐพล ต่อกัน

โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมือง

­

แม้ว่าภาพของพี่สอนน้องเล่นดนตรีพื้นเมืองจะยังไม่เกิดแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั่นคือ การเรียนรู้ระหว่างทางที่พวกเขาได้เรียนรู้นั้นสำคัญยิ่งกว่า ความผูกพันของคนสองวัย รอยยิ้ม เสียงหัวเราะของผู้สูงอายุที่เกิดจากกลุ่มเยาวชนนี้คือเครื่องการันตีว่า ชุมชนแห่งนี้ยังมีความหวัง อย่างน้อยๆ จากเดิมเสาร์อาทิตย์ที่พวกเขาเคยนั่งอยู่แต่ในบ้าน จ้องแต่จะตีป้อมใน ROV ก็เปลี่ยนมาเป็นตีกลอง ซ้อมดนตรีพื้นเมืองแทน