เวทีความคิดจาก: เวลาคุณภาพกับลูกรักในยุคสมัย ๔.๐ ครั้งที่ ๕ เลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองโลก
เจ้าหน้าที่ มูลนิธิสยามกัมมาจล

โครงการห้องเรียนพ่อแม่ เวลาคุณภาพกับลูกรักในยุคสมัย ๔.๐

ครั้งที่ ๕ เลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองโลก

วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๕.๓๐ น.

ห้องเรียนอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ

สาระสำคัญ

วิธีคิดเชื่อมโยงสู่มิติคุณค่า (Wise Reflection) เปิดมุมมองในการเข้าถึงคุณค่าและเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในโลก เป็นกระบวนการคิดโดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ จะเร้ากุศลในใจให้บุคคลเป็นผู้มีบุคลิกท่าทีของผู้ที่เฟ้นหาคุณค่าความดีงามของสรรพสิ่งในโลก น้อมเข้ามาสู่คุณค่าที่เกิดในใจตนเอง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในวงจรความสัมพันธ์นั้นอย่างแยกไม่ได้ ฝึกวิธีนี้โดยการพิจารณาสิ่งธรรมดาสามัญที่พบเห็น หรือเป็นของใช้ประจำวัน สังเกตรูปพรรณสัณฐานของสิ่งนั้นด้วยสายตาที่ละเอียดประณีต เชื่อมไปสู่ที่มาและองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น กระทั่งประโยชน์และคุณค่าของสิ่งนั้น

ความคิดเป็นบ่อเกิดแห่งพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ความคิดเชิงคุณค่าจะมีพลังสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการเปิดเผย แสดง และสื่อสารหลากหลายวิธี เพื่อให้ความคิดนั้นปรากฏเป็นรูปธรรม จับต้องได้ เป็นสาธารณะ และได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถสร้างงานที่เป็นประโยชน์และคุณค่าต่อตนและสังคมต่อไป ในเวิร์คชอปนี้ กลุ่มพ่อแม่จะได้ทดลองออกแบบฐานการเล่นที่สร้างเสริมด้านกาย ใจ และ สติปัญญาของลูกๆ ด้วยตนเอง

ลูกๆ ซึมซับวิธีคิด วิธีมองและอ่านโลกของพ่อแม่ และก่อร่างสร้างเป็นทุน เป็นฐานของชีวิต พ่อแม่จึงเป็นผู้นำพาลูกเข้าสู่ความหมายของสรรพสิ่ง สถานการณ์และวิถีชีวิตรอบตัว เพื่อรู้จัก เข้าถึงประโยชน์และคุณค่าแท้ที่มีต่อชีวิตของตน ด้วยกลไกการเรียนรู้ของชีวิต นั่นคือ “หนึ่งสมอง สองมือและหัวใจ” (Head Hand Heart)

การได้ซึมซับจากต้นแบบที่มีวิธีคิดเชื่อมโยงสู่มิติคุณค่าและลงมือทำกิจการงานจริงให้เกิดขึ้น มีท่าทีพร้อมเรียนรู้สู้สิ่งยาก พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เอาดีจากเรื่องต่างๆ เป็นผู้ใช้ชีวิตด้วยสติปัญญา สำรวมในการดำรงอยู่อย่างเคารพในคุณค่าของผู้คนต่างสถานภาพที่มีหลากหลายความคิดจิตใจ ธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัว นับเป็นมงคลของลูกที่ได้ฝึกฝน สั่งสมลักษณะนิสัยของความเป็นพลโลกที่ตื่นรู้ มั่นคงในการสร้างศรัทธาและไมตรีต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมด้วยฉันทะและความเพียรเพราะตระหนักในสถานะของตนที่เป็นหนึ่งในวงจรแห่งความสัมพันธ์นั้น

­

จุดประสงค์

  • เพื่อฝึกกระบวนการคิดเชื่อมโยงสู่คุณค่า และการสะท้อนคิด (Wise Reflection)
  • เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ประมวล และออกแบบฐานการเล่นเพื่อพัฒนาด้านกาย จิตใจ และปัญญาของลูกร่วมกับกลุ่ม