วันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม นี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม Morning Dialog ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานการประชุม ในหัวข้อ บทเรียนจากการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา นำเสนอโดย คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการ และคุณสุจินดา งามวุฒิพร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ ทั้งนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล มีบทบาทในการเป็นผู้กระตุ้น สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดกระบวนการทำงานในการจัดการความรู้ด้วยวิถีของ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลาดนัดความรู้ และการตั้งวงคุยในลักษณะ Community of Practice (COP)ที่มีองค์ประกอบแบบองค์รวมและเชิงปัจเจกของบุคลากรทั้งโรงเรียน ตั้งแต่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และนักเรียน บนเส้นทางของ ความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ และขยายผล อย่างกว้างขวางในลักษณะเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน
หัวใจสำคัญของโครงการ คือ การค้นหาโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบจำนวนหนึ่ง ที่สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยกระบวนการทำงานเชิงลึก เพื่อเพิ่มศักยภาพ ด้วยการกำหนดให้แต่ละโรงเรียนสร้างตารางอิสรภาพ ตั้งเป้าหมายและวิเคราะห์จุดอ่อน/จุดแข็ง เพื่อประเมินตนเอง สู่การทำแผนเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการได้รับความสนับสนุนจากผู้ทรงคุณวุฒิในการออกแบบการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติบนทุนและความมีใจตั้งมั่นในการทำงานของแต่ละโรงเรียน
ในการพัฒนากระบวนการติดตามการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ได้ใช้หลัก ๗ คำถามสำคัญ (แนวคิดของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติเกิดการคิดวิเคราะห์ทุกครั้งที่จะลงมือทำ คือ
๑. จะทำอะไร ? ทำไมจึงทำ?
- พิจารณา : ความสำคัญ ประโยชน์ ความคุ้มค่า
๒. มีความพร้อม / ความเป็นไปได้ที่จะทำหรือไม่?
- พิจารณา: ความรู้+5M (man,money,materials,management,market)
- ตัดสินใจ : ทำได้, ทำได้แต่ต้องปรับ / เปลี่ยนเป้าหมาย,ทำไม่ได้
๓. มีความรู้เพียงพอในเรื่องที่จะทำหรือไม่? ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
- พิจารณาและศึกษาหาความรู้ที่จำเป็น : รอบรู้ (รู้กว้าง,รู้ละเอียด,รู้ลึก)
๔. จะทำอย่างไร จึงจะเกิดความพอดี / พอประมาณ และสามารถรองรับปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้?
- ใช้หลักคุณธรรมอะไร? (ทำเพื่ออะไร?-เงื่อนไขคุณธรรม)
- ทำอย่างไรจึงจะพอดี / พอประมาณ
- พิจารณาโดยใช้หลักเหตุ หลักผล / ผลที่จะตามมาจากการกระทำ
- พิจารณาให้เหมาะสมกับตน ไม่เบียดเบียนตนเองให้เดือดร้อน
- พิจารณาให้เหมาะสมกับผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน
- พิจารณาให้เหมาะสมกับบริบท สิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนทำลายสิ่งแวดล้อม
- พิจารณาถึงผลกระทบ ปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และคิดเตรียมการที่จะรับมือจากผลกระทบนั้นๆ
๕. ลงมือทำอย่างไร จึงจะสำเร็จ?
- ทำโดยใช้ความรู้ ทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ทำอย่างมีคุณธรรม ขยัน อดทน เพียรพยายาม ซื่อสัตย์ มีสติ ใช้ปัญญา)
๖. อะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ทำไม่ได้ดี จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ?
- พิจารณา : ผลที่เกิดขึ้น กระบวนการ/วิธีการที่ทำ บุคคลที่เกี่ยวข้อง
๗. เกิดการเรียนรู้อย่างไรอะไรบ้างที่เกิดจากการคิด-การทำงานตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- พิจารณา : ความรู้ ความคิด การกระทำ เจตคติ การพัฒนาตนเอง และชีวิต
ในช่วงการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ผู้จัดการโครงการนี้และทีมงาน ได้ชี้ประเด็นที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ เช่น
* เข้าใจไม่พอ วิเคราะห์ได้ไม่พอ ต้องลงมือทำจึงจะเรียนรู้ และพัฒนา
* ความเข้าใจที่ตรงกัน (นิยามศัพท์/วัตถุประสงค์ เป้าหมาย)
* เป้าหมายต้องชัดเจน มีการทบทวนวัตถุประสงค์เสมอๆ ไม่ยึดติด และต้องคำนึงถึงพลวัตร
* ยึดหลักสมดุลในการทำงานที่สัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ และสัมพันธภาพของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
* ความคาดหวัง ต้องมาพร้อมกับความเข้าใจร่วมกัน
* การจัดการโครงการพัฒนาคน คือ การบริหารใจ ศักยภาพ เพื่อสู่เป้าหมาย/ความคาดหวัง
* การเรียนรู้ที่แท้จริง ต้องมุ่งเน้นให้เด็กลงมือทำเอง
* เพื่อถอดบทเรียนรู้แล้ว ต้องนำไปพัฒนาต่อ
* ครูต้องมุ่งเน้นการบ่มเพาะนักเรียนเกิดเป็นอุปนิสัย ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียน
* ความจำเป็นในการบูรณาการสหวิทยาการ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความเห็นว่า เพื่อความยั่งยืนของผลสำเร็จในโครงการนี้ จะทำอย่างไร ที่ส่วนของ non cognitive part นี้จะไม่ขัดแย้งกับ cognitive part
ข้าพเจ้า ได้ตอบข้อสังเกตส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ว่า เท่าที่ผ่านมา มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ในการสร้างสื่อบูรณาการการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงในหลักสูตร ๘ กลุ่มสาระวิชา รวมทั้งผลิตสื่อช่วยการสอนที่เป็นนิทานและสิ่งตีพิมพ์อ่านนอกเวลาเรียนที่เข้าใจง่าย และสร้างเกมส์เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย
ในช่วง AAR เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ต่างร่วมกันให้ความเห็นว่า หลักของปรัชญาเศรษบกิจพอเพียง สามารถนำมาเป็นแก่นสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข มั่นคง บนความพอเพียงที่ยั่งยืน