การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง และการถอดบทเรียน "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม"ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนำร่อง ๖ แห่ง คือ ม.มหิดล ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.เทคโนโลยี่พระจอมเกล้าธนบุรี ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ และสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมแสดงประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการสายรับใช้สังคม พัฒนากระบวนการเรียนรู้หรือปรับวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ๆ และพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความพร้อมในการผลิตบัณทิตให้เป็นพลเมืองดี
คณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง และการถอดบทเรียน "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม" เมื่อวันพุธที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ รร.มิราเคิลแกรนด์ กทม. ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนำร่อง ๖ แห่ง คือ ม.มหิดล ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.เทคโนโลยี่พระจอมเกล้าธนบุรี ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ และสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมแสดงประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการสายรับใช้สังคม พัฒนากระบวนการเรียนรู้หรือปรับวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ๆ และพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความพร้อมในการผลิตบัณทิตให้เป็นพลเมืองดี
ในงานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา จำนวน ๖๖๔ คนจาก ๑๖๖ สถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยความสนใจ เพื่อนำบทเรียนรู้จากเวทีนี้ไปปรับใช้ตามบริบทและภูมิสังคมของแต่ละแห่งต่อไป
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้กล่าวถึงนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่มีที่มาจากการเรียกร้องในช่วงหลังวิกฤติทางการเมืองและสังคมเมื่อปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่ตั้งอยู่บนฐานของชีวิตจริง การมีพื้นที่ยืนของนักวิชาการสายรับใช้สังคมในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนถึงความพยายามที่จะกำหนดนิยามใหม่ของ "การศึกษา" ในความหมายที่กว้างขึ้นเพื่อครอบคลุมถึง "การเรียนรู้ตลอดชีวิตและอยู่บนฐานวัฒนธรรม"
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ได้เห็นชอบต่อแนวทางการผลักดันของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้สถาบันอุดมศึกษาต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนสังคมมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม"..
การจัดสัมมนาในวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ในการแสดงบทบาทและการปฏิรูประบบอุดมศึกษาให้มีความใกล้ชิดกับสังคมไทย ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมอุดมปัญญา ด้วยการเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมร่วมกันทำงานสร้างสรรค์งานวิชาการสายรับใช้สังคม เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคม ชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งการสนับสนุนให้ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมได้รับการยอมรับ ได้รับการนำเสนอและเผยแพร่ผลงาน ตลอดจนได้รับการประเมินคุณภาพ คุณค่า เพื่อใช้เป็นผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้..
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และรองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม ทิศทางการผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ ๒๑" โดยเน้นย้ำว่า " สังคมไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในวิกฤติความขัดแย้ง และความไม่เท่าเทียมกัน สถาบันอุดมศึกษาถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องมีส่วน "ป้องกัน" และ "แก้ไข" วิกฤติการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยมีความรู้เท่าทันโลก และก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นสังคมแห่งปัญญา รู้จักและมั่นใจในตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง ตลอดทั้งสามารถจุนเจือช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ซึ่งในท้ายที่สุด เพื่อให้คนไทยโดยภาพรวมมีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ..
พร้อมกันนี้ การอุดมศึกษาของประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ เช่นกัน ซึ่งทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในอัตราเร็วที่สูงขึ้น ส่งผลถึงคุณลักษณะของนิสิตนักศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะการที่นักศึกษายุคใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้โดยง่าย ทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมา การศึกษาแบบเก่าเน้นการเรียนรู้ตัวทฤษฎีมากกว่าการลงมือปฏิบัติ...
.. สถาบันอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับตัว หันมาเสริมสร้างให้นิสิตนักศึกษามีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษหน้า โดยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
.. อาจารย์จึงต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนสังคม ย้ายห้องเรียนจากห้องสี่เหลี่ยมมาใช้ชุมชนเป็นพื้นที่การเรียน พื้นที่ปฏิบัติการจริง นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ (Project Based Learning)
.. การจัดการเรียนรู้เช่นนี้ อาจารย์จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สอน เป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้ ชี้แนะแต่ไม่ครอบงำ และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกศิษย์ของตน เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือเป็นทั้งวิธีการที่ทำให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็น และยังจะเป็นการฝึกฝนให้พวกเขาเป็นคนที่ไม่นิ่งดูดายสังคม รู้จักให้ และเผื่อแผ่ออกไปรับใช้สังคมพร้อมๆ กัน..
.. การปฏิรูปประเทศไทยได้สำเร็จในยุคสังคมความรู้จึงต้องดึงเอาวงวิชาการเข้าไปรับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิผล ให้อุดมศึกษานำไปทำงานแนบแน่นกับสังคม ไม่ใช่ห่างเหินสังคมอย่างที่ผ่านมา เป็นการเอาวิชาการ การเรียนรู้ การสร้างความรู้ และการใช้ความรู้ไปสู่ชีวิตจริงของสังคม ในขณะเดียวกัน อุดมศึกษาก็จะอาศัยภาคชีวิตจริงมาพัฒนาตนเองด้วย..
.. การที่มหาวิทยาลัยจะสามารถทำงานวิชาการแนบแน่นกับภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นชีวิตจริงของสังคม มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นการเปลี่ยนทั้งวัฒนธรรม และปรับโครงสร้างการจัดการมารองรับ
.. การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เห็นแนวทางปฏิบัติ เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ จึงไม่ใช่การเริ่มต้นจากศูนย์เพียงลำพัง โดยมหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถเริ่มทำได้ทันที ไม่ต้องรอการสั่งการจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งจากทั้งหมดนี้ จึงหวังว่าวิชาการสายรับใช้สังคมก็จะพัฒนาเป็นฐานใหญ่ของการศึกษาในภาคอุดมศึกษาของไทยต่อไป.."
ในช่วงครึ่งหลังของงานสัมมนานี้ ได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น ๔ ห้องย่อย ..
ห้องที่ ๑ ห้องผู้บริหาร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยทั้ง ๖ แห่งต้องปรับระบบการบริหารจัดการเช่นใดจึงจะรองรับการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใหม่
ห้องที่ ๒ อาจารย์ผู้สอนกับบทบาทของผู้สนับสนุนการเรียนรู้ เน้นการปรับบทบาทของผู้สอนจากการเป็น Lecturer มาเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ในชุมชน การจัดวงวิพากษ์ และการหนุมเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการทำโครงงานด้วยจิตอาสาต่อสังคม.....
ห้องที่ ๓ นักศึกษากับการเรียนรู้ในชุมชน..มีการปรับพฤติกรรมต่อชุมชนในทางที่ดีขึ้นอย่างไร.......
ห้องที่ ๔ ชาวบ้านคิดอย่างไรเมื่อมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนสังคม.....
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ จากงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ อย่างเป็นรูปธรรม ที่จะต่อยอดพัฒนาสืบสานต่อไป คือ..
.. องค์ความรู้ในเรื่องวิชาการรับใช้สังคม และเกิดการยกระดับความรู้ เกิดมุมมองใหม่ในการปรับวิธีคิดและวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้(CoP) อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางานด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
.. แนวคิดและแนวทางปฏิบัติของสถาบันอุดมศึกษา ในเรื่องวิชาการสายรับใช้สังคม ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ และมีทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง
.. เครือข่ายการเรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้ในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นบทบาทของมหาวิทยาลัยสายรับใช้สังคม
ในส่วนของการถอดบทเรียนที่น่าสนใจจากเวทีนี้ ข้าพเจ้าจะได้นำมาเล่าสรุปเป็นลำดับต่อไป.......