เวทีความคิดจาก: การแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0
รุ่งนภา จินดาโสม

­

เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี IIoT ให้กับครูและนักเรียนระดับปวส. ของสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC และต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากภาคการศึกษาสู่การประยุกต์ใช้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการและระบบการผลิตอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรม และแนวทางการพัฒนาประเทศสู่ยุคดิจิทัล

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยกับความเข้มข้นตลอด 36 ชั่วโมงในการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R ภายใต้แนวคิด “Data Analytics for Factory 4.0” ได้พิสูจน์ความสามารถ และฝีมือน้อง ๆ Gen R ทั้ง 11 ทีม จำนวน 33 คน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาในเขตภาคตะวันออก ในการนำความรู้ และทักษะทางด้าน Industrial Internet of Things หรืออินเทอร์เน็ตสำหรับทุกสรรพสิ่งเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2565 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ จ.ชลบุรี

การแข่งขันในครั้งนี้ดำเนินงานโดย เนคเทค สวทช. ร่วมกับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา บริษัท เอส เอ็น ซี จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ ในการจัดกิจกรรมแข่งขัน

­

#เรียนรู้แบบท้าทายด้วยโจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรม

ด้วยแนวคิดของการแข่งขันในปีนี้ คือ “Data Analytics for Factory 4.0” ที่น้อง ๆ ผู้เข้าแข่งขันจะได้พบกับโจทย์จริง ข้อมูลจริง จากอุตสาหกรรมใน 3 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

­

ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเริ่มต้นจากการนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์เพื่อตามหาประเภทอุตสาหกรรมที่ทีมได้รับ เพื่อใช้ข้อมูลนี้ไปออกแบบ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูล พร้อมการนำเสนอในรูป แดชบอร์ด สำหรับการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะใน 6 ด้าน Production Monitoring, Quality Control, Power Management, Warehouse Management, Maintenance, Lean Manufacturing

­

โดยคณะกรรมการจะพิจารณาผลงานใน 3 ส่วน ได้แก่ (1) ความสามารถในการเลือกและดึงข้อมูลทางอุตสาหกรรมออกมาได้อย่างครบถ้วน ตรงตามแอปพลิเคชันที่ทีมเลือก สามารถอธิบายความสำคัญและความสัมพันธ์ของข้อมูลที่เลือกใช้ได้ (2) การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างตัวแปร เชิงตรรกะ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับโรงงาน หรือแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ (3) ความสามารถในการออกแบบและพัฒนา รายงาน, แดชบอร์ด ที่เป็นประโยชน์ต่อโรงงาน และ Presentation ในการนำเสนอผลงาน

­

โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วม พิจารณาตัดสินผลงาน ดังนี้

1.คุณวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ที่ปรึกษา ในโครงการพัฒนาทักษะแบบเข้มข้นสำหรับบุคลากรระดับอาชีวศึกษา ทางด้าน Industrial Internet of Things

2.คุณเสมา พูลเวช บริษัท เอส ซี จี เคมิคอลส์ จำกัด

3.คุณวภช หลายวัฒนไพศาล นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานปฏิบัติการ สังกัดสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA)

4.ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) เนคเทค สวทช.

5.ดร.เอมอัชนา นิรันตสุขรัตน์ นักวิจัย ทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) เนคเทค สวทช.

#ประกาศผลรางวัล ผลงานเด็ก Gen R คว้าชัยเวที IoT Hackathon 2022

#รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ALT + F4

ได้รับข้อมูลอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (Conrod) สร้างแดชบอร์ดและรายงาน แสดงผลการตรวจสอบสินค้า (Production Monitoring) ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE) การบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) การบริหารจัดการด้านพลังงาน (Power Management) การบริหารค่าใช้จ่ายพนักงานและเครื่องจักร

ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท

.

#รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ ทีม DMK Transport

ได้รับข้อมูลอุตสาหกรรมผลิตอาหาร (ไส้กรอก) สร้างแดชบอร์ด และ รายงาน แสดงผลการตรวจสอบสินค้า (Production Monitoring), การบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management), การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) และการบริหารจัดการด้านพลังงาน (Power Management)

ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท

.

#รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 ได้แก่ ทีม แอ๊ะแอ๋แม่จ๋า

ได้รับข้อมูลอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ผลิต Resistor) สร้าง แดชบอร์ด และ รายงาน แสดงผล ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE), สถานภาพและปริมาณของสินค้า (Status & Product Quantity) ชนิดของสินค้าและความสามารถในการผลิต (Type of Product & Productivity) การบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) การควบคุมคุณภาพและพลังงาน (Power and Quality Control) การขาย (Sales) และต้นทุนจากการสูญเสีย (Cost Lost)

ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท

.

#รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่

1) Ctrl C / Ctrl V

ได้รับข้อมูลอุตสาหกรรมผลิตอาหาร (ไส้กรอก) สร้าง แดชบอร์ด และรายงาน Production Line การบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) การบริหารจัดการด้านพลังงาน (Power Management) และ ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE)

­

2) M1

ได้รับข้อมูลอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สร้างแดชบอร์ด และรายงาน แสดงผลการบริหารจัดการและแจ้งเตือนด้านพลังงาน (Power Management) อุณหภูมิ (Temperature) เวลาในการผลิต (Cycle Time) ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE) การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) และการบริหารจัดการด้านพลังงาน (Power Management)

ได้รับรางวัลมูลค่า 5,000 บาท

.

IoT Hackathon 2022 Gen R เป็นตัวอย่างกิจกรรมการพัฒนาเยาวชนด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้อง ๆ กลุ่มอาชีวศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญในภาคการผลิตของไทยในอนาคต จากการเรียนรู้และได้ลงมือปฏิบัติจากโจทย์จริง ทั้งในด้าน Hard Skill การประยุกต์ใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม รวมถึง Soft Skill ในการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับเพื่อนใหม่ การวางแผนการทำงานภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป