ก้าวทีละนิด ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ อบต.นิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

­

การเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน หรือการทำงานตามแนวคิดในหลักสูตรนักถักทอ ไม่ใช่การเพิ่มงานให้บุคลากร แต่เป็นสิ่งที่เราในฐานะข้าราชการท้องถิ่นควรทำมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำ ทำผิดวิธี หรือไม่มีวิธีคิดให้ต่อยอด เพื่อพัฒนาการทำงานแบบเดิมๆ ได้

ความเขียวของต้นไม้ต้นหญ้าสองข้างทาง ปริมาณน้ำที่เต็มปริ่มในหนองน้ำหลายแห่งเท่าที่เห็นผ่านตา เป็นร่องรอยที่ฝนทิ้งไว้เบื้องหลังทำให้รู้สึกถึงความชุ่มชื้น องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน อาชีพหลักของคนในชุมชน 90 เปอร์เซ็นต์ทำการเกษตร ที่เหลือประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ

  • กิตติพงษ์ วิชินโรจน์จรัล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี บอกว่า ถึงแม้ตำบลนิคมกระเสียวจะตั้งอยู่บนพื้นที่ดอนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ชุมชนอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามธรรมชาติจึงสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี แต่ในสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่บีบรัดให้คนต้องทำมาหากิน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ ปัญหาช่องว่างด้านความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานหารายได้เลี้ยงสมาชิกในบ้าน ทิ้งบุตรหลานให้ปู่ย่าตายายดูแล ช่องว่างความสัมพันธ์นี้กลายเป็น “จุดอ่อน” ให้สิ่งยั่วยุและอบายมุขในสังคมรอบตัวเข้ามาแทรกซึมได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และความก้าวร้าวทางพฤติกรรม เนื่องจากไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามช่วงวัยที่เหมาะสม
  • ด้วยเห็นความสำคัญว่าเด็กคืออนาคตของชาติ และเป็นหน้าที่ของ อบต.ที่ต้องดูแลคนในชุมชน ซึ่งเป็นงานที่เราทำอยู่แล้ว แต่ขาด “ตัวเชื่อม” เมื่อมีโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว เข้ามาจึงคิดว่าต้องคัดคนที่มีใจ คนที่ทำงานจริงๆ ไปร่วมเรียนรู้ เพื่อกลับมาเป็น “ขุมกำลัง” ของ อบต.ต่อไป
  • ใช้ข้อมูลชุมชนกำหนดนโยบายการทำงาน
  • นายกกิตติพงษ์ บอกว่า หลักสูตรนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ผู้บริหาร และบุคลากรของ อบต.ให้คิดเป็นอย่างละเอียดรอบคอบ และมีการวางแผนลำดับความคิดอย่างเป็นระบบ
  • “เราได้เครื่องมือในการวางแผนแก้ไขปัญหาในชุมชน ไม่เฉพาะแค่สถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชน ทำให้เราในฐานะผู้บริหารได้ฉุกคิดด้วยว่า ที่ผ่านมานั้น เรายังรู้ไม่พอ วิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้ทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาเป็นแค่การทำกิจกรรมเพื่อให้ได้กิจกรรม ยังไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว”
  • การจัดกิจกรรมแบบครั้งคราว ไม่ว่าจะเป็น โครงการค่ายคุณธรรม และการรณรงค์ในโอกาสต่างๆ เกี่ยวกับโทษของยาเสพติด ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เนื่องจากเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมน้อยมาก
  • นอกจากวิธีคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบแล้ว ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการประสานการทำงานร่วมกับชุมชนในแต่ละภาคส่วนเป็นเครือข่าย เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ อบต.นิคมกระเสียวนำมาปรับใช้ในการทำงานด้านเด็กและเยาวชน รวมทั้งงานชุมชนอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนหน่วยงานไหนทำอะไรก็ทำไป ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกัน ตอนนี้คณะทำงานต้องมานั่งคิดว่า ถ้าจะทำโครงการใดต้องดึงโรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่และเด็กมาร่วมกันอย่างไร นักถักทอชุมชนที่เป็นผู้ปฏิบัติโดยตรง ต้องลงพื้นที่ประสานงานทำงานกับภาคีต่างๆ เขาในฐานะ นายก อบต. นอกจากเข้าไปช่วยนักถักทอชุมชนลงพื้นที่ในบางครั้งแล้ว ยังต้องนำข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดในชุมชนมานั่งคิดประมวลผล เพื่อกำหนดเป็นนโยบายหรือแผนการทำงานออกมาให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันมากที่สุด เพราะเชื่อว่าถ้าสามารถพัฒนาแต่ละส่วนไปพร้อมๆ กันได้ประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ใคร ก็ตกอยู่กับชุมชนนั่นเอง

เมื่อมีแผนการทำงานที่ชัดเจน ทำให้ อบต.นิคมกระเสียวสามารถวางแผนการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเน้นประสานความร่วมมือกับผู้บริหารสถานศึกษาในตำบล เพื่อดำเนินโครงการในระยะยาวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการพัฒนาส่งเสริมด้านการศึกษา

“จากเดิม อบต.จะทำโครงการอะไรกับเด็กก็แค่เข้าไปบอกไปแจ้งให้โรงเรียนทราบ เพื่อขอให้โรงเรียนส่งเด็กเข้ามาร่วม ไม่เคยถามว่าเขาอยากทำหรือเปล่า ไม่เคยคุยแลกเปลี่ยนกันถึงจุดประสงค์หรือเป้าหมายของโครงการ แต่ตอนนี้แม้แต่การพูดคุยก็ยังเปลี่ยน เพราะเราต้องเข้าไปถามและไปถกกับผู้อำนวยการโรงเรียนก่อนว่า จริงๆ แล้วโรงเรียนหรือนักเรียนอยากให้ อบต. เข้าไปสนับสนุนเรื่องอะไร ไม่ใช่แค่เอาโครงการไปโยนไว้ให้เขามาร่วม” นายก อบต.นิคมกระเสียวบอกเล่าวิธีการทำงาน

เช่นเดียวกับการทำงานของทีมนักถักทอชุมชน ทั้ง เอ๋ – นันท์นภัส น้อยสุริวงษ์ นักพัฒนาชุมชน และ อุ้ย – หทัยรัตน์ บุตรลีดา ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ธุรการ บอกถึงสิ่งที่พวกเธอได้เรียนรู้จากการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า การสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานชุมชน

เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน...วิธีทำงานก็เปลี่ยนตาม

เอ๋ เข้ามาทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน อบต.นิคมกระเสียว เมื่อ 3 ปีก่อน โดยหน้าที่นักพัฒนาชุมชนต้องดูแลคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย เธอเข้าร่วมหลักสูตรนี้ด้วยความเต็มใจ เพราะมั่นใจว่าจะได้รับความรู้เพื่อนำมาใช้พัฒนางานในหน้าที่ของตนเอง เธอมองว่าการเข้าร่วมหลักสูตรทำให้เธอได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ ตำบลอื่น ซึ่งบางตำบลอาจมีปัญหาระหว่างการทำงานเหมือนกัน ทำให้เธอได้รู้ว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร หรือตำบลไหนเจอปัญหาอย่างอื่น ก็จะได้รู้และเตรียมมือตั้งรับเผื่อเกิดขึ้นในพื้นที่ของเธอ และการรวมกลุ่มแบบนี้ช่วยกระตุ้นการทำงานของเธอได้ด้วย เพราะทุกๆ ครั้งที่กลับมาเข้าห้องเรียน แต่ละตำบลจะได้เห็นความคืบหน้าในการทำงานของกันและกัน ทำให้ไม่มีใครอยากย่ำอยู่กับที่ ต้องกลับมาทำการบ้าน กลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรต่อกับงานในพื้นที่ โดยมีเครื่องมือและองค์ความรู้จากหลักสูตรช่วยสนับสนุนให้คิดออกมาอย่างเป็นระบบและมีการวางแผนงานที่ดี

ในช่วง 1 ปีหลังได้นำหลักสูตรนักถักทอชุมชนมาใช้กับการทำงานในชุมชน เอ๋บอกว่า วิธีการทำงานของเธอเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ทำงานคนเดียวไม่เกี่ยวใคร จนรู้สึกว่างานเป็นภาระ หนักเหนื่อย เพราะต้องจัดการงานทุกอย่างเองทั้งหมด แต่แนวคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายและการกระจายงาน ด้วยการหาบุคคลเข้ามาเป็นผู้ช่วยประสานงานในแต่ละส่วน ช่วยให้เธอทำงานง่ายขึ้น ผลลัพธ์คือ หน้าที่งานเหมือนเดิม ภาระงานเท่าเดิม แต่คุณภาพการทำงานเพิ่มขึ้นและเหนื่อยน้อยลง

“ก่อนหน้านี้เวลาลงชุมชนเราก็แค่ไปเยี่ยมบ้านผู้ยากไร้หรือผู้ประสบปัญหาในบทบาทเจ้าหน้าที่ แต่ตอนนี้บทบาทของเราในสายตาของคนในชุมชนเปลี่ยนไป ผู้ใหญ่มองเราเหมือนลูกหลาน ส่วนเด็กๆ ก็เห็นเราเป็นพี่ที่คอยดูแลเขา ชุมชนให้ความไว้วางใจ มีความใกล้ชิดสนิทสนม มีความเป็นกันเอง เหมือนเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในพื้นที่จริงๆ ทำให้การติดตามงานของเราง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะเวลาเข้าไปถามผู้ปกครองเด็กถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกเขา เขาก็จะกล้าพูดกล้าตอบตามความจริง”

ส่วนอุ้ยที่จับพลัดจับผลูต้องไปเป็นตัวแทนเข้าอบรมในหลักสูตรนักถักทอชุมชนแทน เพราะโดยหน้าที่ผู้ช่วยฝ่ายธุรการแล้ว งานของเธอไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กและเยาวชนเลย แต่อุ้ยคิดว่าเป็นโชคดี ในฐานะบุคลากรใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน เมื่อมีโอกาสได้เข้าอบรมเสริมทักษะการทำงาน หลักสูตรนี้จึงมีประโยชน์และเป็นแนวทางให้เธอสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานในหน้าที่ รวมทั้งการเตรียมตัวเพื่อเข้าไปทำงานกับชุมชนได้เป็นอย่างดี

“จากเดิมที่รับผิดชอบงานธุรการ ตอนนี้เข้ามาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย เรานำความรู้เรื่องการวิเคราะห์และวางแผนที่ได้จากหลักสูตรมาใช้เขียนแผนได้เลย คิดว่าถ้าไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้มาก่อน แล้วต้องมาเขียนแผนก็คงใช้เวลาในการทำงานมากกว่านี้” อุ้ยกล่าว

นักถักทอชุมชน 2 คน ยังน้อยเกินไปสำหรับการทำงานชุมชนใน 1 ตำบล ทั้งเอ๋และอุ้ยจึงกลับมาถ่ายทอดวิชาความรู้ให้บุคลากรใน อบต. เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในภาพรวมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างบุคลากรใน อบต. ตลอดไปจนถึงความร่วมมือและความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน ถึงแม้คนขับเคลื่อนงานในพื้นที่ยังคงเป็นเอ๋และอุ้ย ที่เป็นแกนนำหลัก แต่โครงสร้างการทำงานภายในองค์กรที่เข้มแข็งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างสบายใจและมีกำลังใจ

“พอทุกคนใน อบต. รับรู้และเข้าใจ เราก็กล้าเอ่ยปากขอให้คนอื่นๆ ช่วยเหลือในส่วนที่เขาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะพยายามจัดการเอง คิดเองคนเดียว สุดท้ายก็อาจจะไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ เพราะระบบการจัดการงานของเราผิดพลาด งานของเราก็ไปไม่ถึงไหน ออกมาไม่มีคุณภาพ แต่การแบ่งงานแบ่งหน้าที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อมีข้อผิดพลาดตรงไหนเราสามารถนำมาเล่าสู่กันฟัง แล้วช่วยกันแก้ไขได้”

เริ่มจากจุดเล็กๆ ขอเด็กในระบบก่อน

เมื่อมั่นใจในแนวทางการทำงาน อบต.นิคมกระเสียว เริ่มต้นทำงานกับเด็กและเยาวชนในระบบ ผ่านสถาบันการศึกษา เพื่อปั้นแกนนำเด็กและเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองของเด็ก

ที่ทำเช่นนี้เอ๋บอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักถักทอชุมชนที่ทำงานลงพื้นที่จริงๆ มีแค่ 2 คน ดังนั้นเวลาสร้างภาคีเครือข่าย เราก็ต้องเลือกเข้าไปในจุดที่เราคิดว่ามีคนช่วยเหลือ ช่วยเบาแรงเราได้ด้วย ซึ่งการประสานงานกับโรงเรียนเราได้เพื่อนร่วมงานเป็นผู้อำนวยการและครูที่จะช่วยผลักดันงานของเด็ก ส่วนผู้ปกครองก็เป็นขั้นตอนต่อไป เริ่มแรกผู้ปกครองอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กต้องมาทำกิจกรรมที่โรงเรียนวันหยุด ไม่อยากให้มา เราก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นอุปสรรค แต่มองว่านี่คือช่องทางให้เราได้เข้าไปสร้างความเข้าใจ จนผู้ปกครองบางคนเข้าใจก็สนใจเข้ามาร่วมด้วยเท่ากับเราได้สร้างเครือข่ายขยายออกไปอีก

ถึงแม้จะคิดวางแผนอย่างรอบคอบและมีเหตุผล เมื่อการลงพื้นที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ทีมนักถักชุมชนเริ่มต้นจากการประสานความร่วมมือกับโรงเรียนด่านช้างซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำตำบล นักเรียนที่เข้าร่วมเวทีคัดสรรแกนนำกลับเป็นเด็กนอกตำบลกระเสียว ซึ่งเป็นจุดที่พวกเธอไม่ได้คำนึงถึงมาก่อน ทำให้ไม่สามารถรวมกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมในชุมชนได้ ประกอบกับโรงเรียนเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ การประสานงานจึงหยุดชะงักลง แต่พวกเธอก็ไม่ท้อ เพราะครั้งนี้ทำให้พวกเธอได้เรียนรู้ว่า เด็กมัธยมเป็นเด็กโตที่มีความดื้อในตัวเอง แต่ละคนมีความสนเฉพาะด้าน การชักจูงใจให้เด็กมาทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบในระยะยาวนั้นยาก หากไม่ได้เกิดจากความต้องการของเขาเอง ดังนั้น การทำโครงการกับเด็กโตจึงต้องเน้นผลักดันให้เด็กทำสิ่งที่เขาสนใจ

ด้วยเหตุนี้ทีมนักถักทอชุมชนจึงได้วางแผนขับเคลื่อนงานใหม่ไปที่โรงเรียนระดับประถมศึกษาประจำตำบล ได้แก่ โรงเรียนบ้านทับกระดาษ และโรงเรียนบ้านหนองกระดี่แทน

“ที่นี่มีโรงเรียนมัธยมแห่งเดียว พอทำกิจกรรมกับเด็กโตไม่ได้ เลยคิดว่าน่าจะหันมาทางเด็กเล็ก แล้วใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือสร้างนิสัยที่ดีให้เด็ก เพราะเด็กเล็กเชื่อฟังและว่านอนสอนง่ายกว่า เป้าหมายของเราไม่ใช่ผลสำเร็จของกิจกรรมที่ทำ แต่เป็นนิสัยของเด็กเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีน้ำใจ มีความรับผิดชอบ เสียสละ และมีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น” เอ๋บอกเล่าถึงผลลัพธ์ของการทำกิจกรรมที่ทีมอยากเห็น

นับหนึ่ง...ที่โรงเรียนวัดทับกระดาษ

โรงเรียนวัดทับกระดาษ เป็นโรงเรียนระดับประถมขนาดเล็กมีนักเรียนประมาณ 30 คน ครู 3 คน ผู้บริหารโรงเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้นอกห้องเรียนอยู่แล้ว สังเกตเห็นได้จากมีการส่งเสริมฐานการเรียนรู้ด้านการเกษตร เช่น การปลูกผัก เพื่อนำมาทำเป็นอาหารกลางวัน เป็นต้น ส่วนครูเองก็เปิดพื้นที่และให้เวลานักถักทอชุมชนเข้าไปทำกิจกรรมกับนักเรียนอย่างเต็มที่

เมื่อทีมนักถักทอชุมชนเข้าไปหนุนเสริมโครงงานพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น เช่น พาเด็กไปดูงานทำปุ๋ยหมัก และการเพาะเห็ด ถึงแม้จะเป็นคนนอก แต่ความใกล้ชิดและความอบอุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างการทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งผลให้เกิดแกนนำเด็กและเยาวชนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ราว 10 คน ที่มาเป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้ด้านงานเกษตรให้รุ่นน้องต่อไป ในบทบาทครูปุ๋ยหมัก ครูเห็ด และครูผัก เป็นต้น

“ลักษณะนิสัยของเด็กเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจากการฝึกพูด ฝึกทำ เช่น มีความกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ช่วยเหลือแบ่งปันกันไม่เห็นแก่ตัว มีความรับผิดชอบและรู้จักหน้าที่ของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องไปออกคำสั่งทุกครั้งว่าต้องให้เขาทำอะไร แกนนำเยาวชนบางส่วนตอนนี้ก็เข้ามาเรียนระดับมัธยมในโรงเรียนด่านช้าง เท่าที่เราเห็นเขาก็ยังมีความประพฤติและมีลักษณะนิสัยที่ดีติดตัวอยู่ ส่วนที่โรงเรียนวัดทับกระดาษ ทางโรงเรียนจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อนำรายได้จากการขายเห็ดแต่ละครั้ง มาเป็นต้นทุนสำหรับซื้อเห็ดมาเพาะต่อและมีผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาดูแลด้วย...สุดท้ายแล้วเราก็อยากเห็นเด็กพึ่งตนเองได้ เอาตัวเองให้รอดจากภัยสังคมต่างๆ”

จากหนึ่งมาถึงสอง...โรงเรียนบ้านหนองกระดี่

โรงเรียนบ้านหนองกระดี่ เป็นโรงเรียนประถมศึกษาแห่งที่สองที่นักถักทอชุมชนเข้ามาทำโครงการ โดยนายก อบต.กิตติพงษ์ เป็นผู้ติดต่อประสานงานผ่านผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยตนเอง ด้วยเห็นว่าผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอยู่แล้ว โดยต้นทุนเดิมที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของโรงเรียนบ้านหนองกระดี่ คือ สวนของพ่อ ที่นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้นักเรียนแต่ละช่วงชั้นแบ่งหน้าที่รับผิดชอบดูแลสวนด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ และเลี้ยงปลา เป็นต้น

คนิจ เรืองฉาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองกระดี่ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคที่เทคโนโลยีก้าวกระโดด จนแยกแยะไม่ออกว่า สิ่งไหนจริงไม่จริง สิ่งไหนดีไม่ดี คือ การเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้จากชีวิตจริง

“ถ้ารอแก้ไขตอนเด็กโตกว่านี้ก็ยิ่งยาก โรงเรียนมีหน้าที่ปลูกฝังลักษณะนิสัยและสำนึกที่ดีให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ยิ่งทาง อบต.เข้ามาให้การสนับสนุนยิ่งเกิดผลดี เพราะงานด้านการศึกษาถ้าปล่อยให้เป็นภาระของโรงเรียนเพียงอย่างเดียวก็อาจจะเกิดผลไม่เต็มที่ แต่ถ้าร่วมมือกันผลลัพธ์จะเกิดขึ้นในวงกว้างและเข้มแข็งมากกว่า เพราะสิ่งที่จะแก้ปัญหาประเทศชาติในระยะยาวได้จริงๆ คือ การศึกษา”

ด้านจันทนา พลชัย ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองกระดี่ เล่าถึงข้อดีของการทำกิจกรรมร่วมกับ อบต. ว่า ทำให้นักเรียนได้ประสบการณ์การตรงในการดำรงชีวิตซึ่งเป็นทักษะที่หาไม่ได้ในห้องเรียน นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กผ่อนคลาย ส่งผลให้การเรียนในห้องเรียนดีขึ้น

“หลายโรงเรียนอาจไม่กล้าสนับสนุนให้นักเรียนทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเยอะ เพราะกลัวผลการประเมินการเรียนระดับประเทศลดลง แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เลย การเรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยกล่อมเกลาคุณลักษณะนิสัยชองนักเรียน ช่วยลดความก้าวร้าว รู้จักผิดชอบชั่วดี และควบคุมตนเองได้”

นอกจากการจัดกิจกรรมในโรงเรียนแล้ว กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ อบต.นิคมกระเสียวทำอยู่และได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการนำนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ทั้ง 3 โรงเรียนเข้าไปศึกษาดูงานในทัณฑสถานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนเห็นความจริง และตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการข้องเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยตนเอง

ภาพความจริงที่เข้าไปเจอส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเด็กอย่างชัดเจน ดังที่น้องเซนต์ - เพลงอักษรณ์ ศรีภุมมาสะท้อนว่า เห็นเลยว่าถ้าเราทำความผิด หรือติดสิ่งเสพติด เราจะลงเอยแบบไหน อยู่ในนั้นมันน่ากลัว มีกำแพงสูงๆ ล้อมรอบ ไมน่าอยู่เลยสักนิด มันทำให้เราเตือนตัวเองว่าต้องไม่ทำผิดนะ และจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดเด็ดขาด

“ชีวิตในนั้นมันลำบากมาก ยิ่งได้ดูวิดีโอ เห็นการใช้ชีวิตในนั้นยิ่งรู้สึกกลัว เขาเล่าให้ฟังว่าที่เขาต้องทำผิดเข้ามาอยู่ในนี้ เพราะต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ เลยต้องจำใจทำ แต่พอลงมือทำจริงๆ เพื่อนพวกนั้นที่บังคับให้เขาทำก็ไม่ได้มาสนใจอย่างที่คิด ตัวเขาเองก็ต้องเข้ามารับโทษ แล้วคนที่สนใจเขาจริงๆ ก็คือพ่อแม่และญาติพี่น้อง พอได้ยินแบบนั้นเราเข้าใจเลยว่า คนที่รักเราจริงๆ คือ คนในครอบครัว ทำให้เราไม่อยากทำผิด เพราะถ้าเกิดเราต้องเข้าไปอยู่ในนั้น พ่อแม่ต้องเสียใจและลำบาก แล้วตัวเราเองก็เสียอนาคต”ไข่เจียว - ญาณิศา หมวดผาเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

ขณะที่เอ๋บอกว่า เธอเรียนรู้ได้อย่างชัดเจนว่า เด็กชอบการเรียนรู้นอกห้องเรียน ยิ่งได้ลงมือทำ ได้เข้าไปเห็นและสัมผัสด้วยตนเอง เด็กจะรับรู้และเข้าใจได้มากกว่าการสอนให้เด็กท่องตามตำรา หรือจากคำพูดของผู้ใหญ่

ส่วยอุ้ยเสริมว่า ความนิ่งนอนใจต่อภาระงานของเด็กก็หายไปด้วย ผู้ปกครองเด็กเล่าว่าจากเดิมเวลาบอกให้น้องๆ ทำงานบ้าน ถ้าน้องเล่นเกมหรือดูทีวีอยู่ เขาจะไม่ลุกขึ้นไปทำทันที แต่ตอนนี้ไม่ต้องบอกน้องๆ ก็ทำได้เอง แล้วเขาจะรู้ว่าต้องทำการบ้านให้เสร็จ ก่อนไปดูการ์ตูน

ฉันเปลี่ยน เธอเปลี่ยน เราเปลี่ยน

สิ่งที่นักถักทอชุมชนทั้ง 2 คน ได้เรียนรู้อย่างชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นความเข้าใจในตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น และความเข้าใจนี้ทำให้ทั้ง เอ๋ และอุ้ย “คิดเปลี่ยน ใจเปลี่ยน นิสัยเปลี่ยน”

“พอตัวเราเองเปลี่ยน มุมมองความคิดของเราที่มีต่อคนอื่นก็เปลี่ยนไปด้วย เริ่มจากหลักสูตรนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดของเรา ทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนของตัวเอง เมื่อเรายอมรับตัวเองแล้วแก้ไขได้ ใจเราก็เปลี่ยน นิสัยเราก็เปลี่ยนตาม อย่างตัวเองจากเดิมอารมณ์ร้อน ไม่ฟังใคร มั่นใจในตัวเอง ฉันจะทำแบบนี้ ไม่ปรึกษาใคร เราก็อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด รับฟังคนอื่นมากขึ้น” เอ๋สะท้อนภาพของตัวเอง

นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เอ๋ได้เรียนรู้ คือ เด็กไม่เป็นอย่างที่ผู้ใหญ่คิดเสมอไป สิ่งที่เด็กคิดและสิ่งที่เราคิดอาจไม่เหมือนกัน สำหรับเราแค่เห็นเด็กมาทำกิจกรรม สนุกสนานมีรอยยิ้ม เราก็พอใจ แต่บางอย่างเอาเข้าจริงเขาก็อาจจะไม่อยากทำ หรือคิดไม่เหมือนเรา มันทำให้เราคิดย้อนกลับไปว่า ที่ผ่านมาเวลาเราสั่งให้คนอื่นทำตามที่เราบอก มันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสียทีเดียว พอมาทำงานกับเด็ก เราก็ต้องถามว่าน้องๆ อยากทำอะไร แล้วเราค่อยเข้าไปสนับสนุน หรืออย่างตอนนี้ที่เรากิจกรรมกับน้องๆ ในระบบก่อน ก็เพื่อฝึกตัวเองให้มีความพร้อมและเข้าใจเด็กมากขึ้น แล้วจะได้ขยายขอบเขตงานออกไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ และผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนได้

ด้านอุ้ยบอกว่า จากเดิมไม่คิดว่าจะมีศักยภาพเข้ามารับผิดชอบงานด้านเด็กและเยาวชนได้ เพราะคล้ายจะเป็นเรื่องไกลตัว ถึงตอนนี้กลับมั่นใจว่า งานพัฒนาเด็กและเยาวชนไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือทำงานกันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นของ อบต.นิคมกระเสียว ขั้นต่อไปได้เขียนออกมาเป็น “พิมพ์เขียว” เพื่อใช้เป็นแนวทางชี้แจงและวางแผนร่วมกับบุคลากรแต่ละฝ่ายของ อบต. โดยมีเป้าหมายให้ทุกฝ่ายเห็นทิศทางการทำงานอย่างชัดเจน และมีรายละเอียดมากขึ้น

“การเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน หรือการทำงานตามแนวคิดในหลักสูตรนักถักทอ ไม่ใช่การเพิ่มงานให้บุคลากร แต่เป็นสิ่งที่เราในฐานะข้าราชการท้องถิ่นควรทำมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำ ทำผิดวิธี หรือไม่มีวิธีคิดให้ต่อยอด เพื่อพัฒนาการทำงานแบบเดิมๆ ได้ ” นายก อบต.นิคมกระเสียวกล่าว

//////////////////////////////////////