เข้าใจเขา...เข้าใจเรา...งานเดินหน้า เทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

­

เราจะสอนให้เด็กรู้จักตัวเอง นั่นคือ รู้จักว่าท้องถิ่นของตัวเองมีดีอะไร รู้จักพืชพรรณธรรมชาติใกล้ตัวว่ามีอะไรบ้าง แล้วต่อยอดไปว่าพืชพรรณเหล่านี้ นำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าสร้างเด็กรุ่นหนึ่งเป็นต้นแบบที่ดีให้รุ่นน้องได้ รุ่นต่อไปก็จะตามมา เพราะธรรมชาติของเด็กเขาชอบทำตามกัน ต่อไปก็ไม่มีอะไรน่าห่วง

ท่ามกลางชุมชนที่รายล้อมไปด้วยไร่ข้าวโพดสูงท่วมหัว ตำบลขุนพัดเพ็งเป็นชุมชนชนบทอีกแห่งหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ดังนั้น นอกจากปัญหายาเสพติด เหล้า บุหรี่ที่เป็นปัญหาใหญ่ในชุมชนแล้ว ปัญหาการเสพสื่อออนไลน์จนถูกชักจูงใจไปในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการท้องไม่พร้อม หรือการติดเกมจนไม่เรียนหนังสือ จึงกลายเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างขึ้นเป็นเงาตามตัว

คิดเป็นระบบ-ทำงานอย่างมีแบบแผน

ด้วยวิสัยทัศน์ของเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็งที่ทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตของคนในเชิงรุก ทต.ขุนพัดเพ็งจึงส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรจากหลากหลายสาขาถึง 5 คน ประกอบด้วยรองปลัด นักพัฒนาชุมชน ฝ่ายกองสวัสดิการสังคม เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เจ้าหน้าที่กองการศึกษา และเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนและครอบครัว

นรเสฏฐ์ วัฎฎะสุวรรณ ปลัดเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงเป้าหมายการเข้าร่วมโครงการว่า ทต.ขุนพัดเพ็ง ต้องการพัฒนาวิธีคิดและวิธีการทำงานให้บุคลากรในองค์กรคิดเป็นระบบและลงมือทำงานชุมชนได้อย่างมีแบบแผน คิดว่าหลักสูตรนักถักทอชุมชนเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ได้

ไม่เฉพาะวิธีคิดในการทำงานตามหน้าที่ของตนเอง แต่คณะผู้บริหารอยากเห็นภาพของบุคลากรภายในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบงานอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคลากรเข้าใจเป้าหมายการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

“ทต.มีความพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราจัดสรรงบประมาณเข้าไปในโรงเรียนเพราะให้ผลทางตรงแก่นักเรียน แต่ไม่เคยลงชุมชนทำงานโดยตรงกับพื้นที่ ทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเด็กต้องการอะไร แล้ว ทต.จะเข้าไปสนับสนุนผ่านกิจกรรมระยะยาวอย่างไรได้บ้าง ส่วนงานในองค์กร ผมตั้งใจตั้งแต่แรกว่า นักถักทอชุมชนจะกลับมาเป็นต้นแบบด้านการทำงานให้บุคลากรฝ่ายอื่น ๆ ด้วย”

ด้าน ศักดิ์อนันต์ ทรัพย์ส่งเสริม รองนายก ทต.ขุนพัดเพ็ง กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มพลังเข้มแข็งที่อยู่ในชุมชน คณะผู้บริหาร อบต.จึงตั้งใจดึงศักยภาพของพวกเขาออกมา จึงออกเทศบัญญัติเพื่อแสดงเจตนารมณ์เรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงวัยเรียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เป็นแนวทางและแบบแผนในการปฏิบัติงานของบุคลากรของ ทต. ตลอดไปจนถึงคณะผู้บริหารที่จะเข้ามาทำงานในอนาคต

หลักสูตรนักถักทอชุมชนช่วย “เติมเต็ม” การทำงาน

งานกองคลังเป็นงานด้านเอกสารเกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่งานรองปลัดเป็นงานฝ่ายบริหารที่ต้องมีการวางแผนเพื่อประสานงานกับชุมชนซึ่งลักษณะการทำงานและวิธีคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จัน -จันทิมา ยอดตลาด รองปลัด ทต.ขุนพัดเพ็ง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคลังมาก่อน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานทำให้เธอต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้มากขึ้น ซึ่งหลักสูตรเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี

จันทิมาเล่าถึง ภาพรวมของการทำงานของ ทต.ขุนพัดเพ็งช่วงที่ผ่านมาว่า ทต. ได้เข้าไปสนับสนุนและสร้างความเข็มแข็งให้เกิดขึ้นกับหลายกลุ่มในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มงานสาธารณสุขและป้องกันสาธารณะภัย สมาชิกกลุ่มเหล่านี้รวมกลุ่มจัดตั้งและหางบประมาณดูแลกันเองอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น เป้าหมายต่อไปของ ทต.ขุนพัดเพ็ง คือ การสร้างแกนนำเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังขับเคลื่อนชุมชน

ติ – สันติ พัฒน์พันธุ์ เจ้าหน้าที่กองการศึกษา ทต.ขุนพัดเพ็ง กล่าวว่า หลักสูตรนักนักถักชุมชนเกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่กองการศึกษาโดยตรง เพราะหน้าที่นี้ต้องสร้างกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ที่ผ่านมาการทำกิจกรรมแต่ละครั้งเกิดขึ้นตามโอกาส จัดแล้วจบไม่มีการสานต่อ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือหรือแนวคิดในการสร้างสรรค์กิจกรรมให้ตรงตามที่เยาวชนต้องการ จึงไม่สามารถสร้างแกนนำเด็กและเยาวชนได้

ด้าน ตึ๋ง – เฉลิมศักดิ์ ชูตาลัด นักพัฒนาชุมชน กองสวัสดิการสังคม ทต.ขุนพัดเพ็ง บอกว่า หลายปีที่ผ่านมาการทำงานของฝ่ายกองการสวัสดิการสังคมเน้นช่วยเหลือคนวัยแรงงาน ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ยังไม่ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง เมื่อเด็กไม่ได้รับความสนใจจึงไม่แปลกที่เด็กจะออกนอกลู่นอกทางไปในที่สุด

ประสานงาน “หัวใจ” สำคัญการทำงานชุมชน

แม้ทีมนักถักทอชุมชนจะผ่านการอบรมมาแล้วในช่วงแรก แต่ความไม่เข้าใจถึงวิธีการทำงานยังมีอยู่ ส่งผลให้การคัดเลือกแกนนำเด็กและเยาวชนของชุมชนในช่วงแรกมีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการในเวลาต่อมา เนื่องจากตัวแทนเด็กและเยาวชนบางส่วน ไม่ได้มาด้วยความสมัครใจ

จันทิมาเล่าว่า ทีมคิดกันว่าให้แต่ละหมู่บ้านส่งตัวแทนเด็กเข้ามาจะได้เป็นตัวแทน เพื่อจะได้ทั้งเด็กในระบบและนอกระบบ เพราะถ้าเราไปทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียนก็จะได้แค่เด็กในระบบ แต่เราลืมเน้นย้ำตรงส่วนที่ว่าขอให้เป็นเด็กที่สมัครใจมา เมื่อเด็กไม่ได้มาด้วยใจ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมจึงทำได้ยาก เพราะเด็กมีเวลาว่างไม่ตรงกัน แม้จะกันวันเสาร์อาทิตย์ก็ตาม

ติเสริมว่า กิจกรรมแรกผ่านไป เขาเริ่มเข้าใจกระบวนการทำงานในชุมชนมากขึ้น เข้าใจว่าการทำงานเข้าตรงกับชุมชน นักถักทอชุมชนต้องลงไปประสานงานเอง เพื่อสร้างความไว้วางใจและเข้าไปสืบค้นข้อมูลปัญหาที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่ ขั้นตอนแรกอาจเริ่มจากการโทรศัพท์สายตรงถึงผู้นำชุมชนแต่ละชุมชน ก่อนนำหนังสือราชการชี้แจงการทำงานไปให้อย่างเป็นทางการ

“ช่วงแรกเราพาเด็กมารวมกลุ่มทำความรู้จักกันก่อน แล้วนำเข้าสู่กระบวนการที่ทำให้เด็กรู้จักตนเองตามแนวทางในหลักสูตรนักถักทอชุมขน แล้วสรุปประมวลผล เพื่อถอดบทเรียนหลังการทำกิจกรรมทุกครั้ง วิธีการเหล่านี้ช่วยให้เห็นแววเด็ก เราจะเห็นว่าคนไหนพอไปได้ คนไหนต้องได้รับการกระตุ้นหรือส่งเสริมทักษะด้านใดเพิ่มเติมบ้าง”

ค้นหา “ทุน” ในชุมชนเสริมศักยภาพการเรียนรู้เด็ก

ติบอกต่อว่า กิจกรรมที่ทำกับเด็กในช่วงหลังเขาเริ่มมองหา “ทุน” ในชุมชน นั่นคือศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่มีวิทยากรเป็นผู้ใหญ่ใจดี ซึ่งสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรทางเลือก การทำปุ๋ยหมัก บ้านดิน หรือแม้แต่การทำน้ำยาล้างจานใช้เองได้ พวกเขาประสานงานเข้าไปผ่านผู้ใหญ่ใจดีนำเด็กเข้าไปเรียนรู้ในศูนย์

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสระยายสม ตั้งอยู่ในหมู่ 8 ตำบลขุนพัดเพ็ง ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2550

สุมิตร เอมสมบุญ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 และวิทยากรประจำศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสระยายโสม เล่าว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของชาวบ้านที่อยากทำการเกษตรแบบทวนกระแสที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก โดยนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานตามศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอื่นๆ มาลองทำลองใช้ ปรับปรุงให้เข้ากับต้นทุนธรรมชาติของชุมชนบนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ประกอบไปด้วยการทำปุ๋ยหมัก ธนาคารขยะ การแปรรูปวัสดุเหลือใช้ รวมถึงการทำสบู่ ยาสระผม และน้ำยาล้างจานใช้เองจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบันศูนย์กสิกรรมธรรมชาติแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของผู้สนใจจากนอกชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาศูนย์ฯ และ อบต. ไม่เคยทำกิจกรรมชุมชนร่วมกันเลย จนกระทั่งมีโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น หลักสูตรนักถักทอชุมชนเข้ามาเป็นตัวเชื่อมร้อย

สุมิตรบอกว่า เขาเต็มใจให้ความร่วมมือกับนักถักทอชุมชนอย่างเต็มที่ ด้วยเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรักษ์ธรรมชาติและถิ่นเกิดของตัวเอง ส่วนความรู้ที่ได้รับจะช่วยให้เด็กพึ่งพาตนเองได้ด้วยการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี แต่ที่ดียิ่งกว่าคือช่วยดึงดูดความสนใจให้เด็กและเยาวชนหันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง

“เราจะสอนให้เด็กรู้จักตัวเอง นั่นคือ รู้จักว่าท้องถิ่นของตัวเองมีดีอะไร รู้จักพืชพรรณธรรมชาติใกล้ตัวว่ามีอะไรบ้าง แล้วต่อยอดไปว่าพืชพรรณเหล่านี้ นำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าสร้างเด็กรุ่นหนึ่งเป็นต้นแบบที่ดีให้รุ่นน้องได้ รุ่นต่อไปก็จะตามมา เพราะธรรมชาติของเด็กเขาชอบทำตามกัน ต่อไปก็ไม่มีอะไรน่าห่วง” สุมิตรกล่าว

กมลวรรณ หนึ่งเพชร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสระยายโสมหนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม เล่าว่า ถึงแม้จะเป็นคนตำบลขุนพัดเพ็ง แต่เธอไม่เคยรู้มาก่อนว่า ในตำบลมีศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่ส่งเสริมแนวทางการทำการเกษตรแบบทางเลือก เมื่อพี่ๆ นักถักทอชุมชนชวนเข้ามาทำกิจกรรมจึงสนใจเป็นพิเศษ เพราะอยากเรียนรู้การทำเกษตรวิถีธรรมชาติ รวมถึงการทำปุ๋ยหมักและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“เราสามารถนำความรู้ด้านการเกษตรที่ได้เรียนรู้จากศูนย์ฯ ไปบอกพ่อแม่ให้ลองปรับเปลี่ยนดูได้ ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถ้ามีวัตถุดิบพร้อม เราก็สามารถทำใช้เองที่บ้านช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง พอได้มาทำจริงก็ไม่ได้ยากและไม่ได้ใช้เวลานานอย่างที่คิด อย่างน้ำยาล้างจานใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงก็ได้แล้ว”

ด้าน ชลดา บุญเพิ่ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสระยายโสม บอกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ช่วยเปิดมุมมองการเรียนรู้ทำให้มองเห็นคุณค่าของพืชพรรณธรรมชาติใกล้ตัวมากขึ้น ต้นไม้บางชนิด เราเห็นอยู่ทั่วไปก็ไม่เคยรู้ว่านำมาทำประโยชน์ได้ พอได้เข้ามาเรียนรู้ นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังทำให้เป็นคนช่างสังเกตมากขึ้น อย่างเช่นเวลามองเห็นพืชชนิดอื่นๆ ใกล้ตัว เราจะพยายามคิดว่าพืชชนิดนี้จะนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

ทำงานกับเด็ก...ต้องเข้าใจเด็ก

การทำงานในช่วงแรกเหมือนเป็นการลงสนามทดลองเครื่องมือหรือองค์ความรู้จากการอบรม ปัญหาที่ถือเป็นเรื่องปกติ คือ ชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ 100 เปอร์เซนต์ แต่ตึ๋งมองว่า สิ่งนี้ไม่ถือเป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะกลุ่มเป้าหมายตั้งต้นคือกลุ่มที่มีใจอยากทำก่อน

“ปัญหาที่เราต้องคำนึงถึงจริงๆ คือ เวลาของเด็ก บางคนติดเรียนพิเศษ บางคนติดเพื่อน ถ้าเพื่อนไม่มาเขาก็ไม่มา ดังนั้นโจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรให้การรวมกลุ่มทำกิจกรรมแต่ละครั้งมีเด็กมาร่วมมากที่สุด และทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราเองก็มีงานในหน้าที่ล้นมือที่จะต้องทำ” ตึ๋งอธิบาย

ติเสริมต่อว่า มีครั้งหนึ่งเราจัดกิจกรรมวันเสาร์ ทั้งวิทยากรทั้งนักถักทอชุมชนนั่งรอ ถึงเวลาไม่มีใครมาสักคน จนต้องโทรไปถามผู้ปกครอง ได้ความว่าเด็กส่วนหนึ่งไปร่วมงานดนตรีที่โรงเรียน พอเด็กกลุ่มหนึ่งไม่มาคนอื่นๆ ก็ไม่มาด้วย กิจกรรมวันนั้นจึงต้องยกเลิกไป

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนให้ทีมงานได้เรียนรู้ว่า การทำงานกับเด็กไม่เหมือนทำงานกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่พอจะจัดสรรเวลาได้ แต่เด็กต้องเรียนตลอด ดังนั้นการจัดกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนต้องอ้างอิงเวลาว่างของเด็ก ไม่ใช่เวลาว่างของทีมงาน

หลังลงพื้นที่ทำงานได้ระยะหนึ่ง จันทิมาบอกว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของเด็กเยาวชนขุนพัดเพ็งอยู่ที่รอยต่อระหว่างเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะเป็นช่วงที่เด็กกำลังค้นหาตัวเอง มีความสับสนในตัวเองสูง ทำให้ถูกชักจูงใจได้ง่าย

“ถึงเราจะต้องสละเวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาทำงานกับเด็ก แต่เมื่อมองถึงผลลัพธ์ก็คิดว่ามันคุ้ม รู้สึกเหนื่อยก็จริงแต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระ” จันทิมากล่าว

ผลลัพธ์ที่ได้ สร้างความภูมิใจให้พวกเขาอยู่ไม่น้อย เพราะแกนนำที่คัดเลือกเข้ามารุ่นแรกราว 20 คนจากแต่ละหมู่บ้าน เกิดเป็นแกนนำที่เข้มแข็ง 3-4 คน ซึ่งมีภาวะความเป็นผู้นำ มีความเสียสละ และเต็มใจเป็นตัวกลางคอยประสานงาน แต่เนื่องจากแกนนำกลุ่มนี้ต้องเข้าไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย บทบาทของแกนนำจึงต้องหยุดชะงักลง แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ คิดสร้างแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่มาแทนที่ โดยครั้งนี้เน้นไปที่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ไปจนถึงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย โดยดึงเด็กรุ่นเก่ามาทำกิจกรรมต่อ และชักชวนเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาเสริมทัพ

“สาเหตุที่เราไม่ทำกิจกรรมกับเด็กเล็ก เพราะมองว่าเด็กเล็กยังไม่สามารถเข้าไปชักจูงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้เข้ามาเรียนรู้กับเราได้ เลยมุ่งไปที่เด็กโตก่อน ถ้าเราจับมือกับเขาได้ จะชวนเขาทำอะไรต่อไปก็ไม่ยาก” ตึ๋ง กล่าว

นอกจากหลักสูตรจะช่วยสร้างคน ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนรู้จักรักตัวเอง รักชุมชนแล้ว จันทิมาบอกว่า ความรักที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เด็กและเยาวชนทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่น ความรักจะนำมาสู่ที่ ความเสียสละ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การสละเวลาของตัวเองมาทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน

“เราสัมผัสได้ตั้งแต่ลงชุมชนครั้งแรกๆ ว่าเด็กอยากทำกิจกรรม เราเห็นเขากระตือรือร้น บอกให้อะไรก็ทำ จากที่คาดการณ์ว่าจะมาแค่ 20 คน กลับกลายเป็นว่าเขามากันเกือบ 40 คน เป็นภาพที่ตัวเราเองยังไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้”

“ขับเคลื่อนงาน” ผ่านคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชน

ตึ๋งบอกว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือแม้แต่นักถักทอชุมชนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ดังนั้น หน้าที่หลักของ อปท.ด้านเด็กและเยาวชนที่มีนักถักทอชุมชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงาน คือ การหาภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยผลักดันการทำงานตามบทบาทของแต่ละภาคส่วน เช่น หน่วยงานที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญกว่า อปท. ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน หรือผู้ใหญ่ในชุมชน อย่างครูภูมิปัญญา หรือปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากการเข้าร่วมหลักสูตรนี้ ทต.ขุนพัดเพ็งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็งขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ประกอบด้วย ผู้ใหญ่ใจดีในตำบลจากหลากหลายอาชีพจำนวน 40 คน มีนายก ทต.ขุนพัดเพ็งเป็นประธาน

“ผู้ใหญ่ใจดีบางคนพร้อมสนับสนุนด้านงบประมาณ บางคนพร้อมด้านองค์ความรู้ หรือบางคนถนัดด้านการประสานงาน แต่ละคนจะเข้ามาช่วยคิดช่วยทำตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ให้เด็กและเยาวชน รักตัวเอง รักครอบครัว และรักบ้านเกิด บทบาทของนักถักทอชุมชนคือต้องทำโครงสร้างใหญ่นี้ให้เข้มแข็ง นำข้อมูลที่ได้รับจากในพื้นที่มาชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เด็กต้องการอะไร ดังนั้น คณะกรรมทุกคนถือเป็นกำลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานในแต่ละชุมชน จะให้พวกเราไม่กี่คนทำคงไม่ไหว ต้องช่วยกัน กลไกถึงจะเดินไปได้” ตึ๋งอธิบาย

สำหรับแผนการทำงานด้านเด็กและเยาวชนตำบลขุนพัดเพ็งในอนาคต นอกเหนือจากกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว รูปแบบการพัฒนาจะมุ่งเน้นไปในด้านกีฬา และงานวิชาการ โดยเฉพาะด้านภาษามากขึ้น ทั้งสองอย่างอาศัยต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้วในตำบล กล่าวคือ สนามกีฬาหลายแห่งในชุมชนที่มีเด็กๆ ไปเล่นกีฬาอยู่แล้ว ทาง ทต.จะเข้าไปส่งเสริมด้วยการจัดหาบุคลากรเข้าไปเป็นครูฝึกสอน เพื่อพัฒนาทักษะการเตะฟุตลองให้ได้มาตรฐาน

ส่วนงานวิชาการเกี่ยวกับภาษา ปัจจุบัน ทต.ขุนพัดเพ็งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ให้มีครูชาวต่างชาติเข้ามาเป็นอาสาสมัครสอนภาษาตามโรงเรียนระดับประถมศึกษาในตำบล ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนของครูต่างชาตินอกจากมุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านภาษา ยังสอดแทรกการพัฒนาทักษะชีวิตซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับเด็กในช่วงประถมวัยระดับ ป.4 – ป.6 ทั้ง 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดหนองยายทรัพย์ โรงเรียนวัดบ่อคู่ โรงเรียนวัดใหม่ปทุมสูตร และโรงเรียนวัดคลองตัน

เข้าใจเขา...เข้าใจเรา...งานเดินหน้า

การทำงานร่วมกันของนักถักทอชุมชน ทต.ขุนพัดเพ็งใช้ ใจเขาใจเรา เป็นหลักสำคัญในการทำงาน ตึ๋ง อธิบายว่า ธรรมชาติของงานเทศบาล ไม่ได้ทำงานหนักทุกวัน แต่ช่วงไหนที่มีงานประดังเข้ามา เป็นที่รู้กันว่างานอื่นต้องพักไว้ก่อน แต่ทีมต้องคุยกันด้วยว่า เมื่อหยุดไปแล้ว จะเริ่มงานกันอีกเมื่อไร แล้วจะทำอะไรต่อไป เพื่ออะไร

ส่วนจันทิมาวิเคราะห์ผลการทำงานของทีมว่า การทำงานของพวกเขายังไม่เข้าถึงใจของผู้ปกครอง จุดนี้ถือเป็นจุดด้อยที่ทีมรู้ดีว่าควรจะต้องทำ แต่ยังไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม

“ผู้ปกครองเป็นส่วนที่สำคัญมาก เราไปชวนลูกเขาออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน เราก็น่าจะไปอธิบายหรือเข้าหาเขามากกว่านี้ ถ้าจะให้ดีต้องชวนผู้ปกครองมาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กเลย”

นอกจากนี้จันทิมายังกล่าวถึง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ปกติทำงานอยู่กับระเบียบข้อบังคับ ไม่ค่อยสัมพันธ์กับใคร แต่หลักสูตรนี้เปิดพื้นที่ให้เธอได้มีโอกาสเข้าไปสัมพันธ์กับผู้คนและชุมชน จึงช่วยดึงความกล้าแสดงออกที่ซ่อนอยู่ในตัวออกมา ทั้งยังช่วยเปลี่ยนลักษณะนิสัยบางอย่าง เช่น การรู้จักควบคุมอารมณ์ ทำงานโดยใช้เหตุผล และรับฟังเหตุผลของคนอื่น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

“เราใช้ใจทำงานมากขึ้น มันเกิดการเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติว่าเราทำงานคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัยเพื่อนร่วมด้วยช่วยกัน ดังนั้นเวลาทำงานต้องมีความยืดหยุ่นและมีเหตุผล เพราะทุกฝ่ายต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ยิ่งเราเป็นหัวหน้างาน เรายิ่งต้องทำงานแบบฟังหูไว้หู ไม่หูหนักหูเบา แต่ใช้สายตาของตัวเองและเหตุผลตัดสิน”

จันทิมาย้ำว่า การออกจากกองเอกสารไปทำงานกับเด็ก ทำให้เธอใจเย็นขึ้น จนเป็นที่น่าแปลกใจสำหรับเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัว เพราะการทำงานกับเด็กจะไปบังคับให้เขาทำโน่นนี่ไม่ได้ ตัวเราต้องมีทักษะและเทคนิคในการพูด เช่น การขอร้องหรือให้เหตุผลว่าทำแบบนี้แล้วผลที่จะตามมาคืออะไร ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง สิ่งเหล่านี้นอกจากในงานแล้วยังนำกลับไปใช้กับหลานๆ ที่บ้านด้วย จนทุกคนเห็นการเปลี่ยนแปลง

ด้านตึ๋งจากที่เคยคลุกคลีอยู่กับเวทีวิชาการที่ต้องมีการถกเถียงประเด็นด้วยสาระและมีบรรยากาศจริงจัง เขาต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ และปรับบุคลิกของตัวเองจากนิ่งและเคร่งขรึม ให้มีความอบอุ่นเข้ากับเด็กๆ ได้มากขึ้น

“เราพยายามปรับมุมคิดตามเด็ก ไม่เอาความคิดเห็นหรือความรู้สึกของเราเข้าไปเสริม เพราะสิ่งที่เราต้องทำคือทำสิ่งที่เด็กต้องการ ความคิดของเด็กไม่ได้ด้อยกว่าเรา อันที่จริงเขาไปไกลกว่าเราจนเราตามไม่ทันด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่ปรับตัวเอง เราก็จะสื่อสารกับเด็กไม่รู้เรื่อง นอกจากบุคลิกแล้ว วิธีการพูดก็ยังต้องปรับให้เป็นกันเองมากขึ้น”็ง็ง

ส่วนติบอกว่า ตอนลงพื้นที่ทำงานแรกๆ เขาต้องเป็นคนนำน้องๆ ทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ไม่ชอบเลย อึดอัดมาก เพราะไม่ถนัด ไม่เคยทำ แต่พอทำไปเรื่อยๆ จนสามารถควบคุมจังหวะของตัวเองได้ เห็นปฏิกิริยาตอบกลับของเด็กๆ ที่ให้ความร่วมมือและฟังเรามากขึ้นก็รู้ว่าทำได้

จะว่าไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากสนามทดลองแห่งนี้ เป็นผลลัพธ์ในเชิงบวกที่สร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับตัวนักถักทอชุมชนเอง กำไรที่ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยและจิตใจภายในที่พร้อมปรับตัวรับกับสถานการณ์เฉพาะหน้าภายนอก

นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับคนในชุมชน ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างภาคีภายในซึ่งเป็นต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ และการสร้างความเข้มแข็งผ่านคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เป้าหมายต่อไปของ ทต.ขุนพัดเพ็งจึงอยู่ที่การทำซ้ำให้เกิดผลลัพธ์มากขึ้น ผ่านโครงสร้าง และการเรียนรู้จากการลงมือทำมาตลอด 1 ปีซึ่งไม่น่าจะเกินกำลังความสามารถ เนื่องจากทีมงานนักถักทอชุมชน ทต.ขุนพัดเพ็ง เข้าใจแก่นแท้ในบทบาทหน้าที่นักถักทออย่างชัดเจนว่า นักถักทอชุมชนไม่ได้เก่งทุกอย่าง แต่เป็นผู้ประสานงานให้คนเก่งหรือภาคีที่มีความถนัดเข้ามาจับมือกัน เพื่อร่วมขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเด็กและเยาวชนตามบริบทและสภาพแวดล้อมของชุมชนต่อไป

////////////////////////////////////////