"รัชพล" เผยเริ่มต้นด้วยใจรักมีความสุขในการทำงาน

เรียนรู้ชุมชน...ยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชน

อบต.บางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

­

การปูพื้นฐานให้เด็กด้วยอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แม้ว่าไอคิวของเด็กจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่อีคิวที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้เหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กในการใช้ชีวิตในสังคม

ชุมชนบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย บ้างรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ บางส่วนประกอบอาชีพทำนาเกลือ และประมงชายฝั่ง แม้ว่าอาชีพประมงจะมีรายได้ค่อนข้างดี แต่มีช่วงเวลาทำงานค่อนข้างจำกัด ซึ่งลักษณะงานดังกล่าวจำเป็นต้อง “ใช้แรงงาน” จำนวนมาก หลายครอบครัวจึงมักจะให้ลูกออกจากโรงเรียนไปใช้แรงงานในเรือเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว

เมื่อความเจริญรุกเข้าสู่ชุมชน

ตอนนี้ “นาเกลือ” ที่เห็นอยู่ลิบๆ ถูกขายให้กับนายทุนไปหมดแล้ว มีผู้ถือครองบางคนที่เป็นเจ้าของจริงๆอยู่ไม่กี่เจ้าเท่านั้น เมื่อขายให้นายทุนเสร็จแล้ว นายทุนก็จ้างเจ้าของคนเดิมนั่นแหล่ะทำนาเกลือต่อ ซึ่งการกว้านซื้อที่ดินดังกล่าวของนายทุนเหมือนเป็นการประวิงเวลา รอการใช้ประโยชน์จากที่ดินในรูปแบบอื่นๆ ส่วนเจ้าของนาเกลือบางราย เมื่อขายนาเกลือแล้วก็ผันตัวเองไปเป็นแม่ค้าขายปลาทูบ้าง ขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวบ้าง ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานของชุมชนบางแก้ว ไม่รู้ถึงที่มาที่ไปของอาชีพการทำนาเกลือหรือวิถีชีวิตของชาวนาเกลือที่สืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการกลืนกินค่านิยมการใช้ชีวิตสังคมเมืองของเด็กรุ่นหลัง” คือคำบอกเล่าจาก อู๋-รัชพล กลีบผึ้ง นักพัฒนาชุมชน อบต.บางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เอ่ยด้วยสีหน้าครุ่นคิดเมื่อถามถึงบริบทชุมชนบางแก้ว ที่แม้ว่าวันนี้ชุมชนแห่งนี้จะปรับเปลี่ยนสภาพไปบ้าง แต่ยังคงเหลือเค้าความเป็นนาเกลือและสภาพดินเค็มที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ เนื่องจากดินมีปริมาณเกลือมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์

รัชพลยอมรับว่า แม้เขาจะไม่ใช่คนในชุมชนนี้ แต่กลับรู้สึกใจหายเมื่ออาชีพที่ได้ชื่อว่าเป็นรากเหง้าของชุมชนกำลังถูกครอบงำจากนายทุน โดยไม่รู้ว่าอนาคตของอาชีพนาเกลือที่คนรุ่นปู่ยาตายายฝากไว้จะเลือนหายไปตามกาลเวลาหรือไม่ ยิ่งเมื่อผูกรวมกับการปลูกฝังค่านิยมพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ไม่ต้องการให้ลูกหลานลำบากลำบนและเหน็ดเหนื่อยกับการทำนาเกลือเหมือนพวกเขา เด็กและเยาวชนหลายคนจึงไม่ค่อยผูกพันกับ “อาชีพขายความเค็ม” นี้เท่าไรนัก หนุนนำกับความเจริญที่ไหลบ่าเข้ามาบนถนนสายหลักอย่างพระราม 2 ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ป่าชายเลนเริ่มถูกบุกรุกจากนายทุนเพื่อทำร้านอาหารและรีสอร์ท การ “เทใจออกห่าง” จากอาชีพทำนาเกลือของเด็กรุ่นใหม่จึงมากขึ้นเป็นทวีคูณ

หวังให้หลักสูตรฯ เติมเต็มการทำงานขององค์กร

รัชพลเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่มาเป็นนักถักทอชุมชนว่า เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมประชุมและรับฟังรายละเอียดของหลักสูตรนักถักทอชุมชน กับอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ที่เล่าถึง แนวคิดในการพัฒนาเด็กและเยาวชนว่า ในอนาคตงานพัฒนาเด็กจะเป็นงานสำคัญของ อปท. เพราะเป็นงานพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ เขารู้สึกชื่นชอบแนวคิดนี้ และต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน จึงตอบรับเข้าร่วม พร้อมเห็นว่า งานพัฒนาเยาวชนน่าจะเกี่ยวข้องกับส่วนงานด้านการศึกษา จึงชวน ก้อง-ยศสันต์ อินทร์สมบัติ ผู้ช่วยนักวิชาการศึกษา เข้าร่วมทีม โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้วสนับสนุน ด้วยหวังว่าหลักสูตรนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานของบุคลากรใน อบต.บางแก้ว ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กฤษณพงษ์ แก่นเสน รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานปลัด เล่าถึงเหตุผลในการสนับสนุนให้รัชพลและยศสันต์เข้าร่วมโครงการนักถักทอชุมชนฯว่า เขารู้สึกหนักใจกับปัญหาด้านเด็กและเยาวชนของชุมชน เพราะเป็นปัญหาสำคัญที่ยังคงเกิดขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเยาวชนกับปัญหายาเสพติด ปัญหาท้องก่อนวัยอันสมควร และปัญหาการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ที่ยังไม่สูงนัก แม้ที่ผ่านมา อบต.จะมีการส่งเสริมนโยบายด้านเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้น แต่ยังต้องการ “กระบวนการใหม่ๆ ” เพื่อเติมเต็มและหนุนเสริมนโยบายด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพและมีทิศทางในการทำงานมากขึ้น

“ผมเชื่อว่าทั้ง 2 คน จะนำความรู้ใหม่ๆ มาปรับใช้ในแผนการทำงานในด้านนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็กและเยาวชนของ อบต.บางแก้วให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีแบบแผนและประสบความสำเร็จในอีกระดับ”

สำหรับโครงการด้านเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาของ อบต.บางแก้วเน้นไปที่ด้านการศึกษาเป็นหลัก อาทิโครงการมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เรียนดีและต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โครงการฝึกงานกับ อบต. เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้ามาช่วยทำงานใน อบต. เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานกับชุมชน รวมถึงเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอม ถือเป็นการฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

สร้างเป้าหมายร่วม...เพื่อผลสัมฤทธิ์ของงาน

จากประสบการณ์ของนักพัฒนาชุมชนที่มองเห็นปัญหาในพื้นที่ ประกอบกับใจรักและความมุ่งมั่นที่ต้องการ“ยกระดับคุณภาพชีวิต” ของเด็กๆ ในชุมชนบางแก้วให้เป็นรูปธรรม หลังผ่านการอบรมไปได้ระยะหนึ่ง 2 หนุ่มนักถักทอชุมชน อบต.บางแก้ว เริ่มต้นขึ้นด้วยการลงพื้นที่ชักชวนเยาวชนมาร่วมกิจกรรม ซึ่งครั้งแรก อบต.ต้องการให้

รัชพลนำเด็กที่รับทุนเรียนดีของ อบต.มาเข้าร่วมโครงการ แต่รัชพลกลับมองว่าเด็กกลุ่มนี้ยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบกับเด็กกลุ่มนี้กำลังไปศึกษาต่อต่างพื้นที่ จึงต้องหากลุ่มเป้าหมายใหม่

อาชีพการทำนาเกลือต้องพึ่งพาแสงแดดจากดวงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นความเค็มของเกลือฉันท์ใด

รัชพลก็ต้องการ “การหนุนเสริม” จากผู้มีความรู้ในการพัฒนาชุมชนฉันท์นั้น เขามองว่ากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะที่สุดคือ เด็กที่กำลังเรียนอยู่ในชุมชนและต้องเป็นเด็กที่มีใจอยากทำกิจกรรมจริงๆ

เมื่อเป้าหมายชัด การลงพื้นที่เพื่อเฟ้นหาเครือข่ายเด็กและเยาวชนของทีมจึงเกิดขึ้น โดยพื้นที่เป้าหมายคือโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อขอความความร่วมมือจาก อนุนาถ ชื่นจิตร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 ซึ่ง ผอ.โรงเรียนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมอบหมายให้ครูตาล-นัยนา พยมพฤกษ์ คุณครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง ประถมศึกษาปีที่ 5 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 จัดหานักเรียนที่สนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมประมาณ 10 คน

ทั้งนี้ครูนัยนาย้ำว่า จำนวนเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมมีไม่มาก เพราะมาจากความสมัครใจและเต็มใจ ซึ่งเด็กที่เข้ามานั้นชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว บางคนเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา ป้องกันการทุจริต สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) หรือ ปปช.น้อย ซึ่งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนสุจริตหนึ่งเดียวในจังหวัด

ประกอบกับรูปแบบของกิจกรรมสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนโดยเฉพาะในวิชาสังคมศึกษา และวิชาหน้าที่พลเมือง ทำให้การทำงานหนุนเสริมกันได้อย่างดี ทั้งเรื่องข้อมูล การจัดแผนการเรียนการสอนซึ่งพบว่ากิจกรรมนี้ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการกล้าแสดงออก การมีภาวะผู้นำ เช่น เด็กโตเข้ามาช่วยดูแลเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังมีเรื่องบุคลิกภาพ และแนวคิดใหม่ๆ ที่ได้จากการลงพื้นที่ ซึ่งเด็กหลายคนสะท้อนภาพออกมาได้ชัดเจนและพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ

มิตรภาพเกิดขึ้นระหว่างทาง

หลังจากได้ภาคีเครือข่ายเข้ามาหนุนเสริมการทำงานแล้ว การพูดคุยถึงแนวทางการทำงานระหว่างนักถักทอชุมชน ครู เด็กเยาวชน และปลัด อบต.รวมถึงการขอคำปรึกษาจากทีมนักถักทอชุมชนเครือข่ายอื่น เพื่อวาง “กรอบการทำงาน” ให้ชัดเจนจึงเกิดขึ้น ซึ่งการพบกันของคนแปลกหน้าระหว่างนักถักทอชุมชนกับเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมสิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นลำดับแรกคือ การพูดคุยและทำความรู้จัก เพื่อทลายกำแพง และเปิดรับมิตรภาพระหว่างวัย

รัชพลยอมรับว่า การตีซี้กับเด็กเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะผ่านประสบการณ์การทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาแล้ว เขาเชื่อว่าการเริ่มต้นทุกอย่างถ้าทำด้วยใจรักจะทำให้มีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น

ด้วยการทำงานอย่างมุ่งมั่นของ 2 หนุ่มนักพัฒนาชุมชนกับการสานไมตรีด้วยขนมและรอยยิ้ม วันจัดประชุมเด็กและเยาวชนจึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

กิจกรรมแรกของรัชพลหลังจากแนะนำตัวแล้ว เริ่มต้นด้วยการให้เด็กทำความรู้จักตนเอง โดยให้ค้นหาตัวตนที่แท้จริงพร้อมเขียนใส่ในสมุดบันทึกว่าเป็นคนมีนิสัยอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร มีความสามารถอะไรบ้าง ครอบครัวเป็นอย่างไร เพื่อให้เด็กทบทวนและรู้จักคุณค่าของตัวเองก่อน รวมไปถึงมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างในชุมชนของตัวเองว่ามีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจบ้างเพื่อนำต้นทุนความรู้เหล่านี้มาเป็นแนวทางในการจัดการต่อไป

ซึ่งหลังจากการทำความรู้จักในวันนั้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดี บรรยากาศจาก “คนแปลกหน้า” กลับกลายเป็น “คนรู้จัก” ทำให้บรรยากาศการเจอกันในวันถัดมากลายเป็นความคุ้นเคยและสนิทสนม เด็กๆ กล้าพูดคุยมากขึ้น

ผนึกกำลังคนในพื้นที่ร่วมสร้างการเรียนรู้

รัชพลยอมรับว่าช่วงแรกๆ การทำงานของเขายังไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก ได้แค่แวะเวียนไปถามไถ่กับกลุ่มเยาวชน เนื่องจากต้องหาเวลาว่างของเด็กให้ตรงกันกับนักถักทอชุมชน บางครั้งนักถักทอชุมชนว่างแต่เด็กต้องเตรียมตัวแข่งกีฬาสีบ้าง เตรียมตัวสอบกลางเทอมบ้าง หรือมีกิจกรรมทางวิชาการบ้าง ความลงตัวที่จะเจอกันมีน้อย ยิ่งเพื่อนร่วมทีมขอถอนตัวจากการทำงานเป็นนักถักทอชุมชนกลางคัน เขาจึงต้องขบคิดถึงกระบวนการทำงานคนเดียวเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าจะรู้สึกเป๋ๆ ไปบ้าง เพราะต้องทำงานคนเดียว ลุยคนเดียว รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เฉพาะหน้าที่ประเดประดังเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย แต่รัชพลก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยมีพี่ธเนศ-ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงครามเข้ามาให้คำปรึกษาและแนะแนวทางในการทำงาน พี่ธเนศเสนอให้พาเด็กๆ ลงพื้นที่ชุมชนของตัวเอง เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มองเห็นทรัพยากรที่มีค่าในชุมชน เพราะจากข้อมูลของครูนัยนาสรุปว่า เด็กส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ยังรู้จักอาชีพนาเกลือเพียงแค่ผิวเผินขณะที่อีก 20 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้จักอาชีพนี้เลย

จากข้อมูลเบื้องต้นของครูนัยนา ถูกแปรมาเป็นกิจกรรมศึกษาดูงานแปลงนาเกลือและป่าชายเลนในชุมชน ด้วยการพาเด็กนั่งรถไฟไปทัศนศึกษาชุมชนใกล้เคียง โดยพี่ธเนศได้ประสานวิทยากรจากโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก มาให้ความรู้เกี่ยวกับบริบทชุมชน ส่วนรัชพลประสานกับปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ใหญ่ใจดีมาให้ความรู้เกี่ยวกับนาเกลือ พร้อมทั้งสอนให้เด็กรู้จักนาเกลือในอีกมุมมองใหม่ ที่ในอดีตเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของชุมชน รวมทั้งยังได้กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและชายฝั่งมาเป็นวิทยากรปูพื้นฐานเรื่องการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน การอนุรักษ์หรือการปลูกแซมเพิ่มเติม เพื่อคงความสมบูรณ์ของแนวป่าชายเลนนั่นเอง

­

ขยายผลแกนนำเด็กและเยาวชน

แม้แดดในนาเกลือจะร้อนเปรี้ยงขนาดไหน ท่าทีของเด็กๆ กลับรู้สึกตื่นเต้น แสงแดดที่ร้อนระอุไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการศึกษานอกห้องเรียนเด็กๆ หลายคนรู้สึกตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ ทั้งการลงพื้นที่ชุมชนเป็นครั้งแรก ขณะที่บางคนเพิ่งสัมผัสกับการนั่งรถไฟครั้งแรกกับเพื่อน รวมถึงการรับรู้ถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในป่าชายเลนอาชีพการทำนาเกลือที่กำลังจะหายไป

นอกจากความสนุกสนานและความประทับใจกับบทเรียนนอกห้องเรียนแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆเริ่มมีแนวคิดเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกันฟื้นฟูป่าชายเลน การรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว

เมื่อเด็กรุ่นแรกบางส่วนจบการศึกษาออกไป “การส่งไม้ต่อ” ถึงเด็กรุ่นที่สองของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 เป็นไปอย่างราบรื่น เปิดเทอมใหม่มีการชักชวนจากเพื่อนๆ แบบปากต่อปากถึงความสนุกสนานของการเข้าร่วมโครงการ ทำให้ปัจจุบันกลุ่มเด็กและเยาวชนเครือข่ายโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 20 คน

และเมื่อเจอกันอีกครั้งเด็กๆ ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งแรกได้นำแรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่มาเสนอเป็นโครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้รัชพลรับทราบ โดยใช้พื้นที่ในโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นทำกิจกรรม สำหรับรัชพลแล้วเขารู้สึกได้ถึง “ความสำเร็จ” ของการทำงานที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น แม้จะยังเป็นแค่แนวคิดก็ตาม เพราะรัชพลมองว่าสิ่งที่เด็กเสนอมานั้นล้วนมาจากความคิดของเด็กล้วนๆ อย่างน้อยๆ การลงพื้นที่ในวันนั้นคือช่วย ”จุดประกาย” ความคิดให้เด็กได้คิดทำเพื่อชุมชนและตนเอง

เรียนรู้จน “เข้าใจ”

หลังจากเด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจอยากทำโครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ เพื่อปลูกไว้กินเอง แต่เมื่อดูสภาพพื้นที่ที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ เด็กๆ จึงรวมกลุ่มระดมความคิดจนเกิดเป็น “ไอเดีย” ทำโครงการปลูกผักลอยฟ้าที่ดัดแปลงแนวคิดมาจากการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้อำนวยการและครูในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70

“ที่ต้องเปลี่ยนเป็นผักลอยฟ้าเพราะดินของชุมชนบ้านบางแก้วเป็นดินเค็ม ไม่สามารถเพาะปลูกพืชให้เจริญงอกงามได้ จึงต้องดัดแปลงการเพาะปลูกใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิต ซึ่งเราก็มองว่าดี เพราะนอกจากเด็กได้จะทำกิจกรรมตามที่เขาต้องการแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยลดปริมาณขยะจากขวดน้ำพลาสติกของโรงเรียนและชุมชนลงได้ และการจัดการก็ไม่ยาก เพียงแค่นำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ อย่างผักบุ้งและกวางตุ้งมาปลูกใช้สารละลายแทนการใช้ปุ๋ยและดิน จากนั้นนำขวดไปแขวนไว้ให้สูงเหนือพื้นดินหมั่นรดน้ำทุกวัน โดยใช้พื้นที่หน้าห้องสมุดซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ง่ายต่อการดูแลเป็นแปลงสาธิต” รัชพลอธิบายแนวคิดการทำงาน

น้องกิ่ง-ดวงกมล ชื่นจิต แกนนำเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าถึงแนวคิดการปลูกผักลอยฟ้าว่า หลังจากได้ไปทัศนศึกษาที่พี่ๆ นักถักทอชุมชนจัดขึ้นแล้ว เธอและเพื่อนๆ ทุกคนอยากนำความรู้ที่ได้มาทำงานจริง เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเห็นว่าการปลูกผักเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ ส่วนการเข้าร่วมกิจกรรมกับนักถักทอชุมชนนั้นเป็นความสมัครใจ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว โดยเธอทำหน้าที่ประสานงานกับน้องๆ ในทีม และต้องแบ่งหน้าที่กันทำงานตามความถนัดของแต่ละคน

ขณะที่เนม-อนุกูล เรืองรอง หนึ่งในแกนนำเด็กและเยาวชนเล่าเสริมว่า การทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ทำให้เขาเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะการระดมความคิดเห็นภายในกลุ่มเกี่ยวกับการปลูกผักซึ่งมีหลากหลายชนิดมาก แต่ละคนก็เสนอความคิดเห็นมากมาย ทำให้ต้องโหวตกันว่าควรจะปลูกผักอะไร เมื่อได้คำตอบจึงนำความคิดเห็นในที่ประชุมมาปรึกษากับครูนัยนา ครูก็ให้ความรู้ว่าควรปลูกผักที่ให้ผลผลิตดีและสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อม จึงลงตัวที่ผักกวางตุ้งกับผักบุ้ง เพราะปลูกง่ายที่สุด ซึ่งการทำกิจกรรมนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบต่องาน และการเป็นแกนนำที่ดีต้องมีความรับผิดชอบจึงจะทำให้เกิดความเชื่อถือและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่น้องๆ ด้วย

น้องอั้ม-นพรัตน์ นาคขันทอง แกนนำเยาวชนอีกคนเล่าว่า เธอใช้เวลาว่างๆ หลังเลิกเรียนมาช่วยกันคิดโครงการ แม้ว่าบางครั้งอาจจะนัดเพื่อนๆ หรือน้องๆ ชั้นประถมได้ไม่ครบทุกคน แต่แกนนำจึงแก้ปัญหาด้วยการฝากตัวแทนเพื่อนแต่ละชั้นไปบอกเล่าถึงวาระการประชุม เพราะแต่ละคนมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ทำให้คนที่ไม่สามารถเข้าประชุมได้รับทราบประเด็นและความคืบหน้าของการประชุม

เช่นเดียวกับนิภาภัทร คงสวัสดิ์หรือเตย บอกว่า เธอรู้สึกสนุกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรในชุมชนและการทำอาชีพนาเกลือ ทำให้รู้สึกประทับใจกับความรู้นอกห้องเรียนที่นักถักทอชุมชน ผู้ใหญ่ใจดี และปราชญ์ชุมชนเปิดโอกาสให้เธอและเพื่อนๆ ได้ลงพื้นที่ในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา

ทั้งแกนนำทั้งสี่คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ในวันนั้นเป็นสิ่งที่ประทับใจที่สุดจากที่ไม่เคยใส่ใจ มองนาเกลือและป่าชายเลนอย่างคุ้นชิน แต่วันนี้เหมือนได้ทำความรู้จักและเข้าถึงคุณค่าของทรัพยากรที่อยู่ใน “บ้านของตัวเอง” ลึกซึ้งมากขึ้น

ย่างก้าวที่มั่นคงสู่ชุมชนเข้มแข็ง

ความตั้งใจบวกความมุ่งมั่นและกำลังใจจากคนรอบข้างเปรียบเสมือนแท่นชาร์จพลังชีวิตในการก้าวข้ามอุปสรรค แม้การทำงานกับชุมชนบางแก้ว ซึ่งเป็นชุมชนที่รัชพลคุ้นเคยอยู่แล้วจะไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะขับเคลื่อนได้ด้วยตัวคนเดียว

รัชพลมองว่า การปูพื้นฐานให้เด็กด้วยอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แม้ว่าไอคิวของเด็กจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่อีคิวที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้เหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กในการใช้ชีวิตในสังคม

ขณะเดียวกันการทำให้เด็กและคนในชุมชนหันมาเห็นความสำคัญของงานที่เขากำลังขับเคลื่อนให้กับชุมชนแห่งนี้คือ “ความท้าทายบทใหม่” ที่มีปัญหายิบย่อยให้ขบคิดอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะโจทย์ของการขับเคลื่อน“อุดมการณ์” และ “การเชื่อมร้อย” การทำงานด้านเด็กและเยาวชนให้เป็นรูปเป็นร่างในนามของนักถักทอชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนของตำบลบางแก้วเข้มแข็งและยั่งยืนมากที่สุด

//////////////////////////////////////////