อภิชาติ วันอุบล: ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการเพื่อชุมชน (PBL)

ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการเพื่อชุมชน (PBL)


บทสัมภาษณ์  เต๋า- อภิชาต วันอุบล  แกนนำเยาวชนอนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว

­

แนะนำตัว

เต๋า-อภิชาต วันอุบล ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


เล่าคร่าวๆ อัพเดทโซดละเวให้ฟังก่อนเบื้องต้น

ตอนนี้ทำโครงการมาตั้งแต่อยู่ม.3 ตอนนี้น่าจะประมาณ 5 ปี ตัวเองเกิดการพัฒนา นำความรู้มาใช้ในการเรียน และช่วยชุมชนด้วยการรื้อฟื้น สร้างผลิตภัณฑ์ผ้าไหมชุมชนขึ้นมา ตั้งแต่ปีที่1 ตอนแรกเรารวมกลุ่มกัน มองเห็นปัญหาในชุมชนเรื่องการแต่งกายของเด็กๆ ในชุมชน เลยคิดโจทย์จากปัญหาชุมชน ปีแรกทำโครงการทอผ้าไหม อยากให้ทุกคนสวมใส่ ทำออกมาปีที่ 1 ประสบความสำเร็จแต่ยังไม่ครบองค์ประกอบ เราเลยอยากต่อยอดผ้าไหม เลยกลายเป็นปีที่ 2 คือการทำตีนซิ่น

เพราะผ้าไหมโซดละเวต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ตีนซิ่น ซิ่น หัวซิ่น พัฒนามาเรื่อยๆ โครงการปีที่2 ทำผลิตภัณฑ์ได้ แล้วเราก็ต่อยอดต่อ ทำยังไงให้ขายได้หรือช่วยชุมชนมีรายได้ เลยต่อยอด ทำโครงการต่อในปีที่3 เริ่มคิดเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ ทำการตลาดให้คนในชุมชน จุดมุ่งหมายหลักคือ อยากให้ชุมชนมีรายได้ ลดปัญหาที่ไม่ดีในชุมชน เช่น ยาเสพติด การเล่นของเด็กๆ อยากให้เค้าใช้เวลากิจกรรมร่วมกัน


ตอนนั้นสมาชิกโครงการมีกี่คนนะคะ / รวมตัวตอนแรก คุยกันยังไงจึงกลายเป็นโครงการนี้

แกนนำประมาณ 6 คน / ตอนแรก เราไปงานศพ แต่งตัวด้วยชุดพื้นบ้าน ช่วยเสริฟน้ำ พี่ติ๊กมาถามว่าสนใจอยากทำโครงการของสยามกัมมาจลมั้ย มีงบสนับสนุนอยู่ เราสนใจ เพราะตอนแรกเราทำอยู่แล้วแต่ไม่มีงบสนับสนุน ตอนแรกเราอยากได้ ... 4.47 เลยซื้อไหม ซื้อฝ้ายมาทอ เพื่อเอาไว้ใช้ในชุมชน ทีนี้พอไปงาน พี่ติ๊กถาม เลยสนใจเลยกลับมาเขียนโครงการยื่นพี่ติ๊ก อยากพัฒนา ก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้ มีคนต้องการ คนข้างนอกมาศึกษาดูงานเรื่องการทอผ้าและวิถีชีวิต


ที่ว่าทำอยู่แล้ว ทำอะไร

ทอผ้าไหมลายลูกแก้วเพื่อเอาเป็นตุง ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตอนนั้นเรายังทอไม่เป็น พี่แอ๊ดก็ทอไม่เป็น ผ้าที่ทอผืนแรกนั้นยังไม่สำเร็จเลย เก็บไว้ แต่อันนั้นไม่ใช่ไหมแท้ แต่เป็นไหมอิตาลี่ คือเราลองเอามาทำดู แต่ไม่สำเร็จ แล้วก็เอาไหมมาลองทำเลย


สนใจประเด็นที่ยังไม่มีโครงการ ตอนนั้นคุยกันยังไง ความคิดที่ว่า ยังไงก็ต้องทอ ยังไงก็ต้องทำ มันเกิดขึ้นได้ยังไง

เราอยากให้มันมีเอกลักษณ์ อยากอนุรักษ์ ให้คงอยู่กับชุมชน เหมือนมีความเป็นตัวตนของเราไม่อยากซื้อที่ตลาดเพราะไม่สวย อยากให้มีงานจากชุมชน


สถานการณ์ในชุมชนแต่ก่อน เป็นยังไง

สถานการณ์ตอนนั้น คนหันไปทำงานในกรุงเทพฯ จริงๆ แต่ก่อนคนทำผ้าเยอะมาก แต่ช่วงนั้นมีคนทำเป็นแต่ไม่มีคนทำ ทุกคนรู้แต่ไม่ทำ เลยอยากทำและให้เค้าเห็นว่าเยาวชนพัฒนาและนำสิ่งที่หายไปกลับสู่ชุมชนได้

อยากให้เวลาคนไปงานแล้วใส่เหมือนกัน เป็นเซต ให้ความรู้สึกรักในชาติพันธ์ อยากอนุรักษ์ ถ้าเราไม่ทำก็คงไม่มีใครทำ


ผ้าที่ว่า มีความหมายยังไง

ผ้าชุมชนเรา เอาไปใช้ในพิธีกรรมได้ทั้ง 12 เดือนตั้งแต่แรกก่อน พิธีกรรมโกนผมไฟ เส้นไหว้บรรพบุรุษเพื่อบอกกล่าว พิธีแต่งงานก็ต้องใช้ เป็นเครื่องไหว้ญาติฝ่ายชาย ที่เรียกว่าเครื่องสัมมา หรืองานบวชก็ต้องนุ่งผ้าจงกระเบน ตายก็ต้องใช้ เอาผ้าไปผูกโลง มันผูกพันกับวิถีชีวิต งานกระถินอะไรก็ใช้หมด เป็นเครื่องบริบาล


ถ้าไม่มีคนทอ จะเอาผ้ามาใช้ยังไง หรือพิธีกรรมหายไปเลย

พิธีกรรมไม่ได้หายแต่เปลี่ยนรูปแบบ ไม่ใช่ผ้า ทั้งที่แต่ก่อนใช้ผ้า อาจทำให้พิธีกรรมเปลี่ยนรูปแบบไป

ช่วงปีแรก เป็นการทำเพื่อศึกษาข้อมูล แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันมีอะไรบ้าง?

ช่วงปีหนึ่ง ทำโครงการ ตอนนั้นเราเป็นเด็ก ยังทำอะไรไม่เป็น เราเป็นเด็กไปยืนอยู่ จับไมค์ ยังไม่มีศักยภาพเลย เหมือนเด็กธรรมดาทั่วไป แม้การจับไมค์ก็ยืนหัวเราะไม่กล้าพูด ตอนนั้นได้ทำ ลงพื้นที่ศึกษา ทำให้เรารู้ว่าชุมชนมีความเป็นมาลึกขึ้น ก่อนศึกษารู้ก็จริงแต่ไม่รู้ว่าลึกๆ มีความเป็นมายังไง อดีต ใครเป็นคนทอคนแรก ใครเป็นคนนำผ้าเข้ามา

เอาจริงๆ ตอนม.3 เราอาจไม่ได้ลึกซึ้งกับโครงการ เด็กคนนั้นมองผ้าว่าเป็นยังไง

ตอนที่มอง ที่จริงเรื่องผ้า เราเห็นยายทอ ชอบมาตั้งแต่เด็ก เราขึ้นไปทอกับยาย ยายด่าบ้างอะไรบ้าง ผิดบ้างพลาดบ้าง แต่เราอยากทำ เราก็พยายามขึ้นกี่ของยาย โดนด่าบ้างแต่ยายก็คอยสอน

พอเข้าไปทำ รู้อะไรมากขึ้นบ้าง

รู้ถึงประวัติความเป็นมาว่ามาจากใคร ใครเป็นคนเข้ามาในชุมชน ปราชญ์แต่ละคนมีความสามารถด้านไหน ประวัติชุมชน ตอนนี้ไปศึกษาข้อมูลประชากร รู้ข้อมูลทุกอย่างในชุมชน เวลาคนมาถาม เราก็แนะนำได้ว่าบ้านนี้เค้าทำยังไง

พอศึกษาแล้วรู้สึกยังไง

เรามีความภูมิใจ ยังไม่ลืมรากเหง้า มีความรักเกี่ยวกับวัฒนธรรม ชาติพันธ์

ปีที่สอง ทำไมจึงต้องสานต่อปีที่ 2

เราทอแล้วได้ผ้า แต่ผ้าที่ทำ ทำแต่โซดละเว แต่ยังไม่ครบองค์ประกอบ จะทำเป็นซิ่นต้องครบองค์ประกอบ 3 อย่าง มีตัวซิ่น ตีนซิ่น และหัวซิ่น เราก็ได้ทำตรงนั้นในปีที่2 เริ่มนำสีธรรมชาติเข้ามา เพราะในอดีตเราใช้สีธรรมชาติอยู่แล้ว ก็เลยเอามาปรับใช้ แต่อันไหนที่เราทำไม่เป็นเค้าก็มาสอนการย้อม

สีธรรมชาติทำยากกว่าเคมี คนในชุมชนเลยไม่ค่อยสนใจ สีที่ใช้ย้อมมันหายาก ทีจริงไม่ได้หายาก แต่คนแก่ไม่ได้ทดลอง เค้าเคยย้อมจากเคมีก็ใช้อันนั้น แต่เราพยายามทดลอง


ปีที่สาม แบรนดิ้ง

หลังจากที่ทำ มีคนสนใจผ้าของเราเยอะ เราอยากให้มีเอกลักษณ์ ตัวตน มีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพ ก้คุยกันว่าอยากพัฒนาและสร้างรายได้ให้เยาวชนและคนในชุมชน เลยทำแบรนด์

ตอนแรกพวกเราออกชุมชน เช่น งานเทศกาลของดีประจำอำเภอ เทศบาลก็ให้เราเอาของไปโชว์ ก็ได้รุ้จักและพยายามเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก และการที่คนซื้อช่วยกันบอกต่อ

ทำได้เยอะระดับหนึ่งเพื่อเอาไปขายให้คนรู้จักผ้าของเราก่อน ทำความรู้จักกับลูกค้า มีผ้าเท่านี้ มีชนิดเท่านี้ คนสนใจเยอะเลย

ตอนปีแรกที่เริ่มขาย เรามองว่าอยากทำเป็นการค้าจริงจังเลยมั้ย หรือเห็นโอกาสขึ้นเรื่อยๆ

จากที่ทำในปีหนึ่งปีสอง เห็นช่องทางสร้างรายได้ ค่อยๆ เติบโตขึ้น และชุมชนมีรายได้ จ้างคนในชุมชนทอ และมีช่องทางขาย

ทำโครงการมา ทำเพื่อกลุ่มของตัวเองอย่างเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นของชุมชน ความคิดที่ว่าอยากทำเป็น SE เกี่ยวกับชุมชน มาได้ยังไง

หลังจากที่ทำผ้า เห็นว่ามีตลาดต้องการ และเยาวชนผลิตให้กับลูกค้าได้เพียงพอ เราต้องหาแรงงานเพิ่ม เลยได้กระจายไปสู่ชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ ก็เหมือนจ้างคนในชุมชนช่วยเราและเค้าจะมีรายได้ด้วย

เห็นว่าตอนทำแบรนด์ มีคนมาช่วยให้ความรู้

ตอนที่ทำโครงการปีที่3 เราพยายามคิดแบรนด์ โลโก้ผลิตภัณฑ์ แล้วก็มีพี่ๆ จากสยามกัมมาจลช่วยออกแบบแบรนด์และมีการเรียนการอกแบบ เลยได้แบรนด์และเอามาใช้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน

ขึ้นไปเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะสยามกัมมาจลให้ไป มีพี่ๆ มาสอนออกแบบ ออกแบบโลโก้ยังไงให้เหมาะกับผ้า ให้เข้ากับสิ่งทีมีอยู่

เรียนอะไรบ้าง

การบริหารงานขาย การบริหารจัดการ เป้าหมายหลักคือ เราจะแบ่งสัดส่วนเงิน 50 % เก็บเป็นทุน, 40 % กระจายรายได้, 10% เป็นกองทุนสาธารณะประโยชน์ เช่น งานศพ งานบุญ งานกระถิน เป็นทั้งเงินและผ้าด้วย จัดกิจกรรมวันเด็ก เราเอางบตรงนี้ไปช่วย ตอนนี้เราจะเอาเงินที่ขายผ้าแจกเป็นทุนในชุมชนให้กับเด็กที่มาทำโครงการเรา ให้เค้ามีกำลังใจเข้ามาทำกิจกรรม

ทำไมต้องมีกองทุนสาธารณะประโยชน์

มันมีงานในชุมชนตลอด เราอยากเอาเงินกองกลางออก ไม่ต้องเอาเงินตัวเองออก เพื่อเอาไว้ใช้งานในชุมชน

คนในชุมชนรู้จักแบรนด์ขนาดไหน

มาก แต่ก่อนแม่ผมทอผ้าไม่เป็น ตอนนี้แม่อยากช่วยทำเพื่อเป็นแรงงานในชุมชน แม่มัดหมี่เป็นแต่ไม่ได้ทอ แกบอกว่าเริ่มแก่แล้วก็อยากช่วย

เราพยายามรวมคนในชุมชน จัดประชุมประชาคม ถามว่ามีใครสนใจมาร่วมมั้ย ก็มีคนสนใจเยอะ

เติบโตเยอะมั้ย

เยอะ เปลี่ยนแปลงเยอะ ไม่ได้คิดว่ามันจะเติบโตขนาดนี้ คิดแค่ว่าอยากอนุรักษ์สืบทอด ไม่ได้คิดว่าจะมีการขาย

คิดว่าทำสำเร็จมั้ย?

สำเร็จฮะ เพราะได้เก็บลวดลายดั้งเดิมและนำมาผลิตเป็นผ้าผืนใหม่แต่ลายดั้งเดิม คงอยู่คู่ชุมชน

เวลาลูกค้ามาถามลึกๆ มั้ย

นักศึกษาทักมาถามเรื่องโซดละเว ถามเรื่องลายโบราณและอยากเอาไปสานเป็นลายเก้าอี้ ผมไม่รู้ว่าเค้าเป็นใครนะ แต่ทักมาในเพจ มันก็น่าสนใจดี คือถ้าใครอยากได้ความรู้ มาขอเราก็ให้ พยายามเผยแพร่ตัวตนของเราและสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในชุมชนออกไปให้ได้เยอะๆ

จุดประสงค์ เพื่อการทำประโยชน์ คิดว่าทำสำเร็จมั้ย

เป้าหมายในชุมชนที่สร้างรายได้ ตอนนี้ถือว่ายังไม่เต็มร้อย เพราะยังไม่ค่อยมีเวลาลงไปทำมาก แต่ดูอยู่ห่างๆ และช่วยเรื่องการจัดการรายได้ พยายามติดต่อกับพี่แอ๊ด เผยแพร่ตามเฟซบุ๊ก ลูกค้าก็มี

มองโซดละเวว่าเป็นอะไร งานอดิเรก การเรียนรู้ แบรนดิ้ง?

อาชีพ เป็นธุรกิจชุมชนได้เลยเพราะคนสนใจเยอะ เดี๋ยวนี้กระแสการเป็นธรรมชาติก็มาแรง

การเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

ก่อนเข้าโครงการ เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทักษะความคิด การจัดการ ไม่มีเลย แม้แต่การจับไมค์ตอบคนเยอะๆ เราไม่มีความกล้าจะทำและอาย แต่หลังทำโครงการเราได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับเรื่องเรียน เช่น การตัดต่อวิดีโอ การนำเสนองานต่ออาจารย์ หรือการบริหารจัดการชีวิต บริหารเงิน รอบคอบ จัดระเบียบข้อมูลในตัวเราให้เป็นระบบ คือทำให้เป็นระเบียบ ปัจจุบันเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก ในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นแกนนำเยาวชน เป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนของตำบล และเป็นกรรมการอำเภอ

ก่อนหน้านี่เราเป็นเด็กกิจกรรมปะ

เป็นอยู่ฮะ แข่งศิลปะหัตถกรรมแต่ไม่ได้รู้กว้างเพราะเราเรียนอยู่ในห้องเรียน ก็ได้แต่ความรู้ แต่อันนี้เราได้ประสบการณ์

การทำโครงการของเต๋า ยาวนานมากเลย อะไรที่ทำให้ไม่เลิก ชอบอะไรในโครงการ

เราทำโครงการมาห้าปี รักในตรงนี้ ภูมิใจ มีกำลังใจอยากทำต่อ มีความผูกพันในกลุ่มแกนนำ ทำงานร่วมกัน ปรึกษากันตลอด มีเรื่องอะไร ช่วยเหลือกัน

ชอบอะไรที่สุด

ที่เราทำโครงการ ทำให้เราเกิดการรวมกลุ่ม เกิดความผูกพันในผ้า ไม่ว่าไปที่ไหนเราก็พยายามโชว์เอกลักษณ์ของเรา อยากให้คนรู้จักเยอะๆ เรื่องผ้าก็อยากให้คงอยู่และอยากเผยแพร่ต่อสาธารณะชน ภูมิใจในตัวตน แสดงให้คนเห็นและทำตรงนี้ได้

การเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ตอนที่ต้องเรียนมหาวิทยาลัย ต้องย้ายที่อยู่ เปลี่ยนที่เรียน ต้องจัดการตัวเองหลายอย่าง มันทำให้เราเริ่มต้นชีวิตใหม่ง่ายมั้ย ช่วยเรื่องการปรับตัวของเรายังไง

จากที่เราทำโครงการ เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเด็กแต่ละอำเภอซึ่งแต่เดิมไม่เคยรู้จักกัน ก็เข้ากับคนได้ง่าย พูดคุย ตอนจบม.6 ตอนแรกคิดหนัก ถ้าเราไปแล้วใครจะช่วยพี่แอ๊ด กลัวไม่มีคนช่วย เลยบอกว่าเราจะดูเรื่องการเผยแพร่งานในเฟซบุ๊ก แบ่งงานกันว่าใครจะทำงานอะไร ดูแลอะไร

หลังทำโครงการ เวลามีกิจกรรมอะไรก็ง่าย เพราะเราทำเพื่อชุมชน เอาข้อมูลที่ทำมาเสนอต่อมหาวิทยาลัยและได้เข้าเรียนที่นี่โดยไม่ต้องสอบเข้า ยื่นผลงานที่ทำมา และได้ทุนจากมหาวิทยาลัยด้วย เป็นส่วนที่ทำให้เรามาอยู่จุดนี้ได้

รู้จักคนเยอะ เข้าสังคมง่ายขึ้น เพราะเราก็ผ่านอะไรแบบนี้มาเยอะ พี่ที่อยู่ที่นี่ก็อยากทำเหมือนกัน ผมเล่าโครงการที่ทำมา เลยบอกว่าก็ขึ้นโครงการที่อุบลฯ สิ

ที่บอกว่าทำให้เรามองโลกกว้างขึ้น เต๋ามองว่าการมีพื้นที่แบบนี้ กับเด็กวัยแบบเต๋า คิดว่าสำคัญหรือดียังไง

เด็กบางคนอยากทำกิจกรรมแต่ขาดพื้นที่ อันนี้ก็มีมาก บางคนอยากทำนั่นทำนี่แต่ไม่มีเวลาและโอกาส ถ้ามีเวทีเรียนรู้นอกห้องเรียนจะดีมาก ได้ประสบการณ์มากกว่าเรียนในห้องและนำมาปรับใช้ได้

ความสนใจของเต๋า ไม่รีเรทกับคณะที่เรียนเลยอะ

ที่จริงก็ไม่ห่างไกลนะ นำองค์ความรู้จากการเรียนไปประยุกต์งานที่ทำได้ กิจกรรมกับการเรียน มันสัมพันธ์กัน ไม่ขัดขวางกันเรียน แบ่งเวลาให้เป็นว่าอันไหนสำคัญ ครูคิดว่าเราจะเรียนไหวมั้ยเพราะกิจกรรมก็เยอะ งานก็เยอะ

ที่อยากเรียนวิศวะ ก็เพราะจากที่ลงมือทำผ้า เราทำอุปกรณ์มาทุ่นแรงในการทำผ้า ใช้ได้จริง ทำไปเรื่อยๆ ก็มีคนมาขอดูเยอะมาก

เราเรียนวิศวะ เอาความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ ด้านผ้าไหมก็คือ มันต้องใช้เวลาในการผลิต แต่มาเรียนตรงนี้ ก็เอาความรู้ไปผลิตนวัตกรรม ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นแต่ยังมีความเป็นแฮนด์เมดอยู่ ปัจจุบันกระบวนการผลิตผ้าไหมยังขาดเทคโนโลยีเยอะ

เครื่องมือทุ่นแรง คืออะไรคะ

เครื่องขึ้นลำหมี่ แต่ก่อนเป็นไม้สองอัน ใช้เวลานานมาก 1 วันทำได้ 7 หัว แต่เครื่องนี้ทำได้ 20 30 เลย ต่างกันมาก

ชอบงานประดิษฐ์?

อะไรที่ช่วยให้งานง่ายขึ้น ก็จะทำ ชอบคิดสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยให้ทำอย่างรวดเร็วขึ้น

อัพเดทชีวิตมหาวิทยาลัย

ดีครับ เกรดสวย กิจกรรมเยอะครับ ถ้าว่างก็พยายามเข้าตลอด รับน้องหรืออะไร แต่ถ้าไม่ว่างก็ไม่เข้า เน้นเรื่องเรียนเป็นหลัก

เรียนจบแล้วอยากทำอะไร

อยากทำงานก่อน เรียนป.บัณฑิต ประกอบอาชีพครูในชุมชน จะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ทำมาถ่ายทอดสู่เด็กรุ่นต่อไป แต่ขอเรียนจบไปทำงานสร้างตัวก่อน แล้วค่อยออกมาเป็นครูในชุมชน เพราะวิศวฯ สอบครูได้

เป้าหมายหลักอยากอยู่ในชุมชน ดูแลพ่อแม่ ไม่อยากจากบ้าน อยากทำอะไรก็ได้ที่ได้อยู่ที่บ้าน

active citizen มีความหมายยังไง

สำคัญเพราะทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการ จัดการชีวิต งานจัดการ ปรับใช้กับการเรียน เปิดศักยภาพให้ทำในสิ่งที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ ทั้งความกล้าแสดงออก ทักษะจากโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป ตัดต่อวิดีโอ เอาเครื่องมือในโครงการมาใช้กับการเรียน โดยเฉพาะการใช้ thinking school การทำ AAR

แต่ก่อนเวลาขึ้นเวลาต้องเอาแผ่นชารต์มาบังหน้า อาย ไม่กล้าพูด เดี๋ยวนี้ตอบได้ มีความกล้า มีความเป็นผู้นำ