จิราวรรณ เทาศิริ - ครูพี่เลี้ยงพัฒนาเยาวชนแก้ไขปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียนด้วยโครงการ PBL

+ครู...ผู้สร้างคน

จิราวรรณ เทาศิริ ครูโรงเรียนกันทรอมวิทยาคม พี่เลี้ยงโครงการเล่าถึงเบื้องหลังของการสนับสนุนให้นักเรียนทำโครงการเพราะเชื่อว่า หากเด็กได้ผ่านกระบวนการคิด กระบวนการวิเคราะห์ กระบวนการวางแผน ยิ่งมาอยู่ในกระบวนการแบบนี้ สิ่งที่ครูคาดหวังที่สุดคือให้เด็กรู้จักคิด รู้จักการแก้ปัญหา อยากให้สิ่งเหล่านี้ติดตัวเด็ก เพื่อที่เขาจะได้เอาไปใช้ในอนาคต

“โครงการนี้ช่วยให้เด็กพบสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การค้นพบตนเอง การค้นพบศักยภาพตนเอง”

สำหรับผลการทำงานของลูกศิษย์โดยภาพรวมของงาน ครูพอใจเกินคาด ด้วยตอนแรกคาดหวังให้นักเรียนรู้จักกระบวนการทำงานเป็นทีม แต่เมื่อลงมือทำแล้ว นักเรียนสามารถนำปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกันได้ โดยครูมีหน้าที่เพียงกระตุกกระตุ้นในบางครั้ง เช่น ช่วงแรกที่เกิดปัญหาจะทำเรื่องอะไรดี ก็ต้องตั้งคำถามให้เขาได้คิด

“จุดที่ไปที่อบรมภูสิงห์แล้วเกิดปัญหามาก อ๋อมเครียดมากเกือบสติแตก เพราะครูจะไม่ตอบคำถามเขาทันที อ๋อมเขาก็จะหงุดหงิดกับครูมาก เด็กเขาจะเคยชินกับที่โรงเรียนว่า ถ้าถามครูต้องเฉลย เขาจะเคยชินกับครูที่สอนในห้องเรียน ถามมาตอบไป แต่ครูจะไม่เฉลย นักเรียนถามมา ครูถามกลับ ถามมา ถามกลับ เขาก็แสดงอาการหงุดหงิด บอกว่าครูไม่ช่วยหนู ครูจะใช้กระบวนการจิตตปัญญา ปล่อยวาง ทำใจให้สงบ แล้วตั้งคำถามกลับว่า อันนี้ใช่ไหม ถามทีละประเด็นให้เขาได้คิด แต่ครูจะไม่ตอบ”

ในช่วงการทำงาน ถ้าลูกศิษย์เกิดเขวครูในฐานะที่ปรึกษาจะดึงมา สร้างเวทีให้ทีมงานได้คุยกัน บางครั้งเวลาประชุม ครูก็จะเปิดเวทีให้เขาประชุมเอง ฟางกับหมวยซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามา จะมีความคิดเป็นระบบ ส่วนอ๋อมกับมุ่ยยังไม่เคยผ่านการทำโครงการ แต่ด้วยความเป็นพี่ ครูก็จะทิ้งโจทย์หนักให้เป็นประธานเป็นเลขา เพราะน้องไม่กล้าสั่งการพี่ ครูก็จะใช้กระบวนการพี่จัดการน้อง แต่กว่าที่เขาจะจัดการคนอื่นได้เขาต้องจัดการตนเองก่อน

โครงการนี้ช่วยให้เด็กพบสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การค้นพบตนเอง การค้นพบศักยภาพตนเอง ครูอยากให้เขารู้ว่าเขามีศักยภาพ เหมือนกับที่ถามครูแล้วครูถามกลับ ซึ่งถ้าเด็กจับได้ก็จะรู้ว่า คำถามนั้นเป็นเสมือนเข็มทิศ จะบอกเขาเสมอว่า ปัญหาบางอย่างถ้าเรามีสติ คิดวิเคราะห์ และยั้งคิด เราจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้ แล้วชีวิตจริงบางครั้งปัญหามันไม่ได้มาที่ละเรื่อง บางอย่างมันก็มาพร้อมกันหลายเรื่อง ถ้าเด็กมีกระบวนการคิด วางแผนและจัดการได้ มันก็ก้าวข้ามไปได้ นี่คือคำพูดให้กำลังใจ แล้วเราก็เฝ้ามอง เฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา

พลังและคุณค่าจากการทำโครงการ Eng Easy สานใจเติมฝัน เรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง นอกจากจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเยาวชนเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ที่ช่วยต่อยอดความรู้ของตนเอง และช่วยดึงศักยภาพให้น้องๆ ในโรงเรียนรักการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นแล้ว พวกเขายังเข้าถึง “หัวใจ” ของการเป็นครูที่มีหัวใจของการกระตุกต่อมเรียนรู้ เน้นกลยุทธ์การสอนที่สนุก เป็นการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน ที่ช่วยซ่อมเสริมความรู้ ลดค่าใช้จ่ายในการติวภาษาอังกฤษ อันนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างรู้เท่าทันในยุคการสื่อสารไร้พรหมแดน และพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ที่ภาษาอังกฤษจะกลายเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญยิ่ง

­


ส่วนหนึ่งจากบทความ แก้ปัญหาภาษาอังกฤษในห้องเรียน ผ่านโครงการการจัดการเรียนรู้แบบ PBL โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ