HOW TO แก้ปัญหาในชั้นเรียน “เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” กับปัจจัยแห่งความสำเร็จ


HOW TO แก้ปัญหาในชั้นเรียน

“เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” กับปัจจัยแห่งความสำเร็จ

เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๒ มูลนิธิสยามกัมมาจล ขอนำเสนอ How To ของ“คุณครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ” คุณครูจากโรงเรียนบ้านหินลาด จ.มหาสารคาม สอนภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔– ๖ที่มี How To ในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยครูศิริลักษณ์ได้เขียนบอกเล่ากระบวนการเรียนการสอนของตนเองได้อย่างละเอียดและน่าสนใจ มูลนิธิฯ จึงขอนำมาแชร์ต่อให้กับเพื่อนครูทั่วประเทศได้นำไปใช้เพื่อต่อยอดในการเรียนการสอนของตนเองได้ต่อไป

.............................................................

เกริ่นนำห้องเรียนเมล็ดความดี

ห้องเรียนเมล็ดความดี เป็นห้องเรียนเด็กแอลดีของโรงเรียนบ้านหินลาด สพป.มหาสารคาม เขต ๑ที่รับนักเรียนแอลดีทุกประเภทเข้ามาดูแล ครูที่รับผิดชอบคือ ครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ จบ กศ.บ.สาขาวิชาเอกเทคโนโลยีทางการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีณครินทรวิโรฒมหาสารคาม โดยนักเรียนกลุ่มนี้กระจายอยู่ตามชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ถึงระดับมัธยมศึกษาเป็นการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในชั้นเรียนตามปกติ และจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมในช่วงพักกลางวัน คือครูจะจัดการเรียนการสอนซ่อมเสริมในช่วงพักกลางวันทุกๆ วัน สำหรับนักเรียนพิการทุกคนที่ผ่าน การคัดกรองโดยครูประจำชั้น เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

เมื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจริง นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แล้วห้องเรียนห้องนี้ยังได้บ่มเพาะเมล็ดความดีให้งอกงามในใจนักเรียน ในระหว่างการจัดกิจกรรมนักเรียนได้เรียนรู้กับความอดทนต่อความชอบและไม่ชอบ ซึ่งมันคือวิถีชีวิตที่ต้องเรียนรู้ในชีวิตจริงได้รู้จักความแตกต่างของแต่ละคนที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี ครูได้ฝึกการใช้จิตศึกษาเชิงบวกเสมอ ในทุกๆ สถานการณ์ เพื่อขัดเกลาให้จิตใจของเราประณีตยิ่งขึ้นในการคิดการแสดงออก นักเรียนได้รู้จักความปลื้มปิติเมื่อเราได้ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ได้รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบที่ทำด้วยใจรักไม่ใช่แค่หน้าที่ ได้เข้าใจถึงความพยายามมุ่งมั่นคือสิ่งนำพาไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งคือแรงบันดาลใจให้เรามีพลังในการก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง แม้จะมีปัญหาและอุปสรรค์แต่เราก็สามารถทำได้สำเร็จสมบูรณ์ เรื่องราวทั้งหมดนักเรียนได้เรียนรู้ในห้องเรียนแห่งนี้ไปพร้อมกับคุณครู ครูจึงเชื่อว่าห้องเรียนแห่งนี้ได้บ่มเพาะต้นกล้าคุณธรรมในใจของทุกคนให้เติบโตผลิตดอกออกผลให้งดงามอย่างยั่งยืน

ห้องเรียนห้องนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กๆ ที่มีความบกพร่องด้านการอ่าน การเขียน ให้สามารถอ่านออก เขียนได้ครูจึงเปรียบเด็กๆ เหล่านี้เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ หลายคนเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไม่สามารถงอกได้ หรือถึงงอกได้ก็ไม่เจริญเติบโต แต่ตลอดเวลา 7 ปี ที่ผ่านมาห้องเรียนห้องนี้สามารถบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ดงอกได้ และสามารถเจริญเติบโตได้ หลายต้นเริ่มผลิดอก ผลิใบ เขียวชอุ่ม พร้อมที่จะออกผลให้ชื่นชม ปัจจัยของความงอกงามนี้คือความใส่ใจ ความเข้าใจ ของพี่จิตอาสา ของครู และที่สำคัญคือเมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ดที่มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองขอบคุณพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทุกๆ เรื่องราวคือบทเรียนมีขีวิตที่บ่มเพาะให้เกิดการพัฒนา งอกงาม สมบูรณ์


ปัญหาในชั้นเรียนคือ “เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ “ กับปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ครูต้องกลับมาค้นหาสิ่งที่เป็นสาเหตุคืออะไร แล้วเริ่มต้นจากง่ายที่สุดก็คือตัวครูเอง

ต้นแบบอย่างไรจึงจะได้ใจเด็ก

ครูต้องเริ่มจากการเป็นต้นแบบ ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความประพฤติ มีระเบียบวินัย รู้หน้าที่มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และมุ่งมั่นตั้งใจในงานที่รับผิดชอบ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ครูจะต้องปฎิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักเรียนเห็น (ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน ยังใช้ได้ดีเสมอ) นักเรียนจะเกิดความรักและศรัธาในตัวครู นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้ร่วมมือและทำตามสิ่งที่ครูแนะนำพร่ำสอน ครูจะเป็นต้นแบบให้นักเรียนจัดระเบียบตัวเองตามครูที่เขารักและศรัทธา

บุคลิกภาพของครูมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียน

บุคลิกภาพของครูสำคัญมาก ส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกของนักเรียน ครูต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้มีจิตใจเป็นมิตร รัก เมตตา และปรารถนาดี และแสดงออกผ่านการยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี ท่าทีสบายใจต่อหน้าเขาเสมอ นักเรียนจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ครู

บางคนต้องรักษาจิตใจก่อนจะพัฒนา บางคนต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับรักษาจิตใจ หลายคนพัฒนาได้เลย

นักเรียนพิเศษบางคนที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ เป็นนักเรียนแอลดี (Learning Disability) ยังไม่พร้อมสำหรับการพัฒนา จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมให้พร้อมเสียก่อน เป็นเหมือนการรักษาจิตใจให้เขาพร้อม ให้อยากจะเรียน ให้รู้สึกปลอดภัย และรู้สึกมีความสุขที่จะมาในโรงเรียน ช่วงนี้ความนี้ความรักความเมตตา ความใส่ใจของครูเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ในขั้นการพัฒนาทักษะการอ่านการเขียน โดยกระบวนการ ๖ ขั้นร่วมกับนักเรียนจิตอาสา การถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ของครูเป็นเรื่องสำคัญ ที่ครูจะต้องหาวิธีให้เด็กเข้าใจง่ายและเร็ว เพราะข้อจำกัดของเด็กแอลดีจะเป็นปัจจัยที่ครูต้องหาวิธีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่สอนและระยะเวลาความสนใจของเด็กกลุ่มนี้ให้เหมาะสม เพราะถ้าใช้เวลามากเกินไปหรือรู้สึกว่าเรื่องที่เรียนยากเกินไป เขาจะเลิกสนใจ เริ่มเบื่อ ปกติก็รับรู้ช้าอยู่แล้ว ยิ่งมีความรู้สึกว่ายากและเบื่อการสอนของครู วันนั้นจะเป็นการศูนย์เปล่า และที่จะเป็นปัญหาสำคัญมากกว่านั้นคือเด็กเริ่มรู้สึกไม่ดีต่อการเรียน จะเกิด “ช่องว่าง” ระหว่างครูกับเขาขึ้นมา ครูต้องเสียเวลากับการแก้ปัญหาซ้ำซ้อน แทนที่จะแก้เรื่องการเรียนก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ยังต้องมาแก้เรื่องอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นการเพิ่มโจทย์ที่ยากทำให้ครูต้องหาคำตอบหลายอย่าง ยุ่งยาก เพราะถ้าเกิดความยุ่งยากในระหว่างเรียนกระบวนการเรียนรู้เขาจะสะดุดลง บางครั้งการที่จะเริ่มสร้างความรู้สึกของความพร้อมในการเรียนอาจล้มเหลว อาจเกิดปัญหาตามมาเช่นไม่อยากมาเรียน หนีเรียน ขาดเรียน หยุดเรียน ทิ้งการเรียนไป

จะเริ่มต้นอย่างไรให้เด็กพยัญชนะไทยแบบสนุกไม่เบื่อ

กรณีตัวอย่าง ครูใช้ในการถ่ายทอดเนื้อหาคือ การเล่าเรื่องเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็ก เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์สนุกน่าสนใจ สั้นไม่ยาวจนเกินไป เช่น การสอนเรื่องพยัญชนะไทย 44 ตัว เป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กแอลดีแต่ครูจะต้องหาวิธีให้เด็กสนุกและจำรูป เสียง ชื่อ ของพยัญชนะให้ได้

ริ่มเรียนจากพยัญชนะไทยเป็นการนำไดอะแกรม (Diagram) ของอาจารย์อานัติ วัฒเนสก์ นำมาเขียนเป็นเรื่องเล่า ให้นักเรียนสนุกเพลินกับการฟังและจดจำ รูปพยัญชนะ เสียงพยัญชนะ และชื่อพยัญชนะ โดยใช้กิจกรรมอื่นตามที่คุณครูถนัดร่วม ฝึกซ้ำ ย้ำทวน ให้จำ นำไปใช้ เช่น การปั้นดิน การฉีกปะ การเขียนตามคำบอก แบบฝึกการเขียน เป็นต้น

เริ่มต้นจากตัวแรก “ก” มีลูก 2 ตัว

ตัวหนึ่งเด็กนอก “ภ” ส่วนอีกตัวหนึ่งเด็กใน “ถ”

เด็กนอก “ภ” มีลูก 2 คน “ฎ” กะ “ฏ”

ส่วนเด็กใน “ถ”ขี้เหงามีเพื่อนสนิทหลายตัว

ตัวที่ 1 “น” พอมาอยู่ด้วยกันนึกสนุกแปลงร่างเป็น “ณ”.....

ตัวที่ 2 “บ” พอมาอยู่ด้วยกันแล้วก็แปลงร่างเป็น “ญ”...แต่มีจิตนาการสร้างสรรค์ชวนไม้หันอากาศมาเป็นเพื่อนให้แอบอยู่ข้างล่างด้วยกัน

และเพื่อนตัวสุดท้าย “ม” พอมาอยู่ด้วยกันแล้วก็แปลงร่างเป็น “ฌ”

“บ” นี่โลดโผน เจอเพื่อนซุกซนแกล้งดึงหางกลายเป็น “ป” บางทีก็โดนเพื่อนแกล้งกลายร่างเป็น “ษ”

เมื่อ “บ” ป่วยหนักคุณหมอต้องผ่าตัดพอหายดีกลายเป็น “พ” อยากกลับไปเหมือนเดิมทำกายภาพบำบัดกลับมีหางงอกออกมากลายร่างเป็น “ฟ” รู้สึกเสียใจมากฝึกท่าโยคะต่อผลที่ได้กลายร่างเป็น”ฬ”รู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงขอให้คุณหมอผ่าตัดใหม่กลายร่างเหลือแค่นี้ “ง”

“พ”หันหลังกลับมามองเพื่อนเป็น “ผ” โดนเพื่องแกล้งดึงหางกลายร่างเป็น “ฝ”

“ผ” รู้สึกไม่ชอบใจรูปร่างที่เปลี่ยนไปพยายามฝึกกายบริหารมากขึ้นจนรูปร่างเปลี่ยนแปลงเป็น “ย”

กลับมาที่ “บ”คราวนี้ต้องการลดน้ำหนักมากเกินไปกลายร่างเป็น “ข” เพื่อนชอบใจดึงไปซ้ายทีขวาทีทำให้หางงอกออกมากลายร่างเป็น “ช”

“ข” ร่ างกายอ่อนแอเดินไม่ระวังหกล้มหัวแตกกลายร่างเป็น “ฃ” เพื่อนตกใจรีบดึงให้ลุกขึ้นอย่างเร็วทำให้มีหางงอกออกกลายร่างเป็น “ซ”

“จ” นักจิตนาการเบื่อตัวเองแปลงร่างทันทีเป็น “ฐ”

“น” แอบไปมีเพื่อนใหม่ชื่อ “ว” รักและสนิทกันมากกอดคอแปลงร่างเป็น “ฉ”

“ม” เดินไม่ระวังหกล้มหัวแตกกลายเป็น “ฆ” แล้วกลัวไม่มีเพื่อนก็เลยไปคบกับ “ต” แล้วชวนแปลงร่างเป็น“ฒ”

“ต”นั้น จริงๆแล้วคือ ”ด”มาก่อนแต่เดินไม่ระวังเดินชนหัวแตก

บางครั้งก็นึกสนุกอยากอำเพื่อนขำๆก็ม้วนหัวออกเป็น “ค” โดนเพื่อนแกล้งต่อหางให้เป็น “ศ” แต่ไม่ชอบใจวิ่งเอาหัวไล่ชนเพื่อนหางหลุดออกแล้วหัวแตกกลายเป็นเป็น “ฅ”

“ท” ฝึกกระโดดร่มเกิดอุบัติเหตุตกลงมาที่พื้นหัวแตกกลายร่างเป็น “ฑ” เพื่อนขำกลิ้งทำให้อายวิ่งหนีจนเกิดอุบัติเหตุทำให้ร่างกายเปลี่นแปลงเป็น “ห”

“ล” ซุกซนห้อยโหนไปมาจนมีหางงอกออกมาเปลี่ยนเป็น “ส”

“ธ” อ่อนช้อยสวยงามแต่ยังไม่พอใจในตนเองให้คุณหมอศัลยกรรมใหม่เปลี่ยนเป็น “ร”

“อ” อินดี้มีความอิสระ มีเอกลักษณ์ นึกสนุกเปลี่ยนแปลงตัวเองให้แปลกกว่าเดิมเป็น “ฮ”

เรื่องราวทั้งหมดเขียนเป็นเรื่องเล่าเพื่อให้นักเรียนจำรูปและเสียงพยัญชนะได้ โดยได้แรงบันดาลใจจาก “Diagram ตัวพยัญชนะไทย” อาจารย์อานัติ วัฒเนสก์ คุณครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ ขออนุญาตนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประกอบการสอนเด็กพิเศษ ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ

ถ้าเขายังจำพยัญชนะไม่ได้ให้ปั้นดินน้ำมันเป็นตัวพยัญชนะ หรือฉีกปะตัวพยัญชนะ โดยคุณครูก็แบ่งตัวพยัญชนะเป็นกลุ่มค่ะ ตัวที่เขียนคล้ายกัน ตัวที่ออกเสียงเหมือนกัน หรือคุณครูเล่าเรื่องให้เด็กฟังนะคะเด็กจะผ่อนคลายมีความสุข สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขทำให้การรับรู้ข้อมูลดีขึ้นด้วยค่ะ เช่น ก. ไก่ แปลงร่างค่ะ ก.ไก่ขี้เหงางอกหัวออกมา หัวม้วนเขาเปลี่ยนชื่อเป็น ถอ ถุง ต่อมา ถ เริ่มเบื่อตัวเองก็งอกหัวม้วนออกมาข้างนอก เราต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เรียก ภอ สำเภา ( วิธีจำ ถ ม้วนเข้าเอาไว้ใส่ของ ภ หัวม้วนออก ออกไปจับปลาที่ทะเล ) ต่อมา ถ อยากมีเพื่อนก็ไปชวน น มาเป็นเพื่อนก็เปลี่ยนชื่อเรียก ณ เล่าไปใส่น้ำเสียง สีหน้า ด้วยนะคะทุกตัวคุณครูก็คิดเรื่องเล่าแบบนี้ค่ะ

กรณีตัวอย่าง การเขียนสะกดคำผิดบ่อย ๆ “สุนัก“ เป็นสุนัขที่พิการหนูต้องเอา “ข“ มาแทนที่ “ก“ มันจึงจะวิ่งได้เดินได้นะลูก “ช้อนซ่อม“ คำนี้หนูเขียนผิดนะคะ ช้างกับเสือ เป็นสัตว์ป่าเขาชอบอิสระไม่ชอบ “ซ” เขียนคำให้ถูกต้องคือ “ช้อนส้อม” พระบิณฑบาต ท่านไม่รอคือไม่มี "ร" เราไปใส่บาตร ต้องรอท่านคือต้องใส่ "ร" ค่ะ กะปิ กะทิ กะลา กะพง กะเพรา กะโหลก กะทัดรัด ไม่ชอบ "ร" ค่ะ กระบะ กระทะ กระเพาะ กระทิง กระโถน กระเช้า กระทบ กระตุ้น กระจาย ชอบ "ร" ค่ะ เด็กๆเขียนสะกดให้ถูกแล้วลองค้นคว้าเพิ่มเติมนะคะ

หลักการเขียนตัวการันต์และตัวสะกดที่เขียนผิดบ่อยๆ เขียนตามสภาพแวดล้อมของพยัญชนะต้นและบริบทของพยัญชนะในคำที่เขียน เพื่อช่วยให้เด็กแอลดีจำได้ง่ายขึ้น เช่น ลิงมีสไตล์ ลิงส่งไฟล์งาน น้องเล่นไลน์ ครูกดไลค์ ทหารคุยโทรศัพท์ ทหารเขียนคำศัพท์ หนูชอบราชสีห์ หนูมีเสนห์ หนูชอบคิดวิเคราะห์

เด็กแอลดีไม่ใช่โรคร้ายแรงสามารถรักษาให้หายได้

เด็กแอลดีสามารถรักษาให้หายได้แต่ต้องใช้เวลาบ้าง เพราะการฟื้นฟูสมอง พฤติกรรม ต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยครูที่ดูแลต้องใช้วิธีการดูแลสามระยะคือ

ระยะแรกปรับพฤติกรรมของเด็กโดยใช้จิตศึกษาเชิงบวก ไม่ตำหนิ ไม่เร่งรัด ไม่กำหนดเวลา ให้แรงเสริม ให้กำลังใจ

ระยะที่สองคือฟื้นฟูพฤติกรรมควบคู่กับการเรียน แต่ไม่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก ระยะนี้การถ่ายทอดเนื้อหาครูต้องออกแบบเน้นการใช้ภาษาที่ง่ายเข้าใจเร็ว พาทำ พาคิด กระตุ้นด้วยคำถาม บรรยากาศผ่อนคลาย สนุกสนาน การเล่าเรื่องก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพราะธรรมชาติของเด็กจะชอบฟังนิทานและการฟังเด็กจะมีสมาธิใจจดจอสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ดี ปูฟื้นฐานเรื่องอักษรไทยและแม่ ก.กา โดยแยกเนื้อหาออกเป็นสามกลุ่มคือแม่ ก.กา ประสมสระแท้ แม่ ก.กา ประสมสระประสม แม่ ก.กา ประสมสระเกิน

ระยะที่สามคือระยะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ระยะนี้เด็กมีพัฒนาการ การอ่านมากแล้วมีความพร้อมทั้งด้านพฤติกรรม ด้านการเรียน สามารถอ่านนิทาน อ่านหนังสือในชั้นเรียนได้แล้วการเรียนจะเร็วกว่าระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง ขั้นนี้ครูอาจจัดกิจกรรมการแข่งขัน การประกวด จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิด “การเรียนรู้บนความท้าทาย” เด็กจะสนุกมีเป้าหมายโดยครูจัดเป็นคู่ ๆ ที่มีระดับความสามารถที่ใกล้เคียงกัน อย่าเอาคู่ที่มีความแตกต่างกันมากการแข่งขันจะไม่มีคุณค่า คนแพ้จะท้อ คนชนะก็จะไม่เกิดความภาคภูมิใจคุณค่าของความรู้สึกจึงเกิดน้อย เมื่อผ่านระยะที่สามได้ระยะหนึ่งครูจะเห็นพฤติกรรมของเด็กชัดมากขึ้น ทั้งด้านการเรียน ด้านพฤติกรรม คือเด็กจะมีความรับผิดชอบ ความพยายาม ความตั้งใจ สามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองในเรื่องของการอ่านการเขียนได้ดียิ่งขึ้น เด็กจะเห็นคุณค่าของความพยายาม ความเพียร ก่อให้เกิดความสำเร็จที่เป็นผลเชิงประจักษ์ โดยที่ครูไม่ต้องอธิบาย บางครั้งคุณค่าจากสิ่งที่ทำจะซ่อนอยู่ในกิจกรรมอย่างแยบยลน่าค้าหาและมีคุณค่ามหาศาล เด็กจะหายเป็นเด็กปกติเป็นการคืนเด็กสู่ชั้นเรียน ทั้งครูและเด็กจะภาคภูมิในในความสำเร็จที่เกิดขึ้น

ต้นกล้าคุณธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการ ๖ ขั้นของครูเป็นนวัตกรรมที่มีชีวิต

นักเรียน จิตอาสา ต้นกล้าคุณธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการ ๖ ขั้นของครูเป็นนวัตกรรมที่มีชีวิต สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ถ้าไม่มีนักเรียนจิตอาสา นวัตกรรมที่ออกแบบอาจจะเป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึก การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้องมีนักเรียนจิตอาสาที่มีความเข้าใจ ความรัก ความอดทน ความใส่ใจ ความเพียร ในการดูแลผลจึงออกมาเป็นความสำเร็จที่งดงาม นักเรียนแอลดีที่ครูประจำชั้นคัดกรองส่งมา บางคนมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรงก้าวร้าว บางคนมีบกพร่องประเภทหลายประเภทรวมกันเช่น บกพร่องทางการเรียนรู้ มีความบกพร่องทางพฤติกรรมอารมณ์ และออทิสติก บางคนพิการซ้อน (Multiple Handicapped) แต่ไม่ว่าจะบกพร่องอะไรไม่ใช่ปัญหาในการดูแล ทุกความบกพร่องได้รับการแก้ไขและสำเร็จ แต่จะช้าบ้างเร็วบ้างก็ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนแอลดี แต่ทุกคนที่ผ่านเข้ามาในห้องเรียนนี้ นักเรียนสามารถการพัฒนาตนเองได้ดีทุกคน

“บันทึกนี้เกิดจากการเรียนรู้จากนักเรียนที่ดูแลเป็นเพียงหนึ่งวิธี ที่ลองทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงหากคุณครูท่านอื่นมีวิธีที่ดีกว่านี้ ก็ยินดีรับคำชี้แนะนะคะ” คุณครูศิริลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

นวัตกรรมชิ้นนี้เกิดจากการเรียนรู้ ฝึกฝน ลงมือทำ โดยผ่านประสบการณ์ตรงของครู มาเป็นเวลาถึง 7 ปี ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องการันตีว่า “นวัตกรรม” นี้สามารถแก้ปัญหาให้ “นักเรียนแอลดี” เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้อีกวิธีหนึ่ง และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความทุ่มเทของ “คุณครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ” ที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อปัญหาของนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของครูไทยยุค 4.0 เลยทีเดียว

..............................................................