เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1 : ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีสำหรับเด็ก

“ครูผู้มีความมุ่งมันและเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงจากการบ่มเพาะทักษะต่างๆ ให้เด็กตั้งแต่เล็ก โดยใช้กระบวนการวิจัย การโค้ช และสร้างการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง รวมทั้งการอบรมบ่มนิสัยให้เด็กเป็นพลเมืองที่ดีจากกิจกรรมการเรียนการสอน ให้เด็กได้คิดแสวงหาความรู้ได้เอง แทนที่จะให้ปลาไปกิน ก็ให้เป็นเครื่องมือ ให้เขาไปหาเองได้ เด็กสามารถตัดสินใจได้บนพื้นฐานของเหตุผล บนสถานการณ์หรือบริบทที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลให้น้องเวฟเป็นผู้แสวงหาความรู้มีทักษะชีวิต ฝึกคิดและตั้งคำถามเป็น มีความกล้าแสดงออก มีเหตุและผล”


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

              ครูอ้อยสอนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความตระหนักในการเรียนการสอนของเด็กเล็กๆ เพราะคิดว่าเด็กช่วงวัยนี้เปลี่ยนแปลงได้และสามารถบ่มเพาะทักษะต่างๆ ได้ไม่ยาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ที่จากเดิมเราสอนวิชาภาษาไทย คณิต สังคมศาสตร์ จึงเพิ่มวิชาทักษะชีวิตเข้าไป เน้นกระบวนการ การกระตุ้นให้เด็กได้คิดและได้ตั้งคำถาม

          เราต้องเปิดใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน ในการจะใช้กระบวนการวิจัยเข้ามาทำโครงงานเล็กๆ ในโรงเรียน บางครั้งงานวิจัยมันก็เป็นเรื่องยากสำหรับเรา แต่พอเราได้ฟังได้รับกำลังใจจากผู้บริหารระบบที่เรามั่นใจกับบทบาทหน้าที่ของเรา อดทน รับฟัง ค่อยๆ ซึมซับและลองทำสะท้อนตัวเองกับสิ่งรอบข้างมันก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ความเปลี่ยนแปลง คือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงในบทบาทความเป็นครูบางคนบอกว่าครูสอนเก่งเป็นครูที่นำเสนอสื่อและอธิบายอย่างเดียว แต่ครูอ้อยเราลดตรงนั้น นวัตกรรมของเรา คือการกระตุ้นโดยการใช้กระบวนการ เปลี่ยนวิธีการเดิมๆ ของเราที่เคยมุ่งแต่กายภาพวัตถุให้เด็กอ่านเด็กท่องจำถึงจะเก่ง สิ่งที่เขาบอกมันเหมือนพลิกบทบาทวัฒนธรรมเดิมที่ครูทำเองหมดแต่เดี๋ยวนี้ต้องดึงให้เด็กทำออกมาให้ได้ ก่อนหน้านั้นคิดว่าเราจะทำอย่างไรกับกระบวนการ 10 ขั้นนี้แต่เราต้องมีเป้าหมายและมองไปข้างหน้าสิ่งที่จะได้มันคุ้มค่าก็เลยลองทำดู


กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

     พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยเสริมวิชาทักษะชีวิตเข้าไปใช้กระบวนการ กระตุ้นให้เด็กเกิดคำถามทำอย่างไรให้เด็กสงสัยเรียนรู้จากสภาพปัญหาหรือสิ่งที่อยากรู้ สิ่งรอบตัว เรียนรู้จักตัวเอง หรือมองกว้างออกไปพื้นฐานของเราต้องมีโรงเรียนครอบครัวสังคม ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องรับผิดชอบต้นไม้ นั่นคือ นักเรียนส่วนวิธีการครูเปลี่ยนตัวเองจากการสอนแบบเดิมๆเปิดใจรับสิ่งใหม่มีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาได้แนะนำวิธีการกระบวนการให้ลองทำ

     Active Learning ของครูอ้อยได้มาเพียงแค่ให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร พอลองมาดูกิจกรรมแล้วมันก็น่าจะใช่ในความเข้าใจของตัวเอง นั่นคือกระบวนการ 10 ขั้นตอนและกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมชุมนุมตามความสนใจ เด็กได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ตามความสนใจตามความชอบความถนัดของตัวเองแล้วประสบความสำเร็จกระบวนการของครูอ้อยเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้ทำ เช่น กิจกรรมของ “น้องแนน” เด็กต้องมีทักษะการเรียนรู้ก่อน แล้วถึงทำจริง แล้วนำสิ่งที่ได้จากการลงมือทำมาใช้ประโยชน์ หรือกิจกรรมที่ต้องให้เด็กไปค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งเด็กหลายคนหาข้อมูลทาง Internet แต่ครูอ้อยเกรงว่าเด็กจะนำมาส่งโดยที่ไม่ได้อ่าน จึงตั้งเงื่อนไขว่าต้องสังเคราะห์แล้วสรุปส่งครูเพียงหน้าเดียวเป็นต้น

     การทำงานวิจัยเป็นเรื่องประทับใจมากเพราะเป็นก้าวแรกของความเป็นครูก็คือ การเปลี่ยนวิธีการเดิมๆ เปลี่ยนวิธีการสอนของครู มีคำที่เราใช้คือ “ครูเลิกเป็นครูแต่ไม่ใช่ลาออก”และให้เด็กอยากเรียนรู้ขึ้นมา ตั้งประเด็นสวนกลับมาจากที่เราเคยถามเราต้องนั่งฟังเขา จากที่เราเคยบอก เขาต้องเล่าให้เราฟังว่าเขาได้อะไรมาเมื่อก่อนเราต้องทำแผนการสอนและบอกเขาไปเลยว่าเขาต้องรู้อะไรท่องจำ ซึ่งวิธีการใหม่นำมาปรับใช้กับเด็กประถม ชั้น ป. 2 ตัวเล็กๆ เราเป็นครูมาหลายปีไม่คิดว่าเด็กจะทำได้แต่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง และสะเทือนใจเรา สะเทือนวงการศึกษา โรงเรียนจึงใช้ “กระบวนการวิจัย”ใช้ให้เป็นนวัตกรรมครูอ้อยใช้วิธีการสอนแบบนี้ เป็น 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม

     ขั้นที่ 1 เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวสามารถเชื่อมโยงเป็นทักษะชีวิตได้นอกเหนือจากคณิตศาสตร์ภาษาไทยโรงเรียนนำมาเพิ่มในตารางเรียน 2 ชม.เพราะกิจกรรมต้องมีความต่อเนื่องและใช้เวลาคิด ทางโรงเรียนจึงออกแบบให้มี 2 ชั่วโมงติดกันแต่มันไม่มีตำรา ไม่มีคู่มือเราก็ต้องมานั่งคิดว่าขั้นที่ 1 ที่เขากำหนดคือ ใช้กระบวนการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ครูก็ออกแบบร่วมกับเด็กเลยโดยใช้เรื่องของตัวเองก่อนยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กจะยิ่งง่าย “ตัวฉัน ฉันคือใครฉันชื่ออะไรบ้านอยู่ไหนพ่อแม่ชื่ออะไร”มันจะออกมาเองเป็นเรื่องราวเรียนเรื่องใกล้ตัวเด็กก็จะสัมพันธ์กับครอบครัวนอกจากบ้านของเราก็ยังมีบ้านหลังอื่นๆ และมีกิจกรรมร่วมกันแม่ต้องไปช่วยงานบ้านนั้นเด็กก็จะเข้าใจว่าในชีวิตของเราไม่ได้มีแต่ตัวเองต้องมีครอบครัวเพื่อน และชุมชนครูจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการตรงที่ให้เด็กเลือกเรื่องเองจากเรื่องใกล้ตัวครูจะต้องหาทางว่าจะกระตุ้นอย่างไรสำหรับเด็กเล็กและเด็กโตซึ่งมีความแตกต่างกัน

     เด็กโตเขาอาจจะมองสถานการณ์ใหญ่ๆครูจึงคิดว่าเรื่องใกล้ตัว เช่น ตัวเอง ครอบครัวโรงเรียนอาชีพในชุมชนวัฒนธรรมประเพณีมันจะช่วยให้คิดสถานการณ์จากเล็กไปใหญ่ขึ้นมาได้มีคนเสนอว่าให้จัดหมวดหมู่ แต่ต้องจัดหมวดหมู่และให้ในกลุ่มลองไปดูว่าสถานการณ์ บริบทของเราน่าจะทำอะไรดีมีเงื่อนไขในการเรียนว่าเรื่องที่เลือกต้องทำได้มีประโยชน์และถ้าอะไรที่ง่ายรู้วิธีทำแล้วจะไม่ทำ ครูอยากให้เด็กได้คิดค้นให้เกิดความแปลกใหม่นำไปใช้ประโยชน์และบอกเพื่อนได้ว่าเราคิดได้เองดีหรือไม่ดีอย่างไรแล้วก็จะเดินแบบนี้จนถึง 10 ขั้นในปีแรก ค่อยเป็นค่อยไปครูต้องใช้ความเสียสละ เพราะเวลาที่ใช้เป็นนอกเวลาเรียนในปีแรกมาเรียนรู้เพราะไม่มีอะไรให้ศึกษาก่อนมีบอกแค่ 1) เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว2) ย้อนทวนกระบวนการพอเรียนเรื่องใกล้ตัวหมดแล้ว ทุกคนมีสิทธิ์เลือกเรื่องอย่างเรื่องของน้องเวฟถูกเลือกให้เป็นเรื่องของห้องด้วยเหตุผล คือ จะต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับส่วนรวม มีผลกระทบในวงกว้าง เพราะนักเรียนทุกคนต้องใช้ดินสอเรียนหนังสือ และนักเรียนส่วนใหญ่เคยทำดินสอหาย สะท้อนถึงความเป็นพลเมืองหรือฝึกปฏิบัติการเป็นพลเมืองดี ยอมรับกติกาที่ช่วยกันตั้งขึ้นมา

     นวัตกรรมหรืองานวิจัยที่ว่า คือ โครงงานดินสอ 1 แท่งของ “น้องเวฟ” ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 5 (พ.ศ.2556) แต่การทำโครงงานนั้นเกิดขึ้นตอนน้องเวฟเรียนอยู่ชั้น ป.2มันไม่ใช่เราสอน ชั่วโมงนี้ แล้วมันวัดได้ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาค่อยเป็นค่อยไป ครูอ้อยเปรียบเสมือนเป็น Coachที่คอยแนะนำเขาเล่าในสิ่งที่ตัวเองทำ ยิ่งมีนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาดูเขา เพราะทุกๆ สิ้นปีการศึกษาเด็กต้องนำเสนอผลงานของตัวเอง เช่น นิทรรศการ เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้แก่ ผู้ปกครองเพื่อนที่มาจากห้องอื่นคุณครูโรงเรียนอื่นผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ กลุ่มพลังไทยมูลนิธิสยามกัมมาจลเครือข่ายของ สกว.

     ขั้นตอนช่วงแรกเป็นขั้นที่ใช้เวลานานมาก ครูอ้อยลองผิดลองถูกปีที่ 1 เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก คือ เด็กตั้งคำถามได้ดีคำถามว่าอะไร ทำไม อย่างไร ตัวคำถาม Wh- ทั้งหลายและคำถามเหล่านี้เหมือนเป็นคำถามในการวิจัย เช่น“แล้วหาสาเหตุการหายได้อย่างไร” “จะไม่ให้หายอย่างไร” “เกิดผลอะไร” “เกิดประโยชน์อย่างไร” ให้เด็กจินตนาการ ตัวอย่างคือ โจทย์เรื่องของดินสอเขาก็แต่งนิยายออกมาได้ว่า “ดินสอมันมีชีวิตมันถูกทิ้งอยู่ในห้อง ทำไมเจ้าของไม่เอามันกลับไป มันเสียใจนะ....” เด็กก็สามารถเล่าออกมาเป็นเรื่องราวได้ คุณครูมองว่าเทคนิคการสอนจะขึ้นกับวัย บริบท ช่วงชั้นด้วย ถ้าเรื่องที่มันลึกเกินเราก็ปรับให้เป็นเรื่องที่มันเห็นชัด อย่างเรื่องดินสอเขาก็ทำให้มีชีวิตได้เหมือนกัน“มันโดนทอดทิ้ง ถ้าเจ้าของไม่เอาไป เดี๋ยวมันจะนอนเหงาอยู่ในห้อง ความมืดเข้าครอบงำ โดนทิ้งอยู่ ในขณะที่เพื่อนได้กลับมา แล้วกลับมาใหม่พร้อมกับเจ้าของแต่ฉันนั้นเจ้าของไม่รักเลย ฉันโดนทิ้งตลอด.....”มันคือจินตนาการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สอนวิธีคิดให้เด็กได้ด้วย ครูจะไม่สอนโดยใช้หนังสือแต่เราต้องคิดว่าเด็กชั้นป.2 เราต้องการให้เขารู้จักอะไรบ้าง เช่นรู้จักคำคำมาจากภาพเอาคำมาผสมกว่าจะเป็นประโยคถ้าเด็กรู้จักส่วนประกอบของคำทั้งหมดรู้จักการอ่านรู้ความหมายและนำไปใช้เด็กจะอ่านหนังสือได้แตกฉาน

     เด็กได้ทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม การคิด ความกล้าแสดงออกโดยที่ครูไม่ต้องไปเน้นย้ำว่าคำถามที่ดีต้องเป็นอย่างไร ผลพลอยได้ คือ เด็ก ชั้นป.2 จะได้ภาษาไทยที่ยากขึ้น เช่น เทคนิคการตั้งคำถามปลายเปิด ทำไม อย่างไร(ความสามารถทางวิชาการด้านภาษาไทย) เช่น ทำอย่างไรไม่ให้ดินสอหายอีก ถ้าไม่ดินสอหายแล้วจะเกิดประโยชน์แก่ตัวเอง แก่ผู้อื่นอย่างไร

     ครูตั้งโจทย์หาสาเหตุของการหาย แล้วให้เด็กคิดหาสาเหตุ กล่าวคือ ต้องแก้ที่พฤติกรรมของนักเรียน ตั้งวัตถุประสงค์เพื่อแก้สาเหตุของปัญหา เช่น แก้ที่นิสัย อย่าให้มันตก อย่าให้มันหล่น จะต้องทำอย่างไร เป็นต้นถ้าเราอยากรู้สาเหตุเราต้องตั้งคำถามอย่างไรน้องเวฟออกแบบว่าต้องเขียนชื่อติด หล่นแล้วเก็บ ตรวจสอบทุกครั้ง มันก็ไม่หายจริงๆ หลังจากนั้น ครูกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยการอธิบายต่อว่าดินสอที่เราเขียนนั้น เราต้องรู้ส่วนประกอบของมัน เพื่อจะได้ไปค้นหาเทคนิคกระบวนการเด็กจะไปค้นหาข้อมูลมาจากหนังสือเมื่อนำเสนอ น้องเวฟนำเสนอว่าส่วนประกอบของดินสอมี ไม้ กราไฟท์ และแร่เหล็กซึ่งน้องเวฟหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตจากพี่สาวค้นหาข้อมูลให้

     บางครั้งลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กเกิดจากการสร้างสถานการณ์การเรียนร็จากครูอ้อย ตัวอย่างเช่น เมื่อเปิดเทอมใหม่ จะมีห้องใหม่และการจัดที่นั่งใหม่ ใครมาก่อนก็สามารถเลือกที่นั่งก่อนได้ เด็กตัวสูงใหญ่ก็นั่งหน้า ส่วนเด็กที่ตัวเล็กกว่านั่งหลัง สถานการณ์นี้นำมาให้ครูจัดกระบวนการกลุ่ม ทำอย่างไรให้เด็กปรับเปลี่ยนที่นั่งกันใหม่โดยเขาจัดการกันเองตามสถานการณ์การเรียนการสอนที่เหมาะสม เพราะบางวิชาอาจนั่งพื้น หรือเปลี่ยนมุมสอน ซึ่งสถานการณ์จะเริ่มต้นจากการพูดคุยตั้งคำถามกับเด็กนักเรียน“ลูกตัวโต ลูกนั่งหน้าแล้วรู้สึกอย่างไร”“ก็เห็นใจเพื่อนนะคนข้างหลังเขาจะมองไม่เห็น” “ลูกลองไปยืนข้างหลังดูนะมองเห็นไหม” “ก็เห็นถ้าอย่างนั้นผมไปนั่งข้างหลังก็ได้ให้เพื่อนที่ตัวเล็กเขามานั่งหน้าบ้าง” “แล้วถ้าตัวโตอยากนั่งหน้าบ้างล่ะคุณครูจะทำอย่างไร” “เราก็ช่วยกันออกแบบสิ ให้แถวนั้นตัวโตทั้งหมดเลยดีไหม แถวกลางก็ตัวเล็กทั้งหมด มันก็ไม่บังกันใช่ไหม”

     ให้เขาช่วยกันออกแบบ ความขัดแย้งจะไม่มีเพราะเขาได้คิดร่วมกัน เมื่อเข้าระบบกลุ่มจะช่วยในเรื่องการแบ่งปันไปในตัว เด็กได้ฝึกเรื่องการแบ่งปัน ช่วยเหลือกันและกันระหว่างทำงานกลุ่ม : การทำงานเป็นทีม หรือการแบ่งกลุ่มทำงานหรือกิจกรรมแบบสุ่ม ถ้าบางคนกลุ่มไม่มีคนลายมือสวย หรือบางกลุ่มไม่มีคนพูดเก่งเลย ครูจะให้เด็กแบ่งกันเอง เขาจะเกิดความรู้สึกแบ่งปัน “คนเขียนสวยไปอยู่กลุ่มเธอบ้างและจะได้มีคนเขียนทุกกลุ่ม คนนำเสนอทุกกลุ่ม”พอถึงเวลานำเสนอจะแย่งกันออกมานำเสนอสลับบทบาทกันเองภายในกลุ่มบ้าง ฝึกฝนกันไป ต้องใช้เวลาที่จะลองผิดลองถูก ครูต้องให้พื้นที่ให้เวทีให้เวลาต้องรอคอยเด็ก จึงต้องใช้ความอดทนบางกิจกรรมเด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการสังเกตของเขาเอง เช่น เด็กเห็นดอกไม้จากการเหลาดินสอ ฝึกฝน ทดลองทำไปเรื่อยๆ เกิดเป็นผลงาน เกิดความภาคภูมิใจและอยากบอกเล่า ทำให้เด็กกล้าแสดงออกสามารถบอกเล่ากระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้

     ในการเรียนการวิจัย 10 ขั้นตอน เด็กทุกคนจะแบ่งหน้าที่กัน เช่น การสืบค้นหาข้อมูลก็จะแบ่งกันว่าคนนี้หาจาก Internet คนนี้ถามจากผู้ปกครอง และทุกคนต้องมานำเสนอสรุปเป็นความรู้รวมของห้องแหล่งข้อมูลก็จะมาจากหลายๆ ช่องทาง สะท้อนถึงความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย

     กิจกรรมนอกโรงเรียน ได้มาจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูกับนักเรียนออกไปสู่เรื่อง “ว่าวควาย” ภูมิปัญญาชาวบ้าน แม้จะไม่เห็นส่วนร่วมมากมายแต่เราก็ได้ออกชุมชน เราสามารถโฟกัสสิ่งเดียว แต่สิ่งนั้นต้องพาไปสู่กระบวนการได้โดยที่เด็กไม่ต้องทำว่าวควายให้เป็น เพราะโจทย์ของครูอ้อย คือ “มีส่วนร่วม” ได้พาเด็กสู่ชุมชน เห็นบรรยากาศอื่นๆ นอกจากในโรงเรียน แล้วนำเอามาสู่วิชาคณิตศาสตร์ได้ด้วย กล่าวคือ ทำว่าวเป็นสี่เหลี่ยม-สามเหลี่ยมเปียกปูน ตกแต่งว่าว(เป็นวิชาศิลปะ) เด็กจะเกิดทักษะจากกระบวนการนำไปสู่ทักษะชีวิต มีสุนทรียภาพ มีความอ่อนโยน

     วิธีการของครูอ้อย คือ เปลี่ยนวิธีการสอนคือ สอนตามสถานการณ์ตามชีวิตตามบริบทตามปัญหาที่เกิดขึ้น และใช้กระบวนการให้เกิดวิชาที่อยากให้เรียนรู้ เพราะโรงเรียนอนุบาลสตูลไม่มีแผนการสอน(ซึ่งสามารถหาซื้อได้)วิชาที่เติมเข้ามาที่เป็นมาตรฐานสากลเหมือนวิชาในศตวรรษที่ 21 เป็นทักษะชีวิตใช้กระบวนการจากสิ่งใกล้ตัวว่าสนใจอยากเรียนอะไรเป็นการตั้งคำถามหาวิธีการหาข้อมูล มาสังเคราะห์วิเคราะห์เอามาปฏิบัติใช้จริง และสรุปเป็นรายงาน

     ทักษะที่เด็กได้รับนั้น จะได้จากกระบวนการของระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาดินสอหายหายบ่อย ซึ่งเป็นปัญหาเล็กๆ แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กนักเรียนทุกคน และถือว่าดินสอเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนของเด็กๆ กระบวนการวิจัยทำให้เด็กได้รู้จักคิดวิเคราะห์ ค้นหาสาเหตุ ตั้งข้อสงสัย และฝึกการตั้งคำถามและการคิดอย่างเป็นขั้นตอน ลักษณะที่สะท้อนออกมาจากเด็กนักเรียน คือ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีเป้าหมาย พยายามหาคำตอบ กระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้จากการตั้งคำถาม มีเหตุมีผลเพราะต้องฝึกหาเหตุที่มาและผลที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการยอมรับผู้อื่น ยอมรับกติกาของห้องเรียน โรงเรียน ในการลงความเห็นว่าจะเลือกงานวิจัยเรื่องอะไรมานำเสนอในระดับโรงเรียน

     ความสัมพันธ์กับชุมชนนั้น ครูอ้อยจะให้เด็กเขียนเรื่องของตัวเองเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวเด็กทุกคน เขาสามารถเขียนได้เอง ใจความหลักเป็นบทบาทหน้าที่ของตนเองและคนในครอบครัวตามความคิดของเด็กเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยรู้บทบาทหน้าที่ พ่อแม่ทำอะไร สายสัมพันธ์เครือญาติ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เด็กจะเข้าไปในชุมชนได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเด็กยังไม่เข้าใจคำว่า “ชุมชน” พอเราไปสื่อในกิจกรรม เขาจะไม่เข้าใจถ้าเด็กเข้าใจมาก่อนว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว มีครอบครัว เครือญาติ ในชุมชน และต้องมาโรงเรียนแล้วเด็กจะคิดต่อไปเองว่าชีวิตเราต้องมีอะไรบ้าง เรียนรู้จักปัจจัยในการดำรงชีวิต บทบาทหน้าที่ เป้าหมายในชีวิต(เรื่องใกล้ตัว)

เมื่อเด็กรู้จักตนเอง รู้จักชุมชน รู้จักปัจจัยต่างๆ ในชีวิต เด็กจะรู้ว่าเขาสนใจเรื่องอะไรและครูจะไม่คาดคั้นเอาคำตอบจากเด็ก ครูต้องฟัง ต้องอดรอ เราต้องได้ใจเขามาก่อน ต้องให้เด็กเห็นว่าเราเป็นมิตรแล้วเด็กจะบอกทุกอย่างกับเราเอง ครูจะมีแฟ้มประวัติทุกคนสามารถจำชื่อเด็กได้สร้างความเป็นกันเองจะทำให้เด็กกล้าแสดงออก กล้านำเสนอ กล้าซักถามและเราต้องเปิดโอกาสให้เขาเลือกเรื่องที่เขาสนใจครูยอมรับว่าเด็กเล็กๆ สามารถทำได้จริงแต่ต้องให้เวลาและครูเชื่อมั่นว่าเด็กสามารถทำได้

สิ่งเหล่านี้ ยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของครูด้วย ได้แก่ รักและเข้าใจเด็ก สามารถดึงศักยภาพของเด็กออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ มีความอดทนตั้งแต่ขั้นตอนแรก มีความเสียสละเวลาหลังเลิกเรียน และสร้างการมีส่วนร่วม ให้เด็กได้ลงมือทำเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นโค้ชที่คอยแนะแนวทาง บูรณาการการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และสามารถพาเด็กแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนได้ สร้างบรรยากาศในการเรียนที่สามารถสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชนได้


ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

     การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ยกตัวอย่าง “น้องเวฟ ศตวรรษ” ครูเห็นความกล้าของเด็กเล็ก อย่างชั้น ป.2 ที่จะมาเล่าในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะครูสร้างความมั่นใจผ่านการกอด การส่งสายตาและคำพูดน้องเวฟเป็นคนกล้าแสดงออก นำเสนอเก่งมีพรสวรรค์ในการพูดครูก็ให้เขาแสดงออกตรงนั้น และเรื่องที่น้องเวฟนำเสนอทำเป็นโครงงานนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว เด็กบางคนลายมือสวยเด็กบางคนวาดรูปเก่งเด็กบางคนคิดวิธีการตั้งคำถามที่เกิดประโยชน์กับเพื่อนเวลาอยู่ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

     น้องเวฟนำเสนอบนเวทีต่อหน้าผู้คน จำนวน 500-600 คนสามารถพูดโดยไม่ต้องอ่าน วิธีการคือให้เขาเล่าจากสิ่งที่ทำตั้งแต่ต้นเขาก็สามารถนำเสนอได้ดี เขาได้เจอปัญหาจริงแก้ปัญหาจริงและนำผลการเรียนรู้มาบอกต่อคนอื่นได้ครูกับนักเรียนเรียนรู้ไปด้วยกัน นับว่าเป็นการศึกษาเด็กรายคนโดยใช้กระบวนการตั้งคำถามความไว้วางใจรวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้นครูต้องเป็น “โค้ช” คอยออกแบบเครื่องมือให้เด็กอย่างมีขั้นตอน ต่อไปจะทำให้เขามีขั้นตอนในการออกแบบชีวิตของตนเอง ค้นหาความต้องการของตนเองได้ ทำให้เด็กที่ถูกบ่มเพาะผ่านกระบวนการเหล่านี้ มีทักษะเรียนรู้ที่ดี มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจ รู้เท่าทันต่อปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน


สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

     การที่ตัวเองเปิด ไม่ปิดกับกรอบวัฒนธรรมการสอนแบบเดิมๆ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนจาก “ครูคอยบอกความรู้เปลี่ยนเป็นเด็กที่ต้องแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองให้ได้ เพราะมันจะติดตัวเด็กไปตลอด” เด็กจะค้นหาและเติมเข้ามาเรื่อยๆ เปรียบเทียบก็คือแทนที่จะให้ปลาไปกิน ก็ให้เป็นเครื่องมือ ให้เขาไปหาเองได้ เด็กสามารถตัดสินใจได้บนพื้นฐานของเหตุผล บนสถานการณ์หรือบริบทที่เปลี่ยนไปได้ ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วจบ ต้องเรียนแล้วติดตัวเขาไป

     สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผลที่เด็กจะได้รับ ไม่มีใครยิ่งใหญ่เท่าอาชีพของครูที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมายปัจจุบันมีวิชาใหม่ๆ เช่น วิชาชีวิต วิชารัก ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในโครงสร้างหลักสูตร แต่เราจำเป็นต้องรู้เท่าทัน เพราะทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนต้องพบเจอ