เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นของครู

แม้ว่าเด็กไทยสมัยใหม่จะมีความสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วแต่พวกเขาขาดจิตนาการและทักษะกระบวนการในสร้างความรู้ด้วยตนเองพวกเขาจึงมีความสามารถเพียงระดับเลียนแบบหรือก๊อปปี้เท่านั้น หากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้สังคมไทยคงกลายเป็นสังคมไร้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่อาจผลิตผลงานแปลกใหม่ ไม่ต้องมาพูดถึงการแข่งขันและในขณะเดียวกันสังคมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญทางวัตถุ โดยละเลยการบ่มเพาะด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่เด็กทั้งในทางตรงและทางอ้อมเด็กส่วนมากชอบเสพสื่อที่ไม่สร้างสรรค์และนำไปสู่การเลียนแบบซึ่งเป็นผลมาจากเด็กคิดไม่เป็น จนสร้างปัญหาให้ทั้งตนเองและสังคม นอกจากเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ปกครองแล้ว ครูเองก็มีหน้าที่ขัดเกลาและอบรมให้เด็กๆ เจริญทางปัญญา มีนิสัยดี มีคุณธรรมจริยธรรม และมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ในสังคมอนาคต

ดิฉัน เป็นครูวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์สอน 8 ปี ได้พบว่าสิ่งสำคัญที่ครูต้องพัฒนาคือทัศนคติ และวิธีการสอน ครูต้องทำอย่างไรให้เข้าถึงเข้าใจผู้เรียน และประพฤติตนอย่างไรให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พวกเขา สำหรับสิ่งแรกที่ควรพัฒนาผู้เรียน คือ ด้านระเบียบวินัยและคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา นำไปสู่การเรียนรู้ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นของพวกเขาอย่างมั่นคงและยั่งยืนกว่าการป้อนแต่ความรู้และทฤษฎี


กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

เมื่อทางโรงเรียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาครูต้องสอนเด็ก ม.2/2 ด้วยกระบวนการสอนแบบโครงงานฐานวิจัย จึงทำให้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปพร้อมกับเด็ก ครูเองจึงปรับตนเองให้มีทัศนคติที่ดี ขยัน อดทน มีวินัย ตรงต่อเวลา และเชื่อมั่นในตนเอง มากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน ครูเชื่อมั่นว่าพวกเขาพร้อมรับการพัฒนาและนำพวกเขาไปสู่การเรียนรู้ด้วยการ ฝึกให้พวกเขาได้คิดฝึกหาความรู้จากชุมชนและสิ่งรอบตัวที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมองข้าม

การสอนจึงเริ่มจากการทำให้เด็กเชื่อในตัวครู โดยการเป็นเพื่อนกับนักเรียนทั้งห้อง บนสื่อออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊คและกลุ่มไลน์ ชวนพวกเขาคุย ตอบกระทู้ ทำให้ครูได้สัมผัสความจริงในสิ่งที่พวกเขาเป็นและเข้าใจเมื่อเด็กกล้าพูดกับครูก็แสดงว่าเขาไว้ใจครูหลังจากนั้นเขากล้าปรึกษาครู เมื่อสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเขาเปลี่ยนไป ครูจะคอยถามเขาเสมอว่ามีปัญหาอะไรบ้าง พร้อมทั้งจับมือหรือลูบศีรษะเบาๆ แสดงความรักและปรารถนาดี พร้อมทั้งเสนอทางให้เลือกเพื่อให้เขาคิดต่อว่าแก้มันได้อย่างไร จนเขาผ่านมันไปได้ และเมื่อเด็กทำดีเราต้องกล่าวยกย่องชื่นชม ทุกคนชอบคำชม แต่เมื่อทำผิดก็ตักเตือนด้วยความเมตตา เขาจะไม่โกรธในการละลายพฤติกรรมเสริมสร้างระเบียบวินัยครูใช้เกม “เรามารู้จักตนเองกันเถอะ”ให้พวกเขาเรียนรู้การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ยอมรับในเพื่อน พัฒนาในจุดที่ควรปรับปรุง การพิจารณาตนเอง การวางเป้าหมายในสิ่งที่ต้องการปรับปรุงตนเอง พบว่าพวกเขารู้ข้อดีและข้อเสียของตน และอยากเปลี่ยนตนเองให้ดีขึ้นจากบันทึกที่เขาเขียนส่งมาเกม “เป็ดรักษาพื้นที่”เพื่อฝึกการวางแผน การทำงานเป็นทีม ความสามัคคี ส่วนการฝึกระเบียบแถวนักเรียนก็ให้ฝึกในขณะเคารพธงชาติทุกวันตอนเช้า ครูจะคอยดูแล และบางครั้งแอบดูห่างๆก็พบว่าเขาสามารถเข้าแถวเป็นระเบียบเองได้ในวิชาหน้าที่พลเมือง ครูก็จะให้เขาระดมความคิดว่าเขามีหน้าที่อะไรบ้างที่ต้องทำ ให้ออกมาหน้าชั้นเรียนเพื่อบอกเล่าถึงหน้าที่ที่เข้าต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว เด็กๆที่ไม่เคยช่วยทำงานก็จะพยายามลดการเล่นเกมไปช่วยพ่อแม่ทำงานมากขึ้น

  • การฝึกมีสติ อยู่กับความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐานสำคัญในการฝึกจิตครูได้ให้เด็กๆ ทุกคนฝึกนั่งสมาธิอย่างง่ายโดยการหลับตาสงบนิ่งสักครู่ ทุกครั้งก่อนทำกิจกรรม เป็นการเปิดประตูสู่การเรียนรู้ในขั้นต่อไป
  • การฝึกการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความรู้ ครูได้ใช้การดูคลิป หรือวิดิโอในการฝึกคิดวิเคราะห์ โดยครูป้อนคำถามให้เด็กแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใช้เหตุผลในการอธิบาย รวมไปถึงการฝึกยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น การฝึกซ้ำๆ หลายครั้งจนกลายเป็นนิสัย
  • การฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต การบันทึก การเก็บข้อมูล การทำงานเป็นทีมการมีจิตสาธารณะ และการตระหนักถึงคุณค่าของชุมชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำโครงงานจากปัญหาชุมชน ครูฝึกเด็กด้วยการพาลงพื้นที่ชุมชนใกล้โรงเรียน ฝึกพวกเขาให้รู้จักสังเกต สัมภาษณ์ สอบถามคนในท้องถิ่น เพื่อหาข้อมูลที่สนใจ หรือเน้นที่เป็นปัญหา ฝึกให้เด็กๆ นำมาข้อมูลทั้งหมดมาเขียนเป็นแผนที่ชุมชนและฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ตารางวิเคราะห์ ผังเหตุผล ผังก้างปลา เป็นต้น ในการวิเคราะห์จุดที่สนใจโดยใช้กระบวนการกลุ่ม
  • การสืบค้นข้อมูลเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ครูฝึกให้นักเรียนหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการตั้งคำถาม ฝึกให้พวกเขาสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตด้วยคำสำคัญ และสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต
  • การคิดอย่างเป็นระบบของนักเรียนจะเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเขามีการคิดเชิงเหตุผลก่อนครูฝึกให้พวกเขามองปัญหาชุมชนที่สนใจโดยฝึกวิเคราะห์ด้วยผังก้างปลา เพื่อนำไปสู่การได้หัวข้อโครงงานที่เหมาะสม
  • การฝึกวางแผนงาน ทำงานอย่างเป็นระบบ ความมีวินัย ความอดทน สามัคคี ความรับผิดชอบเป็นพื้นฐานของการจัดการ ครูได้ฝึกผ่านการทำงานในแต่ละขั้นตอนของการทำโครงงาน ตั้งแต่การเลือกหัวข้อโครงงาน กำหนดวัตถุประสงค์ การกำหนดตัวแปร การวางแผนขั้นตอนการดำเนินงาน เตรียมอุปกรณ์และสารเคมี การลงพื้นที่ปฏิบัติงานตามแผนการดำเนินงาน การบันทึกผลลงในตารางบันทึกผล การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการดำเนินงาน
  • การฝึกให้นักเรียนกล้าแสดงออกเป็นปัจจัยสำคัญต่อการคิดสร้างสรรค์และการนำเสนอ ครูได้ฝึกให้นักเรียนทุกคนนำความรู้ที่สืบค้น มานำเสนอหน้าชั้นเรียนในรูปแบบต่างๆ เช่น แผนที่ โปสเตอร์ ภาพวาด และ power pointครูฝึกพวกเขาเกือบทุกครั้งที่สอนโครงงาน จนเด็กกล้านำเสนอ ก่อนนำไปขึ้นเวทีนอกโรงเรียนที่ทางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจัดให้
  • การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมต้องทำซ้ำๆ ในโอกาสที่เหมาะสม ครูได้อาศัยโอกาสในทุกขั้นตอนของการทำโครงงานฐานวิจัย ในการสอดแทรกในทุกขั้นตอนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาดในห้องเรียน รับผิดชอบต่อส่วนรวม ครูปลูกฝังให้เก็บขยะ และจัดโต๊ะเก้าอี้ ก่อนออกจากห้องทุกครั้ง การแบ่งเวรประจำวันในการดูแลรักษาห้องเรียน และเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบทุกเช้า การฝึกให้พูดคำว่า ขอบคุณ ขอโทษ และไม่เป็นไร เพื่อให้มีเมตตาต่อกัน ฝึกการมองโลกในแง่ดี คิดเชิงบวกจากการพิจารณาคลิป หรือวิดิโอ ฝึกการกล่าวถึงตนเองและเพื่อนเชิงบวก ฝึกการชื่นชมครูและพ่อแม่ เพื่อให้เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น

การสอนโครงงานฐานวิจัย เป็นการโค้ชและฝึกทักษะต่างๆ ให้เด็กๆ ซึบซับไปโดยไม่รู้ตัว ผ่านการทำโครงงานด้วยตนเอง ครูได้เห็นการพัฒนาเด็กทุกคน ในทุกช่วงการเรียนรู้ซึ่งกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เช่น การปรับตัวเข้ากับเพื่อน เข้าใจเจตนาที่ดีของพ่อแม่ และของครู เชื่อฟังครูมากขึ้นจากที่เคยดื้อ รู้จักยืดหยุ่นประนีประนอมต่อกัน ทะเลาะกันน้อยลงจนแทบไม่มีเลย มีน้ำใจมากขึ้นโดยไม่ต้องร้องขอ มีจิตสาธารณะ รักความสะอาด รู้จักตนเอง และวางเป้าหมายของชีวิตชัดเจนขึ้น


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและสิ่งที่ครูได้เรียนรู้

ตัวอย่างนักเรียนคนหนึ่ง เด็กหญิงณัฐวดี จุลิวรรณลีย์ ซึ่งมีปัญหาการเรียน พฤติกรรมขี้เกียจ พูดโกหก เอาตัวรอด มีผลการเรียนเฉลี่ยทุกวิชาลดลงจาก 2.15 เป็น 1.70มีผลการเรียน 0 ในหลายวิชาเกือบต้องซ้ำชั้น เนื่องจากมีปัญหาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ ได้สะท้อนคิดออกมาจากกิจกรรมพิจารณาตนเองว่า “สิ่งที่หนูอยากปรับปรุงตนเองคือ หนูจะไม่พูดโกหก ไม่ทำให้แม่เสียใจอีก ที่ผ่านมาแม่ต้องร้องไห้เพราะหนูหลายครั้ง หนูจะเชื่อฟังคุณครู ตั้งใจเรียน ทำให้แม่ภูมิใจ ไม่เป็นแบบเดิมอีกแล้ว” ในภาคเรียนที่ผ่านมาแม้เขาจะมีผลการเรียนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือ จาก 1.70 เป็น1.80 แต่ก็สังเกตเห็นถึงแววตาที่ต้องการโอกาสพัฒนา ครูจึงต้องให้โอกาสและรอดูพฤติกรรมเขาต่อไปในภาคเรียนนี้ แม้จะพบว่ามีนักเรียนบางส่วนที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญเมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างภาคเรียนที่ 1 และ 2 พบว่าภาคเรียนที่ 2 นักเรียนส่วนมาก มีผลการเรียนเฉลี่ยทุกวิชาสูงขึ้น 30 คน จาก 39 คน คิดเป็นร้อยละ 76.92 จากการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านของเด็กผู้ซึ่งได้รับการสอนจากครูหนึ่งปีการศึกษาได้ทำให้ครูมั่นใจว่า กระบวนการสอนแบบโครงงานฐานวิจัยนี้สามารถพัฒนาผู้เรียน