เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

เรื่อง:จากความไม่ใส่ใจสู่ความตั้งใจแบบคงทน

เรื่องราวของเด็กชายธีรทรัพย์อ่อนวาจานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่2ที่ได้รับการคัดกรองจากคุณครูและการตรวจรับรองจากแพทย์ว่าเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาประกอบกับทางโรงเรียนได้จัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเรียนร่วมโดยให้เรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์ภาษาไทยภาษาอังกฤษกับพี่เลี้ยงเด็กพิการซึ่งมีผลทำให้เด็กเรียนร่วมและเด็กชายธีรทรัพย์เข้าใจว่าตนเองเป็นเด็กพิเศษและจะได้รับการยกเว้นในการทำใบงานการบ้านอ่านหนังสือและกิจกรรมอื่นๆที่นักเรียนปกติต้องทำเมื่อกลับสู่ห้องเรียนปกติทำให้เขามีพฤติกรรมที่แตกต่างจากเพื่อน ในขณะที่เพื่อนอ่านหนังสือเขากลับก่อกวนด้วยการชวนเพื่อนบางคนเล่น นอนฟุบกับโต๊ะไม่สนใจเรียนไม่มีสมาธิในการเรียนเรียกร้องความสนใจและการยอมรับจากครูโดยการแกล้งเพื่อนมาโรงเรียนสายเป็นประจำและขาดเรียนบ่อยครูผู้สอนต้องไปตามให้มาเรียนบ่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาต่อครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ครูต้องทิ้งห้องเรียน จากพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้ข้าพเจ้าเกิดความท้อแท้ และเบื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว

จนกระทั่งเมื่อคณะครูทั้งโรงเรียน ได้ไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ตามโครงการ“เสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียนในระยะที่ 2”ของมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษาร่วมกับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาซึ่งข้าพเจ้าได้เห็นและเรียนรู้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของที่นี่ คือใช้กระบานการจิตศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาภายในของเด็ก และใช้การสอนแบบบูรณาการ 5 วิชา ที่เน้นทักษะการปฏิบัติซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้PBL(ProblembasedLearning )และรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้PLC (Professional Learning Community )เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูในโรงเรียน

ทัศนคติและวิธีการจัดการเรียนรู้ของข้าพเจ้าก็เปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดอย่างแรกคือการเปลี่ยนแปลงของครูตามหลักจิตศึกษาที่กล่อมเกลาครูก่อนใครอื่นจากการที่เคยเอาแต่ดุว่าทำโทษโดยการตีเก็บขยะฯลฯทุกวิถีทางที่จะทำให้เขากลัว ก็เปลี่ยนไปพูดจาไพเราะมากขึ้นอดทนอดกลั้นต่อพฤติกรรมไม่ดีของเขาแล้วหันมาทำความเข้าใจกับเขาจริงถามในสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ให้สิ่งที่เคยเขาต้องการด้วยการถามพูดคุยประกอบกับการใช้กิจกรรมจิตศึกษาโดยใช้เวลาประมาณ20นาทีในช่วงเช้าของทุกวันเช่น กิจกรรมไม้ไอศกรีมแปลงร่างจิ๊กซอว์ต่อภาพเกมทายใจ ฯลฯก่อนที่จะเรียนรู้ใน3วิชาหลัก แรกๆสายตาของเขาบ่งบอกได้เลยว่าครูเขาจะมาไม้ไหนจะทำอะไรอีกนะเต็มอยู่ในดวงตาแต่ด้วยความใกล้ชิดที่มีให้การใช้จิตวิทยาเชิงบวกทำให้เขาได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามวิถีซึ่งครูสามารถใช้กับเขาได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งการเล่นของเขาจากเดิมที่เราปล่อยเขาเล่นตามแบบของเขาแต่เมื่อเราได้ใกล้ชิดมากขึ้นได้เล่นกับเขามากขึ้นเป็นการสร้างจิตวิทยาเชิงบวกอยู่ตลอดเวลาว่าตอนนี้ครูของเขาเปลี่ยนไปเขาเองก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงการทำBody Scan ก่อนเรียนในภาคบ่าย ใช้เวลาประมาณ15นาทีเพื่อการผ่อนคลายแบบลึกและบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามโดยใช้นิทาน ส่งเสริมคุณธรรม สอดแทรกจินตนาการ และตามด้วยกิจกรรม Brain Gym เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเรียนในภาคบ่ายในส่วนของการจัดการเรียนการสอนเดิมข้าพเจ้าจัดกิจกรรมแบบครูเป็นผู้บอกความรู้ โดยการเปิดหนังสือสอนซึ่งเด็กชายธีรทรัพย์ อ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่สนใจกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนแต่เมื่อนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบPBL( ProblembasedLearning )เน้นทักษะการปฏิบัติซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้จึงสามารถดึงดูดความสนใจให้เด็กชายธีรทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียนมากขึ้น

จากการปรับเปลี่ยนในการจัดกิจกรรมใส่จิตวิทยาเชิงบวกให้เขาเห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้นก็ทำให้เขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้นจริงๆ จากคนที่ไม่เคยใส่ใจคนอื่นก็หันมาสนใจผู้อื่นและร่วมกิจกรรมของห้องเรียนมากขึ้นสมีสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆได้นานขึ้นมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนและครูเห็นใจครูโดยกล่าวเตือนเพื่อนที่ยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในขณะร่วมกิจกรรมส่งผลถึงพฤติกรรมการทำงานของธีรทรัพย์ซึ่งเดิมไม่เคยทำงานใดๆไม่ใส่ใจสิ่งใดๆไม่เคยซักถาม กลับเป็นคนที่ตั้งใจทำงานกล้าพูด กล้าเข้าหาและไว้วางใจครูเริ่มมีสมาธิในการทำงานจนกระทั่งประสบความสำเร็จออกมาได้พอได้รับความชื่นชมจากครูได้รับการยอมรับจากเพื่อนมากขึ้นประกอบกับโรงเรียนของเราได้ยกเลิกการแบ่งแยกเด็กพิเศษออกจากห้องเรียนทำให้เขาได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ไปพร้อมๆกับเพื่อนเห็นคุณค่าในตัวเอง มีความสุขในการอยู่ร่วมกับเพื่อนสังเกตได้ฯ็จากแววตาของเขาตอนนี้เหมือนไม่มีอะไรเป็นปัญหาอีกแล้วนอกจากแววตาของความสุข มีรอยยิ้ม เมื่อเขาได้ทำงานร่วมกับเพื่อนแววตาแห่งความภูมิใจเมื่อได้เห็นครูรับชิ้นงานของเขาและปลื้มใจเมื่อได้คำชื่นชมเชิงบวกจากครูและเพื่อนๆของเขา

จากความไม่ใส่ใจที่ครูไม่เคยสนใจด้วยความที่เขาถูกขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กพิเศษเมื่อข้าพเจ้าได้เรียนรู้และทำกิจกรรมจิตศึกษา จัดการเรียนการสอนแบบ PBL และ จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในวงPLC(Professional Learning Community )ส่งผลให้ข้าพเจ้าได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมโดยให้ความเสมอภาคกับเด็ก ไม่เปรียบเทียบ ไม่ตีค่า เข้าใจและเห็นใจเด็กมากขึ้น ใจเย็นมากขึ้น มีความอดทน อดกลั้นและรู้จักรอคอย และปฏิบัติจนเป็นวิถีของทุกคนในโรงเรียน