เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

เข้า…ใจ

จากที่ได้เป็นครูประจำชั้น ป.6 เป็นเวลา 1 ปีการศึกษาพบว่านักเรียนแต่ละคนล้วนต่างมีการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในที่แตกต่างกัน ด้วยพื้นฐานทางครอบครัวที่แตกต่างกัน สิ่งแวดล้อมที่บ้านและความแตกต่างด้านอื่นๆส่งผลโดยทางตรงและทางอ้อมสิ่งได้จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคนที่แสดงออกในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน การสอบถามจากคนรอบข้าง เช่น ผู้ปกครอง และเพื่อนๆร่วมชั้นเรียนช่วยให้ครูได้เข้าใจความเป็นมาของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งมีส่วนสำคัญมากต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆในชั้นเรียน การเกิดปัญหาเล็กน้อยบางอย่าง (สำหรับความรู้สึกครูในขณะนั้น)ล้วนมีผลต่อความรู้สึกและบรรยากาศในชั้นเรียนได้เสมอ (เพราะทุกคนล้วนมีหัวใจและความรู้สึกสัมผัสได้) ดังนั้นแม้เรื่องการไม่เข้าใจกันระหว่างเพื่อน ความขุ่นเคืองใจ ความคิดไม่ตรงกัน การรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม ที่คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือจัดการ นานวันจะยิ่งทับถมจนสะสม ยากที่จะเข้าถึงเด็กๆได้ ส่วนการจัดการปัญหาแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นก็มีหลากหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางเรื่องต้องจัดการทันที เช่นการละเมิดสิทธิ์ การใช้คำพูดหรือการแสดงออกไม่เหมาะสมแต่ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องระหว่างเด็กที่ครูอาจต้องปล่อยให้นักเรียนได้เรียนรู้เอง เช่น การไม่พอใจเล็กน้อยระหว่างเพื่อน การหยอกล้อเล็กน้อยระหว่างนักเรียน ฯลฯ ซึ่งครูจะรู้ว่าบางอย่างเด็กๆควรได้เรียนรู้เอง เพื่อจะได้เรียนรู้และเข้าใจต่อผู้อื่น และต่อตนเอง รวมทั้งสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้ เมื่อวันหนึ่งที่เด็กๆต้องไปอยู่ในสังคมอื่นและการใช้จิตวิทยาเชิงบวกต่อเด็กๆ(เคารพและให้คุณค่า) การมีวิถีปฏิบัติที่สม่ำเสมอส่งผลให้เด็กๆรู้สึกปลอดภัยและเปิดใจมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนล้วนทำให้ครูและศิษย์มีความเข้าใจต่อกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งง่ายต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ใน Quarter 1 ปรับตัว(ไม่ราบรื่นดีนัก) Quarter 2สนุกสนาน(ไปไหนไปกัน) Quarter 3 ปลดปล่อยศักยภาพ(มีรอยยิ้มมีความสุข) Quarter 4 ทุกวันคือความทรงจำดีๆและมีความสุข(อยากหยุดเวลา)

การเรียนรู้เด็กๆแต่ละคนในเชิงลึก เช่น ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน ความถนัด ความสนใจ ภูมิหลังด้านครอบครัว ปมของนักเรียน ฯลฯช่วยให้ครูเห็นมิติรอบด้านของเด็กๆแต่ละคนทำให้ครูเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เด็กแต่ละคนแสดงออกการใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม วางแผน ตัดสินใจทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ช่วยให้นักเรียนได้รู้สึกร่วมกับสิ่งที่ทำ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นครูส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดเฉพาะด้าน เช่น ดนตรี กีฬา การแสดงการเต้นวิชาการ ฯลฯ ครูใช้จิตวิทยาเชิงบวก รวมทั้งวางแผนจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ท้าทายให้นักเรียนแต่ละคนก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคด้วยตนเองและกระบวนการกลุ่ม ซึ่งผลที่ได้รับคือ นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ มีทักษะในการแก้ปัญหา กล้าแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ สามารถจดจ่อกับงานที่ทำได้นานขึ้นและสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ

เมื่อครูทราบว่านักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ครูชื่นชมให้กำลังใจเด็กๆเพื่อให้เด็กๆรู้สึกภูมิใจ เห็นคุณค่าของตนเองและสิ่งที่ทำ ตลอดทั้งเกิดแรงจูงในการเรียนรู้ ซึ่งครูได้ทำงานร่วมกับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาต่อเนื่องจากโรงเรียนและที่บ้าน หลังจากนั้นครูและผู้ปกครองเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีพื้นที่ของตนเองในการแสดงศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่โดยมีครูและผู้ปกครองเป็นเพียงผู้ที่คอยให้กำลังใจติดตามดูแล และให้คำปรึกษา

ครูสังข์. (นิคม. ศาลาทอง)