เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

กว่าจะได้ยิน..

ฉันเป็นครูสอนระดับมัธยมฯ(ม.1- ม.3) เมื่อมีเด็กป.6 เลื่อนชั้นขึ้นมา ทางคุณครูประจำชั้นป.6 ก็จะเล่าเรื่องราวของเด็กๆแต่ละคนให้ฟังว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่คุณครูที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลต่อจะได้เข้าใจเด็กๆมากขึ้น และเรื่องราวของพี่ชาติก็เช่นกัน

โดยคุณครูเล่าว่า เด็กชายชนินทรซอนรัมย์ หรือพี่ชาติเป็นเด็กที่เรียนรู้เร็ว ชอบงานที่ท้าทายความสามารถ อยากรู้ อยากเห็น และอยากลอง มีทักษะด้านกีฬา ทักษะการคิดหากมีโจทย์ที่ท้าทายและพี่ชาติรู้สึกว่าสนุกแล้วล่ะก็จะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น และมีความพยายามในการหาคำตอบ อย่างเช่นคณิตศาสตร์ ก็มักจะหาวิธีการต่างๆในการคิดและแก้ปัญหาโจทย์ที่ได้นั้นจนสำเร็จทุกครั้งอีกทั้งยังเป็นผู้นำของกลุ่มผู้ชายในห้องเรียน ชอบออกคำสั่ง พูดจาไม่สุภาพ และมักรังแกเพื่อนที่อ่อนแอกว่า เสมอและที่สำคัญคือการคิดว่าการกระทำของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี และทำให้ทุกคนยอมรับ

และแน่นอนว่าเมื่อพี่ชาติเลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่มัธยมแล้ว จะต้องเรียนรู้วิถีปฏิบัติของพี่ๆมัธยม ซึ่งวิถีการเรียนรู้ของพี่ๆมัธยมทุกคนคือเริ่มจากกิจกรรมจิตศึกษาซึ่งจะจัดทุกเช้าหลังเข้าแถวเคารพธงชาติและใช้เวลาประมาณ 20 นาทีค่ะ ในระดับมัธยมนี้กิจกรรมต่างๆที่ทำนั้นต้องมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กเข้าใจว่าตัวเองคือบ้านอันแท้จริง เป็นบ้านของจิตวิญญาณ เป็นบ้านของจิตแห่งการรับรู้ เป็นบ้านของความคิด. เป็นบ้านแห่งจักรวาลทั้งมวล. ถ้าบ้านหลังนี้ประกอบกันไม่สมบูรณ์หรือพังทุกอย่างย่อมแตกสลายออกและตระหนักได้ว่า ต้องทำให้จิตวิญญาณ_จิตการรับรู้_ ความคิด_ได้กลับมาบ้านได้รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ได้ใคร่ครวญ เห็นคุณค่าและความหมายที่จะทำอะไรลงไปสักอย่างได้มีสติอยู่กับตนเองเสมอและเราก็เรียกกิจกรรมต่างๆนี้ว่า HOME

นอกจากเราจะมีกิจกรรม HOME ที่เน้นให้นักเรียนเข้าใจตนเองแล้ว เรายังมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการโดย PBLซึ่งก็เป็นการผสมผสานกันของแต่ละวิชา จะทำให้เกิดการเชื่อมโยง นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายสอดคล้องกับการใช้จริง เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในอนาคตอย่างเช่น ทักษะชีวิต ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการเรียนรู้ทักษะICT

นอกจากนั้นยังมีองค์ประกอบอื่นๆที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งบรรยากาศ การทำงานร่วมกับผู้ปกครอง และกิจกรรมต่างๆประกอบกับการใช้จิตวิทยาเชิงบวกตลอดเวลาค่ะ

เมื่อพี่ชาติได้ร่วมเรียนรู้กับเพื่อนๆมาสักระยะหนึ่ง ฉันก็พบว่าพี่ชาติไม่กล้ายอมรับในสิ่งที่ตนเองทำ ทั้งที่สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี จริงๆค่ะ โดยจากเหตุการณ์ที่พี่ม.1 ได้ร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการโดย PBL จากโจทย์ : ปลูกข้าว 4 เมล็ดให้ได้ 2,000 เมล็ดพี่ๆม.1ทุกคนก็ได้ช่วยกันขนดินมาใส่ท่อปูนซีเมนต์เพื่อมาเตรียมปลูกข้าวของตนเอง ระหว่างนั้นพี่ๆเด็กผู้หญิงก็มาเล่าให้ฉันฟังว่าพี่ชาติพูดอาสาช่วยเพื่อน ซึ่งพี่ๆผู้หญิงเองก็แปลกใจในคำพูดของพี่ชาติ( เพราแทบไม่เคยได้ยินเลย) ฉันจึงเรียกพี่ชาติมาเพื่อที่จะพูดชื่นชม แต่พี่ชาติกลับปฏิเสธว่าตนเองไม่เคยพูด และไม่กล้ามองหน้าครูขณะที่พูดคุยกันเลย

เมื่อเวลาผ่านไป( ค่อนข้างนานทีเดียวค่ะ)เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ฉันมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของพี่ชาติชัดเจนมากขึ้น เมื่อพี่ม.1 ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการโดย PBL โจทย์ : เราจะปลูกผักอย่างไรให้เกื้อกูลกัน ?ซึ่งพี่ม.1 ทุกคนจะต้องปลูกผัก และสามารถเลือกผักและบอกเหตุผลของการเพาะปลูกของตนเองได้รวมทั้งคุณครูก็ร่วมปลูกด้วยนะคะวันนั้นฉันเดินขึ้นมาที่บ้าน ม.1 และเดินตรงไปผ่านกลุ่มพี่ผู้ชาย ม.1 นั่งทำงานอยู่สักครู่ก็ได้ยินเสียงพี่ชาติร้องทักฉันขึ้นมาก่อนว่า “ครูณีครับ ผักของผมเกิดแล้วนะครับ ผมปลูกบล็อกโคลี่ เกิดแล้ว 3 ต้น ผมปลูกจริงๆนะครับครู” ส่วนฉันก็ได้พูดตอบรับว่าเยี่ยมมากค่ะ และก็ยิ้มให้กับเขานั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่าพี่ชาติเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วจริงๆ และเริ่มที่จะยอมรับและแบ่งปันความรู้สึกให้ผู้อื่นได้ร่วมรับรู้กับตัวเอง และที่สำคัญพี่ชาติเปิดใจรับฉันบ้างแล้ว เมื่อได้ยินประโยคนั้น… ฉันอยากบอกว่าฉันมีความสุขมาก และรู้สึกว่าความสุขเกิดขึ้นง่ายจัง

ทุกวันนี้พี่ชาติมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำมากขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมอย่างไรก็ตามมีความกล้าแสดงออก กล้าที่จะเล่นเป็นตัวตลก แสดงละครเป็นผู้หญิง เรียกเสียงหัวเราะให้กับคุณครูและเพื่อนๆได้ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆทั้งห้องไม่ใช่แต่กับเพื่อนผู้ชายแล้ว กล้าแสดงความคิดเห็นเมื่อทำงานกลุ่มค่ะ

ฉันเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ เพียงแค่ครูต้องให้โอกาสและคอยส่งเสริมรวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนได้ดังที่ควรจะเป็นและที่สำคัญต้องรู้จักการรอคอยและเฝ้ารอความงอกงามของศิษย์และในระหว่างที่รอ เราก็ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งครูกับศิษย์ เพื่อที่จะเข้าใจกัน เคารพและอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญฉันได้เรียนรู้ว่าฉันมีวุฒิภาวะความเป็นครูมากน้อยแค่ไหน ขอบคุณวุฒิภาวะความเป็นครูและขอบคุณอีกหลายบททดสอบที่ฉันจะต้องเจอ

โดย: ครูณี