เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าครูดีในศตวรรษที่21 (ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้กับเด็ก)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) หรือ PBL เป็นสิ่งที่ดีสำหรับครูมากเพราะมันทำให้ครูเป็นนักการเรียนรู้ เป็นนักพัฒนา และเป็นนักแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับเด็กได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของแต่ละคนซึ่งการเรียนการสอนในห้องเรียนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากันมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปแต่สิ่งสำคัญก็คือครูจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดทักษะตามศักยภาพของเขา

สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่6 มีเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ชื่อเด็กชายคำพล กล่ำเงิน ชื่อเล่นแป๋ว และเป็นเด็กบกพร่องทางเรียนรู้(LD) เป็นเด็กที่ซุกซนมาก มีพฤติกรรมชอบชวนเพื่อน ๆ หรือรุ่นน้องมางัดแงะห้องเรียน ห้องสหกรณ์ เอาสีน้ำมัน แปรงทาสี ไปทาตามพื้น ผนังห้องสหกรณ์และ อาคารเรียนต่าง ภายในโรงเรียน ขโมยสีน้ำมันไปเล่น และก็ทำลายข้าวของต่าง ๆ เช่น ทุบกระจก ทุบกระเบื้อง เทนมทิ้งในห้องเรียน ฯลฯ รวมทั้งเรียนก็ไม่อยากเรียน เพราะคิดว่าทำไม่ได้เวลาที่คุณครูให้ทำงานก็จะนั่งอยู่กับที่ ไม่เข้าใจก็ไม่ยอมจะถามเพื่อนหรือคุณครูเลยไม่ค่อยมีงานส่งเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นตัวเราเองก็มานั่งทบทวนหาสาเหตุว่ามันน่าจะเกิดจากการที่เราไม่เข้าใจตัวเขาคิดว่าเขาคงจะเรียนรู้ได้เท่ากับเพื่อน คนอื่นๆ และการที่เขาไม่สื่อสารกับเราน่าจะเกิดจากที่เขากลัวเราเลยทำให้เขาไม่กล้าที่จะคุยหรือถามเรา เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องหาวิธีแก้ในจุดนี้ว่าเราจะทำอย่างไร ถึงจะทำให้เด็กคนนี้กล้าที่จะคุยกับเราเล่นกับเพื่อน อยากเรียนรู้และเรียนรู้อย่างมีความสุขตามศักยภาพของเขาเอง หาวิธีการหลายอย่าง พูดคุยผ่านวง PLC จนได้วิธีการที่จะนำมาใช้ในกระบวนการสร้างการเรียนรู้และที่จะพัฒนาเด็กให้มีคุณลักษณะที่ดี สิ่งสำคัญการของเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นก็คือการพัฒนาปัญญาภายใน โดยใช้ กิจกรรมจิตศึกษา ตอนแรกครูพาทำกิจกรรมจิตศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กทำในตอนเช้าก่อนเข้าเรียนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม พอเด็กเริ่มกล้าพูด กล้าแสดงออกแล้วมีสมาธิหลังจากทำกิจกรรมจิตศึกษาและก็พูดคุยซักถาม หรือมอบหมายงานที่เขาทำโดยงานที่ให้ทำนั้นเป็นงานเห็นว่าเขาทำได้ คอยให้คำแนะนำ ให้ความรู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกคุกคามจะกระตุ้นการเรียนรู้ แรงจูงใจเชิงบวก โดยครูทำกระบวนการเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ พฤติกรรมซุกซนของเด็กชายแป๋วที่ชอบชวนเพื่อน ๆมางัดแงะห้องเรียนต่างๆ ก็ลดลง จากนั้นก็คิดต่อว่าเมื่อพฤติกรรมซุกชนต่าง ๆ ของเขาลดแล้ว จะส่งเสริมให้ตั้งใจเรียนได้อย่างไร ก็เลยลองคิดว่าถ้าเราสร้างความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นกับตัวเขาๆ จะมีความภูมิใจในตัวเอง เขาน่าจะลองให้เขาเป็นผู้นำวงในการทำจิกรรมจิตศึกษาดูบ้าง เลยบอกกับเด็กนักเรียนในห้องว่า “คุณครูจะให้เด็กๆ แต่ละคนออกมาเป็นผู้นำวงในการทำกิจกรรมจิตศึกษา และทุกคนจะได้เป็นผู้นำวง” ในแต่ละวันที่ผลัดกันออกมาเป็นผู้นำวงในการพาเพื่อนๆ ทำกิจกรรมจิตศึกษาเขาจะมีวิธีการใหม่ๆพอถึงรอบของเด็กชายแป๋ว ออกมานำวง เพื่อนก็จะคอยให้กำลังใจ ครูให้กำลังใจ บอกเขาว่าเก่งนะ แป๋วทำได้ พอทำบ่อยๆเข้า เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเขาเขามีความกล้ามากขึ้นกล้าที่จะพาเพื่อนทำกิจกรรมและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆกล้าพูดกับเพื่อนกล้าแสดงออกเวลาเรียนไม่เข้าใจกล้าที่จะถามคุณครูว่าผมทำถูกไหมมีงานส่งแล้วเราชมเขาว่าเก่งแล้วนะ ทำได้แล้วตั้งใจเรียนนะ ทั้งต่อหน้าตัวเขา เพื่อนในห้องเรียน และในวง PLC

สำหรับสิ่งที่ครูได้จากการสร้างการเรียนรู้เช่นนี้ มันเป็นความประทับใจ ภูมิใจที่เราเห็นความสามัคคีความเอื้อเฟื้อ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้เห็นเขาเกิดทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง เราได้รู้จักเด็กแต่ละคน เข้าใจเขามากขึ้นไม่ใช่ความคิดเราถูกฝ่ายเดียวเราต้องมองถึงตัวเด็กด้วยจนทำให้เราต้องเป็นนักการเรียนรู้เรียนรู้ไปกับเด็ก กล้าคุยกับเด็ก เด็กก็กล้าคุยกับเรา บรรยากาศการเรียนรู้ก็จะสนุกสนานและมีความสุข