เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าครูดีในศตวรรษที่21 (ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้กับเด็ก)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) หรือ PBL เป็นสิ่งที่ดีสำหรับครูมากเพราะมันทำให้ครูเป็นนักการเรียนรู้ เป็นนักพัฒนา และเป็นนักแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับเด็กได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของแต่ละคนซึ่งการเรียนการสอนในห้องเรียนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากันมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปแต่สิ่งสำคัญก็คือครูจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดทักษะตามศักยภาพของเขา

สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่1 มีเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่ง ชื่อน้องฝ้าย หรือเด็กหญิงวรรณภาศรีรส น้องฝ้าย เป็นเด็กหน้าตาน่ารัก แต่เป็นเด็กที่มีพัฒนาการในการเรียนรู้ช้ากว่าเพื่อนๆ ในห้อง เป็นเด็กไม่ค่อยพูดคุยกับเพื่อน กับคุณครู ไม่มีความมั่นใจในตนเอง เวลามาเรียนก็ไม่อยากเรียน เพราะคิดว่าทำไม่ได้เวลาที่คุณครูให้ทำงานก็จะนั่งอยู่กับที่ ไม่เข้าใจก็ไม่ยอมจะถามเพื่อนหรือคุณครูเลยไม่ค่อยมีงานส่งแรก ๆ เราก็คิดว่าไม่เป็นไรหรอกคงยังปรับตัวไม่ได้ เดี๋ยวก็คงจะปรับตัวได้ คงดีขึ้นเอง แต่เป็นอย่างนี้ทุกวันที่มาเรียนกลายเป็นว่าเรียนไม่ทันเพื่อน เราก็เลยเดินไปถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่าลูกไม่เข้าใจตรงไหนบอกคุณครูซิ หรือถามเพื่อนก็ได้นะถ้าไม่กล้าถามครู พอเราถามบ่อยๆ เข้า เขาก็ร้องไห้ด่า แสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกับคุณครูอยากกลับบ้านอย่างเดียวและไม่ยอมจะทำอะไรเลย

เมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นตัวเราเองก็มานั่งทบทวนหาสาเหตุว่ามันน่าจะเกิดจากการที่เราไม่เข้าใจตัวเขาคิดว่าเขาคงจะเรียนรู้ได้เท่ากับเพื่อน คนอื่นๆ และการที่เขาไม่สื่อสารกับเราน่าจะเกิดจากที่เขากลัวเราเลยทำให้เขาไม่กล้าที่จะคุยหรือถามเรา เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องหาวิธีแก้ในจุดนี้ว่าเราจะทำอย่างไร ถึงจะทำให้เด็กคนนี้กล้าที่จะคุยกับเรา เล่นกับเพื่อน อยากเรียนรู้ และเรียนรู้อย่างมีความสุขตามศักยภาพของเขาเอง หาวิธีการหลายอย่าง พูดคุยผ่านวง plcจนได้วิธีการที่จะนำมาใช้ในกระบวนการสร้างการเรียนรู้และที่จะพัฒนาเด็กให้มีคุณลักษณะที่ดี หัวใจสำคัญการของเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นก็คือการพัฒนาปัญญาภายใน โดยใช้ กิจกรรมจิตศึกษา ตอนแรกครูพาทำกิจกรรมจิตศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กทำในตอนเช้าก่อนเข้าเรียนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม พอเด็กเริ่มกล้าพูด กล้าแสดงออกแล้ว มีสมาธิเราก็คิดต่อว่าการ สร้างความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กเราน่าจะให้เรามาเป็นผู้นำวงเองก็ เลยบอกกับเด็กนักเรียนในห้องว่า “คุณครูจะให้เด็กๆ แต่ละคนออกมาเป็นผู้นำวงนะคะ และทุกคนจะได้เป็นผู้นำวง” ในแต่ละวันที่ผลัดกันออกมาเป็นผู้นำวงในการพาเพื่อนๆ ทำกิจกรรมจิตศึกษาเขาจะมีวิธีการใหม่ๆพอถึงรอบของน้องฝ้ายออกมานำวง เพื่อนก็จะคอยให้กำลังใจ ครูให้กำลังใจ บอกเขาว่าน้องฝ้ายเก่งนะ น้องฝ้ายทำได้ พอทำบ่อยๆเข้า เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเขาเขามีความกล้ามากขึ้นกล้าที่จะพาเพื่อนทำกิจกรรมและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆกล้าพูดกับเพื่อนกล้าแสดงออกเวลาเรียนไม่เข้าใจกล้าที่จะถามคุณครูว่าหนูทำถูกไหมมีงานส่งแล้วเราชมเขาว่าเก่งแล้วนะ ทำได้แล้วตั้งใจเรียนนะ เขาตอบเราค่ะเห็นรอยยิ้มของเขาทำให้เรามีความสุขที่ได้เห็นเขาเปลี่ยนไปและมีความพยายามที่จะทำและร่วมกิจกรรมกับเพื่อนไม่ว่าจะเป็นการเรียน เล่นเดินทางไกลลูกเสือน้องฝ้ายก็ร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุขและทำได้

สำหรับสิ่งที่ครูได้จากการสร้างการเรียนรู้เช่นนี้ มันเป็นความประทับใจ ภูมิใจที่เราเห็นความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้เห็นเขาเกิดทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองเราได้รู้จักเด็กแต่ละคน เข้าใจเขามากขึ้นไม่ใช่ความคิดเราถูกฝ่ายเดียวเราต้องมองถึงตัวเด็กด้วยจนทำให้เราต้องเป็นนักการเรียนรู้ เรียนรู้ไปกับเด็ก กล้าคุยกับเด็ก เด็กก็กล้าคุยกับเรา บรรยากาศการเรียนรู้ก็จะสนุกสนานและมีความสุข