เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้ดี

สถานการณ์เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นของครูและกระบวนการสร้างการเรียนรู้

นักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เป็นนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกความสามารถทางด้านเนื้อหาวิชาการ และความสามารถด้านกระบวนการคิด รวมทั้งความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ เมื่อครูเพาะพันธุ์ปัญญาได้ทำงานกับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน ทำให้พบว่า นักเรียนมีศักยภาพด้านองค์ความรู้ดี แต่ขาดทักษะด้านจิตตปัญญา และการอธิบายตามหลักเหตุและผลเป็นอย่างมาก เช่น ขาดการใส่ใจในหลักเหตุผล และการคิดเชิงระบบ ทำให้นักเรียนกลุ่มโครงงาน “ผลของอุณหภูมิที่มีผลต่อปริมาณแอนโทไซยานินในข้าวหอมนิล” เลือกข้อมูลอ้างอิงผิดพลาด และที่สำคัญคือนักเรียนเปิดใจในการพูดคุยด้วยเหตุผลน้อยและมีการแสดงอาการที่ไม่พอใจเมื่อให้พิจารณาแนวทางการศึกษาแต่ละตัวแปรใหม่ และอีกกรณีคือการไม่ยอมรับทีมในตอนเริ่มต้นการทำงานของโครงงานฐานวิจัย เรื่อง “การศึกษาคุณภาพดินเนื่องจากการพัฒนาดินโดยการไถกลบฟางข้าว”

การสอนโครงงานเป็นระยะเวลาที่มีค่ามาก ครูได้เรียนรู้กลไกและพฤติกรรม ที่ไม่ใช่ความผิวเผินของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน ในห้องเรียน แต่เป็นโอกาสที่ครูได้เรียนรู้ด้วยหัวใจ ที่ไม่ใช่การสั่งการของสมอง ทำให้ทุกองค์ประกอบได้รับการพัฒนา เช่น การเปิดใจรับ เปิดใจพูด การให้เกียรติและยอมรับตนเอง/ผู้อื่น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ออกแบบเฉพาะตามกรณีกลุ่มศึกษา โดยยืนบนพื้นฐานของจิตตปัญญาและระบบการคิด

ครูแบ่งระยะการสร้างนิสัยที่ดีไว้ 3 ระยะ คือระยะการสังเกตเก็บข้อมูล ระยะการวิเคราะห์สถานการณ์ เหตุของสถานการณ์และผลที่เกิดจากสถานการณ์เพื่อเป็นจุดชี้บ่งไปสู่การแก้ไข เป็นการเรียนรู้ต้นทุนของเด็กเพื่อเติมเต็มศักยภาพ และระยะการติดตามและเติมเต็มด้วยการ coach

ตัวอย่างสถานการณ์ที่ครูปฏิบัติการสร้างนิสัยที่ดี ได้แก่ กรณีนักเรียนทีม “ผลของอุณหภูมิที่มีผลต่อปริมาณแอนโทไซยานินในข้าวหอมนิล” การสังเกตนิสัยการเรียนรู้ การสืบค้นข้อมูลและพฤติกรรมกลุ่มนั้น พบว่ามีการวางให้ 1 คนเด่นในการปฏิบัติด้านการสืบค้น ความใส่ใจ การตัดสินใจ โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเมื่อมีการเสนอความคิดเห็น ผลการสืบค้น การลงข้อคิดเห็นด้านทางเลือกของการปฏิบัติการทดลองโดยไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสืบค้น ทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รู้แจ้งในข้อมูล และไม่มีการวิเคราะห์หลักเหตุผลของข้อมูลร่วมกันครูที่ปรึกษาต้องใช้กระบวนการจิตตปัญญาผ่านกระบวนการ coach อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเป็นนักเรียนที่ค่อนข้างมีความมั่นใจในตนเองสูง เพื่อให้ทีมทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการก่อนที่ไปถึงทางเลือกสุดท้าย เช่น ตอนหนึ่งของบทสนทนา ในการเลือกแนวทางการอ้างอิงการเลือกแนวทางการปฏิบัติการทดลองผิดพลาด โดยนักเรียนเลือกการตรวจสอบแอนโทไซยานินท์ในพืชอื่นที่ไม่ใช่ข้าว ทำให้นักเรียนเกิดความหงุดหงิด และเกิดความเครียด แม้การคุยกับครูที่ปรึกษาในช่วงก่อนการทดลองในช่วงเริ่มต้นยังมีอาการที่แสดงการไม่ยอมรับ ซึ่งเมื่อเจอปัญหาอย่างนี้ครูก็มานั่งพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์หาทาง coach และค่อยๆ อย่างอดทนในการทำให้ค่อยๆ ยอมรับกระบวนการที่ครูพยายามให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น

ครู : เหตุใดจึงเลือกการอ้างอิงการตรวจสอบแอนโทไซยานินท์จากกระเจี้ยบ?

นักเรียน : ก็เป็นแอนโทไซยานินเหมือนกันค่ะ

ครู : จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นที่เราทำมา สังเกตไหมว่าการเปลี่ยนไปของสีแอนโทไซยานินท์เกิดขึ้นเมื่อไหร่?

นักเรียน : มีหมู่แทนที่ไม่เหมือนกัน อ้อ รู้แล้วค่ะ....................

ครู : นั่นไง เพราะฉะนั้น เมื่อสีเปลี่ยนไปหรือหมู่แทนที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลต่ออะไรที่เราต้องนำมาอ้างอิง

นักเรียน : ช่วงของการดูดกลืนแสงค่ะ

นั่นเป็นเพราะนักเรียนละเลยหลักเหตุผลขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกัน การดูดกลืนคลื่นแสงของแอนโทไซยานินเปลี่ยนแปลงได้เมื่อกลุ่มต่างๆที่มาเกาะ กับโครงสร้างหลัก ซึ่งบทสนทนานี้เกิดการยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังๆ แล้วหลังจากเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน และเครียดไประยะหนึ่ง จนมีหนึ่งคนในกลุ่มร้องไห้ และเมื่อเริ่มเห็นความสำคัญของหลักเหตุผลแล้วทำให้เขาทำงานอย่างมีความสุข อีกทั้งการเห็นความสำคัญของการใส่ใจในภาระงานของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มอบหน้าที่ให้คนใดคนหนึ่ง ในกระบวนการเหล่านี้เป็นการสร้างการยอมรับการเป็นพี่เลี้ยงของครูโดยอัตโนมัติ และเห็นรอยยิ้มที่มีความสุขเมื่อเห็นผลการทดสอบการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องสเปกโตโฟโตมิเตอร์

เทคนิคที่ครูเลือกใช้มากที่สุดคือ เทคนิคการตั้งคำถาม ได้ช่วยให้หลักเหตุผลเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ได้ดีทีเดียว แต่เทคนิคนี้ต้องเดินควบคู่กับความอดทนและความต่อเนื่องของทั้งครูและนักเรียน ไม่ควรทิ้งช่วงว่างของการปฏิสัมพันธ์มากนัก เนื่องจากเป็นเทคนิคที่อุปสรรคในตัวกระบวนการเยอะคือนิสัยจากการป้อนความรู้หรือกล่าวได้ว่าถูกละเลยการสอนทักษะการเรียนรู้ เทคนิคการตั้งคำถาม เป็นเทคนิคที่ช่วยสอนทักษะการสืบค้น ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการวิเคราะห์ความเชื่อถือได้ของข้อมูล นั่นก็คือใช้ควบคู่กับหลักเหตุผล ก่อนที่จะใช้การตั้งคำถามกับนักเรียน ครูต้องเตรียมคำถาม เตรียมกระบวนการ คาดหวังผลที่อาจเกิดขึ้น และวางแผนการรับมือ ทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างครูนักเรียน ที่สามารถสังเกตได้ เช่น ความตั้งใจในการทำ infographics อย่างมีความสุขและนำเสนอให้ครูดู พร้อมยอมรับการติชม และการดูแลเพื่อนๆ ในการทำ infographics

อีกกรณีตัวอย่างคือการสร้างนิสัยที่ดีในการยอมรับในทีม“การศึกษาคุณภาพดินเนื่องจากการพัฒนาดินโดยการไถกลบฟางข้าว” เหตุผลในการไม่ยอมรับคือการมาจากต่างกลุ่ม ครูใช้การสะท้อนผลจากการเรียนรู้ในกิจกรรมคน 4 ทิศ และการเปิดใจยอมรับตนเอง ยอมรับผู้อื่น ใช้การ coach เพื่อเปิดโอกาสให้เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้กลุ่มทีม หาทางออกให้ตนเองเพื่อให้ตนเองสามารถทำงานร่วมกับกลุ่มได้ โดยในกิจกรรมการปฏิบัติงานโครงงานแต่ละขั้นตอนครูพยายามอยู่กับนักเรียนเพื่อสนับสนุนการเปิดใจเรียนรู้ในกลุ่มทีม และเรียนรู้การทำงานด้วยความรักระหว่างทีม ระหว่างครูและนักเรียน จากนั้นค่อยๆ ห่างเพื่อเปิดโอกาสให้ทีทำงานเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ครู coach เมื่อนักเรียนต้องการอย่างเหมาะสม จนทีมนี้เป็นทีมที่รักกันมากและมีความสุขในการปฏิบัติการโครงงานวิจัยนอกสถานที่ผลจากการพัฒนานอกจากนักเรียนเกิดความรักกันในทีมแล้ว ครูยังพบการประยุกต์องค์ความรู้ที่ครูพัฒนาสู่ชั้นเรียน เพื่อนร่วมห้องอย่างน่าทึ่งทีเดียว


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก

ผลจากการพัฒนาของครูที่เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครอง เกิดผลที่แยกได้ในสองประเด็น คือ 1) การเกิดนิสัยที่ดีในการเรียนรู้ การใช้หลักเหตุผลในการสืบค้น การตัดสินในเลือกแนวทางปฏิบัติ การปฏิบัติถูกต้องในการอ้างอิงทางวิชาการ และ 2) ประเด็นด้านนิสัยทางด้านสังคม นั่นคือ ความรักสามัคคีที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ได้แก่ เหตุการณ์ที่กลุ่มศึกษาลักษณะทางสัญฐานวิทยาและปริมาณแอนโทไซยานินท์ในข้าวสังหยดในพื้นที่ปลูกต่างกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการนำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ในความร่วมมือระหว่างโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช และ seisho high school ประเทศญี่ปุ่น ความช่วยเหลือโดยไร้ข้อจำกัดระหว่างเพื่อน เวลาการปฏิบัติ เป็นการช่วยกันทั้งห้อง นอกจากนั้นก็เห็นความห่วงใย การช่วยเหลือกันในอีกหลายเหตุการณ์มาก ทั้งการดูแลเพื่อน การเก็บตัวอย่างให้กันเมื่อมีข้อจำกัดในการออกไปเก็บตัวอย่างนอกสถานที่ การดูแลเรื่องอาหารเพื่อนที่ต้องทำการทดลองต่อเนื่อง การให้กำลังใจและให้กำลังใจเพื่อนที่เครียด ร้องไห้ ซึ่งไม่เจอบรรยากาศ คำพูด สายตา ของการกระทบกระทั่ง การอิจฉาริษยา เลยในช่วงหลังๆ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า งานนี้ทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้เลยหรือ? ยังมีเหตุการณ์ร่องรอยการเรียนรู้ที่ได้รับการบันทึกประสบการณ์การเรียนรู้อีกมากมายในโครงการนี้ การปฏิบัติงานเพาะพันธุ์ปัญญารุ่นที่ 2 มีทั้งสุข ทุกข์ น้ำตาไหล ท้อแท้ กับสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงาน พฤติกรรมการคิด และการร่วมทีมแบบไม่ทิ้งกัน สิ่งที่เป็นแรงจูงใจ กระตุ้นให้การทำงานนี้อย่างไม่ท้อต่ออุปสรรคของครูรุ่นนี้คือ ประเด็นที่มาจากครู สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ การไม่ยอมวางปัญหาเมื่อเจอะเจอ ไม่ยอมให้กับความไม่รู้แม้ไม่ใช่องค์ความรู้สาขาของตน การพบเห็นครูนั่งหันหน้าเข้าหากันและถกกันถึงองค์ความรู้ที่ต้องเตรียมเพื่อ coach ให้กับนักเรียนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทำงานการเป็นทีมที่มีทั้งเหนื่อย ท้อ แต่ทุกคนให้กำลังใจกัน และยอมไม่ได้หากนักเรียนยังไม่ได้รับการแก้ไขการคิด พฤติกรรมการเรียนรู้ประเด็นที่มาจากนักเรียน คือความไม่ยอมต่อกระบวนการเก็บข้อมูลที่อาจจะเป็นปัจจัยให้ผลการทดลองคลาดเคลื่อนของนักเรียน การไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคในการทดลอง ภาพการช่วยเหลือกันของนักเรียน ลักษณะนิสัยที่ดีทีเกิดขึ้น เป็นลักษณะนิสัยที่อยู่ในสังคมได้ดี ได้แก่ความรัก ความเมตตา รู้จักกาลเทศะ การยอมรับการให้เกียรติ ความเป็นพลเมืองดี


สิ่งที่ครูได้เรียนรู้

กระบวนการที่พยายามออกแบบ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้เพียงไม่กี่เทคนิคที่สร้างการเรียนรู้ สามารถเห็นผลเชิงประจักษ์ได้จริงๆ หากผู้ปฏิบัติยอมรับ ใส่ใจ ปฏิบัติบนพื้นฐานของหลักเหตุผล ใช้ coaching และจิตตปัญญา ประคับประคองการเรียนรู้ สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่สามารถ “สร้างองค์ความรู้” ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หลายฝ่ายพยายามทำโดยเดินกระบวนการสร้างการคิดวิเคราะห์ให้กับนักเรียน แต่อาจจะขาดหลักยึดไปบ้าง ทำให้การพัฒนาผู้เรียนไปเสถียร นอกจากนี้กระบวนการนี้น่าจะเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนยิ้มและหัวเราะอย่างมีความสุข ยอมรับและภูมิใจ เมื่อถึงเส้นทางที่เขาค้นพบองค์ความรู้ที่มาจากกระบวนการเรียนรู้ของเขาเอง ไม่ใช่การบอก การป้อนความรู้ ตัวผู้สอนเองก็ได้เรียนรู้ทักษะการสอนที่เป็นการสอนทักษะการเรียนรู้ ที่เป็นทั้งการสอนนักเรียน สอนตัวเอง ไปอย่างไม่รู้ตัว แทนการสอนองค์ความรู้โดยใช้หลักเหตุผล เช่นเดียวกัน โดยใช้การ coaching และจิตปัญญา ประคับประคองการเรียนรู้เช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนเกิดลักษณะนิสัยที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ดีทีเดียว

การสอนโครงงาน เป็นระยะเวลาที่มีค่ามากสำหรับการเรียนรู้ในชีวิตความเป็นครู เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้กลไก พฤติกรรมที่เกิดระหว่างการเรียนรู้ของนักเรียนและครูที่ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ใช่ความผิวเผินของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน ในห้องเรียน เป็นโอกาสที่ครูได้เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้ด้วยหัวใจของการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การสั่งการของสมองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ทุกองค์ประกอบของของเรียนรู้ได้รับการพัฒนาอันได้แก่ การเปิดใจรับ เปิดใจพูด การให้เกียรติและยอมรับตนเอง/ผู้อื่น เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้ที่สามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ ซึ่งมาจากทำงานร่วมกันของสมองทั้งสองซีก

การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับการพัฒนานักเรียนให้สามารถมีทักษะการเรียนรู้ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เติมเต็ม เพื่อพัฒนาเยาวชนให้สามารถคิดได้ วิเคราะห์ได้ ตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักเหตุผลตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งยากมากในความพยายามนี้ ขอเพียงมีความเชื่อมั่น คงจะพัฒนาการศึกษาของไทยได้มากทีเดียว