เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

  • หัวใจที่รักเพื่อน สะเทือนถึงหัวใจครู

ปี 2553 ยาเสพติดระบาดค่อนข้างมากในโรงเรียนมาบอำมฤตวิทยาขณะนั้นมีรองผู้อำนวยการผู้ชายเป็นผู้ติดตามดูแลนักเรียนส่วนครูรจนา กลิ่นหอม เพียงทำหน้าที่รับผิดชอบเด็กในห้องเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีนักเรียนชายที่มีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงอยู่ด้วย และมีนักเรียนที่เป็นกรรมการนักเรียนคอยติดตามดูแลเพื่อน

เมื่อมีการประสานงานจากโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติมาที่โรงเรียน รองผู้อำนวยการได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมและท่านทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ต่อมา รองผู้อำนวยการสอบเป็นผู้อำนวยการได้ และต้องย้ายโรงเรียน จึงให้นักเรียนแกนนำเลือกว่าอยากให้ใครมาเป็นที่ปรึกษาแทนนักเรียนได้เลือกครูรจนา ขณะนั้นครูรจนาไม่ได้อยากทำงานเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ แต่เมื่อเห็นแววตาเด็ก ๆ ก็รู้สึกว่าไม่สามารถปฏิเสธได้ลงคอ และเริ่มทำหน้าที่ที่ปรึกษานับแต่นั้นมา

จากปีแรกที่ได้เริ่มทำงานกับแกนนำนักเรียน ได้เห็นการทำงานที่จริงจังและจริงใจของนักเรียนที่ต้องการช่วยเพื่อน เมื่อเห็นเพื่อนติดยาบ้า ขาดเรียนบ่อย กลุ่มนักเรียนแกนนำก็พยายามติดตามดูแล พาเพื่อนกลับมาเรียนหนังสือ กระทั่งไปตามเพื่อนที่ร้านโต๊ะสนุกเกอร์ซึ่งเป็นแหล่งมั่วสุมเมื่อได้เห็นการทุ่มเททำงานดูแลเพื่อนแม้ไม่ใช่หน้าที่ของนักเรียนแกนนำกลุ่มนี้ทำให้ความคิดของครูรจนาเปลี่ยนไป หันกลับมาถามว่าตัวเองว่า “ในฐานะครู ได้ทำอะไรบ้างที่ช่วยเหลือเด็ก”

แรงบันดาลใจที่ได้รับจากนักเรียนกลุ่มแกนนำ ทำให้ครูรจนาเข้ามาใกล้ชิดเด็กกลุ่มที่มีปัญหามากขึ้น พูดคุยถึงปัญหาและสาเหตุของนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็นเด็กเกเรมาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครให้ความสนใจ ให้โอกาส แต่ครูรจนาคิดแตกต่างออกไป เริ่มเปิดโอกาส ให้พื้นที่ในการแสดงออกถึงศักยภาพในตัวเด็กที่ถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่าเป็นเด็กเกเร และไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวพาพวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ ให้เป็นแกนนำทำโครงการ ท่ามกลางเสียงที่พากันบอกว่า บ้าไปแล้ว ที่เอาเด็กกลุ่มนี้มาเป็นแกนนำ แต่พวกเขาก็พิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขาทำได้ และทำได้ดีด้วย

­

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

  • ให้ความรัก ให้โอกาส ให้พื้นที่

    ครูรจนาเริ่มต้นด้วยการเข้าไปพูดคุยกับเด็กนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหาโดยจะไม่พูดถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เด็กทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการหนีเรียน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เสพสารเสพติด แต่เปิดโอกาสให้พวกเขาทำงานในโครงการต่าง ๆ ที่พวกเขาทำได้ตามความสนใจ

    โครงการคุณธรรม เป็นโครงการแรก ๆ ที่ให้โอกาสเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมาเข้าร่วม โดยมอบหมายงานให้พวกเขาทำร่วมกับแกนนำ ครูรจนาให้ความสำคัญกับนักเรียนแต่ละคนเท่าเทียมกันเมื่อได้รับโอกาส พวกเขาทำงานอย่างเต็มที่ จนกระทั่งโครงการได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในระดับประเทศ

    ต่อมา ครูรจนามีโอกาสรู้จักกับเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) คุณอภิศา มะหะมาน หรือ “ครูซะ” ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นครู แต่มีความจริงใจและความตั้งใจที่จะช่วยโรงเรียน ช่วยครูแก้ปัญหาเรื่องเหล้าบุหรี่เป็นแรงบันดาลใจทำให้ครูรจนาดำเนินงานเกี่ยวกับการรณรงค์ต้านเหล้าบุหรี่ ซึ่งเป็นยาเสพติดขั้นพื้นฐานในโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น กิจกรรมสายลับ ขบวนการโพธิสัตว์น้อย การรณรงค์ในวันสำคัญต่าง ๆ

    ช่วงโรงเรียนเปิดเทอม มีกิจกรรม “เปิดเทอมเติมสร้างสุข” เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนช่วงก่อนปิดเทอม มีการจัดกิจกรรม “ปิดเทอมเติมรักเพื่อบ้านเกิด” ปีแรกๆ ก็ยังไม่ค่อยมีครูให้ความสนใจและมองสิ่งที่ครูรจนาทำด้วยสายตาแปลกๆ แต่ครูรจนาก็ไม่ได้อธิบายอะไร และยังทำกิจกรรมต่อมาเรื่อยๆ

ครูรจนาจะให้ความสำคัญกับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง โดยเรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่า “นักเรียนกลุ่มเติมรัก” เครื่องมือในการทำงานของครูรจนาก็คือ การให้ความรักความเข้าใจกับนักเรียนกลุ่มนี้ และเปิดพื้นที่ให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรม

­

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

  • เด็กเสี่ยงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าให้โอกาส

    เด็กกลุ่มเสี่ยงรุ่นแรก 3 คนที่เข้าร่วมโครงการคุณธรรม คือ กะหล่ำ เม่น และ เบ๊นซ์ ซึ่งเสพยาบ้าจนติด หลังจากเข้าร่วมโครงการ นักเรียนทั้งสามมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น จนในที่สุดสามารถเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 และได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยสองคน คือ กะหล่ำและเม่น ส่วนเบนซ์ ไปสมัครทหารและช่วยแม่ทำงาน

    เด็กกลุ่มเสี่ยงรุ่นต่อมาที่ครูรจนาติดตามดูแล คือ เจ กัน อุ้ม เดช เป็นนักเรียนชาย ส่วนนักเรียนหญิงอีก 1 คน คือ หมิว ในสายตาครูหลาย ๆ คนมองว่า หมิวเป็นเด็กก้าวร้าวแต่หากได้คุยได้ใกล้ชิดจะรู้ว่า จริง ๆ แล้ว หมิวเป็นเด็กที่น่ารัก มีความคิดเป็นผู้ใหญ่เกินตัว หมิวเคยเจอปัญหา มีพ่อที่ชอบกินเหล้าแล้วหาเรื่องทะเลาะกับแม่ จนต้องแยกทางกันในที่สุด หมิวเคยคบเพื่อนกินเหล้าสูบบุหรี่ แต่โชคดีว่าเพื่อนดึงกลับมาได้เสียก่อน ครูรจนาได้ชวนหมิว มาร่วมทำงานโครงการ ด้วยความที่หมิว เป็นเด็กที่พูดเก่งเป็นทุนเดิม ในที่สุดหมิวได้กลายมาเป็นคนที่ครูให้ความสำคัญ เวลามีงานที่มีแขกมาเยี่ยมโรงเรียน หมิวจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนต้อนรับแขกของโรงเรียนเสมอ

    ส่วน กัน เดช อุ้ม เป็นเด็กน่ารัก เป็นผู้ช่วยที่ดี เป็นกำลังใจให้ครูรจนาทำงานแก้ปัญหาต่างๆ สำหรับ “เจ” เป็นนักเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงตัวจริง ช่วงแรกที่ครูรจนาพา เจ มาร่วมงานกับเพื่อน ๆ เจ ไม่ได้ให้ความร่วมมือดีนัก เพียงแต่ทำไปแบบขัดไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เจ บอกกับครูรจนาว่า “ครู ครับ ผมอยากเลิก บุหรี่”

    ปัจจุบัน หมิว เจ กัน อุ้ม เดช ได้ผ่านช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อและสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ พวกเขายังติดต่อพูดคุยกันอยู่เสมอ ขณะที่ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนก็ลดลง

    เด็กกลุ่มเสี่ยงรุ่นหลังที่ครูรจนาเรียกว่า “กลุ่มนักเรียนเติมรัก” ปัจจุบันมีจำนวนลดลง และมีครูมาเป็นแนวร่วมในการทำงานมากขึ้นส่วนนักเรียนกลุ่มเติมรักได้กลายมาเป็นนักเรียนแกนนำ เช่น ออย นักเรียนกลุ่มเติมรักที่เป็นเด็กชายที่อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ค่อนข้างเกเร แต่เมื่อครูรจนาเปิดพื้นที่ให้ออยได้มีโอกาสทำกิจกรรมในโรงเรียนในที่สุด ออย ได้กลายเป็นเป็นนักเรียนแกนนำ ปัจจุบัน ออย เรียนจบ และทำในสิ่งที่ตนเองฝันไว้ได้สำเร็จ คือ การสอบเข้านายสิบทหาร

    ในวันที่ ออย โทรมาบอกครูรจนาว่า เขาทำในสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันสำเร็จและขอบคุณครูรจนาหลายครั้ง ครูรจนารู้สึกมีความสุขมาก และสิ่งเหล่านี้ทำให้ครูรจนาเกิดพลังที่จะทำงานช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อไป

­

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

  • ลูกศิษย์ได้ดี ครูมีความสุข

ในระยะแรกที่ครูรจนาทำงานโครงการต่าง ๆ ครูคนอื่นในโรงเรียนไม่ค่อยให้ความสนใจ และมองสิ่งที่ครูรจนาทำด้วยสายตาแปลกๆ ที่นำเด็กเสี่ยง เด็กเกเรในสายตาครูคนอื่นมาทำกิจกรรม แต่ครูรจนาไม่ได้อธิบายอะไร และยืนหยัดทำกิจกรรมต่อมาเรื่อย ๆ แม้หลายครั้งต้องเจอกับอุปสรรคปัญหามากมาย

ความอดทนของครูรจนาทำให้เพื่อนครูหลายคนรวมถึงผู้บริหารเริ่มให้ความสำคัญ และเริ่มที่จะมาเมียงมองช่วยเหลือสอบถาม เห็นได้จากกิจกรรมที่เคยทำตามลำพังกับเด็กๆ จะมีคุณครูมาขอช่วยทำด้วยหลายกิจกรรมได้รับการบรรจุไว้ในโครงการของโรงเรียน ซึ่งครูรจนาคิดว่า ปัญหาเหล่านี้น่าจะลดน้อยลงหรืออาจจะหมดไปเลย ถ้าครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร รวมทั้งคนในชุมชนให้ความร่วมมือกัน ช่วยกันดูแลบุตรหลานซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ ครูรจนายืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป ทำเท่าที่จะทำได้ตราบเท่าที่ยังมีแรง ไม่ได้คาดหวังอะไร

ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเด็กนักเรียน เป็นพลังใจที่สำคัญของครูรจนา คำพูดจากใจของนักเรียนเป็นสิ่งที่ทำให้ครูรจนามีความสุขและมีกำลังใจทำงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจละเลิกสิ่งที่ไม่ดี “ครูครับ ผมอยากเลิกบุหรี่” หรือ คำ “ขอบคุณ” ในวันที่เขาทำสิ่งที่ฝันไว้สำเร็จ

เป้าหมายในชีวิตของครูรจนาคือ เห็นลูกศิษย์ได้ดีดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน และคิดว่า จะทำงานช่วยเหลือเด็กต่อไป

ไม่เพียงเด็กนักเรียนที่เปลี่ยนแปลง ครูรจนาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เปลี่ยนจากคนที่เคยใช้ชีวิตแบบคนทั่วๆ ไป คือ ตั้งใจเรียน เรียนจบ มีงานทำ ทำเฉพาะหน้าที่ของตัวเองคือสอน แต่เด็ก ๆ ทำให้ครูรจนาได้คิดว่า บางครั้งเราต้องทำเพื่อคนอื่นบ้าง ส่วนใหญ่คนเราจะทำเฉพาะเรื่องของตัวเอง ถ้าเรื่องไหนที่ธุระไม่ใช่ก็จะไม่สนใจ ทำให้ครูรจนาอยากสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นเด็กดี มีคุณธรรม เพื่อจะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม