เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ครูต้องการสร้างลักษณะนิสัยที่ดี

"ปัญหาเด็กคือปัญหาสังคม ไม่ใช่งานง่ายๆ เลยแต่ครูถามตัวเองว่าทนดูเฉยๆได้ไหม ตอบตนเองว่าทนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องแก้ ต้องทำ เพื่อให้เขาเป็นคนดีและมีความสุข" สิ่งที่นักเรียนทุกคนสัมผัสได้เสมอ คือความรัก เมตตา ปรารถนาดี และท่าทีพร้อมเสมอที่จะรับฟังทุกเรื่องราวของลูกศิษย์"สิ่งสำคัญ คือ ครูอยู่กับเด็กเสมอ สนุกก็อยู่กับครู มีปัญหาก็อยู่กับครู เขาจะอุ่นใจและมั่นใจที่จะสู้ชีวิต"ในยุคโลกาภิวัตน์ครูพจมานคิดว่าการที่ครูจะพร่ำสอนแต่เนื้อหาวิชาการโดยละเลยด้านคุณธรรมจริยธรรมในตัวเด็กนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงจึงปรับเปลี่ยนตนเองจากการลงโทษอย่างเดียวมาเป็นการมอบโอกาส เข้าใจ ให้ความรัก และใกล้ชิดกับนักเรียนทำให้เราเข้าใจเด็กและรู้ถึงปัญหา เชื่ออยู่เสมอว่า“คนที่กระทำความผิดไม่ได้เลวมาตั้งแต่กำเนิดตัวครูพจมานเองได้เกิดการเรียนรู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน” เพียงครูให้ความรัก ความจริงใจ ให้เวลา ให้อภัยและให้โอกาสเท่านี้ก็จะทำให้พวกเขาเป็นคนดี คนในชุมชนปัจจุบันเห็นว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติแต่ครูมองว่าเหล้าเป็นพื้นฐานของการนำเด็กไปสู่เรื่องอื่นๆ นอกจากนั้นคุณครูยังขอความร่วมมือกับพระที่ท่านทำเรื่องครอบครัวศีลห้าอยู่แล้ว ครูคิดว่าหากเด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็จะป้องกันภัยต่างๆได้

ครูพจมานเป็นครูที่ดูแลส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนครูมักพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนมากมายภายในโรงเรียนนับตั้งแต่นักเรียนแต่งกายไม่เรียบร้อยหนีเรียน สูบบุหรี่ ทะเลาะวิวาท ชู้สาว การตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ จนถึงเรื่องของยาเสพติดส่งผลให้นักเรียนบางส่วนเรียนไม่จบตามหลักสูตรต้องย้ายหรือออกโรงเรียนไปซึ่งวิธีการการแก้ปัญหาแบบเดิมคือดุด่า ตักเตือน หักคะแนน ผลก็คือได้เพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ส่วนใหญ่แล้วกลับเลวร้ายไปกว่าเดิม


กระบวนการ/วิธีการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

  • วิธีการเข้าถึงเด็กสร้างความไว้วางใจโดยครู “หลอกล่อให้เด็กเข้าใกล้ครู”เช่น ให้เด็กถอนผมหงอกบ้าง ให้นวดบ้าง แต่เป้าหมายคืออยากให้เด็กมาอยู่ใกล้ๆแล้วครูค่อยชวนคุยทำบ่อยๆจนเด็กคุ้นเคยและไว้ใจ จากนั้นครูให้ความรักแก่เด็กเสมอโดยการโอบกอดและค่อยๆพูด ค่อยๆสอน
  • เข้าหาเด็กในลักษณะของกัลยาณมิตรมอบความรักให้เด็ก “ครูบอกเด็กว่ามีอะไรให้บอกครู ครูช่วยได้ หากมีเหตุการณ์อะไรครูจะได้คิดหาทางช่วยได้”ครูหวังให้เด็กมีที่พึ่งในยามคับขัน
  • ให้กิจกรรมเพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่า ครูพจมานเป็นครูฝ่ายปกครองครูเห็นว่าการลงโทษแบบเดิม เช่น ต่อว่า หักคะแนน ไม่ได้ผลเพราะคะแนนหมดเด็กก็ยังไม่เปลี่ยนนิสัยตอนหลังก็เปลี่ยนวิธีการคือเด็กทำผิดครูจะให้มาทำงานที่ห้องเช่นงานพิมพ์เอกสาร เด็กจึงต้องมาอยู่กับครูในชั่วโมงว่างเด็กก็ไม่หนีไปไหนวิธีนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคุณค่าจากการที่ครูไว้วางใจให้ทำงานบางอย่างให้ครู
  • ความจริงใจของครูทำให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการเดิมทีการให้เด็กเข้าโครงการช่วงแรกๆเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาครูไม่ได้ทำในนามของโรงเรียนแต่ทำของครูเองถึงแม้จะไม่มีโครงการครูก็ยังคงทำของครูอย่างต่อเนื่องเพราะคิดว่าครอบครัวของเด็กคงไม่มีโอกาสสอนเด็ก เมื่อเราเห็นเด็กแล้วเราไม่ช่วยก็คงจะทนไม่ได้
  • ให้โอกาสและหาช่องทางให้เด็กได้แสดงศักยภาพด้านอื่น โดยให้เด็กได้มาทำกิจกรรมเพื่อดึงศักยภาพของตนเอง มีเวทีให้แสดงออกเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ได้ผลดีเขาจะเป็นแรงบันดาลใจและดึงกลุ่มเพื่อนที่มีปัญหามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอีกด้วย
  • การชวนเด็กลด ละ เลิก ตัวอย่างนักเรียนดื่มเหล้า นักเรียนที่เป็นช่างซอ(อาชีพนักดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือ) เวลาทำงานมีคนยื่นเหล้าให้เด็ก ครูก็ชวนเด็กมาทำโครงการคุณธรรมพอเด็กเข้ามาร่วมครูจึงชวนให้เด็กค่อยๆ ลดและเริ่มลดทีละน้อยจนกระทั่งเลิกได้ก็เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ
  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฐมนิเทศแบบเดิม โครงการใหม่ชื่อว่ากิจกรรมสร้างสุขเป็นกิจกรรมที่ให้ความอบอุ่นแก่เด็ก จากเดิมเป็นการปฐมนิเทศเฉพาะเรื่องการเรียน แต่โครงการนี้เป็นการทำฐานการเรียนรู้เด็กได้รับความรู้ในเรื่องการปฏิบัติตัวในโรงเรียนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ให้รุ่นพี่มาเป็นแกนนำทำกิจกรรม เด็กสนุก รุ่นพี่รุ่นน้องมีโอกาสรู้จักกันเคารพกัน
  • ให้ชุมชนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม คุณครูได้ขอความร่วมมือกับพระที่ท่านทำเรื่องครอบครัวศีลห้า ครูคิดว่าหากเด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็จะป้องกันภัยต่างๆได้ และให้พ่อแม่มามีส่วนร่วมโดยครูขอความร่วมมือ ซึ่งมีบางคนที่ไม่เข้าใจครู ครูก็ให้เหตุผลว่าสิ่งที่ครูทำเป็นการพาเด็กไปในทางที่ดีส่วนที่บ้านครูขอให้ผู้ปกครองงดการดุหรือต่อว่าเด็ก ไม่ควรใช้ความรุนแรงซึ่งครูทราบดีว่ามันไม่ได้ผล ครูขอให้ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น เลิกเหล้าเลิกบุหรี่เพื่อลูกได้รับความร่วมมืออย่างดีโดยครูให้ลูกไปขอพ่อแม่ให้เข้าร่วมโครงการครูก็จะมอบใบประกาศนียบัตรให้และในวันนั้นก็ให้ลูกมาล้างเท้าให้พ่อกับแม่ถ้าเด็กทำอย่างนี้กับผู้ใหญ่ผู้ใหญ่ก็ดูเหมือนจะใจอ่อน
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์ด้วยตนเองครูเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือผู้สนับสนุนเริ่มต้นมีโครงการคุณธรรม ตอนแรกครูก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแต่ปรากฏว่าเด็กคิดได้เอง และเด็กก็คิดต่อว่าจะหาวิธีการอย่างไรสิ่งที่เด็กได้ลงมือคิด ลงมือทำเช่นการบวชป่า ปลูกป่า โดยมีครูเป็นคนช่วยแล้วแต่ว่าเด็กจะให้ครูช่วยเรื่องอะไร เช่น หาแหล่งสนับสนุนด้านการเงิน เด็กที่ทำก็จะเกิดความรับผิดชอบ กล้าแสดงออกในสิ่งที่เหมาะสม เวลาจะทำกิจกรรมเด็กจะต้องคิดวางแผนว่าต้องทำอะไร ติดต่อใคร อย่างไร เด็กก็จะดำเนินการเอง

การฝึกให้เด็กกล้าที่จะแสดงออกครูคิดว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในการทำงานครูอยากให้เด็กทำอะไรด้วยตัวเองแทนการสั่งจากครู ครูคอยดูอยู่ห่างๆเข้าไปช่วยก็ต่อเมื่อมีปัญหาที่เกินความสามารถของเด็ก ครูเป็นเพียงที่ปรึกษา ช่วยเด็กในเรื่องยานพาหนะ เวลาและเงิน


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก

  • ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับโครงการต่างๆ คือเด็กจะมีจิตอาสา เช่นเด็กจะคิดได้เองว่าไปชวนผู้ป่วยเอดส์มาเป็นกรณีศึกษา บางครั้งเด็กก็ไปดูแลผู้ป่วยเอดส์ ไปช่วยและไปทำงานร่วมกับผู้ติดเอดส์ ชวนน้องที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอดส์มาทำกิจกรรมเรียกว่าวันเดย์แคมป์ กิจกรรมก็จะมีการสอนน้องวาดรูป ทำขนม เด็กในโครงการมีความรู้ความเข้าใจเขาก็สามารถไปเป็นจิตอาสาได้
  • กรณีของอ๊อด

    เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในกลางดึกของคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ครูพจมานก็เข้านอนเพื่อจะได้ตื่นเช้าไปทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ ขณะนั้นมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นซึ่งครูพจมานคิดว่าน่าจะเป็นเหตุร้ายจึงรับสายปรากฏว่าเป็นเสียงเด็กผู้ชายร้องไห้พร่ำพูดแต่คำว่า “ครูครับช่วยผมด้วยครับมาหาผมหน่อยครับผมอยู่โรงพักครับ” ครูพจมานยังจำได้ดีว่าเสียงนี้เป็นเสียงของนายอ๊อด ซึ่งเป็นนักเรียนที่ชอบไปคบกับนักเรียนกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางด้านยาเสพติด ขณะนั้นครูพจมานก็คิดอยู่ว่าจะไปหาได้อย่างไรดึกดื่นขนาดนี้แล้วรถก็ขับไม่เป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์ไปเท่านั้นอากาศก็หนาวเย็นมากจึงคิดว่านอนต่อก่อนดีกว่าพรุ่งนี้ทำบุญเสร็จแล้วค่อยไป แต่นอนอย่างไรก็เห็นแต่หน้าเจ้าอ๊อดลอยมาพร้อมเสียง

ครูพจมานนึกถึงภาพอ๊อดร้องไห้ถูกใส่กุญแจมืออยู่ในห้องขัง รู้สึกรับไม่ได้จึงตัดสินใจปลุกพ่อบ้านขอให้ช่วยขับรถไปส่ง พอไปถึงอ๊อดก็รีบโผเข้ามาหาครูครูกอดเขาปลอบใจ ไม่ซ้ำเติมและได้ขอร้องทางเจ้าหน้าที่ขออนุญาตให้เด็กนั่งอยู่นอกห้องขังโดยไม่ต้องสวมกุญแจมือเพราะครูพจมานเห็นว่ามันเปรียบเสมือนดาบสองคมคือถ้านักเรียนกลัวและหลาบจำก็ไม่กล้ากระทำผิดอีก แต่ถ้าเขาคิดไปอีกแง่หนึ่งว่าชีวิตนี้ได้ผ่านคุกมาแล้วจะกลัวอะไรอีกก็จะยิ่งกระทำความผิดที่ใหญ่ขึ้นครูได้ให้การรับรองว่าเด็กจะไม่หนีไปไหนซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ให้ความร่วมมือ

หลังจากเหตุการณ์นี้อ๊อดเข้าร่วมโครงการ To Be Number One โครงการใครติดยายกมือขึ้นจากโครงการนี้เขาได้เข้าเฝ้ารับประกาศนียบัตรจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดีนำความภาคภูมิใจสูงสุดมายังอ๊อดครอบครัวและโรงเรียนทำให้ครูพจมานเกิดมุมมองใหม่ในการแก้ไขปัญหาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนจากการที่เดิมทีการทำโครงงานการแข่งขันทักษะวิชาการมักจะคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีมีความประพฤติดีเข้าร่วมกิจกรรม แต่ยังมีนักเรียนบางกลุ่มถูกมองข้ามไปโดยเฉพาะนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์การที่เรามอบโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาทำกิจกรรมก็เพื่อดึงศักยภาพของตนเองและได้มีเวทีให้แสดงออกเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ได้ผลดีอีกวิธีการหนึ่งนอกจากนั้นเขาจะเป็นแรงบันดาลใจและดึงกลุ่มเพื่อนที่มีปัญหาด้วยกันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาตนเองต่อไปได้

  • เรื่องเล่าจากอ๊อฟ

    อ๊อฟในปัจจุบันกำลังเตรียมตัวสอบเข้านายสิบตำรวจอดีตเป็นเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพราะขณะเรียนตนเองก็มักจะดื่มเหล้าก่อนเข้าร่วมโครงการอ๊อฟไม่ได้คิดว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพียงแต่อยากเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนเท่านั้น

    อ๊อฟได้เล่าให้ฟังว่ามีโอกาสได้ไปอบรมเรื่องเหล้าบุหรี่อ๊อฟเป็นเด็กที่มีจิตอาสาอยู่แล้วอยากที่จะสมัครไปช่วยกิจกรรมและร่วมโครงการ ครูพจมานใช้วิธีการชักชวนเด็กเป็นกลุ่มใหญ่แล้วแต่เด็กจะสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม อ๊อฟเคยเห็นรุ่นพี่ทำกิจกรรมแล้ว จึงอยากเข้าไปร่วม พอครูชวนตนจึงเข้าร่วมโครงการทันที

    การเข้าร่วมโครงการไม่ได้คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง อ๊อฟได้ทำตามที่ตั้งใจคือได้ช่วยกิจกรรมของโรงเรียนแต่สิ่งที่มีผลต่อตัวเองคือเรารู้จักโทษของเหล้าและบุหรี่มากขึ้นและได้เป็นแกนนำทำให้ตัวเองได้ลด ละ เลิกการดื่มเหล้าไปโดยปริยาย อีกทั้งตนได้แนะนำเพื่อนคนอื่นๆอีกด้วย

    กิจกรรมทำให้อ๊อฟเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นแต่เดิมมักจะชวนเพื่อนเที่ยว ส่วนเรื่องการเรียนนั้นเรากลับมีเวลาให้กับการเรียนมากขึ้นทำประโยชน์ต่อโรงเรียน ต่อทางบ้านได้ด้วยการเป็นแกนนำ ทำให้เรากลับมาดูการเรียนของตนเองมีการจัดระเบียบชีวิตในเรื่องของการเรียนมากขึ้นแบ่งเวลาได้เองเช่นเวลาพัก1ชั่วโมงก็จะไปช่วยทำกิจกรรมเราหันมาเรียนและตั้งใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังรู้จักผิดชอบชั่วดี จุดเปลี่ยนของตนอีกเรื่องหนึ่งคือ วันหนึ่งตนเองเมาเกิดการชกต่อย ครูมาช่วยให้เราผ่านเหตุการณ์นั้นได้ จึงทำให้ได้คิดเปลี่ยนตัวเองและมาดูสุขภาพด้วย

  • เรื่องเล่าจากแหวว

    แหววเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อดีตเคยมีเรื่องชู้สาวและได้รับการช่วยเหลือจากครูพจมานปัจจุบันแหววมีอาชีพเป็นครู อยู่จังหวัดนครสวรรค์

    แหววเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าเริ่มต้นจากตนเองต้องขึ้นห้องปกครอง แต่ก่อนครูปกครองมักจะดุด่าหรือหักคะแนนแต่ครูพจมานให้โอกาสและเชื่อว่าเด็กไม่ได้เลวร้าย สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ครูชวนให้เราทำงาน รับผิดชอบงาน สิ่งนี้ทำให้เรามีวันนี้ พอเราได้โอกาสเราก็มีความหวังก็เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดขึ้นครูให้ความสนิทสนมเราจึงรู้สึกสบายใจที่จะคุย การทำงานที่คุณครูมอบหมายทำให้เรามีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นได้มีความคิดความอ่านที่เปลี่ยนไป

    การที่ครูให้มาทำงานคงเพื่อที่จะควบคุมพฤติกรรมของเรา ทำให้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์จนเรารู้สึกสนิทกับครูจากนั้นครูให้เราเป็นตัวแทนเข้าไปคุยกับเพื่อนคนอื่นที่มีปัญหาเรื่องชู้สาวเพราะเราเข้าใจเพื่อนมากกว่า เพื่อนเห็นเราทำงานจุดนี้ทำกิจกรรมซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกและสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ต่อในชีวิตได้ เพื่อนคนอื่นก็เข้ามาร่วมบ้าง สิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้คือความผิดพลาดเกิดขึ้นได้แต่การได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ทำให้เราโตขึ้น มีความคิดมากขึ้นไม่หลงผิดบางคนอาจคิดว่าเมื่อพลาดแล้วก็จะทำร้ายตนเองความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเรามากทำให้เรารู้จักการทำงานให้สำเร็จตนเองเกิดการมองโลกในแง่ดีทำให้เราคิดว่าคนเราปรับเปลี่ยนตนเองได้

  • เรื่องเล่าจากวุธ

วุธเป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการคุณธรรม ปัจจุบันวุธเป็นนักศึกษา ป.โท เล่าให้ฟังว่า “ผมได้เข้าร่วมโครงการกับคุณครู ผมมีโอกาสเห็นมุมมองนอกโรงเรียน ครูจะเปิดโอกาสให้ โดยดูเราอยู่ห่างๆ การทำโครงการทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมอะไรหลายๆอย่างที่อยู่นอกโรงเรียนเราได้มาปรับใช้ครูเป็นแบบอย่างในการทำงานคือไม่เคยสั่ง ถึงแม้เราจะเป็นนักเรียนจะทำกิจกรรมอะไร จะไม่มีคำสั่งว่า “ห้าม” อยากทำอะไรก็ให้ทำ แต่ครูจะใช้คำว่า “ลองคิดดู หากเป็นแบบนี้เราจะทำอย่างไรดี”หากเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีผลกระทบมากก็จะให้เราลองทำและแบบอย่างการไม่เอาความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก ถึงแม้ผมเป็นนักเรียนครูก็เปิดโอกาสให้คิดในเรื่องใหญ่ๆเอง”

นอกจากนี้ผมยังได้แบบอย่างในเรื่องของความเท่าเทียมเสมอภาคกันครูจะไม่รังเกียจเด็กที่เกเรครูทำให้เราไว้เนื้อเชื่อใจนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนดีหรือเก่งมาก่อน แต่สุดท้ายก็จะตามติดครูจนเปลี่ยนตัวเอง กรณีหนึ่งเด็กติดบุหรี่ ครูก็เข้าไปพูดคุยจนรู้ว่ามีกระทั่งยาเสพติด ใครเป็นคนซื้อคนขายในโรงเรียนครูใช้วิธีการพูดคุยแบบไม่ยกตัวว่าตนเองว่ามีอำนาจเป็นครูที่เหนือกว่านักเรียนแต่ครูจะคุยในลักษณะที่ว่าเราเป็นเพื่อนกัน เราจะมาช่วยกัน ครูพยายามเข้าไปในระดับเดียวกับคนๆนั้น


สิ่งที่ครูได้เรียนรู้

การที่เด็กเข้าทำในโครงการเป็นคนให้ความรู้แก่ผู้อื่นได้ไปรณรงค์เรื่องต่างๆ เด็กรู้สึกละอายจึงทำให้เด็กเลิกได้ในที่สุดครูบอกเด็กว่าสิ่งที่ทำอาจเป็นเรื่องยาก ที่ครูอยากให้เกิดคือภูมิต้านทานแก่เด็กเด็กที่เป็นแกนนำ

สิ่งที่ครูทำครูรู้สึกภาคภูมิใจที่เห็นนักเรียนของครูเป็นคนดีครูคิดว่าเด็กหากทำผิดเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หน้าที่ครูไม่ใช่แค่สอนหนังสือแต่ต้องสอนความเป็นคนให้เด็กด้วย หากเราช่วยเด็กหรือป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า มีความสุขทุกครั้งที่เห็นเด็กได้แสดงความสามารถและเห็นเด็กมีความรักสามัคคีกันทั้งโรงเรียน