เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

ทุก ๆ เช้าเด็กนักเรียนแห่งโรงเรียนห้วยเฮี๊ยะ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน จะมารวมตัวกันกลางสนามหญ้า และกระจายกำลังกันออกปฏิบัติภารกิจ ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน เพราะโรงเรียนของพวกเขาไม่มีรั้วรอบขอบชิด มีเพียงบ้านเรือนและแนวไม้ใหญ่ที่เป็นเสมือนแนวรั้ว นั่นจึงมีทั้งหมูดำ ไก่ และสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านอีกหลายชนิดมาใช้พื้นทีวิ่งเล่นของเด็กๆและเมื่อมิตรต่างสายพันธุ์เป็นฝ่ายทำเลอะเทอะ เด็ก ๆ จึงต้องเป็นฝ่ายทำความสะอาด....โดยมีค่าตอบแทนเป็นคำยกย่องชมเชย

หลังเสร็จภารกิจทำความสะอาดสนามหญ้าและพื้นที่รอบ ๆ โรงเรียน เด็ก ๆ จะมารวมตัวหน้าเสาธง ร้องเพลงชาติ สวดมนต์ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ... จากนั้นแบ่งกลุ่มย่อยทำกิจกรรมAARหรือ After Action Review เพื่อสรุปบทเรียนและหาจุดที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง...โดยมีเพื่อน ๆ ในกลุ่มสลับกันเป็นคนนำคุย และคนจดบันทึกการประชุม

ในวงย่อย...ทุกคนจะร่วมกันแสดงความเห็น ชี้แนะ และในตอนท้ายก่อนปิดประชุมกลุ่มย่อย สมาชิกจะร่วมกันโหวตเพื่อหาแกนนำกลุ่มในวันรุ่งขึ้น

กระทั่งเมือถึงเวลา ทุกกลุ่มจะมาร่วมตัวกันอีกครั้งเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง โดยมี “แกนนำ” ออกคำสั่งคล้าย ๆ ทหาร

“ทั้งหมดแถว...ตรง”

“ตามระเบียบ......พัก”

“นั่งลง”

จากนั้นจึงเป็นการออกมานำเสนอผลการพูดคุยสรุปบทเรียนของแต่ละกลุ่มต่อสมาชิก...ที่รอการนำเสนออย่างเป็นระเบียบ

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา...เด็ก ๆ ดำเนินการด้วยตนเอง...โดยมี ครูสัญญา สอนบุญทอง นั่งสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ

เด็ก ๆ ใช้ภาษาไทยกันอย่างชัดถ้อยชัดคำ บางประโยคที่เด็กยังพูดไม่ชัด ครูสัญญาจะบันทึกไว้ในสมุดเล็ก ๆ และจะออกไปให้คำชี้แนะในตอนท้ายก่อนแยกย้ายกันเข้าห้องเรียน

แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมหน้าเสาธงยามเช้าของเด็ก ๆ บ้านห้วยเฮี๊ยะ ยังไม่จบเพียงแค่นั้น พวกเขาบางกลุ่มจะต้องออกมาสรุปข่าวประจำวันให้เพื่อน ๆ ฟังและเมื่อเล่าจบ ผู้เล่ามีโอกาสถามผู้ฟัง และผู้ฟังก็มีโอกาสถามผู้เล่ากรณีสงสัยในบางประเด็น

เด็ก ๆ ไม่อายที่จะยกมือถาม ผู้ตอบก็ตอบแบบไม่ลังเลที่จะตอบแม้บางคำถามจะออกแนวกวนโทสะอยู่บ้างก็ตาม

และนอกจากสรุปข่าวสารประจำวัน ยังมีกิจกรรมเล่านิทานส่งเสริมคุณธรรม ที่เด็ก ๆ ต้องไปค้นคว้า คัดลอก และสรุป รวมทั้งวิเคราะห์ให้เห็นว่านิทานที่นำมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังมีส่วนในการส่งเสริมคุณธรรมข้อใดบ้าง

ครูสัญญาบอกว่าทุกกิจกรรมที่คิดขึ้น จุดเริ่มต้นเหมือนกันคือนักเรียนต้องเริ่มจากการเขียนก่อน แล้วจึงไปศึกษาข้อมูลแล้วมาเขียนเขียนเสร็จแล้วก็ให้นำไปศึกษา เสร็จแล้วก็มานำเสนอเป็น “อุบาย” ให้นักเรียน เขียน อ่าน ทบทวน วนเวียนอยู่เช่นนี้โดยในหนึ่งวันจะจัดกิจกรรมแบบนี้ 2 เวลาคือช่วงเช้าหลังเคารพธงชาติ และช่วงบ่ายคือบ่ายโมงถึงบ่ายโมงครึ่ง

ซึ่งครูสัญญาให้เหตุผลที่ต้องคิดกิจกรรมแบบนี้ว่าเพราะปัญหาของเด็กดอยคือพูดไทยไม่ชัด พอพูดไม่ชัด มันก็ส่งผลในเรื่องของการเรียนรู้

“เป้าหมายการสอนของผมคือเน้นวิชาการ”

ดูเหมือนเป้าหมายของครูจะสวนทางกับการจัดการศึกษาแนวใหม่ โดยเฉพาะกระบวนการจัดการเรียนสอนที่ไม่ให้เด็กทิ้งถิ่น

“สอนให้เด็กไม่ทิ้งถิ่นก็เป็นเรื่องดีและเห็นด้วย แต่ผมเห็นว่า เพราะถ้าเด็กไม่เก่งวิชาการ ก็จะออกไปสอบแข่งขันสู้กับโรงเรียนอื่น ๆ ไม่ได้และถ้าสอนให้เด็กรักถิ่น เรียนจบออกมาก็ไม่ต้องไปไหนประกอบอาชีพอยู่ในท้องถิ่น...แต่นั่นมันไม่ใช่ชีวิตจริง เพราะสุดท้าย เด็ก ๆ ก็ต้องลงไปทำงานในเมือง เดี่ยวนี้วัยรุ่นบนดอยเหลือน้อยมาก เพราะฉะนั้น เน้นเรื่องวิชาการ ให้เขามีความรู้ติดตัวมากพอที่จะไปสอบแข่งขัน หรือไปต่อยอดความรู้อื่น ๆและเรียนในชั้นสูง ๆจะทำให้เด็กภาคภูมิใจในตัวเองมากกว่า....ผมจึงสอนให้ได้ตามสาระมากกว่าตามหลักสูตร เพราะถ้าเด็กได้สาระ แล้วเขาอยากพัฒนาตัวเอง เรื่องได้ตามหลักสูตรก็จะตามมา”

ทุกวันนี้ลูกศิษย์ของครูสัญญาสามารถสอบแข่งขันทางวิชาการได้คะแนนดีไม่แพ้นักเรียนในเมืองเด็กหลายคนมีโอกาสศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น

ทั้งหมด, คือกระบวนการจัดการศึกษาที่นอกจากจะเอาเด็กเป็นศูนย์กลางและยังเอา “ความเป็นจริง” ในชีวิตของเด็ก ๆ มาเป็นโจทย์สำหรับการจัดหลักสูตรการศึกษา

“เราต้องดูว่าเรื่องราวในชีวิตจริงของเด็กเป็นอย่างไร ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาสอนหนังสือ ตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียว...สำหรับผม..รู้จักเด็กทุกคน รู้ว่าครอบครัวเขาเป็นอย่างไร”

แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะครูต้องอยู่กับเด็ก 24 ชั่วโมง

“ผมไม่เคยไปไหนไกล เต็มที่ก็ออกไปอบรม....ต้องอยู่กับเด็ก อยู่กับครอบครัวของเขา ต้องคิด ต้องหาแนวทางในการสอนเพื่อส่งให้เด็ก ๆ ทุกคนไปถึงฝั่งฝัน

ซึ่งฝันของครู กับฝันของเด็กก็ไม่ต่างกัน.....

---------------------------------------

เป้าหมายของครูในการจัดการเรียนการสอน

เป้าหมายคือ “สร้างความกล้า” ให้กับเด็ก ๆ ในการ “พูด” เมื่อพูดชัด ก็นำไปสู่ความกล้าในการเรียนรู้ในทุก ๆ เรื่อง”

เพราะครูมองว่า “ปัญหา” ของเด็กดอยคือ “ขาดความกล้าหาญ” โดยเฉพาะเมื่อเรียนจบการศึกษาชั้นตั้นและต้องลงไปเรียนต่อ แต่การที่พูดไม่ชัด จึงไม่กล้าพูด กล้าถาม ทำให้การเรียนอ่อนเพราะไม่กล้าถามครู

วิธีการที่ครูใช้

ปล่อยโจทย์ (ให้การบ้าน) >>>> เด็กกลับไปค้นคว้า หรือหารือกันในกลุ่ม >>>> ตื่นเช้ามานำเสนอหน้าเสาธงให้เพื่อน ๆ และครูฟัง>>>> เพื่อน ๆ จะตั้งคำถาม (ฝึกคิดและฝึกถาม) >>>>> ครูจะถาม “วิธีการได้มาของข้อมูล” และเด็ก ๆ ก็จะเล่าว่าได้ข่าวชิ้นนี้มาอย่างไร หรือ ทำไมถึงเลือกข่าวชิ้นนี้ จากนั้นครูก็จะให้คำแนะนำคำบางคำที่เด็กพูดผิด หรือ พูดไม่ชัด และให้เด็ก ๆ ทุกคนพูดตาม

ทำแบบนี้ซ้ำไป ซ้ำมาจนกระทั่งหมดเทอม

และเพื่อไม่ใช้เกิดความซ้ำซาก....ครูสัญญายังใช่วิธีการแสดงละครเพื่อฝึกทักษะ “การพูด” อีกเช่นกัน

วิธีทีครูใช้

ให้เด็ก ๆช่วยกันเลือกเรื่องที่จะแสดง (หารือกันเองโดยครูมีกรอบให้เช่นเรื่องเกี่ยวกับพงศาวดาร หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม >>>>> เมื่อได้เรื่องที่จะแสดง เด็ก ๆ ก็ไปค้นคว้า >>>>>มาทำเป็นบทละคร>>>>> แบ่งบทบาท (กำหนดตัวแสดง) >>>>>>>>> ท่องบท (ฝึกพูด- ทุกคนต้องได้รับบท ไม่มากก็น้อย) จากนั้นออกไปแสดงให้ครู และผู้ปกครองฟัง (เพื่อฝึกความกล้า และการแสดงออก)

-------------------------------------------------

นาฟู (ยังไม่ได้นามสกุล) ปัจจุบันเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลลำปาง เล่าว่า ประทับใจที่ครูสอน ครูจะใส่ใจพวกเรา เวลาครูไปไหน ครูก็จะมีหนังสือมาให้พวกเราอ่าน หรือไม่ก็เล่าให้ฟังเสมอ ๆ ทำให้เรารู้ว่า เรื่องราวที่อยู่นอกหมู่บ้านเป็นอย่างไร

“มันก็เป็นประโยชน์เวลาหนูลงมาเรียนหนังสือเมือง....ตอนนี้หนูไม่เที่ยวไหน เรียนหนังสืออย่างเดียว...เพราะเรารู้แล้วว่าชีวิตที่อยู่นอกดอยเป็นอย่างไร

นาฟูบอกว่า เรื่องราวจากข่าวที่ครูให้ทำ นอกจากจะทำให้เธอและเพื่อนร่วมห้องได้ฝึกทักษะ การคิด วิเคราะห์ ยังได้รับรู้เรื่องราวความเป็นจริงนอกหมู่บ้าน ว่ามันเลวร้ายขนาดไหน

“เรื่องข่าว ครูให้เราฝึกอ่าน พูด คิด และวิเคราะห์ ค้นคว้าข้อมูล การเชื่อมโยง ครูจะถามว่า สาเหตุของปัญหามาจากอะไร ใครเป็นผู้ก่อเหตุ ก่อเหตุด้วยวิธีไหน ผลจากการก่อเหตุเป็นอะไร และครูก็จะให้เราลองคิดว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร เป็นการฝึกให้เรารู้จักการเชื่อมโยง

ซึ่งวิธีการของครูได้ก่อให้เกิดประโยชน์ 2 ด้านคือ

ด้านการดำเนินชิวิต

จากเรื่องราวนาฟู เห็นว่า กระบวนการที่ครูฝึกทำให้เธอเข้าใจสถานการณ์เหตุการณ์อยู่นอกหมูบ้านมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้ได้หล่อหลอมให้เธอเข้าใจ และรู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร

“ตอนนี้หนูเรียนหนังสืออย่างเดียว....ไม่ได้เที่ยวเกเร เพราะเรารู้แล้วว่า เหตุการณ์ข้างนอกมันน่ากลัว”

ด้านการเรียน

การคิด การวิเคราะห์ ร่วมทั้งการเชื่อมโยงทำให้การเรียนการสอนของนาฟูที่วิทยาลัยพยาบาลแม้ว่าจะ “ยาก” แต่เธอก็ผ่านมาได้จนกระทั้งตอนนี้เรียนอยู่ปี 2

“ตอนเรียน...ครูจะไม่ได้สอนให้เราท่องจำ..อย่างวิชาเลข ถ้าครูคนอื่นจะให้เราเขียนคำตอบ แต่ครูสัญญาจะให้เราแสดงวิธี เพราะครูจะได้รู้ว่าเราเข้าใจจริง ๆ หรือไม่ เพราะคำตอบเราหาที่ไหนก็ได้ หากเราไม่รู้วิธีหาคำตอบ....เราก็จะไม่รู้ว่าคำตอบนั้นถูกหรือผิด