เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าของครูสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

ถ้าถามถึงความสำเร็จในอาชีพรางวัลจำนวนมากที่ครูประไพพรรณ บุญคง ได้รับมาตลอดชีวิตของการเป็นครูกว่า ๓๐ ปีเช่น ครูเกียรติยศ ครูผู้สอนสังคมศึกษาดีเด่น ๓ ปีซ้อน ครูผู้สอนจริยศึกษาดีเด่น ครูดีในดวงใจ ครูผู้สอนพระพุทธศาสนาดีเด่น ครูสอนดี ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมดีเด่นของคุรุสภา ครูคุรุสดุดี รางวัลสุดยอดคุณครูกัลยาณมิตร รางวัลครูยอดชายแดนใต้ สพม.๑๕ และรางวัลเหรียญทองผลงานการปฏิบัติที่ยอดเยี่ยม (Best of the Best Practices)แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ความสำเร็จที่ครูประไพพรรณตั้งเป้าหมายไว้

"ตั้งปณิธานมาตั้งแต่เรียนมัธยมว่าจะเป็นครู เพราะครูเป็นอาชีพที่สร้างคน การที่เราได้สร้างเด็กให้เป็นคนดี อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เขาเรียนจบแล้วมีอาชีพ มีงานทำ อยู่ในสังคมได้ เราก็ประสบความสำเร็จมากกว่ารางวัลที่เราได้รางวัลเหล่านั้นเป็นแค่ส่วนประกอบ เป็นเปลือก และที่เราประสบความสำเร็จได้เพราะมีความรัก ความศรัทธาในอาชีพนี้ แล้วก็มีสามัญสำนึกของคนเป็นครู หรือจิตวิญญาณ คนเป็นครูจะอยู่เฉย สอนไปวันๆ ไมได้ต้องศึกษา ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนและพัฒนาตนเองเสมอและสิ่งที่ครูเป็นนี้แหละที่สำคัญ เพราะเราจะกลายเป็นแบบอย่างของเด็กๆ "

ภูมิหลังของสถานการณ์และความเป็นมาของปัญหา

ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ที่ครูประไพพรรณมาบรรจุที่โรงเรียนนราสิกขาลัย ในจังหวัดนราธิวาสบ้านเกิดก็รับหน้าที่สอนวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มาตลอด จึงใกล้ชิดกับการสังเกตพฤติกรรม เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งมีผลต่อความคิด ทัศนคติ การใช้ชีวิตของเด็ก

โรงเรียนนราสิกขาลัยจัดเป็นโรงเรียนใหญ่ประจำจังหวัด จึงมีนักเรียนจากต่างอำเภอทั้งใกล้ไกล มุ่งเข้ามาเรียนที่นี่ เช่น อำเภอยี่งอ อำเภอบาเจาะ อำเภอระแงะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอจะแนะ อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก บางส่วนใช้วิธีเหมารถรับจ้างเดินทางไป -กลับทุกวันแต่บางส่วนผู้ปกครองรวมตัวกันมาเช่าบ้านในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาสให้ลูกๆ อยู่ร่วมกัน และเด็กอีกไม่น้อยที่มาเช่าหอพักในเมืองอยู่กันเอง เด็กๆ กลุ่มนี้จึงไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง

"ยิ่งถ้าเป็นนักเรียนมัธยม เป็นวัยรุ่น โอกาสที่เขาจะขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือเสี่ยงที่จะหลุด หลงผิดไปได้ค่อนข้างง่าย ถ้าเป็นเด็กอิสลาม อาจจะเสี่ยงน้อยหน่อย เพราะเขามีกรอบศาสนาคุมอยู่ตลอดหน้าที่เรา คนเป็นครูจึงไม่ใช่แค่สอนหนังสือแต่เราต้องสอนทางที่ดี ที่ถูกให้ เราต้องพยายามดึงเขามาเป็นคนดีให้ได้เท่าที่จะทำได้"

เมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้น แม้ว่าอาจไม่เกิดกับตัวเด็ก หรือครอบครัวของเขาโดยตรง แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์ย่อมมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ความรู้สึก พฤติกรรม และความสัมพันธ์ของเด็กต่างศาสนาในโรงเรียนซึ่งโรงเรียนนราสิกขาลัยมีจำนวนเด็กไทยพุทธและไทยมุสลิมในสัดส่วนที่พอๆ กันตามข้อมูลโดยเฉลี่ยคือ นักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามมีจำนวน 51% นักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ 49%

ในระยะแรกของเหตุการณ์ช่วงปี 2548อาจยังไม่เห็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เด่นชัดเวลานั้นสิ่งที่กระทบใจเด็กมากคือความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ครอบครัวที่ล่มสลาย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กกลุ่มหนึ่งหยิบประเด็นนี้มาเป็นโจทย์ในการทำโครงงานคุณธรรม

กิจกรรมที่ทำ

ปี ๒๕๔๘ โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ "โครงงานคุณธรรรมเฉลิมพระเกียรติ เยาวชนทำดี ถวายในหลวง"ซึ่งเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ออกแบบให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิด การวางแผน การทำงานอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับโครงงานวิทยาศาสตร์เพียงแต่โครงงานคุณธรรมใช้สถานการณ์ปัญหาในชีวิตรอบตัว เป็นโจทย์ในการทำงาน และให้เลือกใช้คุณธรรมเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มแรกที่เข้ามาร่วมโครงการนี้หยิบเอาประเด็นปัญหาเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มาทำงาน จัดทำโครงการเยาวชนยุคใหม่ ใส่ใจสมานฉันท์ ด้วยพลังจิตอาสา ทำดีถวายพ่อหลวง" กิจกรรมหลักคือ การออกไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย

โครงงานคุณธรรมฯ ในปีแรก ประสบความสำเร็จแม้จะยังไม่ขยายวงกว้างไปทั่วโรงเรียนเช่นทุกวันนี้ แต่ครูประไพพรรณมองเห็นว่า นี่คือนวัตกรรรมการเรียนรู้เรื่องคุณธรรมที่เห็นผล และเปิดกว้างให้เด็กไทยมุสลิมเข้ามาร่วมด้วยได้จากเดิมแนวทางที่ใช้ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน จะจัดเป็นกิจกรรมที่อ้างอิงกับวิถีพุทธเป็นส่วนใหญ่ เช่น ค่ายพุทธบุตรการสอนธรรมศึกษาการพัฒนาห้องจริยธรรมการไปปฏิบัติธรรมฯลฯ

ดังนั้น ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๐ เป็นต้นมาก็เกิดเป็น“ กิจกรรมชุมนุมโครงงานคุณธรรมเยาวชนไทยทำดีถวายในหลวง โรงเรียนนราสิกขาลัย” เพื่อเป็นเวทีให้เด็กทั้งสองศาสนาได้ทำงานจิตอาสาเรื่องต่างๆโดยเฉพาะประเด็นสมานฉันท์ ต่อมาก็มีการขยายเครือข่ายโครงงานคุณธรรมเยาวชนไทยทำดีถวายในหลวง โรงเรียนนราสิกขาลัยไปสู่เครือข่ายโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัด เป็นการขยายความดี จากพี่สู่น้องด้วยเทคนิค๔ ดี คือนันทนาการความดีสอนน้องทำดี คิดดีทำดีและ บอกเล่าความดี

ผลที่เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เด็ก

โครงงานคุณธรรม เยาวชนไทยทำดีถวายในหลวง ประสบความสำเร็จ "ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ตัวเด็กๆที่จริงถ้าดูที่รางวัล โรงเรียนนราสิกขาลัยได้รับรางวัลเยอะมาก รางวัลได้รับโล่เกียรติยศพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดีเด่นระดับประเทศอันดับที่ ๑ รางวัล เธอคือแรงบันดาลใจ แต่รางวัลที่ครูรู้สึกว่า เด็กได้มากกว่าคือเขาทำงานเป็น คิดวิเคราะห์ได้มีจิตอาสามีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น เราเห็นเด็กที่เข้ามาทำโครงงานแต่ละรุ่น แต่ละรุ่นเขาได้อย่างนี้จริงและสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไปจนกระทั่งเรียนจบออกมาทำงานเขาก็จะเป็นคนที่เอื้อเฟื้อกับสังคม"

แต่ละปี นักเรียนที่เข้ามาร่วมโครงงาน ก็จะสร้างสรรค์กิจกรรรม ในแบบของตัวเองและสร้างความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเช่น พิพรรธน์ลาภวงศ์ ประธานชุมนุมโครงงานคุณธรรม กลุ่ม นราสิกขาลัย สมานใจเดียวกัน ยกกำลังสาม ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ก็ได้รับโล่เกียรติยศพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโครงงานคุณธรรมเฉลิม พระเกียรติกิตติคุณ “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน”

""ตอนผมอยู่ ม. ๑ก็มีการทำโครงงานคุณธรรมกันแล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันมาก แต่ถึงตอนนี้ถ้านึกถึงเด็กนราสิกขาลัย ก็ต้องนึกถึงโครงงานคุณธรรมฯ ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งจากการทำงานนี้ แม้ว่าเรื่องความรุนแรงจะไม่ได้เกิดกับตัวเราโดยตรงเพราะผมอยู่ในเมือง แต่บางทีมันก็เกิดกับเพื่อนของเพื่อนการได้ออกไปช่วย หรือแม้แค่ให้กำลังใจ มันช่วยเขาได้จริงๆ"

พิพัฒน์เป็นเพียงนักเรียนคนหนึ่งจำนวนอีกหลายคน ตลอดช่วงเวลา ๑๐ ปีของการใช้กิจกรรมโครงงานคุณธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานักเรียนจนประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องคุณธรรม และทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานเป็น

กระบวนการที่ใช้

"ครูคิดว่าน่าจะเป็นกระบวนการกัลยาณมิตรคือถ้าเราเป็นมิตรกับเขา เด็กก็จะวางใจและต้องมีความจริงใจ ความเมตตา ครูจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีถึงเด็กจะไม่เหมือนกันไม่ว่าจะหัวดีเรียนเก่ง หรือเรียนอ่อน เด็กเขาแยกได้นะว่า อะไรดี อะไรเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งถ้าเด็กมีปัญหา เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดให้ความจริงใจ เราก็จะได้ใจเด็กมาก็จะช่วยเขาได้

เราจะตามเด็กนะดูเขาตั้งแต่ม. ๓ จนจบม. ๖ คือถ้าเราเป็นครูประจำชั้นแค่ปีเดียวเรายังรู้จักเด็กไม่พอแต่ถ้าติดตามไป ๓ ปี ได้ติดตามพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง เราจะรู้จัก จะเข้าใจว่าเขาเป็นอย่างไรและเราจะไปเยี่ยมเด็กทุกบ้านไปเห็นสภาพจริงๆ ว่าเขาอยู่อย่างไร จะช่วยดูแลเขาได้เต็มที่ ใครมีปัญหาก็ต้องดูแลเป็นพิเศษจนกว่าเขาจะจบม.๖ ได้ มีอาชีพ มีงานทำ นี่คือความสุขของครู ต้องใช้ความอดทนมากนะ แต่เวลาที่ให้เด็กเขียนวิเคราะห์ตัวเราข้อมูลที่เด็กสะท้อนกลับแสดงให้เห็นว่า เขาเข้าใจเรา สิ่งที่เราพูด เราทำ เราจริงใจกับเขา แม้แต่ผู้ปกครองก็เข้าใจ"

กระบวนการที่ครูประไพพรรณใช้ในการทำงานกับเด็กเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของผู้ที่จะเป็นครูนั่นคือ ความเป็นมิตร ที่จริงใจ นอกจากนั้นคือ ความทุ่มเทอุทิศตนด้วยศรัทธาในอาชีพครูผู้สร้างคน

นอกจากในฐานะครูประจำชั้น และครูผู้สอนวิชาจริยธรรมแล้ว ครูประไพพรรณยังเป็นหัวหน้างานส่งเสริมจริยธรรมและคุณธรรมของโรงเรียน ซึ่งจะทำงานกับคู่กับหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนคือ ครูไกรสร วงศ์เอื้อเวทย์ ในการดูแลกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเป็นที่ปรึกษาในโครงงานคุณธรรม

สิ่งที่ทั้งสองมีเหมือนกัน เป็นที่รับรู้กันทั่วในหมู่นักเรียน คือ ทั้งคู่เป็นครูใจดี ที่ให้ความเป็นกันเองกับเด็ก ถ้าในแง่ของการทำงานแล้ว ครูประไพพรรณจะเน้นหนักเรื่องงานด้านเอกสาร การตรวจตราให้ถูกต้อง รอบคอบละเอียดสมกับเป็นครูฝ่ายหญิง ขณะที่ครูไกรสรซึ่งเป็นครูสอนศิลปะด้วยแล้ว ก็จะเน้นหนักอยู่ข้างๆ เด็กเมื่อต้องลงมือทำชิ้นงาน แต่ทั้งคู่ก็ทำงานลงพื้นที่ใกล้ชิดกับเด็กเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้

"ครูเรียนรู้จากเด็กได้ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี อย่างให้เขาทำสื่อการเรียนสอน เขาทำได้ดีและอีกหลายอย่างๆ ที่เด็กเขาทำได้มากกว่าที่เรา ทำให้เรารู้ว่า เด็กทุกคนเขามีศักยภาพในตัว เราพยายามหาโอกาสให้เขาได้แสดงออก แล้วเราชื่นชมเขาจะได้แรงเสริมดีใจมีความสุข ก็เป็นอีกวิธีที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้ และเมื่อเขาเปลี่ยนเป็นคนที่ดีขึ้นเราปลูกฝังความเป็นคนดีให้เขาได้นั่นคือสิ่งที่เราได้ด้วยความสุขใจ ความภูมิใจที่เราช่วยเด็กได้

ตั้งใจว่า ถ้าเกษียณแล้วก็ยังอยากสอนจะไปช่วยสอนตามโรงเรียนต่างๆ และอยากไปช่วยเพื่อนครูให้ได้พัฒนาตนเองอยากเอาประสบการณ์สิ่งที่เราได้เรียนรู้มาไปแบ่งปันให้เขาในเรื่องการจัดการเรียนการสอน การทำงานกับเด็ก"